ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สารองค์ประกอบที่เป็นยาในพืชกัญชา - Δ9-THC CBD CBC CBG CBN

สารองค์ประกอบที่เป็นยาในพืชกัญชา - Δ9-THC CBD CBC CBG CBN HealthServ.net

กัญชาเป็นพืชที่มีการศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบเคมีมายาวนาน ปัจจุบันพบสารองค์ประกอบเคมีถึง 565 ชนิด ที่สำคัญคือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ซึ่งพบ 120 ชนิด ที่สำคัญเช่น เดลตา-เททระไฮโดรแคนนาบินอล (Δ9-tetrahydrocannabinol หรือ Δ9-THC), แคนนาบิไดออล (cannabidiol หรือ CBD], แคนนาบินอล (cannabinol หรือ CBN), แคนนาบิโครมีน (cannabichromene หรือ CBC), แคนนาบิเจอรอล (cannabigerol หรือ CBG)

สารองค์ประกอบที่เป็นยาในพืชกัญชา - Δ9-THC CBD CBC CBG CBN ThumbMobile HealthServ.net
สารองค์ประกอบที่เป็นยาในพืชกัญชา - Δ9-THC CBD CBC CBG CBN HealthServ

 

 
สาร Δ9-THC เป็นสารที่พบในปริมาณสูงสุดในกลุ่มแคนนาบินอยด์ โดยอาจพบได้ถึงร้อยละ 17.3, รองลงมาได้แก่ สาร CBG ซึ่งพบได้ราวร้อยละ 16.3, สาร CBN พบราวร้อยละ 9.6, สาร CBD และ CBC พบในปริมาณใกล้เคียงกันราวร้อยละ 7.7 เป็นต้น
 
สาร Δ9-THC พบได้ในทุกส่วนของพืชกัญชา โดยจะพบมากในยาง (resin) จากเซลล์ขนที่บริเวณช่อดอกเพศเมีย จากบทความปริทัศน์ของอังเดร (Andre) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2559 สรุปว่าพบ
 
ในดอกกัญชามีสาร Δ9-THC 30-200 มก./ก. 
ในใบพบ Δ9-THC 8-60 มก./ก. 
ส่วนในเมล็ดและรากของกัญชาพบ Δ9-THC ในปริมาณน้อย 


 
นอกจากนี้ ยังพบว่ากัญชาสายพันธุ์เบโดรแคน (bedrocan) มีปริมาณ Δ9-THC ราว 190 มก./ก. โดยสาร CBD จะพบได้ในใบมากกว่าดอกราว 2 เท่า โดยในใบพบ CBD ราว 20 มก./ก. และในดอกพบ CBD ราว 10 มก./ก.

 
อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ากัญชาสายพันธุ์เบไดออล (bediol) อาจพบสาร CBD ได้สูงถึงราว 80 มก./ก. 


 
ชีวสังเคราะห์ (biosynthesis) ของสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในกัญชานั้น ส่วนใหญ่มีสารตั้งต้นมาจากสารเจอรานิลไพโรฟอสเฟต (geranyl pyrophosphate) ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับกรดโอลิเวโทลิก (olivetolic acid) โดยมีเอนไซม์ geranylpyrophosphate : olivetolate geranyltransferase เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา จะได้
กรดแคนนาบิเจอโรลิก (cannabigerolic acid) ซึ่งกรดนี้เมื่อถูกเร่งปฏิกิริยาโดยเอนไซม์ต่างชนิดกัน จะได้สารกลุ่มของแคนนาบินอยด์แตกต่างกันไป จากความแตกต่างในวิถีชีวสังเคราะห์ดังกล่าว จึงอาจแบ่งประเภทของสาร กลุ่มแคนนาบินอยด์ได้เป็น สารกลุ่มเดลตา9-เททระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Δ9-THC),  สารกลุ่มแคนนาบิไดออล (CBD), และสารกลุ่มแคนนาบิโครมีน (CBC)
 
 
 
สารองค์ประกอบที่เป็นยาในพืชกัญชา - Δ9-THC CBD CBC CBG CBN HealthServ

 
สารกลุ่มแทรนส์-เดลต้า9 -เททระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (trans-Δ9-tetrahydrocannabinol, Δ9-THC types)
 
ปัจจุบันสามารถแยกสารกลุ่มนี้ได้กว่า 10 ชนิด โดยสารสำคัญหลักในกลุ่มนี้คือ สาร Δ9-THC พบครั้งแรกโดย Gaoni และ Mechoulam ใน พ.ศ. 2507 สาร Δ9-THC นี้มีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับแคนนาบินอยด์ (cannabinoid receptors) แบบ partial agonist ทั้ง 2 ชนิด คือ ชนิด CB1 และ CB2 ทำให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาท (psychotropic effect) นอกจากนี้ สาร Δ9-THC ยังทำปฏิกิริยากับตัวรับอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด จึงออกฤทธิ์อื่นๆ ได้ เช่น ต้านอาเจียน แก้ปวด ต้านมะเร็ง ลดความดันในลูกตา ทำให้เจริญอาหาร อย่างไรก็ตาม พบว่าสาร Δ9-THC อาจทำให้เกิดการติด (addiction) และความวิตกกังวล (anxiety) ได้
 


 
 
สารกลุ่มแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD type)
 
สารกลุ่มนี้ที่พบมี CBD และ กรดแคนนาบิซิออลิก ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกได้จากกัญชาชนิดที่ให้เส้นใยสาร CBD นี้ ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับแคนนาบินอยด์ได้น้อยกว่า Δ9-THC ซึ่งอาจส่งผลในการเป็นตัวควบคุมทางลบ (negative modulator) ของทั้ง CB1 และ CB2 ทำให้ CBD เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (non-psychoactive effect) ปัจจุบันยังพบอีกว่า CBD สามารถออกฤทธิ์ผ่านตัวรับอีกหลายชนิด ทำให้ CBD สามารถออกฤทธิ์ต้านอักเสบ แก้ปวด คลายกังวล ต้านมะเร็ง ต้านการคลื่นไส้อาเจียน ต้านการชัก เป็นต้น


 
 
 
สารกลุ่มแคนนาบิโครมีน (cannabichromene, CBC type)
 
สาร CBC เป็นสารที่เสถียรที่สุดในกลุ่มแคนนาบินอยด์ สาร CBC พบมากในระยะที่กัญชากำลังเจริญเติบโต (vegetative stage) สารประเภทนี้ไม่ออกฤทธิ์ต่อ CB1 แต่สามารถลดการอักเสบผ่านการกระตุ้น ที่ transient receptor potential channel (TRPA1) นอกจากนี้ ยังพบว่า CBC ยังมีกลไกลดการอักเสบอื่น เช่น สามารถลดไนทริกออกไซด์, IL-10, interferon-γ
 


 
 
สารกลุ่มแคนนาบิเจอรอล (cannanigerol, CBG type)
 
สารกลุ่มนี้ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (non-psychoactive effect) ที่ผ่านการกระตุ้นที่ CB1 โดยสารสกัดกัญชาที่มีปริมาณ CBG สูง (ไม่มี Δ9-THC) สามารถเพิ่มการกินอาหารของหนูได้ นอกจากนี้ สาร CBG ยังกระตุ้นการทำงานของ α-2 adrenergic receptor ทำให้เกิดฤทธิ์ในการนอนหลับ คลายกล้ามเนื้อ แก้ปวด ได้อีกด้วย
 


 
 
สารกลุ่มแคนนาบินอล (cannabinol, CBN type)
 
สารกลุ่มนี้ได้จากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของสาร Δ9-THC มักพบในกัญชาที่แห้งและเก็บไว้นาน
สารนี้สามารถจับกับตัวรับแคนนาบินอยด์ CB1 ได้น้อยกว่า Δ9-THC จึงทำให้มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทน้อย สารองค์ประกอบเคมีอื่น ๆ ที่พบในพืชกัญชา ได้แก่ กลุ่มเทอร์พีนอยด์ (terpenoids), กลุ่มเฟลโวนอยด์ (flavonoids), กลุ่มลิกนิน (lignins), กลุ่มฟีนอลิก (phenolic compounds) ในเมล็ดกัญชามีน้ำมันระเหยยาก เรียก “น้ำมันเมล็ดกัญชา (hemp seed oil)” ซึ่งมีองค์ประกอบ เป็นกรดไขมันหลายชนิด เช่น กรดลิโนลีอิก (linoleic acid), กรดแกมมา-ลิโนลีอิก (γ-linolenic acid), กรดโอลีอิก (oleic acid), กรดแพลมิติก (palmitic acid)
 
 
 
  
 

การใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของกัญชา

 
ส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษ
● เมล็ดกัญชา ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์
● ช่อดอก ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัยและผลิตภัณฑ์สารสกัด
 
 
ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
● ใบ กิ่ง ก้าน ราก ใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง
● เปลือก ลำต้น เส้นใย ใช้ศึกษาวิจัยใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ กระดาษ
● สารสกัดที่มีสาร CBD เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ใช้เพื่อศึกษาทางการแพทย์ ศึกษาวิจัย ผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร เครื่องสำอาง
● กากจากการสกัด ต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก



+++++

จาก ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ 
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2564
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด