ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights

EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights HealthServ.net

แม้ว่าคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสตัวกลายพันธุ์ใหม่ยังไม่ชัดเจน แต่ทางเบอร์ลินและบรัสเซลส์พยายามที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนในอดีต และรอบนี้ต้องการจะเตรียมอาวุธรับมือให้ตัวเองรอบนี้ได้อย่างทันท่วงที โดยคราวนี้การฉีดวัคซีนควรจะดำเนินไปได้เร็วกว่าเดิม​

EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights ThumbMobile HealthServ.net
EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights HealthServ

ถึงแม้ว่า จะยังมีเครื่องหมายคำถามมากมายเกี่ยวกับ Omicron ที่ยังไม่มีคำตอบ อย่างไรก็ตามที่ชัดเจนแล้ว ก็คือ ไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ในแอฟริกาใต้ซึ่งตรวจพบการกลายพันธุ์ครั้งแรก ไวรัสตัวนี้ได้เข้ามาครอบงำกระบวนการติดเชื้อไปแล้ว แม้ว่าในเยอรมนี จะยังคงมีการยืนยันเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นจนถึงปัจจุบัน แต่นักไวรัสวิทยาชั้นนำระดับโลกเช่น Christian Drosten คาดว่า สัดส่วนของไวรัสตัวนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศนี้เช่นกัน โดยให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ NDR-Info ไว้ว่า "ผมคิดว่าเราจะมีปัญหากับ Omicron ในเยอรมนีตั้งแต่เดือนมกราคม" ถ้า Omicron "เข้าควบคุม" คลื่นของการติดเชื้อก็ไม่ต้องหวังอีกต่อไปว่า การระบาดใหญ่จะจบลงภายในเทศกาลอีสเตอร์ปีหน้านี้​
ดังนั้นนักการเมืองต่างๆจึงพยายามที่จะหาอาวุธอย่างดีที่สุดที่จะต่อต้านการแพร่กระจายของไวรัสใหม่ตัวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ของเยอรมัน ​ Karl Lauterbach (SPD) ได้ให้คำมั่นว่า จะกำจัดไวรัสดังกล่าว หรืออย่างน้อยก็จะต้องรีบเตรียมการล่วงหน้าให้พร้อมกับการต่อสู้แทนที่จะวิ่งตามเหตุการณ์เสมอ ที่สำคัญที่สุด การเตรียมพร้อมหมายถึงการมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ​
​ 
โชคดี ก็คือ การพัฒนาวัคซีนป้องกัน Omicron ณ ปัจจุบันดูเหมือนจะไม่ซับซ้อนอีกต่อไปสำหรับนักวิจัย ทั้ง Biontech และ Moderna กำลังอยู่ในขั้นตอนของการ "สร้าง" โปรตีนที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตัวนี้ขึ้นใหม่ โดยวงในอุตสาหกรรมนี้มีความเห็นว่า "อุปสรรคนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถแก้ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรอีกในด้านวิทยาศาสตร์" ตัวอย่างวัคซีนชุดแรกอาจจะออกมาในสี่ถึงหกสัปดาห์ข้างหน้านี้แล้ว แต่หากพูดถึงความพร้อมทางด้านการวางขายในตลาดและการผลิตจำนวนมาก สิ่งนี้น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วสุดก็ในฤดูใบไม้ผลิ (มีนา-เมษา) เท่านั้น​
EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights HealthServ
*Photo Karl Lauterbach, Germany health minister from DW.com

ผู้ผลิตวัคซีน mRNA ชั้นนำทั้งของ Biontech / Pfizer และ Moderna ที่ได้ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พวกเขาอาจจะสามารถส่งมอบวัคซีนใหม่ดังกล่าวได้ในเดือนมีนาคม ข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับสิ่งนี้ที่จะเกิดขึ้นได้จริง ก็คือ การอนุมัติวัคซีนจากหน่วยงานของรัฐอย่างทันท่วงที ตามที่วงในกล่าวนั้น กระบวนการเหล่านี้อาจสามารถถูกเร่งให้เร็วขึ้นได้ หากสามารถหันไปพึ่งเหล่าวัคซีนทดลองที่เคยได้รับการพัฒนามาแล้ว เนื่องจากหลังจากการปรากฏตัวของการกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ (Beta, Gamma) ) ผู้ผลิตได้เริ่มทำการวิจัยกับไวรัสที่กลายพันธุ์เหล่านี้ทันที โดยได้มีการเตรียมส่วนผสมที่จำเป็นไว้แล้วเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนวัคซีนเหล่านี้ไม่ได้ไปถึงขั้นได้รับการอนุมัติ เนื่องจากวัคซีนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ได้รับการพิสูจน์ว่า ยังมีประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวเดลต้าที่แพร่หลายในปัจจุบัน แต่อาจเป็นไปได้ว่า ส่วนผสมทดลองต่างๆที่ถูกเก็บไว้ "ในลิ้นชัก" อาจจะสามารถป้องกันโอไมครอนได้ก็ได้​
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นไม่ใช่จากขั้นตอนการพัฒนาหรือกำลังการผลิตซึ่งปัจจุบันถือว่ามีเพียงพอแล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองเห็นปัญหาในด้านการการทดสอบแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีนกับ Omicron มากกว่า ซึ่งขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีการทดสอบในเรื่องนี้ในเบื้องต้นแล้ว โดยผลก็ได้แสดงให้เห็นว่า จำนวนแอนติบอดีที่ผู้ฉีดวัคซีนมีในซีรัมสามารถจับตัวกลายพันธุ์ของไวรัสเพื่อทำการกำจัดมันได้ดีหรือไม่ดีเพียงใด นักไวรัสวิทยาของเยอรมัน ศาสตรจารย์ Sandra Ciesek เพิ่งแสดงผลจากการทดลองในห้องแลปว่า วัคซีนที่มีอยู่ช่วยต่อต้าน Omicron ได้ในระดับที่จำกัด ​ Biontech และ Moderna ได้ตีพิมพ์ผลการทดสอบของวัคซีนของตนกับตัว Omicron โดยผลก็คือ จำเป็นที่จะต้องฉีดอย่างน้อยสามโดสเพื่อต่อต้าน Omicron แต่ตอนนี้ที่ได้ยินออกมากันหนาหู ก็คือ สำหรับการศึกษาที่ชัดนั้น ยังต้องมีการทดสอบที่ครอบคลุมมากขึ้น และต้องเป็นการทดสอบที่ผ่านการรับรองและอนุมัติมากกว่าครั้งก่อนๆ​

 

EU การเตรียมความพร้อมระดับสหภาพยุโรป​

ข้อได้เปรียบของประเทศในยุโรปอีกข้อ ก็คือ สัญญาการจัดหาวัคซีนที่มีอยู่ได้มีการรวมถึงการปรับวัคซีนในกรณีที่จำเป็นอยู่ด้วย ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีข้อตกลงใหม่ ซึ่งในแวดวงเภสัชกรรมกล่าวกันว่า ​ "มีความเป็นไปได้ที่สหภาพยุโรปจะสามารถสั่งวัคซีนที่ถูกปรับโดยเฉพาะสำหรับ Omicron โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใดใดสำหรับสหภาพยุโรป" ​ ​ Ugur Sahin ผู้ก่อตั้ง Biontech เพิ่งบอกกับหนังสือพิมพ์เยอรมัน “Spiegel” ว่า การฉีดวัคซีน Omicron ครั้งที่สี่อาจมีความจำเป็นในช่วงฤดูร้อน ​ "วัคซีนที่ดัดแปลงให้เข้ากับตัว Omicron" อาจถูกนำมาใช้ ​ โดย Biontech ก็กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการดัดแปลงวัคซีนดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินใจที่แน่ชัดว่า จะทำการผลิตสิ่งนี้หรือไม่ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโอไมครอนหลายชนิด ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ตัว Omicron ตัวไหนจะกลายมาเป็นตัวหลัก และตัววัคซีนชนิดใดจึงจะสามารถป้องกันได้ ​ อย่างไรก็ตามคาดว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าก็จะเริ่มมีความชัดเจนว่า มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดใหม่หรือไม่​
ในเดือนกรกฎาคม Jens Spahn (เย๊นส์ ชปาห์น) รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น (CDU) ประกาศว่า เยอรมนีได้สั่งซื้อวัคซีนประมาณ 204 ล้านโดสในปี 2022 โดยตอนนี้ก็มีข้อมูลออกมาชัดเจนแล้วว่า เป็น ​ 84 ล้านโดสจาก Biontech, 32 ล้านจาก Moderna, 42 จาก Sanofi, 16 จาก Novavax และ 11 ล้านจาก Valneva โดย 3 วัคซีนตัวหลังยังไม่ได้รับการอนุมัติ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ Sanofi ก็ประกาศถอนตัวจากการวิจัยวัคซีนโควิด mRNA โดยสิ้นเชิง พร้อมกับเหตุผลที่ว่า แม้ว่าผลการศึกษาวัคซีนขอว Sanofi ขั้นต้นจะออกมาดูดี แต่กว่าจะสำเร็จ วัคซีนตัวนี้จะออกสู่ตลาดช้าเกินไป และการแข่งขันในตลาดปัจจุบันของวัคซีน mRNA ก็เป็นของวัคซีนที่ประสบความสำเร็จจากคู่แข่งอย่าง BioNTech / Pfizer และ Moderna ไปแล้ว เพราะฉะนั้น Sanofi จึงคาดว่า ตนจะมีโอกาสน้อยที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้​
และการเตรียมตัวรับมือ Omicron ในระดับยุโรปล่ะไปถึงไหนแล้ว? แต่เดิมคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเมื่อต้นปีเนื่องจากความบกพร่องด้านการสั่งวัคซีนของสหภาพยุโรป มาในขณะนี้คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปคาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือเนื่องจากตัว Omicron โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหภาพยุโรปกล่าวว่า "สิ่งที่เป็นปัจจัยหลัก ณ ตอนนี้ คือ ตอนนี้มีการสร้างฐานการผลิตที่เพียงพอในสหภาพยุโรปแล้ว" ​ หากมีความต้องการวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งสหภาพยุโรปเองที่สามารถสั่งวัคซีนเพิ่มเติมจากการสั่งส่วนกลาง เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกเองก็สามารถที่จะสั่งล่วงหน้าได้ แต่ระยะเวลาล่วงหน้าต้องไม่นานจนเกินไป สิ่งนี้ คือ ความแตกต่างที่ชัดเจนของสถานการณ์เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามการประมาณการของคณะกรรมาธิการ ผู้ผลิตวัคซีนจะสามารถผลิตวัคซีนได้ประมาณ 3 พันล้านโดสในสหภาพยุโรปภายในปี 2021 และวัคซีนจะถูกส่งออกไปเกือบครึ่งของที่ผลิตได้ แถมในปีหน้าคาดว่า กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 3.6 พันล้านโดสอีกด้วย​

 

EU เตรียมรับมือกับการระบาดของ Omicron อย่างไร - Germany Insights HealthServ
 

สามารถสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมได้ตามเงื่อนไขการสั่งซื้อของสหภาพยุโรป​

​จนถึงตอนนี้ ภายใต้การนำของคณะกรรมาธิการ สหภาพยุโรปได้สั่งวัคซีนรวมทั้งหมด 4.2 พันล้านโดสสำหรับช่วงเวลาจนถึงกลางปี 2023 และจนถึงตอนนี้เกือบหนึ่งพันล้านโดสได้ถูกจัดส่งไปแล้ว แปลว่า เฉลี่ยแล้ว 2 โดสต่อพลเมืองสหภาพยุโรป 1 คนนั่นเอง ​ แม้ว่า นั่นจะน้อยกว่า 1.3 พันล้านกระป๋องที่หัวหน้าคณะกรรมาธิการ Ursula von der Leyen ได้สั่งในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในกรุงบรัสเซลส์มีการกล่าวกันว่า การขาดแคลนวัคซีนไม่ใช่ปัญหา ณ ปัจจุบัน ​ นี่ไม่ใช่เพียงเพราะว่ายังมีสินค้าค้างการส่งมองอยู่มากกว่า 3 พันล้านโดสจากคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรปที่จะเพียงพอจนถึไงตรมาสแรกของปี 2023 ด้วยซ้ำ ว่าง่ายๆ คือ มากกว่าหกโดสต่อประชาชน 1 คน แต่ยังมีอีกเหตุผลด้วยว่า หากจำเป็นจริงๆ ก็สามารถจัดหาวัคซีนเพิ่มมากขึ้นได้อีก เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบของสหภาพยุโรปยังคงเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนหลายรายอยู่ตลอดเวลา​
แม้แต่ประเทศสมาชิกเองก็ยังสามารถสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมได้ด้วยตนเองภายใต้เงื่อนไขของสัญญาการส่งมอบที่เจรจาโดยสหภาพยุโรป ​ เมื่อ Lauterbach พูดถึงการสั่งวัคซีนของเยอรมันของเขาเองนั้น เขาไม่ได้หมายถึงการเจรจาภายใต้เงื่อนไขของเยอรมนีเอง แต่เป็นการสั่งวัคซีนเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขของสหภาพยุโรปเสียด้วยซ้ำ ​ เนื่องจากหน่วยงานในบรัสเซลส์ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเยอรมนีสำหรับนโยบายการสั่งซื้อล่าช้าในขั้นต้น สหภาพยุโรปจึงเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จริงๆแล้วประเทศสมาชิกเองก็มีส่วนร่วมในการเจรจากับผู้ผลิตเสมอมา​
สัดส่วนการสั่งวัคซีนส่วนใหญ่เป็นของ Biontech / Pfizer โดยมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการสั่งซื้อของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ซึ่ง 2.4 พันล้านโดสก็เป็นวัคซีนของ Biontech/Pfizer ไปแล้ว ต่อด้วยของ Moderna อีก 460 ล้านโดส ​ นั่นแปลว่า ท้ายที่สุดแล้วสหภาพยุโรปได้เตรียมการสั่งวัคซีน mRNA เกือบ 3 พันล้านโดส ซึ่งวัคซีน 2 ตัวนี้ก็ถือว่าเป็นวัคซีนตัวเลือกแรกในเยอรมนีไม่ว่าในกรณีใด นอกจากนี้ยังมีการสั่งวัคซีนเวกเตอร์แต่ละชนิดจากแอสตราเซนีกา (AZ) และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) อีกชนิดละ 400 ล้านโดส ​ หลังจากข้อพิพาททางกฎหมายกับคณะกรรมาธิการมาเป็นเวลานาน AZ ได้ให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามภาระผูกพันในการส่งมอบภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้​

มีการตรวจสอบประสิทธิภาพวัคซีน​

​การบริจาควัคซีนของสหภาพยุโรปให้กับโครงการ Covax ระดับโลก ซึ่งช่วยจัดหาวัคซีนให้กับประเทศยากจนนั้น เป็นวัคซีนจาก AZ และ J&J ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยืนยันว่า ไม่มีวัคซีนชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง วัคซีนทั้งหมดที่ทดสอบโดย EMA สามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เหตุผลเดียวที่ส่งเฉพาะวัคซีนของ AZ และ J&J ไปยังประเทศยากจนก็คือการขนส่งและจัดเก็บง่ายกว่า​
EMA หน่วยงานด้านยาของสหภาพยุโรปกำลังตรวจสอบประสิทธิภาพของการวัคซีนตัวอื่นๆ อีกสองตัวที่สหภาพยุโรปได้สั่งไว้เช่นกัน ได้แก่ Sanofi (300 ล้าน) และ Novavax (200 ล้าน) ซึ่ง Novavax เองก็กำลังดำเนินการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินตัวไวรัสกลายพันธุ์หลายตัว ในเบื้องต้นนั้น ผู้ผลิตจากอเมริกาต้องการประเมินวัคซีนโคโรนาของตนกับ Omicron ก่อนเช่นเดียวกับที่ได้เคยทำไปแล้วกับสายพันธุ์ Corona รุ่นก่อนๆ เช่น Alpha, Beta และ Delta นอกจากนี้ Novavax ยังได้เริ่มพัฒนาโครงสร้างวัคซีนเฉพาะสำหรับ Omicron ตามที่บริษัทประกาศในการแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ ​ โดย EMA ประกาศถึงการตัดสินใจอนุมัติวัคซีนตัวนี้ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ​
และจากข่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ เนื่องจากสถานการณ์ตัวกลายพันธุ์ Omicron ที่น่าเป็นห่วง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปต้องการให้มีการจัดส่งวัคซีนโคโรนาที่ดัดแปลงแล้วของ Biontech / Pfizer เป็นจำนวน 180 ล้านโดส ​ ซึ่งอย่างที่กล่าวด้านต้นว่า สัญญาการซื้อขายที่มีอยู่กำหนดว่า หากต้องการ บริษัทต่างๆ ต้องปรับวัคซีนให้เข้ากับสายพันธุ์ใหม่ภายใน 100 วัน ขณะนี้ประเทศในสหภาพยุโรปก็เรียกใช้สิทธิ์ที่ระบุในสัญญาซื้อขายวัคซีนนี้ ​
บทสรุป / มุมบ่นของอินทรี
 หลังจากหายไปนาน ก็ขออัพเดทสถานการณ์โดยรวมด้านการจัดหาวัคซีนเพื่อจัดการกับ Omicron ของสหภาพยุโรปเสียหน่อย ซึ่งก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า จะต้องมีการปรับวัคซีน (จริงๆก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร) ผมพึ่งจะฉีดวัคซีนกระตุ้นโดส 3 มาเมื่อวาน ก็ยังคุยกับพยาบาลที่ฉีดกันอยู่เลยว่า ยังไงเสียปีหน้าจะต้องมีการฉีดวัคซีนโดสที่ 4 อย่างแน่นอนเนื่องจาก Omicron และหลังจากนั้นก็คงต้องดูสภานการณ์กันอีกที หากหลังจากนั้นสามารถเว้นไปฉีดกันปีละครั้งพร้อมๆกับไข้หวัดใหญ่ได้ก็คงจะดีทีเดียว คาดว่า วัคซีนตัวต่อไปที่อีกไม่กี่วันจะได้รับการอนุมัติก็คือวัคซีนโปรตีนของ Novavax ซึ่งถ้าว่ากันตามความจริง ก็เป็นวัคซีนที่หลายประเทศฝากความหวังไว้ว่า จะช่วยให้ประชาชนที่กลัวการฉีดวัคซีน mRNA ยอมไปฉีดกันเสียที ความหวังนี้จะจริงหรือไม่อย่างไรนั้น เราก็คงจะได้รู้กันเร็วๆนี้แหละครับ  Have a nice weekend กันนะครับทุกคน แล้วอย่าลืมไปฉีดวัคซีน Booster กันเยอะๆนะครับ วันก่อนทำ record ใหม่ในเยอรมนีที่ฉีดวัคซีนได้เกือบล้านห้าโดสในวันเดียวแน่ะ
 
​​​​​
​​อ้างอิง:
https://cutt.ly/oY9DKix
https://cutt.ly/1Y9DZoU
https://cutt.ly/JY9DFy3
https://cutt.ly/lY9DS8T
https://cutt.ly/3Y9FnRB
17/12/2021 19:53 (CET)  อินทรีล่าสาร Germany Insights
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด