รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เห็นถึงความสำคัญและความเป็นไปได้ที่จะนำประโยชน์จากกัญชา-กัญชงมาใช้ พัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจแบบครบวงจรแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมหลักสูตรบูรณาการศักยภาพนักธุรกิจกัญชาและกัญชงขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงแบบครบวงจรทั้งในประเทศ และตลาดโลก
“ขณะนี้เรื่องของกัญชาและกัญชง กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งเกิดคำถามว่าเราจะสามารถนำพืชชนิดนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านต่าง ๆ ได้อย่างไรบ้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงอยากมีส่วนช่วยสังคมในการนำองค์ความรู้ที่ทางธรรมศาสตร์มีมาผนวกกับภาคเอกชน เพื่อการส่งเสริมต่อยอดธุรกิจกัญชา-กัญชงให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม” รศ.เกศินี กล่าว
ดร.สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการ บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการนำเอาองค์ความรู้ที่ทางธรรมศาสตร์มี กับสิ่งที่ทางบริษัทเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์อยู่แล้วทางด้านกัญชาและกัญชงไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ เป็นทางลัดที่จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในธุรกิจ ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นกำลังสำคัญ ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องกัญชาและกัญชง ให้เกิดกิ่งก้านสาขาแตกแขนงทางความรู้ออกไป เพื่อทำให้ผู้ประกอบการด้านกัญชาและกัญชงมีศักยภาพในการแข่งขัน สู่การเพิ่มมูลค่าพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ด้าน นายธนิพัทธ์ ธรเลิศพิมล กรรมการบริหาร บริษัท คอมมูนิเคชั่น วัน จำกัด กล่าวว่า ในการลงนามครั้งนี้ ทุกฝ่ายมีความพร้อม โดยเฉพาะหลักสูตรที่ออกแบบมาให้ผู้ประกอบการเมื่อจบจากหลักสูตรแล้ว สามารถนำผลิตภัณฑ์ออกไปต่อยอดและทำการตลาดได้ ซึ่งจะทำให้สังคมเห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชงสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง
อาจารย์ ดร.สุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาทในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ดังนั้นการจัดหลักสูตรในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยจะสามารถช่วยพัฒนาองค์ความรู้เรื่องกัญชาและกัญชงที่ถูกต้องแก่ผู้ประกอบการได้ โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้และเข้าใจพืชเศรษฐกิจใหม่กัญชาและกัญชงแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ เทคนิคต่าง ๆ ในการสกัด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการนำกัญชา-กัญชงมาใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ได้ประโยชน์สูงสุด และรับผิดชอบต่อสังคม
“การทำธุรกิจกว่าจะประสบความสำเร็จนั้นใช้เวลานาน ต้องผ่านหลายขั้นตอน และใช้ต้นทุนมหาศาล ทำให้ผู้ประกอบการบางรายขาดโอกาส เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงออกแบบมาให้เกิดการลงมือทำมากที่สุด ให้ผู้เข้าร่วมในหลักสูตรนี้ได้รับทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ สามารถต่อยอดทางด้านกัญชา-กัญชงซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างถูกทาง โดยความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว ในภาพที่ใหญ่ขึ้นยังมุ่งหวังให้พืชเศรษฐกิจของประเทศไทยมีมูลค่ามากขึ้น มีชื่อเสียงในระดับโลก” ดร.สุรพิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลและภาพจาก
ข่าวธรรมศาสตร์