ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย กรุงเทพมหานคร

เกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย กรุงเทพมหานคร HealthServ.net
เกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย กรุงเทพมหานคร ThumbMobile HealthServ.net

เกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานครสถานประกอบการอาหารที่จะได้ป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานครจะต้องเป็นสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและผ่านเกณฑ์ตามองค์ประกอบ

องค์ประกอบเกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร
 
ระดับดี/เกรด C (ระดับ 3 ดาว)
1. ด้านสุขลักษณะทางกายภาพอาคารสถานที่ (Place)
2. ด้านคุณภาพอาหาร (Food)
3. ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler)
 
 
ระดับดีมาก/เกรด B (ระดับ 4 ดาว/Green Service)
1. ด้านสุขลักษณะทางกายภาพอาคารสถานที่ (Place)
2. ด้านคุณภาพอาหาร (Food)
3. ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler)
4. ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)*
 (* ต้องผ่านเกณฑ์ด้านบริการฯ อย่างน้อย 4 ข้อ โดยต้องผ่านข้อมาตรฐานหลักทั้งหมด)
 
 
ระดับดีเลิศ/เกรด A (ระดับ 5 ดาว/Green ServicePlus)
1. ด้านสุขลักษณะทางกายภาพอาคารสถานที่ (Place)
2. ด้านคุณภาพอาหาร (Food)
3. ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler)
4. ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)*
 (* ต้องผ่านเกณฑ์ด้านการบริการฯ ทั้ง 7 ข้อ)
 
กรุงเทพมหานคร ให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร โดยมี
อายุการรับรองฯ ๑ ปี นับจากวันที่ให้การรับรองฯ
 
 
รายละเอียดเกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร
 
สถานประกอบการอาหารที่จะได้รับป้ายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานครจะต้องเป็นสถานประกอบการอาหารที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ๔ องค์ประกอบหลัก ดังนี้
 
1. ด้านสุขลักษณะทางกายภาพ อาคารสถานที่ (Place)
ด้านอาคารสถานที่ต้องผ่านเกณฑ์สุขลักษณะสถานประกอบการอาหาร โดยใช้แบบตรวจประเมินด้านสุขลักษณะของสถานประกอบการอาหาร เพื่อให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร แต่ละประเภท ดังนี้
 

 

2. ด้านคุณภาพอาหาร (Food)
ด้านคุณภาพอาหาร ต้องผ่านเกณฑ์ด้านความปลอดภัย ดังนี้
 
 2.1 อาหารและวัตถุดิบ สุ่มตรวจด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test kit) ทางด้านเคมีอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอาหารที่กำหนด ดังนี้
- ต้องไม่พบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ สารฟอร์มาลิน สารฟอกขาว และสารกันรา
- ต้องไม่พบสีสังเคราะห์ในอาหารที่ห้ามการใช้สี
- ต้องไม่พบกรดแร่อิสระในน้ำส้มสายชู
- ต้องไม่พบยาฆ่าแมลง และสารโพลาร์ในน้ำมันทอดอาหาร เกินเกณฑ์คุณภาพอาหารที่กำหนด
 
2.2 ความสะอาดของอาหารพร้อมบริโภค ภาชนะอุปกรณ์ มือผู้สัมผัสอาหาร ตรวจ
ประเมินโดยใช้ชุดตรวจหาโคลิฟอร์มแบคทีเรียเบื้องต้น (SI-๒) พบการปนเปื้อนไม่เกินร้อยละ 10 
กรณีพบการปนเปื้อน ให้เจ้าพนักงานออกคำแนะนำหรือออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการอาหารดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยกำหนดแนวทางในการสุ่มตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ดังนี้
 
ตลาด
- จำนวนแผงค้าอาหารในตลาด น้อยกว่า 100 แผง
สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารจากแผงค้า จำนวนร้อยละ ๘๐ ของจำนวนแผงค้าอาหารทั้งหมด
 
- จำนวนแผงค้าอาหารในตลาด ตั้งแต่ 100 - 200 แผง
สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารจากแผงค้า จำนวนร้อยละ ๖๐ ของจำนวนแผงค้าอาหารทั้งหมด
 
