ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

7 กลยุทธ์ แผนฯ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2

7 กลยุทธ์ แผนฯ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 HealthServ.net
7 กลยุทธ์ แผนฯ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 ThumbMobile HealthServ.net

แผน 7 กลยุทธ์นี้ อ้างอิงและปรับปรุงจากมาตรการ SAFER ขององค์การอนามัยโลก ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในกรอบระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2565-2570 วงเงิน 339.30 ล้านบาท



16 สิงหาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 - 2570) (แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) เสนอ
 
 
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ฉบับนี้ ต่อเนื่องจากแผนระยะที่ 1 ที่ครอบคลุมตั้งแต่ 2554-2563  ได้สิ้นสุดลงเมื่อ 14 ธันวาคม 2563  โดยแผนนี้ จะมีทั้งกลยุทธ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนเดิม และกลยุทธ์เพื่อเป้าหมายที่ยังไม่บรรลุผล  เน้นการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อจะได้เป็นแผนที่สามารถนำสู่การปฏิบัติในพื้นที่ได้อย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
 
 
วัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 เพื่อควบคุมขนาดและความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย โดยมีระยะเวลาของแผน 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570) และมีเป้าหมาย 4 ประการ ได้แก่
 
(1) ควบคุมและลดปริมาณการบริโภคของประชาชน 
(2) ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และควบคุมจำนวนผู้บริโภค 
(3) ลดความเสี่ยงจากการบริโภค ทั้งในมิติของปริมาณการบริโภค รูปแบบการบริโภค และพฤติกรรมหลังการบริโภค
(4) จำกัดและลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค
 
 
ความคาดหวัง
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จะส่งผลกระทบเชิงบวกทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น
(1) ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เกิดจากโรคทุกโรคที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง 
(2) ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ลดลงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุทางถนนลดลงด้วย และ
(3) ประเทศไทยได้รับการยอมรับการเป็นหนึ่งในผู้นำการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับนานาชาติ
 
 
 
 

7 กลยุทธ์ 

 
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 7 กลยุทธ์ ซึ่งมีมาตรการหรือกิจกรรมหลักที่อ้างอิงและปรับปรุงจากมาตรการแนะนำสำหรับการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ที่ควรดำเนินการและมีความคุ้มค่าที่สุด (SAFER) องค์การอนามัยโลก ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
 

มาตรการ SAFER ประกอบด้วย

(1) ควบคุมการเข้าถึง (Strengthen restrictions on alcohol availability)
(2) ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม (Advance and enforce drink driving counter measures)
(3) อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและการบำบัดรักษา (Facilitate access to screening, brief interventions and treatment)
(4) ควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์ (Enforce bans or comprehensive restrictions on alcohol advertising, sponsorship, and promotion)
(5) ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี และนโยบายด้านราคา (Raise prices on alcohol through excise taxes and pricing policies)
 
 
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 7 กลยุทธ์  ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 339.30 ล้านบาท
 
 
 
กลยุทธ์ที่ 1 ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง
 
งบประมาณ 96.70 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมและในประชากรกลุ่มเสี่ยงผ่านกลไกการควบคุมให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าราคาแพง หาซื้อยาก และเพิ่มสัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตในการเข้าถุงจุดจำหน่ายของประชาชนขึ้นจากปี 2562
 
ตัวชี้วัดหลัก สัดส่วนจำนวนประชากรต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุราเพิ่มขึ้น
ค่าเป้าหมายรายปี
2565 138 (คน/ใบอนุญาต)
2566 152 (คน/ใบอนุญาต)
2567 167 (คน/ใบอนุญาต)
2568 184 (คน/ใบอนุญาต)
2569 202 (คน/ใบอนุญาต)
2570  245 (คน/ใบอนุญาต)
 
 
ตัวอย่างโครงการสำคัญ

โครงการควบคุมจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อพัฒนาระบบเฝ้าระวังการจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (51.68 ล้านบาท) และการพัฒนาระบบ GIS เพื่อการจัดการข้อมูลร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร [ใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.)]
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและ กทม.
 
โครงการพัฒนาระบบและกลไกการบังคับใช้กฎหมาย (45 ล้านบาท) โดยดำเนินการผ่านกิจกรรม เช่น (1) การประชาสัมพันธ์และการลงพื้นที่ตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการ รวมถึงบริเวณรอบสถานศึกษา (2) การทบทวนและพัฒนากฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. กรมสรรพสามิต
 
 
 

กลยุทธ์ที่ 2 ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม
 

งบประมาณ 15 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะภายหลังการดื่มแอลกอฮอล์
ตัวชี้วัดหลัก
(1) ร้อยละของผู้ขับขี่/ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนอันเกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง
(2) จำนวนการสุ่มตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจเพิ่มขึ้น
(3) ร้อยละของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้รับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพิ่มขึ้น

ค่าเป้าหมายรายปี
ปี 2565 2566 2567 2568 2569 2570
(1) (ร้อยละ) 15.5 15 14.5 14 13.5 13
(2) (ครั้ง) 98,000 99,000 100,000 101,000 102,000 103,000
(3) (ร้อยละ) 50 60 70 80 90 100
 

ตัวอย่างโครงการสำคัญ

โครงการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม โดยมีกิจกรรม เช่น (1) การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการตั้งด่านตรวจระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจอย่างสุ่ม (1 ล้านบาท) และ (2) การฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติเนื่องจากขับรถขณะเมาสุราแบบเข้มข้น (13.5 ล้านบาท)
  •  หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค กรมคุมประพฤติ ตช.
 
โครงการพัฒนาระบบการเก็บข้อมูล กรณีเมาแล้วขับ โดยการจัดการข้อมูลวิชาการและกระบวนการขับเคลื่อนการควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (5 แสนบาท)
  •  หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
 
 

กลยุทธ์ที่ 3 คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา
 

งบประมาณ 22.20 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อจัดการให้ผู้มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการดูแลรักษา ตามมาตรฐานที่เหมาะสม
 
ตัวชี้วัดหลัก (1) ร้อยละของผู้มารับการบริการในสถานบริการสุขภาพ อายุ 15 ปีขึ้นไป ได้รับการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น
(2) ร้อยละของผู้ที่มีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับความเสี่ยงปานกลางและความเสี่ยงสูงได้รับบริการบำบัดรักษาเพิ่มขึ้น
 

ตัวอย่างโครงการสำคัญ

โครงการพัฒนาหลักเกณฑ์และระบบติดตามผลการบำบัด ฟื้นฟูสภาพ โดยมีกิจกรรม เช่น (1) จัดทำหลักเกณฑ์การบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา (4.30 ล้านบาท) และ (2) พัฒนาระบบการเข้าถึงบริการตามสิทธิการรักษาพยาบาล (2.40 ล้านบาท)
  •  หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
 
โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการบำบัดและผู้ดูแลรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา ผ่านการดำเนินกิจกรรม เช่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเรื่องการคัดกรอง ให้คำปรึกษาเทคนิคการบำบัดแบบสั้น (2.1 ล้านบาท) เป็นต้น
  •  หน่วยงานที่รับผิดชอบ: กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต
 
โครงการพัฒนาและสนับสนุนการจัดบริการบำบัดรักษานอกระบบบริการสุขภาพ ผ่านกิจกรรม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (สายด่วน 1413) (12 ล้านบาท) เป็นต้น
  • หน่วยงานที่รับผิดชอบ: ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด
 
 
 
 

กลยุทธ์ที่ 4 ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขายและการให้ทุนอุปถัมภ์


งบประมาณ 141.20 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ สามารถเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อคุ้มครองสังคมและเยาวชนมิให้เป็นนักดื่มหน้าใหม่
 
ตัวชี้วัดหลัก
(1) ร้อยละของเรื่องร้องเรียนด้านโฆษณา การสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
(2) ร้อยละความสำเร็จของการตรวจสอบโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา
(3) ร้อยละของหน่วยงานของรัฐที่ไม่รับทุนอุปถัมภ์จากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
 
 
ตัวอย่างโครงการสำคัญ

โครงการติดตามเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ประกอบด้วยกิจกรรม เช่น (1) จัดเวทีสัมมนาสร้างความร่วมมือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (3 ล้านบาท) (2) พัฒนาบุคลากร (เครือข่ายภาคประชาชน) ด้านกฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการร้องเรียนผ่านระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Tobacco & Alcohol Surveillance System: TAS (6 ล้านบาท) เป็นต้น
 
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
 
โครงการส่งเสริมการรับรู้ให้รู้เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณาและสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เชิงรุก ซึ่งมีกิจกรรม เช่น (1) รณรงค์เชิงรุกสะท้อนปัญหาการโฆษณาสื่อสารการตลาด (45.6 ล้านบาท) (2) จัดทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกับหน่วยงานราชการและเสนอหน่วยงานราชการดีเด่นรับรางวัลในวันงดดื่ม (15 ล้านบาท) เป็นต้น
 
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
 
โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีกิจกรรม เช่น
(1) อบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร (พนักงานเจ้าหน้าที่) ด้านการจัดการข้อร้องเรียนและบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 (6 ล้านบาท)
(2) ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงาน โดยมีแผนการปฏิบัติงานเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ การเฝ้าระวังทางสื่อและการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 24 ครั้ง/ปี/จังหวัด (39 ล้านบาท) เป็นต้น
 
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค
 
 
 
 

กลยุทธ์ที่ 5 ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี
 

งบประมาณ - 
 
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษีและราคาโดยมีระบบการคิดภาษีที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงมีมาตรการกำหนดราคาขั้นต่ำ (minimum unit pricing) ตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม การผูกอัตราภาษีกับเงินเฟ้อ และลดการสนับสนุนจากภาครัฐไปยังธุรกิจแอลกอฮอล์
ตัวชี้วัดหลัก มีระบบการคิดภาษีมาใช้ในการขึ้นภาษีให้เหมาะสม
ค่าเป้าหมาย มีระบบการคิดภาษีที่เหมาะสม 1 ระบบ ในปี 2568
 
ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการสนับสนุนการพัฒนากลไกด้านมาตรการภาษี และราคาที่มีระบบคิดภาษีที่เหมาะสม โดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแนวทางการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา

โครงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบภาษี โดยดำเนินการสกัดกั้นการลักลอบขนส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าผิดกฎหมายจากต่างประเทศในช่วงเทศกาลสำคัญ
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมศุลกากร
 
 
 
 
 

กลยุทธ์ที่ 6 สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม
 

งบประมาณ 47.60 ล้านบาท
เป้าหมายกลยุทธ์ ประชาชนให้คุณค่าเพิ่มมากขึ้นต่อการตัดสินใจที่จะไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตัวชี้วัดหลัก ค่าเฉลี่ยการให้คุณค่าต่อการตัดสินใจที่จะไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน (ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน: สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
 
ค่าเป้าหมายรายปี
อ้างอิงค่าเฉลี่ยฯ ปี 2564 เป็นค่าเฉลี่ยฯ ฐาน (baseline)
2567 ค่าเฉลี่ยฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จาก baseline
2570 ค่าเฉลี่ยฯ  เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จาก baseline
 
ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการสื่อสาร รณรงค์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงถึงผลกระทบต่อตนเองและสังคมจากการดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านการดำเนินกิจกรรม เช่น จัดตั้งเครือข่ายการสื่อสารสร้างค่านิยมลดการดื่ม (Alcohol Voice) (3 ล้านบาท) ทำความเข้าใจต่อรากเหง้าของปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละบริบทสังคม (3 ล้านบาท) ทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาภัยเหล้ามือสอง ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม (3 ล้านบาท) ร่วมมือกับสื่อสารมวลชนและกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจ (Influencer) ในการสร้างความตระหนักต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนทุกกลุ่ม
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

โครงการสร้างทางเลือก มาตรการเชิงบวก และเพิ่มโอกาสในการไม่ดื่ม โดยมีกิจกรรม เช่น ส่งเสริมงานบุญประเพณีเทศกาล งานเลี้ยงปลอดเหล้า (9 ล้านบาท) รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาและพัฒนาการรณรงค์งดเหล้าโดยไม่ใช้หลักศาสนา (12 ล้านบาท)
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
 
 
 
 

กลยุทธ์ที่ 7 ระบบสนับสนุนและบริหารจัดการที่ดี
 

งบประมาณ 16.60 ล้านบาท
 
เป้าหมายกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาแอลกอฮอล์รวมถึงขยายผลได้ และสร้างกลไกจัดการปัญหาแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดจำนวนผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ตัวชี้วัดหลัก จำนวนจังหวัดที่สามารถลดสัดส่วนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ได้เทียบกับปีที่ผ่านมา
 

ตัวอย่างโครงการสำคัญ
โครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการดำเนินนโยบายในระดับต่าง ๆ โดยมีกิจกรรม เช่น พัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการควบคุมและลดปัญหาจากแอลกอฮอล์ (9 ล้านบาท) พัฒนาช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว ชัดเจน ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์สำหรับสร้างความเข้าใจนโยบายสาธารณะ (1.6 ล้านบาท) พัฒนาระบบการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

โครงการพัฒนาองค์ความรู้และการติดตาม ประเมินผลเชิงระบบการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศ (6 ล้านบาท) โดยมีกิจกรรม เช่น พัฒนาระบบรายงานและจัดเก็บข้อมูลระดับจังหวัดออนไลน์ให้เข้าถึงได้ง่าย พัฒนาตัวชี้วัดที่สำคัญระดับประเทศและจังหวัด
  • หน่วยงานรับผิดชอบ: กรมควบคุมโรค ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด