ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รู้จักวัคซีนโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน

รู้จักวัคซีนโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน HealthServ.net

การพัฒนาวัคซีนซาร์ส-โควี-2 (โควิด 19) ในปัจจุบัน นายแพทย์ปพนสรรค์ เจียประเสริฐ และศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ จากแนวทางการให้วัคซีนโควิด19 (วัคชีนโควิด บุคลากร กลุ่มเป้าหมาย การฉีดวัคชีน) จัดทำโดยกรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564

รู้จักวัคซีนโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน ThumbMobile HealthServ.net
รู้จักวัคซีนโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน HealthServ

ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 การพัฒนาวัคซีนซาร์ส-โควี-2 (โควิด 19) ในปัจจุบัน

(นายแพทย์ปพนสรรค์ เจียประเสริฐ และศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ)
 
ข้อมูลจากทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) (3) ณ วันที่ 22 มกราคม 2564 พบว่ามีวัคซีนโควิดจำนวน 237 ชนิดที่ถูกผลิตขึ้น โดยมีจำนวน 173 ชนิดที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลองกับ
สัตว์ และมีจำนวน 64 ชนิดที่กำลังอยู่ในการศึกษาในมนุษย์ซึ่งวัคซีนเหล่านี้มีกระบวนการผลิตที่หลากหลายเทคโนโลยี โดยโครงสร้างของไวรัสซาร์ส-โควี-2 จะมีปุ่มยื่นที่เรียกว่า สไปค์ ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีน ทำหน้าที่ไปจับกับตัวรับ angiotensin-reverting enzyme-2 (ACE2 receptor) ซึ่งอยู่บนผิวของเซลล์ของระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด และลำไส้ เมื่อส่วนของโปรตีนสไปค์ที่เรียกว่า receptor-binding domain (RBD) จับกับตัวรับ ACE2 แล้ว ไวรัสจะสามารถเข้าเซลล์ ทำให้เกิดการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยตามมา ดังนั้น วัคซีนส่วนใหญ่ จะมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตภูมิต้านทานต่อต้านโปรตีนสไปค์เป็นสำคัญ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด 19 จะมีแอนติบอดีต่อโปรตีนสไปค์ โดยเฉพาะในส่วนของ RBD สูง แสดงให้เห็นว่า สามารถใช้anti-RBD antibody เป็นตัวชี้วัดภูมิต้านทานโรคได้ และใช้วัดว่ามีการตอบสนองต่อวัคซีนหรือไม่
 

1. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม ได้แก่ วัคซีนดีเอ็นเอ (DNA) หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

วัคซีนกลุ่มนี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคิดต่อยอดมาประมาณ 30 ปี โดยการสังเคราะห์สารดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA: mRNA) ที่กำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 โดยพบว่าวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันขึ้นสูงมาก และวิธีในการบริหารง่ายกว่าดีเอ็นเอ จึงนำมาผลิตเป็นวัคซีนป้องกันอีโบล่า และยังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาเพื่อเป็นวัคซีนรักษามะเร็งบางชนิด เนื่องจากเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นสารที่ไวต่อการถูกทำลาย จึงต้องใช้สารนาโนพาร์ติเคิล (Lipid nanoparticle) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากไขมันเพื่อเป็นตัวส่งเอ็มอาร์เอ็นเอให้เข้าเซลล์ และเอ็มอาร์เอ็นเอจึงไปกำกับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ ทำให้เซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้าน เนื่องจากการผลิตเป็นไปได้ง่ายกว่า จึงทำให้วัคซีนนี้สำเร็จออกมาทดสอบก่อน เป็นผลให้สามารถประกาศประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ก่อน ซึ่งพบว่ามี 2 ชนิดคือของ Pfizer และ Moderna ที่ออกมาก่อนมีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 95 (5) และ 94 ตามลำดับ (6) วัคซีนทั้งสองชนิด เมื่อออกมาได้รับการตอบรับอย่างดี มีการฉีดอย่างกว้างขวางกว่า 80 ล้านโดสภายในเวลา 2 เดือนเป็นผลให้เป็นการลดลงของอุบัติการณ์ของประเทศที่ฉีดวัคซีนนี้ได้อย่างครอบคลุมมาก เช่น ประเทศอิสราเอล อังกฤษ อเมริกา วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของทั้งสองผู้ผลิตต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำมาก คือ Pfizer เก็บที่ -70 องศาเซลเซียส (12) และ Moderna เก็บที่ -20 องศาเซลเซียส (13) ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ในประเทศเมืองร้อน มีความพร้อมต่ำในการรักษาลูกโซ่ความเย็นที่ต้องการ รวมทั้งมีราคาสูงมาก จึงทำให้การเข้าถึงวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ อาจมีการแพ้สารนาโนพาร์ติเคิลได้ ซึ่งทำให้วัคซีนกลุ่มนี้มีอัตราการแพ้แบบ anaphylaxis สูงกว่าวัคซีนอื่น ๆ ที่เคยมีการใช้มา คือ Pfizer มีอัตราแพ้ 4.7 รายในหนึ่งล้านโดส (7) และModerna มีการแพ้ 2.5 รายในหนึ่งล้านโดส (7,8) ทำให้ต้องฉีดในสถานพยาบาล แต่ในอนาคต วัคซีนที่พัฒนารุ่นถัดไป จะลดปัญหาเหล่านี้ไปได้

วัคซีนชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA based vaccine)
ตัวอย่างวัคซีน(ผู้ผลิต)
  • BNT162b2 (BioNTech/Pfizer)
  • mRNA-1273 (Moderna)
  • CVnCoV (Curevac)

ข้อดี
  • สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย รวดเร็ว
  • สามารถปรับปรุงวัคซีนเพื่อรองรับสายพันธุ์หากมีการกลายพันธุ์ ได้ง่าย
  • แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ และเป็นเทคนิคการผลิตวัคซีนแบบใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนตัวอื่นทำให้มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยระยะยาว อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาอันสั้น ได้มีการใช้ไปแล้วกว่า 100 ล้านโดส ทำให้มีประสบการณ์การใช้อย่างรวดเร็วที่ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยได้

ข้อจำกัด
  • ต้องเก็บรักษาวัคซีนที่อุณหภูมิต่ำมาก เนื่องจาก mRNA ถูกทำลายได้ง่าย (ยกเว้น CVnCoV ของบริษัท CureVac ที่สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 3-5C ได้)  (mRNA1273 ของบริษัท Moderna อาจพิจารณาเก็บในอุณหภูมิ 2-8C ได้ แต่จะมีอายุไม่เกิน 30 วันนับจาก วันที่เก็บที่อุณหภูมิดังกล่าว)
  • ต้องอาศัยนาโนพาร์ติเคิล (Nanoparticle) ซึ่งเป็นสารที่นำมาห่อหุ้มป้องกัน และเป็นตัว นำพา mRNA สารนี้อาจกระตุ้นการแพ้รุนแรงได้
 
 

2. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine)

วัคซีนกลุ่มนี้ใช้ไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) เป็นไวรัสพาหะ โดยนำสารพันธุกรรมที่กำกับการสร้างโปรตีนสไปค์ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 มาสอดใส่ในไวรัสพาหะ แล้วนำมาฉีด โดยไวรัสพาหะที่มีการพัฒนาคือ ไวรัสอะดีโนของชิมแพนซี (Chimpanzee adenovirus) โดย Astra Zeneca, ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 5 (Human adenovirus type 5) โดยบริษัท CanSinoBio, ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 26 (Human adenovirus type 26) โดยบริษัท Johnson and Johnson และ ไวรัสอะดีโนของมนุษย์สายพันธุ์ 5 และ 26 (Human adenovirus type 5 and 26) โดยบริษัท Gamaleya ของรัสเซีย วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะเหล่านี้ เป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิต โดยไวรัสพาหะอาจจะถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่แบ่งตัว หรือเป็นไวรัสที่อ่อนฤทธิ์ไม่ทำให้ป่วย ข้อดีคือเป็นการเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ สามารถกระตุ้มภูมิคุ้มกันทั้งระบบแอนติบอดีย์ และระบบเซลล์ได้ดี เป็นผลในการป้องกันโรคตั้งแต่ฉีดเข็มแรก และอาจจะใช้เพียงโดสเดียวได้ เช่น วัคซีนของ Johnson and Johnson แต่อาจมีความกังวลว่า หากผู้รับวัคซีนเพิ่งจะติดเชื้อไวรัสอะดีโนตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นไวรัสหวัด อาจทำให้มีแอนติบอดีต่อไวรัสอะดีโน และส่งผลรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ ดังที่พบในการศึกษาของวัคซีน CanSinoBio อย่างไรก็ดี (9) ผลการศึกษาของ Oxford–AstraZeneca (พบประสิทธิภาพร้อยละ 70 แต่ป้องกันโรครุนแรงได้ร้อยละ 100) (10) และ Gamaleya (พบประสิทธิภาพร้อยละ 91.6) (11) รวมทั้งของ Johnson and Johnson (12) ดูจะไม่พบว่ามีปัญหานี้ อาจเป็นไปได้ว่ามีการรบกวนไม่มากนักถ้ามีแอนติบอดีในระดับต่ำ และเนื่องจากเป็นไวรัสเชื้อมีชีวิตแม้จะถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือไม่แบ่งตัว แต่ยังไม่ควรใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน และเทคโนโลยีการใช้ไวรัสพาหะแบบนี้ ยังไม่เคยมีการใช้ในวงกว้างมาก่อน แต่จากการใช้วัคซีนของ Oxford–AstraZeneca กว่า 10 ล้านโดส พบว่ามีความปลอดภัยสูง และประสิทธิภาพดี ยังคงต้องมีการศึกษาติดตามระยะยาวต่อไป และน่าจะเป็นวัคซีนกลุ่มที่มีการใช้มากที่สุดในอนาคต เนื่องจากราคาที่ถูกกว่า สามารถเก็บในระบบลูกโซ่ความเย็นที่มีอยู่ได้

วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine)
ตัวอย่างวัคซีน(ผู้ผลิต)
  • AZD1222 (Oxford–AstraZeneca)
  • Ad5-nCoV (CanSinoBIO)
  • Sputnik V (Gamaleya)
  • Covishield (Serum Institute of India)
  • Ad26.COV2.S (Johnson and Johnson)

ข้อดี
  • การกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ขึ้นกับชนิดของไวรัสตัวนำที่ใช้โดยรวมพบว่าสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี
  • เลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติของไวรัสพาหะ โดยไวรัสพาหะบางตัวอาจมีการดัดแปลงพันธุกรรมจนไม่สามารถแบ่งตัวได้ และเนื่องจากเป็นไวรัสอ่อนฤทธิ์ จึงมีความปลอดภัยสูง
  • ผลิตไม่ยาก ราคาไม่แพง
     
ข้อจำกัด
  • ไวรัสพาหะอาจถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่อาจจะมีอยู่ก่อนฉีดวัคซีน ซึ่งอาจพบในผู้ที่เพิ่งจะติดเชื้ออะดีโนไวรัสสายพันธุ์ที่เป็นพาหะและส่งผลต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ผลการศึกษาที่มีอยู่ยังไม่พบปัญหานี้
  • สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีทั้งระบบแอนตีบอดีและระบบเซลล์ (Cell mediated immunity)
  • เนื่องจากไวรัสพาหะเป็นเชื้อมีชีวิต แม้ว่าจะอ่อนฤทธิ์หรือไม่แบ่งตัวแต่อาจก่อโรคได้ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมาก
  • สร้างภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่โดสแรกและอาจใช้เพียง 1 โดสได้

3. วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine)

วัคซีนเทคโนโลยีนี้มีความคุ้นเคยมานาน และใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนตับอักเสบบี ทำโดยการผลิตโปรตีนสไปค์ของไวรัสซาร์ส-โควี-2 อาศัยเทคนิคต่างๆ ที่คุ้นเคย เช่นระบบ cell culture, yeast, baculovirus, ใบยาสูบ แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ วัคซีนกลุ่มนี้กำลังมีการศึกษา เช่น วัคซีนของ Novavax ผลิตจาก baculovirus และใช้Matrix M เป็นตัวกระตุ้นภูมิ พบว่ามีประสิทธิภาพสูงป้องกันโรคได้ร้อยละ 90 (13) และมีความปลอดภัย คาดว่าวัคซีนกลุ่มนี้จะมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางต่อไป

วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine)
ตัวอย่างวัคซีน(ผู้ผลิต)
  • EpiVacCorona (FBRI SRC VB VECTOR Rospotrebnadzor Koltsovo)
  • NVX-CoV2373 (Novavax)
ข้อดี
  • มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
  • ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย รวดเร็ว
  • มีประสบการณ์การใช้มามากมายในวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเป็นต้น

ข้อจำกัด
  • กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี จึงทำให้ต้องใช้สารแอดจูแว้น (adjuvant) ซึ่งทำให้มีปฏิกิริยาเฉพาะที่ในตำแหน่งที่ฉีดได้
 

4. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine)

วัคซีนกลุ่มนี้ผลิตโดยนำไวรัสซาร์ส-โควี-2 มาเลี้ยงขยายจำนวนมาก และนำมาฆ่าด้วยสารเคมี เช่น  betapropiolactone, formaldehyde หรือความร้อน เมื่อฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเทคโนโลยีนี้เป็นวิธีที่ใช้กับวัคซีนตับอักเสบเอ โปลิโอชนิดฉีด จึงมีความคุ้นเคยในประสิทธิภาพและความปลอดภัยแต่เนื่องจากการเพาะเลี้ยงไวรัสต้องทำในห้องปฏิบัติการนิรภัยระดับ 3 ทำให้การผลิตทำได้ช้าและมีราคาแพงวัคซีนในกลุ่มนี้ได้มีการศึกษาแล้วพบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคได้ดีจากการรายงานเบื้องต้นวัคซีนของ Sinovac พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคแบบมีอาการที่ต้องพบแพทย์ ได้ร้อยละ 77.9 และป้องกันโรครุนแรงได้ทั้งหมด แต่หากนับรวมถึงการป้องกันโรคแบบที่มีอาการน้อย ๆ โดยไม่ต้องพบแพทย์ด้วย พบว่าป้องกันได้ร้อยละ  0.4 ส่วนวัคซีนของ Sinopharm พบว่ามีประสิทธิภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 79.4 (14) วัคซีนกลุ่มนี้จะมีราคาในการผลิตแพงกว่ากลุ่มอื่น แต่ได้เริ่มมีการใช้ในหลายประเทศแล้ว และคาดว่าจะมีการนำมาใช้ในประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ ข้อมูลที่กล่าวมานี้ เป็นข้อมูล ณ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด 19 จะมีการนำเสนอมากขึ้นเรื่อย ๆ วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ อาจมีมาในอนาคต 

วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine)
ตัวอย่างวัคซีน(ผู้ผลิต)

  • Coronavac (Sinovac)
  • BBIBP-CorV (Sinopharm, Beijing Institute of Biological Products)
  • Inactivated vaccine (Sinopharm, Wuhan Institute of Biological Products)
  • Covaxin (Bharat Biotech)
ข้อดี
  • มีความปลอดภัยสูง ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้
  • เป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่เคยมีประสบการณ์การใช้กับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เป็นต้น
ข้อจำกัด
  • มีต้นทุนการผลิตสูง เนื่องจากต้องเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการระดับสูง (Biosafety level 3)
ดาวน์โหลด (pdf) ฉบับเต็ม แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย กรมควบคุมโรค กุมภาพันธ์ 2564
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด