หากมีการบริโภคกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาร่วมกันกับยาอื่นๆ อาจเกิดสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ยาตีกัน” ได้ ข้อมูลทางวิชาการและรายงานที่มีอย่างแพร่หลายในฐานข้อมูลวิชาการระดับนานาชาติได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะ “ยาตีกัน” ของกัญชาอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น
1. การใช้กัญชาร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทบางประเภทเช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ตัวอย่างเช่น diazepam หรือผู้ป่วยที่ใช้ยามอร์ฟีน อาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กดประสาทมากเกินไปจนเกิดผลเสียได้
2. หากผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชื่อ “ยาวาร์ฟาริน” ได้รับกัญชาเข้าไปอาจทำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดมีระดับสูงขึ้น จนเกิดอาการเลือดออกและทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันได้ถึงแม้จะยังไม่มีรายงานในฐานข้อมูล
3. การใช้กัญชาร่วมกับยากันชักบางประเภท อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับยากันชักและส่งผลกระทบต่อการรักษาได้ อาจจำเป็นต้องวัดระดับยากันชักในเลือด เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม
4. หากใช้กัญชาร่วมกันกับยาบางชนิดเช่น ยารักษาอาการซึมเศร้าบางชนิดเช่น ยาฟลูอ๊อกซิติน (fluoxetine) ยารักษาเชื้อรา (เช่นยา ketoconazole) ยารักษาโรคติดเชื้อบางประเภท (เช่นยา clarithromycin) หรือยาลดความดันโลหิตบางประเภท (เช่นยา verapamil) ยาเหล่านั้นอาจไปลดความสามารถของตับและไตในการเปลี่ยนสภาพและขจัดกัญชาออกจากร่างกาย ระดับของสารสำคัญในกัญชาจะสูงกว่าปกติได้หลายเท่าและนำไปสู่อาการเมา หรือเกิดอาการข้างเคียงได้ ทั้งๆ ที่บริโภคกัญชาในขนาดทั่วไป
โดยสรุปแล้ว กัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมก็เป็นเหมือนยาอื่นๆ อาจส่งผลกระทบกับยา สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ อื่นๆ ที่ท่านรับประทานอยู่ ดังนั้นหากท่านใดใช้ยา สมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพอยู่ก่อน และมีความสนใจที่จะใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชา โปรดตรวจสอบหรือปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกร เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของทุกท่าน