ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด - สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2564

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ดังนี้
 
           เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งมอบหมายให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พ.ศ. 2564 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ตามขั้นตอนต่อไป
 


สาระสำคัญ ข้อเท็จจริง
 

          คณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ซึ่งมีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการฯ ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความเหมาะสมของกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (กรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้
 

1. เหตุผลและความจำเป็น

          1.1 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ทวีความรุนแรงและขยายขอบเขตไปในหลายประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยประเทศไทยเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน สังคม และผู้ประกอบการธุรกิจอย่างรุนแรง โดยคาดว่าเมื่อมีการกระจายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รุนแรงในบางพื้นที่ของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ในขณะเดียวกับที่การขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐอันเนื่องมาจากการดำเนินแผนงาน/โครงการที่มีส่วนช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) ในช่วงที่ผ่านมาได้ทยอยส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง
 
          1.2 อย่างไรก็ตาม แรงหน่วงจากสถานการณ์แพร่ระบาดตามคลัสเตอร์ต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่ ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยจึงมีแนวโน้มประสบปัญหาขาดสภาพคล่องเพิ่มขึ้น นำไปสู่ปัญหาการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สินท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและการไม่มีโอกาสเข้าสู่ตลาดการจ้างงาน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ในระยะต่อไปมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ภาคบริการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงต่อไป จำเป็นต้องมีการเตรียมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสและเร่งการฟื้นตัวจากสถานการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับโลกดังกล่าว
 
          1.3 ด้วยสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น การดำเนินแผนงาน/โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 170,000 ล้านบาทในระยะถัดไป จึงถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของภาครัฐที่จะช่วยให้หน่วยงานขอวรัฐสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระดับพื้นที่ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในภาพรวมให้ฟื้นตัวและสามารถกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องภายใต้การดำเนินมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัดให้โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังจำเป็นต้องคำนึงถึงความจำเป็นและคุ้มค่าในการใช้จ่ายภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ที่จะคลี่คลายไปในแต่ละช่วงเวลาด้วย

2. หลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

          รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ผลโดยเร็วที่สุด ในขณะเดียวกับที่จะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงปลายปี 2564 จนถึงปี 2565 โดยอาศัยอำนาจของพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกระดับทั้งระดับสถานประกอบการทั่วไป ธุรกิจชุมชน ครัวเรือน หรือระดับบุคคล สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานที่เป็นจุดเน้นสำคัญ คือ
 
          2.1 เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงาน โดยรักษากิจการในภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือธุรกิจชุมชน สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
 
          2.2 เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนในระดับฐานราก
 
          2.3 เพื่อกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
 
 

3. ขอบเขตของโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

          แผนงาน/โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ต้องเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่มีลักษณะ เพื่อเป้าหมายอย่างน้อยข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
เป้าหมาย ลักษณะแผนงาน/โครงการ
 
          1. เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและส่งเสริมการจ้างงานของสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และการจ้างงานในชุมชนแผนงาน/โครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถมีสภาพคล่องเพียงพอในการรักษาการจ้างงานเดิม หรือแผนงาน/โครงการที่ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ และการจ้างงานต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

          2. เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ ในสาขาที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และสามารถกระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนในระดับฐานราก แผนงาน/โครงการเพื่อสนับสนุนปัจจัยการผลิต ยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการโดยมีการประยุกต์ใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการลงทุนที่สามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการโดยเฉพาะระดับชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก

          3. เพื่อกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจต่าง ๆ แผนงาน/โครงการเพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนหรือครัวเรือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องกรอบการจัดสรรวงเงิน (เบื้องต้น) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

 
ลักษณะโครงการ/วงเงิน (ล้านบาท)
1. การรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงานฯ 70,000
2. การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ และ/หรือกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจต่าง ๆ 100,000
รวม 170,000 
 

4. กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

ได้แก่ สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร) วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงาน และวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน   

5. กลุ่มเป้าหมายในการเสนอโครงการ
 

          ตามข้อ 12 วรรคสองของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้ “หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีเจ้าสังกัด” เป็นผู้มีหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอโครงการที่มีความสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่มีรายละเอียดข้อมูลครบถ้วนเสนอ สศช. เพื่อรวบรวมและจัดทำความเห็นเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาตามขั้นตอน โดยหน่วยงานของรัฐต้องจัดทำข้อเสนอโครงการพร้อมทั้งต้องส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและหรือจัดทำข้อเสนอโครงการที่สอดคล้องกับภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงานผ่านหน่วยงานได้ ทั้งนี้ กรณีที่หน่วยงานของรัฐจะจัดทำข้อเสนอโครงการที่กำหนดให้มีการให้เงินอุดหนุนแก่วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือองค์กรภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐจะต้องกำหนดให้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือองค์กรภาคประชาชน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในการดำเนินโครงการและภาระหน้าที่ของวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือองค์กรภาคประชาชนที่มีต่อข้อเสนอโครงการ อาทิ สัดส่วนของเงินร่วมจ่ายหรือสมทบ การบำรุงรักษาเครื่องมือ พร้อมทั้งแสดงเอกสารและหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาความพร้อมของวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ หรือองค์กรภาคประชาชนว่าจะสามารถดำเนินโครงการที่เสนอได้อย่างยั่งยืน

 

 6. ลักษณะของข้อเสนอโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

          6.1 โครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ โครงการที่เสนอจะต้องเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
          6.2 โครงการที่มีการกำหนดกิจกรรมการดำเนินโครงการที่ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

 

7. การจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการ

           หน่วยงานของรัฐ ต้องดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้ (1) รายละเอียดโครงการตามแบบฟอร์มข้อเสนอโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเอกสารประกอบ ได้แก่ แบบรายงานการประเมินความเสี่ยงการทุจริตฯ แบบรูปรายการ ปร.4 - ปร.5 แบบแสดงรายละเอียดงบประมาณ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ http://thaime.nesdc.go.th/loanact/ ทั้งนี้ การจัดทำรายละเอียดงบประมาณโครงการ ให้หน่วยงานของรัฐกำหนดงบประมาณรายจ่ายแต่ละรายการ ให้เป็นไปตามบัญชีราคามาตรฐานของสำนักงบประมาณ และ (2) กรอกข้อมูลรายละเอียดโครงการฯ ในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR)
 
 

8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          8.1 ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดได้รับการช่วยเหลือเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ประมาณ 390,000 ราย
 
           8.2 เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการโดยเฉพาะระดับชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนและท้องถิ่น ในท้ายที่สุด
 
          8.3 สามารถพยุงระดับการบริโภคภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาด
                   

9. กรอบระยะเวลาดำเนินการ

          กำหนดให้มีการแบ่งช่วงการพิจารณากลั่นกรองเพื่ออนุมัติให้ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างน้อย 2 รอบ โดยรอบที่ 1 จะเริ่มประมาณตุลาคม 2564 กรอบวงเงินประมาณ 100,000 - 120,000 ล้านบาท และรอบที่ 2 จะเริ่มประมาณมีนาคม 2565 กรอบวงเงินประมาณ 50,000 - 70,000 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถรองรับการดำเนินการตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีความจำเป็นต้องปรับกรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อการตามมาตรา 5 (1) (2) และ (3) ก็ได้


          ทั้งนี้ กรณีที่หน่วยงานของรัฐมีความประสงค์จะจัดส่งข้อเสนอโครงการเบื้องต้น (Project brief) ให้ สศช. พิจารณาเบื้องต้น สามารถจัดส่งข้อเสนอโครงการ (ตามรูปแบบข้อ 7.) โดยผ่านความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานจัดส่งให้ สศช. ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ โดยกรณีที่ สศช. พิจารณาเห็นว่าข้อเสนอโครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับจุดเน้นตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในแต่ละช่วงเวลาจะมีหนังสือแจ้งกลับไปยังหน่วยงานฯ เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด