ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วัคซีนโควิด-19 ฉีดเข็มแรก SNV ตามด้วยเข็มสอง AZ ใช้ได้ไหม..กับใคร?

วัคซีนโควิด-19 ฉีดเข็มแรก SNV ตามด้วยเข็มสอง AZ ใช้ได้ไหม..กับใคร? HealthServ.net

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

วัคซีนโควิด-19 ฉีดเข็มแรก SNV ตามด้วยเข็มสอง AZ ใช้ได้ไหม..กับใคร? ThumbMobile HealthServ.net
วัคซีนโควิด-19 ฉีดเข็มแรก SNV ตามด้วยเข็มสอง AZ ใช้ได้ไหม..กับใคร? HealthServ

วัคซีนโควิด-19 ฉีดเข็มแรก SNV ตามด้วยเข็มสอง AZ: ใช้ได้ไหม..กับใคร?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี
นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม
14 กรกฎาคม 2564

วันนี้ ใน กทม. และปริมณฑล ถูกเชื้อไวรัสเดลต้าบุกทะสุทะลวงมาแรงจนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนักมีจำนวนมากขึ้นและเตียงในโรงพยาบาลในเขตนี้มีไม่พอที่จะรับไว้ ส่วนหมอ พยาบาล รวมทั้งบุคลากรด่านหน้าก็ทำงานจนจะแบกรับภาระงานไม่ไหวแล้ว สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละวันทั้ง ๆ ที่ข้อมูลวิชาการในด้านต่างๆ ยังมีไม่มากพอ แม้เราจะเร่งฉีดวัคซีนให้ครบทั้งสองเข็มอย่างเต็มศักยภาพและสุดกำลัง ก็ดูเหมือนเรายังตามหลังการระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้าอยู่จนจำนวนผู้ป่วยหนักล้นเตียงล้นมือหมอ คำถามคือ ยังพอจะมีวิธีการอะไรอีกไหม ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยหนักลงอย่างรวดเร็ว?
 
คำตอบที่เสนอออกมาจากคณะกรรมการฯ คือ การฉีดวัคซีนแบบผสม สำหรับผมแล้ว ขอกล่าวถึงการฉีดแบบผสมวิธีเดียวคือ ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเป็น Sinovac เข็มที่สองเป็น AstraZeneca ห่างกัน 3 สัปดาห์ ผมคิดว่า การฉีดแบบผสมนี้เป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ (นอกจากการฉีด Sinovac 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ หรือฉีด AstraZeneca 2 เข็มแต่ต้องฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์) การฉีดแบบผสมนี้มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือ ต้องการเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยหนักจนต้องใช้เตียงในโรงพยาบาล ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลดการติดเชื้อนะครับ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้าจำนวนเตียงและภาระงานของหมอ ในเขต กทม. และปริมณฑล ในขณะนี้

การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกเป็น Sinovac เข็มที่สองเป็น AstraZeneca ห่างกัน 3 สัปดาห์ เป็นขนาดของวัคซีนที่ผมยอมรับได้แม้ยังมีข้อมูลน้อย) คือ ขนาดของวัคซีนยังไม่มากเกินไปจนอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้นกว่าการฉีดวัคซีนอื่น ๆ ตามวิธีปกติได้ เหมือนกับการกินยาพาราเซตามอล 2 เม็ดซึ่งอยู่ในขนาดยาที่เหมาะสม แต่ได้ยามาจากคนละบริษัท ฉีดแบบผสมนี้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและเร็วกว่าการฉีดแบบปกติที่เรามีอยู่ ได้ภูมิคุ้มกันในระดับใกล้เคียงกับการฉีด AstraZeneca  2 เข็มหรือต่ำกว่าเล็กน้อย การแพ้วัคซีนชนิดที่รุนแรงและคุกคามถึงชีวิตไม่น่าจะมีมากกว่าการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้าในขณะนี้ ผมจึงสรุปว่า ใช้ได้ ไม่น่าจะขัดแย้งกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก หรือของใครนะครับ

แล้วจะใช้กับใคร เมื่อไหร่ ผมขอให้ใช้ใน กทม. และปริมณฑล ก่อน หรือในพื้นที่สีแดงเข้มที่การระบาดของเชื้อไวรัสเดลต้ายังพุ่งไม่หยุด เพื่อทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ขอใช้การฉีดแบบผสมนี้นาน 3 เดือนและติดตามผลการฉีดแบบผสมนี้ว่า ลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรงลงได้จริงไหม และมีความปลอดภัยเท่าเทียมกับวิธีฉีดตามปกติหรือไม่ คล้ายกับเป็นการทำวิจัยในระยะที่ 2-3 ที่ต้องวัดประสิทธิผลและติดตามความปลอดภัย เพื่อนำข้อมูลมาสรุปและเผยแพร่ให้ประชาคมโลกทราบทั่วกัน
 
ผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายให้ใช้วิธีนี้ได้ ต้องรีบตัดสินใจออกคำสั่งหรือประกาศว่า จะสั่งให้ใช้หรือไม่ เพราะกว่าจะเห็นผลจากการฉีดวัคนแบบผสมนี้ ต้องใช้เวลาอีกหนึ่งเดือนครึ่ง ส่วนวิธีอื่นนอกจากนี้และเท่าที่เรามีวัคซีนอยู่ในวันนี้ ก็มีการฉีตวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มแรกไปก่อน (มีวิธีฉีดที่เร่งการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ขอไม่กล่าวถึง)
 
ผมจึงสรุปจากความคิดเห็นของผมว่า ผู้มีอำนาจสั่งการตามกฎหมายให้ใช้วิธีนี้ได้ ต้องรีบตัดสินใจสั่งให้ใช้การฉีดวัคซีนแบบผสมนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ในกทม. และปริมณฑล จนกว่าจะควบคุมการระบาดจากเชื้อไวรัสเดลต้าได้ พื้นที่อื่นที่ไม่ได้เป็นสีแดง ยังไม่ต้องใช้วิธีฉีดแบบผสมนี้ เมื่อได้ข้อมูลในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทั่วโลกคงจะทราบได้ว่า การฉีดวัคซีนแบบผสมนี้ ใช้ได้ดีจริงหรือไม่ในการลดความรุนแรงของโรค? หรือว่า ไม่ต้องใช้อีกเลยเพราะได้ผลดีเท่ากับวิธีปกติที่ใช้กันอยู่แล้ว

และขอฝากทิ้งท้ายไว้กับทุกท่านที่ยังรีรอว่า จะฉีดวัคซีนดีหรือไม่ เพราะท่านที่คิดแบบนี้เหลือน้อยมากแล้ว ตัดสินใจรีบไปฉีดวัคซีนโดยเร็ว อย่ามัวรีรออยู่เลยครับ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด