ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565

ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565 HealthServ.net
ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565 ThumbMobile HealthServ.net

เพจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการรายงานสถานการณ์โควิดในประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับรายงานถึงพัฒนาการและมาตรการสำคัญของประเทศญี่ปุ่น อันเป็นข้อมูลที่คนไทยให้ความสนใจและควรติดตาม เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม HealthServ ได้รวบรวมรายงาน ตั้งแต่ต้นปี 2565 มาไว้ที่นี่แล้ว

ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565 HealthServ
ทั้งนี้ แนะนำติดตามข่าวสารโดยตรง จากเพจสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมด้วย เพื่อที่ท่านจะได้รับข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์มากยิ่งขึ้นนะคะ
1 ก.พ. 2565  - ตามที่สัดส่วนผู้เข้ารับการรักษาในสถานพยายาลต่อจำนวนเตียงที่สำรองไว้ของกรุงโตเกียวสูงถึงร้อยละ 49.2 ในปัจจุบัน ซึ่งเกือบถึงเกณฑ์พิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 50 นั้น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 นรม.คิชิดะ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลยังไม่พิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโตเกียว โดยจำเป็นที่จะต้องพิจารณาผลจากการประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ภายในกรุงโตเกียวก่อน นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นควบคู่ เช่น สัดส่วนของผู้ป่วยอาการรุนแรงต่อจำนวนเตียงที่สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง ซึ่งอยู่ในภาวะที่ยังสามารถรับมือได้ ทั้งนี้ รัฐบาลจะพยายามหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศ
 
- เนื่องด้วยปัจจุบันเป็นช่วงที่จะเริ่มการสอบเข้ามหาวิทยาลัยประจำปีของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 กระทรวงศึกษาธิการฯ ญี่ปุ่น ได้ส่งหนังสือถึงมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อนุญาตให้นักเรียนที่เข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อสามารถเข้าสอบได้ในห้องสอบที่จัดแยกต่างหากโดยไม่ปะปนกับผู้เข้าสอบทั่วไป หากนักเรียนดังกล่าวไม่มีอาการป่วยและแม้ไม่มีผลตรวจ PCR ที่เป็นลบมาแสดง เนื่องจากปัจจุบันสถานอนามัยในบางพื้นที่อยู่ในภาวะคับขันและไม่สามารถให้บริการตรวจ PCR ได้อย่างทั่วถึง และเสนอให้สามารถใช้อุปกรณ์ตรวจหาเชื้อด้วยตนเองได้แทน
 
2 ก.พ. 2565 - อัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ของญี่ปุ่นมีสถิติน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีรายละเอียด ดังนี้
   * ปัจจุบัน รัฐบาลญี่ปุ่นฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เพียง 4.48 ล้านคนหรือร้อยละ 30 ของจำนวนที่ตั้งเป้าไว้ และเพียงร้อยละ 3.5 ของจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ประชาชนรอฉีดวัคซีน Pfizer แม้รัฐบาลจะสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนไขว้ประเภทก็ตาม และท้องถิ่นประสบปัญหาไม่สามารถส่งบัตรเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตามกำหนด 
 
   * ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเกรงว่า จะมีวัคซีนสำรองของ Pfizer ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ของ Pfizer และ Moderna รวมจำนวน 83.6 ล้านคน และ 16 ล้านคน ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนวัคซีนสำรองสำหรับเข็มกระตุ้นของ Pfizer และ Moderna มีจำนวน 40.9 ล้านโดส และ 37.4 ล้านโดส (สถานะเดือน ม.ค. 2565) อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขฯ ยืนยันว่า ผลการวิจัยพิสูจน์แล้วว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเช่นกัน
 
   * ญี่ปุ่นได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกตั้งแต่เดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมา และในเดือน ก.พ. 2565 จะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชรา รวมเป็นจำนวน 22.41 ล้านคน นอกจากนี้ ยังขอให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปที่มีอายุต่ำกว่า 64 ปีด้วย โดยประชาชนสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของเขตท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ เกี่ยวกับนโยบายการฉีดวัคซีนของแต่ละท้องถิ่น 
 
- ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 2565 เป็นต้นมา ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้นักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 87 คน ได้รับการตรวจลงตราเดินทางเข้าญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้เหตุผลด้านมนุษยธรรมและผลประโยชน์ของชาติ และสามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการฯ ญี่ปุ่น เตรียมอนุญาตให้นักเรียน/นักศึกษาต่างชาติมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น (เช่น นักเรียนทุนรัฐบาลต่างประเทศ) จำนวนไม่เกิน 400 คน สามารถขอรับการตรวจลงตราเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้เป็นกรณีพิเศษเช่นกัน 
3 ก.พ. 2565 - คณะที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น รายงานสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดในญี่ปุ่น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 ม.ค. – 1 ก.พ.) มีรายละเอียดดังนี้
   * ในหลายพื้นที่เริ่มมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะคงที่หรือลดลงแล้ว อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในภาพรวมของประเทศยังจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงลดลง
   * ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดจากร้านอาหารและเครื่องดื่มลดน้อยลง และมีแนวโน้มการติดเชื้อภายในสมาชิกครอบครัว สถานที่ทำงาน โรงเรียน สถานพยาบาล และบ้านพักคนชราเพิ่มมากขึ้น 
   * กลุ่มผู้ติดเชื้อในช่วงอายุ 20 – 29 ปี มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ พบกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุมีอาการป่วยรุนแรงและเข้ารับรักษาตัวในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ในภาวะวิกฤตและไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง
   * ในการแพร่ระบาดระลอกครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างทันท่วงที ทำให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ และสามารถควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อโดยรวมได้อย่างรวดเร็ว แต่ในการระบาดครั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกรณีที่น่ากังวล เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงเตรียมเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุต่อไป 
   * สถานการณ์การให้บริการด้านการแพทย์ในหลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะคับขัน เช่น บริการตรวจหาเชื้อไวรัสฯ หรือการพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาอาการป่วย นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด และเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสฯ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่องมากขึ้น
   * คณะที่ปรึกษาจะเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และปรับลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อฯ และผู้เข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อฯ อย่างเหมาะสม เพื่อให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
   * จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 ซึ่งพบการแพร่ระบาดมากในต่างประเทศ เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยภายในญี่ปุ่น และจะเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวภายในประเทศอย่างใกล้ชิด
   * เตรียมเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่มีความเสี่ยง 3Cs แม้เพียงเล็กน้อย สวมหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดล้างมือและฆ่าเชื้อ และถ่ายเทอากาศในห้องและอาคารเป็นประจำ เป็นต้น 
4 ก.พ. 2565 - ตามที่เกิดการติดเชื้อในเด็กจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ได้ปรับเวลาการกักตัวของผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อภายในครอบครัวเดียวกัน จากเดิม 17 วัน ลงเหลือ 7 วัน เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้ การลดวันกักตัวดังกล่าวเป็นไปตามข้อมูลของสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าหากผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อได้รับเชื้อ ร้อยละ 99.98 จะแสดงอาการภายใน 7 วัน ทั้งนี้ วันที่สิ้นสุดการกักตัวจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ข้อต่อไปนี้ที่เกิดขึ้นหลังสุด ได้แก่ 
   * 7 วันหลังจากที่สมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ แสดงอาการเป็นครั้งแรก
   * 7 วันนับตั้งแต่ที่มีผลตรวจเชื้อของสมาชิกในครอบครัวเป็นบวก
   * ได้มีการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 7 วัน
 
- รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ในจังหวัดวากายามะ ระหว่างวันที่ 5 - 27 ก.พ. 2565 ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการมัมโบทั้งสิ้น 35 จังหวัด นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นกำลังพิจารณาว่า จะขยายประกาศมาตรการมัมโบซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 13 ก.พ. 2565 นี้ ในกรุงโตเกียวและอีก 6 จังหวัด ได้แก่ อิบารากิ โทจิกิ ชิบะ กุมมะ ไซตามะ และคานากาวะ ออกไปหรือไม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูง ทั้งนี้ รัฐบาลจะพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวมทั้งประเทศ และจะตัดสินใจภายในกลางสัปดาห์หน้าอีกครั้งว่าสมควรจะขยายมาตรการมัมโบหรือไม่และในพื้นที่ใดบ้าง โดยจะพิจารณาจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และความตึงเครียดของระบบการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ นาย YAMAGIWA Daishiro รมว. รับผิดชอบดูแลสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่ายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าเชื้อหยุดแพร่กระจายแล้ว เนื่องจากสัปดาห์นี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน
 
- เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 กรุงโตเกียวมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 20,000 คน เป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน 2 และได้ยกระดับการแจ้งเตือนของระบบการรักษาพยาบาลเป็นระดับที่ร้ายแรง (ระดับที่ 4 จากทั้งหมด 4 ระดับ) 
7 ก.พ. 2565- ผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2565 มีจำนวน 100,949 คน ซึ่งสูงเกิน 1 แสนคนเป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในญี่ปุ่น
8 ก.พ. 2565 - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ (มันโบ) ในกรุงโตเกียว และอีก 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกุมมะ ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ นีกาตะ กิฟุ ไอจิ มิเอะ คากาวะ นางาซากิ คุมะโมโตะ และมิยากิ ซึ่งเดิมจะมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 13 ก.พ. 65 นี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะขยายระยะเวลาต่อไปอีก 3 สัปดาห์ และจะประกาศอย่างเป็นทางการภายหลังการหารือกับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในวันที่ 10 ก.พ. นี้ 
 
- รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าเพิ่มความสามารถในการฉีดวัคซีนให้ได้จำนวน 1 ล้านโดสต่อวันให้ได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. นี้ โดยจะขอความร่วมมือรัฐบาลท้องถิ่นเร่งส่งบัตรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน / เร่งการให้อนุญาตฉีดวัคซีนในระบบการฉีดวัคซีนในที่ทำงานและสถานศึกษา / เพิ่มจำนวนโดสที่ให้บริการที่ศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ของกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวและจังหวัดโอซากา เป็นต้น 
9 ก.พ. 2565 - นาย OZAKI Haruo ประธานสมาคมแพทย์กรุงโตเกียว แถลงว่า ช่วง 2 สัปดาห์หลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในญี่ปุ่นจะดีขึ้นหรือแย่ลง และขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ทำงานจากบ้าน และไม่กินเลี้ยงสังสรรค์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อไวรัสกลับไปแพร่ระบาดในครอบครัว ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทและสถานศึกษาหลายแห่งต้องการผลตรวจ PCR สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อก่อนกลับเข้าทำงานและศึกษาตามปกติ อย่างไรก็ดี โดยที่ปัจจุบันสถานพยาบาลอยู่ในภาวะคับขันมากขึ้น จึงขอให้บริษัทและสถานศึกษาอนุญาตให้พนักงานและนักเรียนสามารถกลับเข้าทำงาน/เข้าเรียนได้โดยไม่ต้องมีผลตรวจ หากผู้ติดเชื้อฯ มีไข้ลดลง หรืออาการป่วยอื่น ๆ ทุเลาดีขึ้นเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมงแล้ว และผู้ติดเชื้อฯ ได้กักตัวเป็นระยะเวลา 10 วันขึ้นไป หลังจากมีอาการวันแรกแล้ว
 
- เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น อนุญาตให้ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล สามารถกลับไปเฝ้าระวังอาการป่วยที่บ้านได้ หากในวันที่ 4 หลังจากที่เข้ารักษาตัว (วันเข้ารับการรักษาถือเป็นวันที่ 0) ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (เทียบเท่าผู้ป่วยมีอาการปานกลาง 2) พร้อมขอให้สถานพยาบาลเร่งตรวจคัดกรองว่าผู้ป่วยเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมโครอนหรือไม่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระสถานพยาบาลที่อยู่ในภาวะคับขัน และจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขฯ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเกินกว่าระดับปานกลาง 2 จำนวน 12 คนจาก 1,321 คน หรือไม่เกินร้อยละ 1 
10 ก.พ. 2565 นรม. คิชิดะ ประกาศขยายสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ใน 13 จังหวัด เพิ่มอีก 3 สัปดาห์ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.พ. 2565 ไปจนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2565 ได้แก่ กรุงโตเกียว ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ กุมมะ นีกาตะ กิฟุ ไอจิ มิเอะ คากาวะ นากาซากิ คุมาโมโตะ และมิยาซากิ นอกจากนี้ ได้ประกาศสถานการณ์มัมโบในจังหวัดโคจิ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2565 จนถึง 6 มี.ค. 2565 ทำให้มีจำนวนจังหวัดที่อยู่ภายใต้สถานการณ์มัมโบรวมทั้งสิ้น 36 จังหวัด ทั้งนี้ นรม.คิชิดะ ระบุว่า รัฐบาลจะตัดสินใจอีกครั้งว่า จะขยายประกาศสถานการณ์มัมโบในอีก 21 จังหวัด รวมถึงจังหวัดโอซากาหรือไม่ ในช่วงวันพุธที่ 16 ก.พ. โดยจะต้องพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดและปัจจัยอื่น ๆ
10 กุมภาพันธ์ 2565  - ภาพรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศแม้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยในส่วนของกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 9 ก.พ. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,287 คน ซึ่งเป็นวันที่ 16 ติดต่อกัน ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่า 10,000 คน แต่จำนวนเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเป็นครั้งแรก จำนวน 3,289 คน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงทั่วประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากวันที่ 8 ม.ค. เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ที่ 89 คน เป็น 1,212 คน ในวันที่ 9 ก.พ. 2565 ขณะเดียวกัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย 30 ม.ค. 2565 อยู่ที่ 31 คน ส่วนวันที่ 9 ก.พ. 2565 อยู่ที่ 162 คน
 
- เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลเตรียมขยายระยะเวลาการประกาศมาตรการกึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ใน 13 จังหวัด จนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2565 ได้แก่ กรุงโตเกียว ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ กุมมะ นีกาตะ กิฟุ ไอจิ มิเอะ คากาวะ นากาซากิ คุมาโมโตะ และมิยาซากิ นอกจากนี้ จะเพิ่มจังหวัดโคจิ ในการประกาศมาตรการมัมโบในวันที่ 12 ก.พ. – 6 มี.ค. 2565 โดย นรม. คิชิดะ ชี้แจงว่า แม้การแพร่ระบาดจะชะลอตัวลง แต่ยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงจะเพิ่มขึ้นในภายหลัง นอกจากนี้ จะหารือกับคณะอนุกรรมการนโยบายการรับมือขั้นพื้นฐานว่าสมควรขยายมาตรการมัมโบให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ที่เหลือหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมด 36 จังหวัด
 
- นรม. คิชิดะ ได้ขอความร่วมมือจากนาง KOIKE Yuriko ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว และนาย YOSHIMURA Hirofumi ผู้ว่าราชการจังหวัดโอซากา ในการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลอีก 1,000 เตียง และจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อรับมือกับผู้ป่วยโควิดอย่างเต็มที่
 
- เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 นรม. คิชิดะ กล่าวว่ารัฐบาลจะพิจารณาอนุมัติยารับประทานเพื่อรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท Shionogi & Co. ก่อนกำหนด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทฯ กล่าวว่า จะสามารถยื่นขออนุมัติยาได้ภายในสัปดาห์หน้า และสามารถส่งมอบยาสำหรับ 1,000,000 คนภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2565 ทั้งนี้ ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยอาการแรกเริ่มถึงปานกลาง และช่วยยับยั้งไม่ให้อาการทรุดลง รวมทั้งสามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสโอไมครอนได้ ทั้งนี้ จากการทดลองทางคลินิกสามารถลดปริมาณไวรัสได้ร้อยละ 63-80 
12 กุมภาพันธ์ 2565 - นาย GOTO Shigeyuki รมว.กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ตั้งเป้าฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนให้ได้วันละ 1 ล้านโดสโดยเร็วที่สุด และจะพยายามอย่างเต็มที่ให้สามารถฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่และผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2565 เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะอาการทรุดหนักอย่างรวดเร็ว สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็กระหว่าง 5 – 11 ขวบนั้น จะไม่บังคับให้ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีน แต่จะเน้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนและประสิทธิผลของการป้องกันการติดเชื้อฯ รวมทั้งให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่
 
- นาย SAITO Tetsuo รมว.กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยว ญี่ปุ่น เตรียมประสานงานกับบริษัทรถไฟในญี่ปุ่นให้ขอความร่วมมือผู้โดยสารใช้หน้ากากอนามัยประเภทแผ่นใยสังเคราะห์ (non- woven fabric) ในระหว่างใช้บริการรถไฟ 
15 กุมภาพันธ์ 2565 - ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคธุรกิจและภาคการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดเกินไป นั้น  ในสัปดาห์นี้รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. มีรายละเอียดดังนี้
   * นรม.คิชิดะ ให้สัมภาษณ์ว่าจะพิจารณาปรับมาตรการตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน สถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศและนอกประเทศ รวมถึงมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของประเทศอื่นควบคู่กันไป
   * แหล่งข่าวระบุว่า อาจมีการลดวันกักตัวจาก 7 วันเหลือ 3 - 5 วัน (อาจน้อยกว่า 3 วัน) โดยผู้เดินทางเข้าประเทศต้องได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และมีผลรับรองการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ จะเริ่มพิจารณาการตรวจลงตราสำหรับผู้เดินทางเข้าญี่ปุ่นรายใหม่ โดยให้สิทธิ์สำหรับกลุ่มวิศวกรและนักวิจัย รวมถึงกลุ่มอาชีพที่สร้างคุณประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นอันดับต้นก่อน และเตรียมผ่อนปรนอนุญาตให้นักธุรกิจและนักเรียนเดินทางเข้าญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทและสถาบันการศึกษาจะต้องเป็นผู้รับรองผู้เดินทางเข้าประเทศกลุ่มดังกล่าวตามลำดับ
   * ต่อมา นาย KIHARA Seiji รองเลขาธิการ ครม. ของญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลอาจเพิ่มจำนวนผู้เดินทางเข้าญี่ปุ่นจากปัจจุบัน 3,500 คน/วัน เป็น 5,000 คน/วัน อย่างไรก็ดี ยังจะต้องหารือเพิ่มเติมว่าจะสามารถเปิดให้เดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวหรือไม่ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะทบทวนผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยจะหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และสถิติ และวางแผนที่จะยกร่างมาตรการในช่วงเดือน มิ.ย. 2565 อย่างเร็วที่สุด 
16 กุมภาพันธ์ 2565 - แหล่งข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในข่ายตามที่รัฐบาลกำหนด (นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้) จากเดิม 3,500 คน เป็น 5,000 คนต่อวัน ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 และกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกข้อกำหนดในการกักตัว 7 วัน หากสามารถแสดงผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลบ และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว 
- เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 65 กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น ได้แจ้งแนวปฏิบัติในการสวมใส่หน้ากากอนามัยในเด็กเล็ก ดังนี้ 
   * ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยให้เด็กทารกและเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
   * การสวมใส่หน้ากากอนามัยให้เด็กเล็กจะต้องเฝ้าระวังภาวะทางร่างกายและสุขภาพของเด็กเป็นสำคัญ เช่น หายใจลำบากหรือไม่ มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปากหรือไม่ และเด็กรู้สึกจะอาเจียนหรือไม่ มากกว่าการสวมหน้ากากตามหลักที่ถูกต้อง 
   * เจ้าหน้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กไม่บังคับให้เด็กสวมใส่หน้ากากอนามัยหากผู้ปกครองหรือเด็กไม่ยินยอม และถึงแม้ผู้ปกครองประสงค์ให้บุตรหลานสวมใส่ แต่เจ้าหน้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กสามารถใช้ดุลพินิจให้เด็กสวมหน้ากากในขอบเขตและระยะเวลาที่เหมาะสม
   * หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้เด็กอยู่ในห้องที่มีคนแออัดได้ สามารถใส่หน้ากากอนามัยให้เด็กได้ แต่ควรมีผู้เฝ้าระวังภาวะของเด็กอย่างใกล้ชิด
   * ในระหว่างการออกกำลังกายนอกอาคาร ไม่แนะนำให้สวมใส่หน้ากาก และแนะนำให้ถอดหน้ากากออกในระหว่างนอนพักกลางวัน เป็นต้น 
17 กุมภาพันธ์ 2565 - กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนภายในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รายละเอียดดังนี้
   * การแพร่ระบาดฯ ระลอกที่ 6 ในปัจจุบันได้ผ่านช่วงที่รุนแรงที่สุดไปแล้วเมื่อต้นเดือน ก.พ. 65 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังลดลงอย่างช้า ๆ โดยค่าเฉลี่ยของอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศภายใน 1 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วเท่ากับ 0.9 
   * ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 -15 ก.พ. 65) จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนทั่วประเทศญี่ปุ่นมีอัตราเฉลี่ย 464.39 คน โดยจังหวัดโอซากาสูงมีอัตราสูงที่สุดเป็นจำนวน 942.63 คน รองลงมาได้แก่ กรุงโตเกียว 758.39 คน เฮียวโกะ 628.44 คน เกียวโต 591.91 คน นารา 576.76 คน และคานากาวะ 573.50 คน
   * ผู้ติดเชื้อในทุกช่วงกลุ่มอายุมีจำนวนลดลง ยกเว้นกลุ่มผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ พบการแพร่ระบาดต่อเนื่องในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานสงเคราะห์ ที่ทำงาน และภายในกลุ่มสมาชิกครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบในบางพื้นที่ที่มีประชาชนออกมาใช้บริการสถานบันเทิงยามค่ำคืนมากขึ้น 
   * แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง แต่ยังอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ที่สามารถแพร่เชื้อระหว่างบุคคลได้ง่ายในอนาคตเช่นเดียวกัน จึงขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เช่น  หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัด สวมหน้ากากอนามัยแบบใยสังเคราะห์อย่างถูกต้อง ล้างมือและใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ ถ่ายเทอากาศภายในห้องเป็นประจำ และสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้
   * จำนวนผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ พบว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวอาจมีโอกาสเสียชีวิตแม้ไม่มีอาการป่วยรุนแรง จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งนี้ หลังจากนี้ จะเข้าสู่ช่วงการจบการศึกษาและเทศกาลชมดอกไม้ ซึ่งจะมีการพบปะและรวมตัวของคนหมู่มากที่ปกติไม่ได้พบกัน
- รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยจะเพิ่มจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้นจากเดิมวันละ 3,500 คน เป็น 5,000 คน แต่ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่น นอกจากนี้ เตรียมลดระยะเวลาการกักตัวหลังเดินทางเข้าญี่ปุ่นจาก 7 วันเหลือ 3 วัน สำหรับทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ และเตรียมยกเว้นมาตรการกักตัวหากแสดงผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นลบ มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเดินทางมาจากพื้นที่ที่เข้าข่ายควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้ โดยในวันนี้ (17 ก.พ.) นรม. คิชิดะ จะแถลงต่อผู้สื่อข่าวอย่างเป็นทางการในรายละเอียดอีกครั้ง อนึ่ง นาย MATSUNO Hirokazu เลขาธิการ ครม. ญี่ปุ่นกล่าวว่า ปัจจุบันมีนักเรียนต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราแบบนักศึกษา ที่ยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้กว่า 1.5 แสนคน 
18 กุมภาพันธ์ 2565 - เมื่อคืนวันที่ 17 ก.พ. 2565 นรม. คิชิดะ ได้ประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้ 
   * ขยายสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ใน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฮอกไกโด อาโอโมริ ฟูกูชิมะ อิบารากิ โทชิกิ อิชิกาวะ นากาโนะ ชิสึโอกะ โอซากา เกียวโต กุมมะ โอกายามะ ฮิโรชิมะ ฟูกูโอกะ ซากะ คาโกชิมะ และวากายามะ จนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2565
   * ยกเลิกมาตรการมัมโบใน 5 จังหวัด ได้แก่ ยามากาตะ ชิมาเนะ ยามากูจิ โออิตะ และโอกินาวะ ในวันที่ 20 ก.พ. 2565
   * ผ่อนคลายมาตรการเข้าเมือง โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่มิใช่นักท่องเที่ยว เช่น นักเรียนต่างชาติ และนักธุรกิจ สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ โดยจะเพิ่มโควต้าจาก 3,500 คนต่อวันในปัจจุบัน 
เป็น 5,000 คน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นจะต้องมีบริษัทหรือหน่วยงานในญี่ปุ่นเป็นผู้รับรอง โดยรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกให้องค์กรผู้รับรองสามารถกรอกข้อมูลการรับรองทางออนไลน์ได้
   * ลดวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว เหลือ 3 วัน 
   * สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นรม.คิชิดะกล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 65 ได้เพิ่มเป้าหมายในการบริการการฉีดวัคซีนให้ประชาชนเป็น 1 ล้านโดสต่อวัน
- สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการเข้าเมือง ดังนี้
   * ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนรวมถึงประเทศไทย จะต้องกักตัวที่สถานที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดหาเป็นเวลา 3 วัน และหากผลตรวจเชื้อในวันที่ 3 เป็นลบ การกักตัวถือเป็นอันสิ้นสุด
   * สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้วหากเป็นประเภทวัคซีนที่เข้าข่ายตามประกาศของทางการญี่ปุ่นจะสามารถกักตัวที่บ้านพักแทนสถานที่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดหาได้ ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นจะประกาศประเภทวัคซีนที่เข้าข่ายในโอกาสแรกต่อไป 
   * ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าญี่ปุ่น สามารถใช้ระบบการขนส่งสาธารณะในการเดินทางจากท่าอากาศยานไปยังที่พักหรือสถานที่กักตัวเอง (home quarantine)  หลังจากที่ได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่นแล้ว 
22 กุมภาพันธ์ 2565 - กระทรวงสาธารณสุขฯ กำลังพิจารณาขยายระยะเวลาให้เงินอุดหนุนการจ้างงาน 15,000 เยน/วัน สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs จากเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือน มี.ค. เป็นเดือน พ.ค. 65 เพื่อช่วยคงการจ้างงานและการดำเนินกิจการของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการให้ความร่วมมือในการปิดหรือลดระยะเวลาการให้บริการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าวจะต้องอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉิน/กึ่งฉุกเฉิน และรายได้ในช่วง 3 เดือนล่าสุดลดลงมากกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีใดปีหนึ่งในช่วง 3 ปีก่อนหน้า
24 กุมภาพันธ์ 2565 - ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในกรุงโตเกียวเมื่อวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวน 14,567 คน ลดลง 2,764 คน เมื่อเทียบกับวันพุธที่ผ่านมา และเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันในการระบาดระลอกที่ 6 นี้
- สถาบันวิจัยโรคติดต่อแห่งชาติของญี่ปุ่นประกาศเกี่ยวกับการติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ในญี่ปุ่น ดังนี้ 
   * ในการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั่วประเทศในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 จำนวน 94 ราย ซึ่งนับเป็นร้อยละ 0.6 ของจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนทั้งหมด จึงสรุปได้ว่ายังไม่ถือว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ในปัจจุบัน แต่ยังจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 สามารถช่วยป้องกันไม่ให้อาการพัฒนารุนแรงได้
   * เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 ก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 ที่ระบาดในปัจจุบัน แต่ไม่รุนแรงเท่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้า โดยผลการทดลองในหนูทดลอง เชื้อสายพันธุ์ BA.2 อาจลามเข้าสู่ปอดและส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากไวรัสโอไมครอน 2 สายพันธุ์ดังกล่าวก่อให้เกิดอาการป่วยที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่แตกต่างกันในการรับมือไวรัสทั้งสองสายพันธุ์ด้วย 

ญี่ปุ่นปรับมาตรการกักตัว LINK

ญี่ปุ่นปรับมาตรการกักตัว ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
ญี่ปุ่นปรับมาตรการกักตัว ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
ญี่ปุ่นปรับมาตรการกักตัว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ญี่ปุ่นได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าเมือง โดยผู้ที่เดินทางจากประเทศไทยและฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มตามข้อกำหนดของญี่ปุ่น จะได้ผ่อนผันไม่ต้องกักตัว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ***อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้
27 ก.พ. 65 - รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการขยายประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเฉพาะพื้นที่ (มัมโบ) ใน 10 จังหวัด ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 6 มี.ค. 65 เพิ่มเติมอีก 2 สัปดาห์ จนถึง 21 มี.ค. 65 ได้แก่ กรุงโตเกียว ไซตามะ ชิบะ คานากาวะ กิฟุ ไอจิ มิเอะ เกียวโต โอซากา และเฮียวโกะ โดยเตรียมหารือผู้เชี่ยวชาญและจะประกาศผลการพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อไป
2 มีนาคม 2565 - นาย Shigeyuki GOTO รมว.สาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายเวชภัณฑ์และยาเพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนและยารักษาโรคได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤติที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ หากไม่มีทางเลือกอื่น และหากมีข้อมูลจากต่างประเทศรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาจากการทดลองทางคลินิก อย่างไรก็ดี สามารถยกเลิกการใช้ยาได้ หากไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเพิ่มเติมภายใน 2 ปี ปัจจุบันระบบการอนุมัติวัคซีนและยารักษาโรคของญี่ปุ่นมักใช้เวลานานกว่าสหรัฐฯ และ EU ประมาณ 2-5 เดือน นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเสนอการนำระบบใบสั่งยาดิจิทัลมาใช้แทนใบสั่งยาที่อยู่ในรูปแบบกระดาษในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยจัดการข้อมูลยาและประวัติการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นระบบมากขึ้น 
3 มีนาคม 2565 - กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขฯ ของญี่ปุ่นได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนภายในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รายละเอียดดังนี้
   * ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 ก.พ. -1 มี.ค.) ค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนของจังหวัดโอซากาสูงที่สุดในญี่ปุ่น เท่ากับ 637.88 คน รองลงมา ได้แก่ กรุงโตเกียว 563.72 คน นาระ 484.57 คน และคานากาวะ 467.14 คน โดยค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ เท่ากับ 364.29 ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน
 
   * จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ ในทุกช่วงกลุ่มอายุ โดยค่าเฉลี่ยของอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศภายใน 1 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้วเท่ากับ 0.84 อย่างไรก็ดี อัตราการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในพื้นที่ซึ่งไม่มีการประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจมีแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้ง 
 
   * จำนวนผู้ป่วยติดเชื้ออาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตลดลง อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้ออาการเบาและอาการรุนแรงปานกลางยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งสร้างภาระหนักให้กับระบบสาธารณสุขโดยรวม ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนผู้ป่วยติดเชื้ออาการรุนแรงต่อจำนวนเตียงที่สำรองไว้จะสูงขึ้นอีกครั้ง จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว 
 
   * เชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งแพร่เชื้อระหว่างบุคคลได้ง่าย อาจแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงเดือน เม.ย. 2565 สัดส่วนของผู้ติดเชื้อของเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 อาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด  
 
   * ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. จะเข้าสู่ช่วงจบปีการศึกษา วันหยุดภาคฤดูใบไม้ผลิ การย้ายสถานที่ ทำงาน สถานศึกษา และย้ายบ้าน รวมถึงเทศกาลชมดอกไม้ ซึ่งประชาชนซึ่งไม่ได้พบกันมานานจะมาสังสรรค์รวมตัวกัน ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 อาจแพร่ระบาดมากขึ้น จึงขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เช่น  หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนหมู่มากและมีความเสี่ยงสูง สวมหน้าการอนามัยแบบใยสังเคราะห์อย่างถูกต้อง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อล้างมือ ระบายถ่ายเทอากาศภายในห้องเป็นประจำ เป็นต้น 
 
- แหล่งข่าวรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ญี่ปุ่นอาจเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้จากเดิม 5,000 คน/วัน เป็น 7,000 คน/วัน เพื่อเปิดให้นักเรียน/นักศึกษาต่างชาติที่ยังรอเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นกว่า 1 แสนคน สามารถเดินทางไปศึกษาได้ ทั้งนี้ คาดว่า นรม.คิชิดะ จะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (3 มี.ค. 2565) 
9 มีนาคม 2565 นาย MATSUNO Hirokazu เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นจะเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้เป็น 7,000 คนต่อวัน โดยจะให้ความสำคัญอันดับต้นกับกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติที่รอเดินทางเข้าญี่ปุ่น 1.5 แสนคน ทั้งนี้ จะจัดสรรที่ว่างในเที่ยวบินระหว่างวันจันทร์ถึงศุกร์ที่มีผู้โดยสารไม่เต็มลำ เนื่องจากมักมีนักธุรกิจเดินทางมาน้อย ซึ่งคาดว่า จะทำให้สามารถรับนักศึกษากลุ่มข้างต้นได้เกือบทั้งหมดภายในสิ้นเดือน พ.ค. 2565 นี้
 
- กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่นได้แถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนภายในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 มี.ค. 2565) รายละเอียดดังนี้
   * ในช่วง 2-8 มี.ค. 2565 มีค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคนสูงที่สุดในจังหวัดโอซากา 506.67 คน รองลงมาได้แก่ กรุงโตเกียว 497.72 คน นาระ 462.27 คน และคานากาวะ 451.85 คน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ย 329.02 ต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน
 
   * จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างช้า ๆ หากเทียบกับการแพร่ระบาดระลอกที่ 5 ในช่วงฤดูร้อนปี 2564 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และผู้สูงอายุแบบกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ดี ในหลายจังหวัด สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะ 
 
   * ถึงแม้จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยอาการรุนแรงทั่วประเทศจะมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้ป่วยทั้งอาการเบา ปานกลาง และรุนแรงต่อจำนวนเตียงสำรองยังอยู่ในระดับสูงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้สถานพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดไปอีกระยะ นอกจากนี้ พบกลุ่มผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้โรคประจำตัวมีอาการรุนแรงขึ้นและเสียชีวิต ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้เร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน และต้องรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง 
 
   * ปัจจุบัน สถานอนามัยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถให้คำปรึกษาหรือมีความเห็นว่าบุคคลใดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือไม่ จึงขอให้เจ้าตัวและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ช่วยตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ และหามาตรการกักตัวตนเองและผู้สัมผัสใกล้ชิด เพื่อป้องกันกันการแพร่ระบาดอย่างเหมาะสม กรณีการติดเชื้อภายในครอบครัวและบ้านพักคนชรา ควรมีการตรวจสอบและดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากกว่าปกติ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดสูง 
 
   * ในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงจบปีการศึกษา วันหยุดภาคฤดูใบไม้ผลิ การย้ายสถานที่ ทำงาน สถานศึกษา และย้ายบ้าน รวมถึงเทศกาลชมดอกไม้ ซึ่งจะมีการพบปะและรวมตัวของคนหมู่มาก รวมถึงอาจจะมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นของเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ถึงประมาณร้อยละ 70 ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด (มากกว่าปัจจุบันประมาณ 1.2 เท่า) จึงขอความร่วมมือประชาชนเพิ่มความระมัดระวังป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เช่น  หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนหมู่มากและมีความเสี่ยงสูง สวมหน้าการอนามัยแบบใยสังเคราะห์อย่างถูกต้อง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อล้างมือ ระบายถ่ายเทอากาศภายในห้องเป็นประจำ เป็นต้น 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนบนระบบ Thailand Pass เพื่อขอรับ Thailand Pass QR Code สำหรับเดินทางกลับประเทศไทย LINK

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนบนระบบ Thailand Pass เพื่อขอรับ Thailand Pass QR Code สำหรับเดินทางกลับประเทศไทย ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนบนระบบ Thailand Pass เพื่อขอรับ Thailand Pass QR Code สำหรับเดินทางกลับประเทศไทย ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนบนระบบ Thailand Pass เพื่อขอรับ Thailand Pass QR Code สำหรับเดินทางกลับประเทศไทย ดังนี้
1. ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติทุกคนที่ประสงค์จะเดินทางไปยังประเทศไทย ต้องลงทะเบียนบนระบบ Thailand Pass ที่ https://tp.consular.go.th/ เท่านั้น เพื่อขอรับ Thailand Pass QR Code สำหรับเดินทางกลับประเทศไทย โดยระบบจะใช้เวลา 3 - 7 วัน ในการพิจารณาคำร้องของท่าน จึงขอแนะนำให้ผู้เดินทางลงทะเบียนอย่างน้อย 7 วันก่อนเดินทาง
2. ระบบ Thailand Pass จะไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนสำหรับการเดินทางที่น้อยกว่า 2 วันหลังวันลงทะเบียน เพื่อป้องกันมิให้ผู้เดินทางประสบปัญหายุ่งยากหากต้องเลื่อนการเดินทาง เนื่องจากลงทะเบียนกระชั้นชิดจนเกินไป
3. สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นครบถ้วนตามเกณฑ์ข้อกำหนดของประเทศไทยแล้ว โปรดติดต่อที่ว่าการเขต/อำเภอ/เมือง (区役所 หรือ 市役所) ที่ท่านพักอาศัย เพื่อขอใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือ Vaccination Certificate of COVID-19 เป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ (ตัวอย่างใบรับรองการฉีดวัคซีนปรากฏตามแนบ) เพื่อใช้เป็นหลักฐานยื่นประกอบในระบบ Thailand Pass โดยกระบวนการออกใบรับรองนี้ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ จึงขอให้ผู้เดินทางเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนเดินทาง ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับใบรับรองการฉีดวัคซีนบนเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ได้ที่ https://www.mhlw.go.jp/stf/covid-19/certificate.html 
9 มีนาคม 2565 - นาย OZAKI Haruo ประธานสมาคมแพทย์แห่งกรุงโตเกียว แถลงต่อผู้สื่อข่าวเตือนให้ประชาชนระมัดระวังตนเองจากการติดเชื้อฯ ในช่วงนี้ซึ่งเป็นวันหยุดช่วงฤดูใบไม้ผลิของสถานศึกษา และจะเข้าช่วงสิ้นปีงบประมาณญี่ปุ่นที่ประชาชนมีโอกาสพบปะกินเลี้ยงสังสรรค์มากขึ้น จึงอาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีกครั้งได้ เดิมเห็นว่าความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้ จึงยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ต่อไป
15 มีนาคม 2565 - ตามที่ปัจจุบันญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลญี่ปุ่นอาจพิจารณายกเลิกการประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ทั่วประเทศในพื้นที่ 18 จังหวัด ซึ่งรวมพื้นที่กรุงโตเกียว โอซากา และไอจิ ที่กำหนดจะสิ้นสุดในวันที่ 21 มีนาคม 2565 เพื่อเร่งฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาเป็นปกติก่อนเริ่มฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณของญี่ปุ่น ทั้งนี้ จะต้องเข้าเงื่อนไข 1 ใน 2 ประการ ได้แก่ 
 
   1) หากสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยต่อจำนวนเตียงที่สำรองปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่าแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังอยู่ในระดับสูงหรือสูงขึ้นเพียงน้อย หรือ 
   2) หากแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง ถึงแม้ว่าสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยต่อจำนวนเตียงที่สำรองจะสูงเกินร้อยละ 50 
 
อย่างไรก็ดี ยังคงมีความกังวลอยู่ว่า เชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกใหม่อีกครั้ง
 
- นรม.คิชิดะ แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลเตรียมที่จะเริ่มโครงการ Go To Travel อีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ และหารือกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาช่วงเวลาที่เหมาะสม 
16 มี.ค. 2565 - นรม.คิชิดะ ประกาศยกเลิกสถานการณ์กึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ใน 18 จังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 21 มี.ค. นี้  สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
 
   • นรม.คิชิดะ กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลง และดูเหมือนว่ากำลังจะสิ้นสุดการระบาดระลอกที่ 6 ในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี ประชาชนยังควรป้องกันตนเองจากการติดเชื้อและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงหลังจากนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน และต้องป้องกันไม่ให้มีการกลับมาระบาดซ้ำอีก
 
   • รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมสำรองวัคซีน Pfizer จำนวน 75 ล้านโดส และ Moderna จำนวน 70 ล้านโดสเพิ่มเติม ในกรณีที่อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 นอกจากนี้ ได้เตรียมสำรองยารักษาการติดเชื้อฯ อีกจำนวน 3 ล้านโดส และชุดตรวจโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านชุด 
 
   • ปรับเปลี่ยนคำจำกัดความของผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อให้ครอบคลุมเฉพาะการติดเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชราเท่านั้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาการพัฒนารุนแรง และจะต้องรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขฯ ทราบ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวทำให้ไม่ต้องรายงานผู้ที่มีสัมผัสใกล้ชิดในที่ทำงานและสถานที่อื่น ๆ ต่อกระทรวงสาธารณสุขฯ และช่วยลดภาระสถานอนามัยในการจัดการข้อมูลการติดเชื้อในบริษัททั่วประเทศที่มีจำนวนมากเกินกว่าที่จะรับมือข้อมูลทั้งหมดได้ และเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้ 
 
   • วางแผนให้เงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนท่องเที่ยวภายในจังหวัดภายในเดือน เม.ย. 2565 โดยจะพิจารณาผลกระทบของโครงการต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดอีกครั้ง ก่อนพิจารณารื้อฟื้นการดำเนินโครงการ Go To Travel อย่างเต็มรูปแบบในช่วงเวลาที่เหมาะสม 

16 มีนาคม 2565 รายงานการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดแม็กนิจูด 7.3 มีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุคุชิมะ LINK

16 มีนาคม 2565 รายงานการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดแม็กนิจูด 7.3 มีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุคุชิมะ ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
16 มีนาคม 2565 รายงานการเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดแม็กนิจูด 7.3 มีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุคุชิมะ ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
16 มีนาคม 2565 23.36 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น (เร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง) เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาดแม็กนิจูด 7.3โดยมีศูนย์กลางในทะเลใกล้ จ.ฟุคุชิมะ แรงสั่นสะเทือนสัมผัสได้ในพื้นที่ดังกล่าวและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกรุงโตเกียว โดยแรงสั่นสะเทือนสูงสุดอยูที่ระดับ 6+ ตามระบบของญี่ปุ่น 
 
กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดฟุคุชิมะ และมิยากิ ระวังคลื่นสึนามิสูงที่ระดับ 1 เมตร ในขณะนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเนื่องมาจากแผ่นดินไหวดังกล่าว  
 
อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวโปรดดูแลรักษาตัวและเฝ้าระวังสถานการณ์โดยติดตามข่าวสารของทางการญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่อาจเกิดแผ่นดินไหวตามมา (aftershocks) 
 
กรณีฉุกเฉิน สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ HOTLINE  090-4435-7812
 
สถานะ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 23.50 น. 
17 มีนาคม 2565 - รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกมาตรการกึ่งฉุกเฉิน (มัมโบ) ใน 18 จังหวัด ได้แก่ ฮอกไกโด อาโอโมริ กุมมะ โทชิกิ อิบารากิ ไซตามะ โตเกียว คานากาวะ ชิบะ ชิสึโอกะ อิชิคาวะ กิฟุ ไอจิ เกียวโต เฮียวโกะ โอซากา คากาวะ และคุมาโมโตะ โดยจะสิ้นสุดวันที่ 21 มีนาคม 2565 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนครึ่ง หลังจากวันที่ 8 มกราคม 2565 ที่มีการยกเลิกมาตรการมัมโบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รัฐบาลยังคงสนับสนุนให้ลดการเข้าทำงานพร้อมกัน หรือการเข้าประชุมที่มีการรวมตัว และเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
23 มีนาคม 2565 - นาย YAMAGIWA Daishirou รมต.ดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลมีแผนจะขยายมาตรการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบแอนติเจนฟรีออกไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ซึ่งมีความจำเป็น หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ประชาชนที่ไม่มีอาการป่วยและสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อไวรัสโควิดฯ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรีจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องต่อไป
28 มีนาคม 2565  - กระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น แนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฉีดวัคซีนภายหลังจากการติดเชื้อเป็นเวลา 90 วันเป็นต้นไป
31 มีนาคม 2565 - กรุงโตเกียวรายงานผลการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่าง พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ชนิด BA.2 ระหว่างวันที่ 8-14 มี.ค. 2565 จำนวนร้อยละ 39.6 และระหว่างวันที่ 15-21 มี.ค. 2565 มีผู้ได้รับเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 52.3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบัน การติดเชื้อส่วนใหญ่ได้กลายจากชนิด BA.1 เป็น BA.2 แล้ว

กลุ่มที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขฯ ญี่ปุ่น แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนภายในญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้
• ในช่วง 23 – 29 มี.ค. 65  มีค่าเฉลี่ยของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อประชากร 1 แสนคนในจังหวัดโอกินาวะสูงที่สุด 394.01 คน รองลงมาได้แก่ กรุงโตเกียว 357.84 คน ไซตามะ 327.75 คน โอซากา 290.59 คน และอาโอโมริ 284.01 คน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ย 240 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
 
• จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 20 – 29 ปี ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศของอัตราการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 ซึ่งเป็นการเพิ่มครั้งแรกในรอบ 1 เดือนครึ่ง สาเหตุหลักมาจาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ การยกเลิกมาตรการกึ่งฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลให้ประชาชนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น เช่น การพบปะสังสรรค์ทั้งกลางวันและกลางคืน และการแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่อัตราการเพิ่มขึ้นเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงมีการเปิดช่องลมช่วยระบายอากาศภายในอาคารเนื่องจากอากาศอุ่นขึ้น 
 
• ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในเมืองใหญ่ เช่น กรุงโตเกียวและจังหวัดโอซากา มีแนวโน้มว่าอาจเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงได้อีกครั้ง เนื่องจากมีอัตราการตรวจพบเชื้อไวรัสเป็นบวกมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงระดับที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง 
 
• รัฐบาลญี่ปุ่นอาจพิจารณาดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอีกครั้ง หากพบว่าสถานการณ์การให้บริการด้านการแพทย์อยู่ในภาวะคับขัน ทั้งนี้ ต้องการหลีกเลี่ยงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน/กึ่งฉุกเฉิน เนื่องจากเกรงจะส่งผลกระทบทางลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

31/03/2022 ประกาศขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับคนต่างชาติ ภาษาญี่ปุ่น LINK

31/03/2022 ประกาศขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับคนต่างชาติ ภาษาญี่ปุ่น ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
31/03/2022 ประกาศขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับคนต่างชาติ ภาษาญี่ปุ่น ติดตามอัพเดต พัฒนาการ-มาตรการสำคัญของญี่ปุ่น ต่อสถานการณ์โควิด ปี 2565
31/03/2022 ประกาศขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยสำหรับคนต่างชาติ รวมทั้งคนญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป (ภาษาญี่ปุ่น) โดยทั้งคนไทยและคนต่างชาติไม่ต้องแสดงผลตรวจแบบ RT-PCR เป็นลบก่อนขึ้นเครื่อง ยกเว้นสายการบินกำหนด

2022年4月1日以降にタイ渡航予定のタイ国籍を有しない方 の入国手順
4 เมษายน 2565 - รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ต่อวัน จากเดิม 7,000 คน เป็น 10,000 คนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 2565 เป็นต้นไป เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาต่างชาติ และชาวญี่ปุ่นที่ต้องการเดินทางกลับประเทศมากขึ้น อนึ่ง ยังไม่อนุญาตกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าญี่ปุ่น
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด