ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย

โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย HealthServ.net
โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย ThumbMobile HealthServ.net

โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรนี้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ทั้งในด้านพันธุกรรม และด้านองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการชะลอโรค โดยตรวจวินิจฉัยให้กับประชาชนคนไทยอายุระหว่าง 55-85 ปี

โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย HealthServ

ความสำคัญและที่มาของโครงการ

ด้วยน้ำพระทัยที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและพระกรุณาธิคุณใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับโอกาสและคุณประโยชน์อย่างยิ่งจากพระกรณียกิจและโครงการต่างๆในพระดำริ กอปรกับทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม พิษวิทยา ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษาวิจัยและวิชาการทำให้เกิดมีโครงการต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย และในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 4 กรกฎาคม 2560 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ 6 สถาบันการแพทย์การศึกษาชั้นนำ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พันธุวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ “โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรในคนไทย”
 
อัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหลักของโรคสมองเสื่อมซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆในคนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปโดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ต่ำกว่า 600,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 100,000 รายต่อปี ผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะเป็นอัลไซเมอร์ประมาณ 5-8 % และเมื่ออายุ 80 ปีขึ้นไปจะพบประมาณ 50% ดังนั้นปัญหาภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคัดกรองเพื่อเตรียมความพร้อมให้รับมือกับโรคได้
 
โครงการตรวจคัดกรองสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ครบวงจรนี้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ทั้งในด้านพันธุกรรม และด้านองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาการชะลอโรค โดยตรวจวินิจฉัยให้กับประชาชนคนไทยอายุระหว่าง 55-85 ปี ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนที่จะมีอาการ และกลุ่มที่มีอาการแล้วของโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์ รวมทั้งสามารถบอกแนวโน้มความรุนแรงของโรคว่ามีมากน้อยเพียงใด ในขณะเดียวกันก็จะมีการตรวจเพื่อค้นหาปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร หรือปัจจัยทางพันธุกรรมที่มีผลในการชะลอโรคสมองเสื่อม และประเมินการตอบสนองโดยใช้วิธีการหาดัชนีชีวภาพในสมองด้วยวิธีต่างๆ อาทิ จากภาพรังสีวินิจฉัย จากการตรวจเลือด จากข้อมูลการตอบสนองในระดับพันธุกรรม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะนำมาพัฒนาให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสังคมไทยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงดูแลรักษาตนเองและการลดภาระของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุของประเทศ
 
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระกุศลแด่ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
2. เพื่อให้บริการประชาชนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้มีโอกาสตรวจคัดกรองโดยการวิเคราะห์การทำงานและประสิทธิภาพของสมองด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยราคาแพงที่มีอยู่แล้วให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ได้แก่ การตรวจวินิจฉัยด้วยเพท-ซีที สแกน (PET-CT Scan) และเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (BRAIN MR IMAGING) ร่วมกับการตรวจค้นหารหัสพันธุกรรมในคนไทยด้วยเครื่องอ่านรหัสพันธุกรรมสมัยใหม่ (Next Generation Sequencing Technology) ซึ่งเป็นการตรวจทางชีวเคมีและพันธุกรรมขั้นสูงที่สัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม
3. เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลภาพสมองและรหัสพันธุกรรมขนาดใหญ่ในคนไทยที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคและการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ พร้อมกับค้นหาปัจจัยเสี่ยงทางด้านโภชนาการในคนไทยที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้
4. เพื่อให้ประชาชนชาวไทยตระหนัก เตรียมพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด