ภญ.วนิชา ใจสำราญ รองผู้อำนวยการรักษาการ ผอ.อภ. กล่าวว่า การก่อสร้างโรงงานวัคซีนของ อภ. นับเป็นโรงงานผลิตวัคซีนแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีกระบวนการผลิตครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจนได้วัคซีนสำเร็จรูป ซึ่งมีความซับซ้อนทั้งในด้านกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิต การก่อสร้างจึงต้องมีการทบทวน ตรวจสอบการออกแบบในรายละเอียดให้มีความเหมาะสม รอบคอบ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการ โดยมีเหตุผลทางวิชาการและเหตุผลทางเทคนิคสนับสนุนตามข้อแนะนำจากผู้เชี่ยว ชาญองค์การอนามัยโลก และสถาบันคาเค็ตสุเกน (kaketsuken) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงานและความปลอดภัยต่อ ชุมชนรอบข้างโรงงานให้สูงขึ้น
“โรงงานนี้ เมื่อการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ชนิดเชื้อตาย เริ่มต้นปีละ 2 ล้านโดส และสูงสุดถึง 10 ล้านโดสต่อปี และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตกรณีเกิดการระบาดใหญ่ (Pandemic) ได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านโดส ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเองของประเทศไทยใน ด้านวัคซีน รองรับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและมีแนวโน้ม จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต” ภญ.วนิชากล่าว
ศ.นพ.รัชตะยังเปิดเผยอีกว่า ในปีงบประมาณ 2558 นี้ สธ.จัดทำโครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบในกลุ่มผู้ใหญ่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 และเป็นของขวัญปีใหม่ 2558 แก่ประชาชนไทย เป็นระบบการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกรณีพิเศษ เนื่องจากในปี 2553-2555 มีการระบาดโรคคอตีบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง มีแนวโน้มขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่อายุระหว่าง 20-50 ปี ที่มีประมาณ 28 ล้านคนทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งคนช่วงอายุดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เกิดก่อนที่ประเทศไทยเริ่มแผนงานสร้าง เสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กระดับชาติ ในปี 2520 จึงเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้ จึงมีระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ยังพบการระบาดของโรคคอตีบในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและเมียนมาร์ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะมีประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย จึงมีความเสี่ยงนำเชื้อโรคคอตีบมาแพร่ระบาดได้ ที่ผ่านมาไทยใช้วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคป้องกันโรคติดต่อ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน พบว่าประสบผลสำเร็จในระดับสูง ไทยปลอดโรคโปลิโอตั้งแต่ปี 2540 กำจัดโรคบาดทะยักในเด็กแรกเกิดได้ตามเป้าหมาย ได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและคณะผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
“นับว่าเป็นโครงการฉีดวัคซีนที่ใหญ่สุดในโลก ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีประเทศใดทำได้มาก่อน ซึ่งจะเป็นการป้องกันควบคุมโรคในระยะยาวของประเทศไทยที่ได้ผลด้วย โดยจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป” ศ.นพ.รัชตะกล่าว.
ที่มา : ไทยโฟสต์, Sanook และ ASTVผู้จัดการ