- จำนวนแผงค้าอาหารในตลาด มากกว่า 200 แผง
สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารจากแผงค้า จำนวนร้อยละ ๕๐ ของจำนวนแผงค้าอาหารทั้งหมด
 
ซูเปอร์มาร์เก็ต เก็บตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนทั้ง
ทางด้านเคมีและจุลินทรีย์ รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ตัวอย่าง
 
มินิมาร์ท เก็บตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนทั้งทางด้านเคมีและจุลินทรีย์รวมกันไม่น้อยกว่า 5 ตัวอย่าง (ยกเว้น มินิมาร์ทจำหน่ายอาหารบางประเภท ที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้ครบตามที่กำหนด)
 
ร้านอาหาร - ขนาดพื้นที่มากกว่า 200 ตารางเมตร
 
สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนทั้งทางด้านเคมี และจุลินทรีย์ รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ตัวอย่าง
 
- ขนาดพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนทั้งทางด้านเคมี และจุลินทรีย์ รวมกันไม่น้อยกว่า 5 ตัวอย่าง
 
แผงลอย จำหน่ายอาหาร ริมบาทวิถี
 
เก็บตัวอย่างอาหาร ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนทั้งทางด้านเคมีและจุลินทรีย์รวมกันไม่น้อยกว่า 5 ตัวอย่าง (ยกเว้น แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถีบางประเภท ที่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างได้ครบตามที่กำหนด)

 
3. ด้านบุคลากร ผู้สัมผัสอาหาร (Food Handler)
บุคลากรผู้สัมผัสอาหาร ต้องได้รับการอบรมหรือการเรียนรู้ด้วยตนเองด้านการสุขาภิบาลอาหารและผ่านการทดสอบความรู้ โดยได้รับหนังสือรับรองหรือบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารทุกราย
 
 
4. ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)*
โดยการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึง สถานประกอบการอาหารมีการให้บริการ
ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้
1. ไม่มีเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการ เช่น ควัน กลิ่น และเสียง (ข้อมาตรฐานหลัก)
2. ไม่ใช้ภาชนะที่ทำจากโฟม (ข้อมาตรฐานหลัก)
3. เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เชื่อถือได้
4. มีการคัดแยกขยะ เช่น ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะที่ย่อยสลายได้และขยะอันตราย เป็นต้น
5. มีการนำขยะอาหาร วัตถุดิบเหลือใช้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
6. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือการกำจัดแมลง สัตว์นำโรค ที่มีวิธีหรือส่วนประกอบจากธรรมชาติ
7. มีนโยบายให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารเองได้

 
เกณฑ์การประเมินสถานประกอบการอาหารเพื่อให้การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร
- ระดับดี/เกรด C (ระดับ ๓ ดาว) ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามองค์ประกอบที่ 1 - 3
- ระดับดีมาก/เกรด B (ระดับ ๔ ดาว/Green Service) ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินครบทั้ง 4 องค์ประกอบ โดยด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 4 ข้อและต้องผ่านข้อมาตรฐานหลักทุกข้อ
- ระดับดีเลิศ/เกรด A (ระดับ ๕ ดาว/Green Service Plus) ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินครบทั้ง 4 องค์ประกอบ และต้องผ่านเกณฑ์ด้านบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง 7 ข้อ
 
 
การกำหนดข้อมาตรฐานหลักในเกณฑ์ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)
 
1. ข้อมาตรฐานหลัก “ไม่มีเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการ”
สถิติข้อมูลเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญที่เกิดจากสถานประกอบกิจการอาหาร ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 - 2562 พบว่าเรื่องร้องเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (2,236 ครั้ง) และลดลงเล็กน้อยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (2,052 ครั้ง) โดยสถานประกอบกิจการประเภทสถานที่จำหน่ายอาหารเป็นกลุ่มสถานประกอบกิจการที่มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุด

ปัญหาเหตุรำคาญด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสถานประกอบการอาหาร จะมีทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น ควัน เสียงดัง หรือน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้น จึงได้กำหนดเป็นเกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service) โดยกำหนดเป็นข้อมาตรฐานหลักที่สถานประกอบการอาหารต้องปฏิบัติ เพื่อลดมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสถานประกอบการอาหารและคุ้มครองสุขภาพประชาชน
 
2. ข้อมาตรฐานหลัก “ไม่ใช้ภาชนะที่ทำจากโฟม” การใช้ภาชนะโฟมมาบรรจุอาหารอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากใช้ไม่ถูกต้องกับประเภทอาหารเช่น นำภาชนะโฟมมาใช้บรรจุอาหารร้อนและอาหารทอด น้ำมันจากอาหารจะเกิดปฏิกิริยากับโฟม ทำให้เกิด สารอันตรายปะปนออกมากับอาหาร สารเหล่านี้ ได้แก่ สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซิน (benzene) สารสไตรีนจะมีผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำลายระบบฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อระบบประสาท เม็ดเลือดแดง ตับและไต เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาหรือสูดดมเข้าไป ทำให้เยื่อเมือกเกิดการระคายเคือง มีอาการไอและหายใจลำบาก ปวดศีรษะ ง่วงซึม สำหรับสารเบนซิน จัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B ตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตราย พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้สูดดมหรือรับประทานเข้าไป และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเรื่องการนำไปกำจัด ซึ่งโฟมต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 450 ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด
 
 
กอรปกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อการลดและคัดแยกมูลฝอยอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศเจตนารมณ์“ กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรชั้นนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นลดการใช้พลาสติกและโฟม โดยให้หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดขยะพลาสติกและโฟม” ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานช่วยกัน ลด ละ เลิกการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยกำหนดมาตรการสำคัญ 5 มาตรการ คือ
 
1. ขอความร่วมมือบุคลากรกรุงเทพมหานครทุกคน ไม่นำถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมเข้าอาคารสำนักงานของกรุงเทพมหานครทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 63 เป็นต้นไป
 
2. ให้หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่งกำหนดมาตรการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีสวนร่วมในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์“กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรชั้นนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นลดการใช้พลาสติกและโฟมโดยให้หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดขยะพลาสติกและโฟม
 
3. ให้หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง มีการสื่อสารนโยบาย ส่งเสริม รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรปฏิบัติตามประกาศเจตนารมณ์ “กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรชั้นนำในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นลดการใช้พลาสติกและโฟมโดยให้หน่วยงานกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ปลอดขยะพลาสติกและโฟม
 
4. ให้หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครทุกแห่ง กำหนดให้ร้านอาหารที่นำของเข้ามาขายในหน่วยงาน ลด/งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟม
 
5. ขอความร่วมมือให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครทุกคนให้คำแนะนำบุคคลภายนอกที่มาติดต่อราชการ ห้ามนำถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟมเข้ามาในอาคาร การประกาศเจตนารมณ์นี้เพื่อให้บุคลากรของกรุงเทพมหานครมีส่วนร่วมในการแสดงพลังขับเคลื่อนนโยบายการลดปริมาณขยะ และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานราชการอื่น รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชน พร้อมใจกันเลิกใช้ถุงพลาสติกและโฟม ดังนั้น จึงได้กำหนดเป็นเกณฑ์การรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรุงเทพมหานคร ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service) โดยกำหนดเป็นข้อมาตรฐานหลักที่สถานประกอบการอาหารต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในความสำเร็จของกรุงเทพมหานครในการลดและควบคุมปริมาณการใช้โฟมที่แหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ
 
 

การตรวจประเมินตามเกณฑ์ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Service)
 
1. ไม่มีเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการ(ข้อมาตรฐานหลัก)
ไม่มีเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น ควัน กลิ่น เสียง เป็นต้น หากมีเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการ ต้องได้รับการแก้ไขจนระงับเหตุรำคาญนั้น
 
2. ไม่ใช้ภาชนะที่ทำจากโฟม (ข้อมาตรฐานหลัก)
ห้ามใช้ภาชนะสำหรับบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม ยกเว้น ภาชนะโฟมที่บรรจุวัตถุดิบอาหาร เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ผักสด เป็นต้น
 
3. เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือได้รับการรับรองมาตรฐานด้าน
ความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ กรณีจำหน่ายอาหารที่มีการประกอบปรุง (ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี ตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท)  มีการเลือกใช้วัตถุดิบอาหาร (อาหารสด และอาหารแห้ง) ในการประกอบปรุงอาหาร เช่น
- วัตถุดิบอาหารที่หาง่ายในท้องถิ่น
- วัตถุดิบอาหารออร์กานิค
- ผักผลไม้ตามฤดูกาล
- วัตถุดิบอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน สินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Organic Thailand’s Brand
- มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใช้เอง กรณีจำหน่ายวัตถุดิบอาหาร (ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ทแผงลอยจำหน่ายอาหารริมบาทวิถี)
 
 มีการจัดให้มีจุดหรือแผงจำหน่ายวัตถุดิบอาหาร (อาหารสด และอาหารแห้ง) เช่น
- วัตถุดิบอาหารที่หาง่ายในท้องถิ่น
- วัตถุดิบอาหารออร์กานิค
- ผักผลไม้ตามฤดูกาล
- วัตถุดิบอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เชื่อถือได้ เช่น เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน สินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Organic Thailand’s Brand
 
 
4. มีการคัดแยกขยะ เช่น ขยะรีไซเคิลขยะทั่วไป ขยะที่ย่อยสลายได้ และขยะอันตราย เป็นต้น
 
มีการคัดแยกขยะอย่างน้อย 4 ประเภท หรือตามประเภทขยะที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะที่ย่อยสลายได้ (เศษอาหาร) ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และขยะอันตราย ตามข้อบังคับกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของอาคารสถานที่และสถานที่บริการการสาธารณสุข พ.ศ. 2545 ดังนี้
 
1. ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือขยะรีไซเคิล คือ ขยะซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ หรือนำมาเป็น วัตถุดิบในการผลิตใหม่ เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ พลาสติก อลูมิเนียม เป็นต้น
 
2. ขยะทั่วไป คือ ขยะอื่นใดที่มิใช่ขยะที่ย่อยสลายได้ขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ
 
3. ขยะที่ย่อยสลายได้ คือ ขยะประเภทเศษอาหารเศษพืชผัก ผลไม้ รวมตลอดสิ่งอื่นใดที่เป็นอินทรียวัตถุที่สามารถย่อยสลายเน่าเปื่อย ที่ไม่ใช่ขยะติดเชื้อ และไม่ใช่ขยะอันตราย
 
4. ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีส่วนประกอบหรือปนเปื้อนสารเคมีอันตราย เช่น สารไวไฟ สารเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายสารที่มีความเป็นพิษ สารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือสารอันตรายใดที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
 
5. มีการนำขยะอาหาร วัตถุดิบเหลือใช้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มีการนำขยะอาหาร วัตถุดิบเหลือใช้ จากสถานประกอบกิจการไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น
- นำเศษอาหารไปเลี้ยงสัตว์ หรือส่งให้กับชุมชน
- นำเศษผักผลไม้ไปผลิตเป็นน้ำหมัก ปุ๋ย หรือส่งให้กับชุมชน
- นำน้ำมันใช้แล้วจากการทอดอาหารไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนใช้ในสถานประกอบกิจการ หรือส่งให้กับชุมชน
- นำไขมันจากถังดักไขมันไปทำปุ๋ย หรือทำก้อนเชื้อเพลิง
- บริจาควัตถุดิบที่เหลือใช้/ไม่ได้ใช้งานแล้ว ให้กับหน่วยงานอื่นๆ นำไปใช้ประโยชน์
- บริจาคอาหารเหลือที่ยังมีคุณภาพดี ส่งต่อไปยังผู้ด้อยโอกาส

 
6. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือการกำจัดแมลง สัตว์นำโรคที่มีวิธีหรือส่วนประกอบจากธรรมชาติมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือการกำจัดแมลง สัตว์นำโรค ที่มีวิธีหรือส่วนประกอบจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรเอนไซม์ ชีวภาพ หรือผลิตภัณฑ์กำจัดสัตว์ แมลงนำโรค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
7. มีนโยบายให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารเองได้มีนโยบายให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารเองได้ โดยมีป้ายแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน หรือสื่อสารผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชั่น ในการส่งเสริมการขาย จูงใจให้ลูกค้านำภาชนะมาใส่อาหารเองได้เช่น ให้ลูกค้านำ ปิ่นโต กล่องอาหาร แก้วน้ำ หรืออื่นๆ มาใส่อาหารและเครื่องดื่มแทนการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด