ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ถมหลุมแห่งความขาดแคลน…ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รองรับโลกแห่งอนาคต - ศจ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์

ถมหลุมแห่งความขาดแคลน…ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รองรับโลกแห่งอนาคต - ศจ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ HealthServ.net
ถมหลุมแห่งความขาดแคลน…ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รองรับโลกแห่งอนาคต - ศจ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ThumbMobile HealthServ.net

เปิดวิสัยทัศน์ ของ ศจ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในบทบาทผู้นำองค์กรวิชาการแพทยศาสตร์แถวหน้า และภาระกิจสำคัญยิ่ง ในการเร่งสร้างบุคลากร ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ ให้ทันกับความต้องการของประเทศในอนาคต

ถมหลุมแห่งความขาดแคลน…ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ รองรับโลกแห่งอนาคต - ศจ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ HealthServ


 
  • เราจะเป็นคณะที่ถมหลุมแห่งความขาดแคลน บุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ให้กับประเทศของเรา
  • การเยี่ยมชมคณะต่างๆ จะเห็นว่าในคณะของเราจะเป็น โรงเรียนแห่งแรก-แห่งเดียว หลักสูตรแห่งแรก-แห่งเดียว และงานด้านต่างๆ ที่ช่วยสร้างบุคลากรเพื่อสุขภาวะที่ดี
  • คณะฯ เรามุ่งเน้นจะทำงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผลงานนวัตกรรมที่เป็นจริง จับต้องได้ ผลิตแล้วนำไปใช้ได้ เดินลงจากหิ้งนำไปสู่ห้างลงสู่ชุมชน มีการปฏิบัติที่เป็นจริง
  • มองลึกไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนชายขอบ ยุคสมัยสังคมผู้สูงอายุ คณะเราจะทำอะไรให้ได้บ้างยกตัวอย่าง 20 ปีข้างหน้า ประชากรลดลง วัยทำงานลดลง วัยสูงอายุเยอะขึ้น สังคมไทยจะอยู่อย่างไร?
  • คณะฯเราจึงมี โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ช่วยกันสร้างบัณฑิตที่ออกไปเกิดสภาวะที่ของผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตที่ดีช่วยประเทศได้นานๆ ไม่เป็นภาระของประเทศ
  • ทุกวันนี้ประชากรหกสิบปีขึ้นไป สองล้านคน ติดเตียงสองแสนคน แต่บุคลากรที่มาดูแลมีน้อยมาก คนรายได้น้อยก็ไม่สามารถจ้างดูแลได้ ทางคณะฯอบรมสร้างวิสาหกิจดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ ลงไปช่วยชุมชน อยู่ระหว่างงานรัฐบาลและเอกชน เราอยู่ตรงกลางสร้างคนอยู่รวมกันเป็นประชาสังคม พลเมืองทำพันธกิจให้ประเทศ เลี้ยงชีพได้และดูแลคนที่ยากไร้ได้
  • มุ่งเน้น รีสกิล อัพสกิล คอนเซปต์การศึกษาสมัยใหม่ เรียนรู้ตลอดชีวิต ช่วยกันผลิตพนักงานผ่อนปรน เพื่อคืนเวลาให้แพทย์ไปดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น
  • มองมุมสายอาชีพที่จะเกิดขึ้น โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ สร้างนักอัลตราซาวด์ สามารถใช้เครื่องในพื้นที่ห่างไกล ส่งภาพผ่านทางออนไลน์ให้แพทย์แปรผลให้ได้ ช่วยให้บริการผู้ป่วย ณ ที่ห่างไกลให้คนอยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงได้
  • โรงเรียนรังสีเทคนิค ผลิตนักวิชาชีพ ประเทศต้องการเจ็ดพันคน ทั้งประเทศมี 4-5 พันคน ผลิตได้ปีละห้าร้อยคน เราสร้างบัณฑิตมาช่วย นอกจากนั้นยังเป็นผู้นำในการบ่มเพาะสร้างหลักสูตรที่ทำให้เกิดวิชาชีพจำเพาะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้มากขึ้น
  • โรงเรียนฉุกเฉินการแพทย์ ผลิตบุคลากรที่จำเป็นในเวลาเกิดอุบัติเหตุ ภัยพิบัติ คลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปสู่โรงพยาบาล รวดเร็วและเสียหายน้อยที่สุด ประเทศไทยต้องนักฉุกเฉินการแพท์สามหมื่นคน ปัจจุบันได้รับการรับรองเพียงแปดร้อยกว่าคน และระดับผู้ช่วยสามพันคน โรงเรียนต่างๆ ที่สามารถผลิตได้ก็ไม่เกินร้อยแปดสิบคน (จากความต้องการสามหมื่นกว่า) คณะฯจัดทำหลักสูตรทันสมัย ตรงตามเป้าหมาย อว. และนโยบายประเทศ เราร่วมมือกับอีก 10 สถาบัน ผลิตให้ได้หมื่นห้าพันคนในสิบปี (1,500 คนต่อปี)
  • ทางคณะฯ มองเห็นปัญหา ที่จะต้องผลิตบุคลากรเพื่อเติมเต็ม โดยมุ่งไปทางด้านความปลอดภัยเป็นหลัก การรองรับประชากรผู้สูงอายุ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  • ตอบสนองพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” ให้ชีวิตคนไทยทุกคนมีความสุข และปลอดภัยจากโรค





เปิดรั้วเป็นทางการครั้งแรกในปี 2565 สำหรับ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งมีพันธกิจ คือ ผลิตบัณฑิต การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เติมเต็มบุคลากรการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนให้แก่ประเทศชาติ ตามปรัชญา “สร้าง ครูผู้สร้าง” “เติมเต็ม บุคลากรการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนให้แก่ประเทศชาติ” “พัฒนา ทุนทางปัญญาและความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์การแพทย์” “ก่อเกิด บ้านแห่งการเรียนรู้ชั่วชีวิต” และในปีการศึกษาล่าสุดนี้ได้เปิดคณะฯ เยี่ยมชมสถานที่ในการเรียนรู้ ฝึกสอน และปฏิบัติงานจริง อาทิ  โรงเรียนนักอัลตราชาวด์ทางการแพทย์ โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ฯลฯ

 



สัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ

เราเป็นบ้านแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างบุคลากร องค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชน พร้อมพันธกิจ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพภายใต้หลักสูตรที่ได้มาตรฐานวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพ วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุขในลักษณะบูรณาการ สหวิทยาการเพื่อสร้างความเป็นเลิศวิชาการการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

รวมถึงการนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์รวมถึงสาธารณประโยชน์ ให้บริการทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพบนพื้นฐานของมาตรฐานวิชาชีพและการสร้างทุนทางปัญญาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสานและเผยแพร่ภูมิปัญญาการสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมวิถีชีวิตและสืบสานพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการและวิชาชีพเพื่อบริการมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” 

 

โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์

ในปีการศึกษา 2565 นี้ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้นผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งแต่ละหลักสูตรได้นำเสนอการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบด้วย 

โรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์  จัดทำหลักสูตรโดยความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และ Monash University ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้เป็นหลักสูตรต้นแบบมุ่งผลิตนักอัลตราซาวด์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการเสริมการบริการและวิชาการ ทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ของประเทศ

หลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักรังสีเทคนิค แพทย์ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ในทุกที่ ทุกเวลาทุกโอกาส

ทั้งยังส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถเข้าสู่การศึกษาในระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในกิจกรรมการเยี่ยมชมมีการทำอัลตราซาวด์แสดงให้เห็นถึงการตรวจในแต่ละส่วนของร่างกายที่มากกว่าแค่การตรวจอัลตราซาวด์ภายในช่องท้อง หรือการอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์ นอกจากนี้หลักสูตรฯ ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น สอดคล้องกับปรัชญาของคณะฯในการ “สร้างครูผู้สร้าง”

โรงเรียนรังสีเทคนิค

โรงเรียนรังสีเทคนิค  หลักสูตรที่ผลิตนักรังสีเทคนิค มาจากการสร้างภาพทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยแพทย์วินิจฉัย และรักษาโรคในผู้ป่วย ทำให้ประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานรังสีวิทยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะนักรังสีเทคนิคเป็นที่ต้องการและถือเป็นวิชาชีพขาดแคลนในประเทศไทย 

ปัจจุบันหลักสูตรเปิดดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 ดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย  อาทิ

ที่ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน ได้แก่ เครื่อง MRI  1.5 เทสลา และเครื่อง MRI ขนาด 3 เทสลา จำนวน 3 เครื่อง และมีเครื่อง MRI แบบพิเศษ คือ MRI Upright และ MRI HIFU

นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง 3 แบบ ได้แก่ CT Dual source, kV switching, Dual Layer ที่พร้อมให้นักศึกษาของเราไปเรียนรู้และฝึกงาน

ส่วนทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษาจะได้มีโอกาส ไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องถ่ายภาพ Digital PET/CT เครื่องแรกของประเทศไทยจำนวน 2 เครื่อง และเครื่อง PET/MRI เครื่องแรกและเครื่องเดียวของประเทศไทย เครื่อง Cyclotron และ Module สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆ และด้านรังสีรักษา

นักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือและฝึกปฏิบัติ ณ งานรังสีรักษามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อช่วยแพทย์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ

 โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ  บรรยายถึงภาพรวมของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่แห่งแรกของประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ เป็นต้น

ในส่วนการฝึกภาคปฏิบัติจะเริ่มฝึกประสบการณ์ในการทำงานจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งต้องฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถานออกกำลังกายทั้งภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และภายนอก เช่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สโมสรกีฬา ทั้งเพื่อสุขภาพ และเพื่อนักกีฬาชั้นเลิศ และทีมกีฬาอาชีพ เช่น ทีมฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น

นอกจากนี้นักศึกษาต้องมีงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิบัติงานจิตอาสาเพื่อชุมชนในระหว่างการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ  ห้องชีวกลศาสตร์ เพื่อการทดสอบการวิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ (3D-Dimension Movement Analysis) เป็นการวิเคราะห์ท่าทางโดยมีการติดเครื่องหมายสะท้อนแสงที่ปุ่มกระดูกหรือข้อต่อ และใช้กล้องบันทึกภาพการเคลื่อนไหว จากนั้นใช้โปรแกรมเฉพาะเพื่อวิเคราะห์ตัวแปรทางคิเนเมติกส์และคิเนติกส์ของการเคลื่อนไหว เช่น มุมองศาของข้อต่อ ความเร็วเชิงเส้น เชิงมุมของข้อต่อ และแรงปฏิกิริยาในแนวดิ่งจากพื้น เป็นต้น เพื่อประเมินและวางแผนในพัฒนาการฝึกซ้อมของนักกีฬาให้มีพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้น

โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์

 โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์  ทางหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้นได้รับการผดุงชีวิตรวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้นได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณและเจตคติที่ดีตามมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพในงานฉุกเฉินการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดอัตราความเสี่ยงและความสูญเสียของผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินก่อนถึงมือผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีความทันสมัยเข้ากับบริบทของประเทศและนานาชาติ นำไปสู่การวิจัย ช่วยเหลือ และการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ 

ปัจจุบัน เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) เป็นสาขาของการประกอบโรคศิลปะด้านสุขภาพที่กระทำต่อผู้ป่วยฉุกเฉินนอกสถานพยาบาลเป็นหลัก รวมทั้งสามารถดูแลเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการช่วยชีวิตและป้องกันการเสียชีวิต โดยกิจกรรมเยี่ยมชมยังจำลองสถานการณ์การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลัดตกจากที่สูง มีการปวดเจ็บต้นคอและแผ่นหลังเคลื่อนย้ายขึ้นรถพยาบาล (Ambulance) ตลอดจนสาธิตเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทัน สมัยภายในรถก่อนนำผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป

โรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล

 โรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล จัดทำหลักสูตรมาจากปัจจุบันสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเพิ่มจำนวนมากขึ้น  มีการแข่งขันเพื่อสร้างคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ ในขณะที่ผู้รับบริการต่างก็มีความต้องการและคาดหวังที่จะได้รับการบริการอย่างทั่วถึง รวดเร็ว มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น 

ซึ่งสวนทางกับปัญหาการให้บริการด้านสุขภาพของสถานพยาบาลในประเทศไทย จากการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระงานที่ได้รับมอบหมายนอกเหนือจากการปฏิบัติวิชาชีพคือ งานสนับสนุนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับการให้บริการรักษาพยาบาล และการบริการทางการแพทย์ ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพในการให้บริการผู้ป่วยที่มารับบริการ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ เห็นเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาการใช้บุคลากรวิชาชีพไม่ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือภาระงานที่ไม่ใช่ภาระงานโดยตรง จึงได้จัดตั้งโรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล และพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการงานธุรการสถานพยาบาล  หลักสูตร 1 ปี เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการฟื้นฟู และพัฒนาทักษะ (Re-skills and Up-skills) ด้วยกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน (WIL: Work Integrate Learning) เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีทักษะและมีคุณลักษณะเฉพาะที่เหมาะสม มีความพร้อมปฏิบัติงานในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาล  ตามความชำนาญเฉพาะที่ผู้เรียนเลือกศึกษาอย่างมีคุณภาพ
“ปัจจุบันสังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 12.5 ล้านคน และเป็นผู้ป่วยติดเตียงอีก 200,000 คน ขณะที่สัดส่วนการเกิดและจำนวนประชากรวัยทำงานลดน้อยลง ทำให้การผลิตบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุมีจำนวนน้อยตามไปด้วย ซึ่ง คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเข้ามาเติมเต็ม ควบคู่กับการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงได้เปิดสาขาวิชาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงเรียนนักอัตราซาวด์ทางการแพทย์ รวมทั้งโรงเรียนรังสีเทคนิค  เป็นโอกาสที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ลงมือทำในสถานที่จริง พร้อมหยิบใช้เครื่องมือต่างๆ เตรียมความพร้อมให้คล่องตัว สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ครบวงจร ทั้งในเรื่องกายวิภาคศาสตร์ จิตวิทยา และโภชนาการ ฯลฯ ที่นี่เป็นอาชีพแห่งอนาคต”
 
คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ตั้ง 906 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร.0-2576-6000 ต่อ 8753
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด