ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ข้อมูลความปลอดภัยและมารยาทสำคัญ ที่สายแคมป์ปิ้งที่ต้องรู้และใส่ใจ

ข้อมูลความปลอดภัยและมารยาทสำคัญ ที่สายแคมป์ปิ้งที่ต้องรู้และใส่ใจ HealthServ.net
ข้อมูลความปลอดภัยและมารยาทสำคัญ ที่สายแคมป์ปิ้งที่ต้องรู้และใส่ใจ ThumbMobile HealthServ.net

กระแสแคมป์ปิ้ง ท่องเที่ยวธรรมชาติ ออกไปกางเต้นท์ ทำอาหาร ชมดาว แบบไปกันเป็นหมู่คณะกลับมาได้รับความนิยมอย่างรุนแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยว "สายแคมป์" จะมีความพร้อมมากทั้ง อุปกรณ์แคมป์ปิ้ง กางเต้นท์ เฟอร์นิเจอร์แคมป์ อุปกรณ์หุงหาอาหาร เรียกว่าจัดเต็มกันพร้อมมากๆ รวมถึงยานยนต์ที่ใช้เดินทาง ไม่ว่าจะเป็น แคมป์ปิ้งแวน รถ SUV รถโฟร์วีลออฟโรด ก็เรียกว่าจัดเต็มเช่นกัน ซึ่งแน่ใจได้ระดับหนึ่งว่า เมื่อนักท่องเที่ยวมีการเตรียมตัว เตรียมพร้อม ความปลอดภัยก็จะมีอยู่ในระดับสูงเช่นกัน


 
แต่ความปลอดภัยยังต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น สถานที่ สถานการณ์ สภาพอากาศ ภูมิประเทศ เหล่านี้ ทำให้มีคำแนะนำจากผู้ชำนาญการในการพิจารณาถึงความปลอดภัยในการออกไปกางเต้นท์แคมป์ปิ้งในสถานที่ต่างๆ ซึ่ง สายแคมป์ ควรศึกษาและเรียนรู้ ดังนี้
 
 

ข้อพิจารณาเลือกจุดกางเต้นท์ให้ปลอดภัย

 
1. เลือกสถานที่ที่จัดไว้ให้ 
แน่นอนที่สุดคือ หากเป็นสถานที่ที่จัดไว้บริการ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยานหรือสถานที่เอกชนก็ตาม เหล่านี้จะมีการเตรียมการและจัดการที่ดีเยี่ยมอยู่แล้ว มีการปรับสภาพสถานที่ เตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานไว้รองรับ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ห้องน้ำ แหล่งไฟฟ้า และแหล่งน้ำสะอาด  ยิ่งไปกันเป็นกลุ่มคณะ ที่มีเด็ก คนสูงอายุหรือผู้หญิงไปด้วย  ควรพิจารณาจุดนี้เป็นข้อแรกๆ เพราะเมื่อจำเป็นขึ้นมาจะได้ปลอดภัย และไม่เกิดปัญหา
 
2. เลือกพื้นที่ที่ราบเรียบ นอนได้ไม่ลำบาก
หากเลือกที่ไปยังสถานที่แตกต่างไปจากสถานที่ที่เตรียมไว้ เพื่อเพิ่มรสชาติชีวิตการผจญภัยขึ้นอีกนิดหนึ่ง การเลือกจุดกางเต้น ก็ต้องเลือกที่ที่ราบเรียบเพียงพอที่สามารถปูวัสดุรองนอนได้สบาย ไม่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ หรือมีเศษไม้ ตอไม้ รากไม้ ไม่เป็นที่แอ่งหรือหลุมที่อาจมีน้ำขัง ยกเว้นว่าหาไม่ได้จริงๆ ก็อาจต้องปรับสภาพพื้นที่กันหน่อย แต่หากต้องทำเกินสมควร เปลี่ยนที่ดีกว่า
 
 
3. จุดกางเต้นที่ต้องพิจารณาหลีกเลี่ยง
มีคำแนะนำไว้มากมาก ซึ่งขึ้นกับสถานที่และภูมิประเทศนั้นด้วยๆ ดังนี้
 
3.1 อย่ากางเต็นท์ใต้ต้นไม้ใหญ่
เพื่อเลี่ยงกรณีอาจมีกิ่งไม้ใหญ่หักโค่น หล่นลงมาที่เต้นท์ได้ ให้ดูว่าบนต้นไม้มีกิ่งก้านที่อาจหักโค่นได้หรือไม่  ยิ่งเมื่อมีฝนตก ฟ้าคะนอง จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น 
 
3.2 อย่ากางเต็นท์ในพื้นที่โล่ง
หมายถึงที่โล่งแจ้ง ไร้สิ่งบดบังใดๆ เพราะลมที่พัดจะก่อความเสียหายได้มาก ยิ่งเมื่อกลางคืนลมอาจแรงกว่าเดิมก็ได้ หากเป็นได้เลือกสถานที่ที่มีก้อนหินใหญ่ โขดหิน หรือต้นไม้ช่วยบ้างจะดีกว่า  หากจำเป็นต้องการที่โล่งจริงๆ จำเป็นต้องยึดสมอบกให้แน่นหนามากๆ เอาไว้
 
3.3 อย่ากางเต็นท์บริเวณชายเขาหรือที่ลาดเขา
เพราะทางลาดชายเขา คือทางน้ำไหล หรือแย่กว่านั้นอาจเกิดดินสไลด์ได้ สังเกตว่าพื้นที่แถวนั้นสภาพดินเป็นอย่างไร หากเป็นดินร่วน ดินทราย ยิ่งอันตราย
 
3.4 อย่ากางเต็นท์ในทางน้ำไหล ริมน้ำหรือลำธาร
ความเสี่ยงชัดเจนคือถ้าน้ำมา ก็แย่แน่นอน ซึ่งเราไม่มีทางรู้ก่อนได้เลย ถ้าจำเป็นและทำได้ ควรห่างจากทางน้ำ ไม่น้อยกว่า 100 ม.
 
3.5 อย่ากางเต็นท์บริเวณทางเดินสัตว์
อาจจะยากหากเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย จุดสังเกตว่าเป็นทางสัตว์ผ่านหรือไม่ เช่น ดูรอยเท้าสัตว์ รอยมูลสัตว์ ต้นไม้ พุ่มไม้รอบๆ ว่ามีการล้มหรือราบไปอย่างผิดธรรมชาติหรือไม่ เป็นต้น เพราะหากพลาดไปตั้งขวาง สัตว์เจ้าถิ่นอาจทำเราเดือดร้อนได้
 
3.6 อย่ากางเต็นท์บริเวณที่มีน้ำขังหรือหญ้ารก
ที่น้ำขังและมีหญ้ารกนั้น เราจะนอนไม่ได้อยู่แล้ว และบริเวณแบบนี้จะเป็นแหล่งอาศัย หลบซ่อนหรือหากินของสัตว์เลื้อยคลาน และแมลงนานาชนิดอีกด้วย โดยเฉพาะยุง งู สัตว์มีพิษ อันตรายมากๆ และไม่แนะนำให้ต้องลงมือลงแรงถากถาง เลือกที่ใหม่ดีกว่า
 
 
4. ทำความสะอาดจุดกางเต้นท์ก่อนกาง
ก่อนกางเต็นท์ ต้องทำความสะอาดบริเวณนั้นเสียก่อนอีกครั้ง ให้เรียบโล่งที่สุด จะดีที่สุด เพราะแมลงต่างๆ หรือสัตว์มีพิษที่อาจหลบซ่อนอยู่ใต้ใบไม้ กิ่งไม้ เศษหญ้า ก้อนหิน  โดยที่เราอาจไม่สังเกตเห็น การขุดร่องรอบบริเวณเต้นท์ หรือโรยปูนขาวก็เป็นวิธีที่ช่วยป้องกันแมลงต่างๆ เข้าเต้นท์ได้เช่นกัน
 
 
ข้อมูลความปลอดภัยและมารยาทสำคัญ ที่สายแคมป์ปิ้งที่ต้องรู้และใส่ใจ HealthServ
 

 

กิจกรรมที่ต้องระมัดระวัง 

 
เมื่อมาแคมป์ปิ้งกางเต้นท์ กิจกรรมหลายๆ อย่างก็ตามมา เช่น ก่อกองไฟ ทำอาหาร การเตรียมอาหารและข้าวของที่ต้องมีหีบห่อ บรรจุมา ซึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะเป็นขยะ เหล่านี้มีคำแนะนำเอาไว้ ดังนี้
 
 
1. อย่าก่อไฟใกล้เต้นท์
ทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า เมื่อมีเปลวไฟและมีลมมาด้วย ไฟก็อาจกระเด็นไปถูกเต้นท์ได้ เมื่อนั้นละจะแย่แน่ กางก่อไฟก็ควรก่อในจุดที่กำหนดไว้เพราะจะมีการปรับสภาพไว้ให้เหมาะสมแล้ว แต่หากไม่มี ควรเลือกก่อให้ห่างออกไปอย่างน้อย 3-5 เมตร (10-15 ฟุต) 
 
2. อย่านำเตาไฟ เทียน ตะเกียงไฟ เข้าเต็นท์
ข้อนี้คือห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งทุกคนก็น่าจะรู้ และคงไม่ต้องบรรยายว่าหากพลาดไป จะเสียหายหนักขนาดไหน หากต้องการแสงสว่าง ให้ใช้โคมไฟแทน
 
3. การปรุงอาหาร
ใช้อุปกรณ์ปรุงอาหารที่เตรียมมาก็จะช่วยให้ปลอดภัยในขณะปรุง หรือหลังปรุงเสร็จได้ จุดก่อไฟควรอยู่ในบริเวณจำกัด หากมีการก่อหรือใช้วัสดุใบช่วยบังก็จะปลอดภัยต่อการกระเด็นของเปลวไฟหรือเกิดการลามไฟได้  เมื่อปรุงเสร็จแล้วควรดับให้สนิท อย่าให้เด็กๆ เข้าใกล้เตาไฟหรือกองไฟเป็นอันขาด อย่าเผาพลาสติกลงไปในกองไฟ เพราะจะเป็นมลภาวะและเป็นซากตกค้างในธรรมชาติ 
 
4. อย่าทิ้งขยะ
ให้จดจำไว้ ว่าทุกสิ่งที่ที่นำมาจะต้องเก็บกลับไป ภาชนะ หีบห่อ ถุงพลาสติก กล่อง กระป๋อง กล่องโฟม เหล่านี้ คือขยะที่จะตกค้างไปอีกนานแสนนาน ควรทิ้งในที่ที่จัดไว้ให้ ก่อนทิ้งแพคให้เรียบร้อย ไม่รั่วหรือขาด เพื่อฝ่ายที่ต้องจัดเก็บสามารถทำงานได้อย่างไร้ปัญหา ไม่เผาพลาสติก ไม่ขุดฝังกลบเอง  การวางแผนการใช้บรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อไปก่อนล่วงหน้าจะช่วยลดปัญหาขยะไปได้อีกมาก เช่น อาหาร เครื่องปรุง บรรจุใส่ภาชนะจะดีกว่าใส่ถุงพลาสติกไปมากมายหลายชิ้น เป็นต้น 





ยาที่จำเป็นต่อการเดินทาง

ยาเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องมีติดไว้ ในการเดินทางท่องเที่ยว โดยเฉพาะการแคมป์ปิ้ง ยิ่งจำเป็น ซึ่งแบ่งกลุ่มประเภทยาที่ใช้ได้ เป็นประเภทยากิน ยาใช้ภายนอก และชุดปฐมพยาบาล 

ประเภท ยากิน 
 
จำแนกเป็นประเภทย่อยๆ ได้ตามลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้
 
1. ยาประจำตัว  ผู้ใดมีโรคประจำตัวใด ต้องมียาประจำตัวติดไว้เสมอ วางแผนให้ดี หากเดินทางไกล ไปหลายวัน หรือไปไกลๆ เตรียมเผื่อไว้โดยปรึกษาแพทย์จะเหมาะสมที่สุด 
 
2. ยาแก้ปวด พาราเซตามอล ยาสามัญสำหรับทุกคน เพื่อไว้จัดการกับปัญหาสุขภาพเบื้องต้นที่จะพบได้บ่อยๆ เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ต่างๆ 
*ข้อควรพิจารณาคือ ขนาดยาที่ใช้ คิดจากน้ำหนักตัวตามสูตร 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตัวอย่างเช่น หากน้ำหนักตัว 70 กิโล กิน 700 มิลลิกรัม หรือ ประมาณ 2 เม็ด หากน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม (เด็ก/ผู้หญิง) กินแค่ 500 มิลลิกรัม หรือ 1 เม็ด ก็เพียงพอ เป็นต้น
 
3. ยาแก้ท้องเสีย  รวมผงถ่าน และผงเกลือแร่  เพราะท้องเสียมีโอกาสเกิดได้มากระหว่างเดินทาง คำแนะนำการกินผงถ่าน ต้องห่างจากยาอื่น อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้การดูดซึมของตัวอื่น ลดลง
 
4. ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากการกินอาหารมาก หรืออาหารจำพวกน้ำอัดลม เบียร์ สุรา มากเกินก็เกิดได้ สำหรับนักชิม จำเป็นมาก ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ไซเมทิโคน (Simethicone) หรือ แอร์เอ็กซ์ (Air-X) 
 
5. ยาแก้ปวดต้านการอักเสบ ก็จำเป็นสำหรับแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากการเดินเที่ยว ปีนป่าย เข้าป่า เดินป่าขึ้นเขา เที่ยวอุทยาน  ควรกินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ เนื่องจากเป็นยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) โวทาเรน เจล (Voltaren gel) 
 
6. ยาแก้เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน  ใครรู้ตัวว่าเมาการเดินทาง ก็เตรียมไว้ ควรกินก่อนเดินทางประมาณ ครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ระหว่างเดินทาง กินแล้วจะง่วงซึมหรือหลับได้ กลุ่มยาประเภทนี้ ได้แก่ ดรามามีน (Dramamine) 
 
7. ยาแก้แพ้ เอาไว้เผื่อเกิดอาการแปลกๆ หรือเจออะไรแปลกๆ ที่ไม่คุ้น ก็อาจก่ออาการได้ เช่น แพ้ คัน บวม อาการแพ้ก็อาจจะมาจากอาหาร ดอกไม้ สัตว์ อากาศ ฯลฯ  กลุ่มยาแก้แพ้ ได้แก่ อะม็อกซี่ซีลิน (Amoxycillin)  เซไทริซีน (Cetirizine) ลอราทาดีน (Loratadine)
 
 
ยาทา หรือสำหรับใช้ภายนอก 
 
1. สเปรย์กันยุง แมลงกัดต่อย โดยเฉพาะการตั้งแคมป์ เดินป่า เที่ยวอุทยานต่างๆ พบติดไว้ช่วยได้
2. ยาหยอดตา น้ำตาเทียม จำเป็นใบางโอกาส หากไปในที่ฝุ่นเยอะ อากาศไม่ค่อยดี มีหญ้าแห้ง หรืออื่นใดฟุ้งกระจาย ก็อาจระคายเคืองตา ก็เอามาใช้ได้ 
3. ยาดม อันนี้ติดกระเป๋าไว้ได้ พร้อมใช้ตลอดเวลาเมื่อต้องการ
4. ยาทาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากการเดินเที่ยว เข้าป่า เดินป่าขึ้นเขา เที่ยวอุทยาน 
5. เจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย  ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้ 
 
 
 
ชุดปฐมพยาบาล 
 
ก็คือ ชุดสำหรับ ทำแผลสด ไอโอดีใส่แผล แอลกอฮอล์ล้างแผล สำลี ผ้ากอช เบตาดีนก็ใช้ได้ อุบัติเหตุเล็กน้อย รอยขีดข่วน หกล้มเข่ากระแทก เหล่านี้ ต้องการการทำแผลทั้งนั้น  เลือกชุดที่ขนาดกระทัดรัด ไม่เปลืองเนื้อที่มาก น้ำหนักเบา ปิดล็อกได้แน่นหนา ไม่หลุดร่วงง่าย และไม่เปิดยากเกินไปเมื่อจำเป็นต้นใช้ 
 

 
ข้อมูลความปลอดภัยและมารยาทสำคัญ ที่สายแคมป์ปิ้งที่ต้องรู้และใส่ใจ HealthServ
 
 

มารยาทในการตั้งแค้มป์

การไปตั้งแคมป์แม้จะเป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่มเฉพาะตัว แต่เมื่อจะต้องไปอยู่พื้นที่หรือบริเวณร่วมกับคณะอื่นๆ ที่ใช้สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันแล้ว มารยาทเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและยึดถือไว้ให้มั่น เพื่อให้การตั้งแคมป์ของทุกคณะเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความสุข อย่างปลอดภัยร่วมกัน  แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การไปตั้งแคมป์ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ความสำนึกในการต้องดูแลสถานที่ สภาพแวดล้อม ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องยึดถือให้มากยิ่งกว่า 
 
หลักมายาทที่ต้องคำนึกถึงเสมอ 
 
1. เคารพกฎ ระเบียบต่าง ๆ ของสถานที่อย่างเคร่งครัด
ข้อแรกนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การไปแค้มป์ปิ้งที่ดีต้องรู้จักเคารพกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ทางสถานที่วางเอาไว้ เพราะแต่ละแห่งจะมีกฎบางข้อแตกต่างกันออกไป ดังนั้นห้ามทำสิ่งที่เกินกว่าข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงในทุก ๆ เรื่อง และสามารถพักผ่อนได้อย่างสบายใจ
 
2. มีน้ำใจกับผู้อื่นอยู่เสมอ
ด้วยคนส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบการไปแค้มป์จะรู้ดีว่ามันไม่ได้สะดวกสบายเหมือนกับการพักในโรงแรม รีสอร์ทหรู ๆ ดังนั้นจึงควรมีน้ำใจกับผู้อื่นหากพบเห็นว่าเขากำลังเจอสถานการณ์ยากลำบาก เช่น แบ่งปันอาหารแห้ง อาหารกระป๋อง, ชวนมานั่งพูดคุย ฯลฯ ในขณะเดียวกันคนที่ได้รับน้ำใจก็ควรปฏิบัติตนแต่พองาม ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่ายมากจนเกินไปด้วย
 
3. รักษาความสะอาด
การไปตั้งแค้มป์ส่วนใหญ่คือการไปพักผ่อนเคียงข้างธรรมชาติ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ก็มักต้องมีขยะตามมาด้วยเสมอ เช่น เศษอาหาร, กล่อง ถุงใส่อาหาร, ทิชชู ผ้าเช็ดทำความสะอาด, ก้นบุหรี่ ฯลฯ ควรมีการเตรียมถุงดำหรือถุงใส่ขยะไปด้วยเสมอ เมื่อมีสิ่งไหนไม่ใช้หรือกลายเป็นขยะแล้วต้องทิ้งให้เป็นที่และนำไปวางไว้ในจุดที่ทางสถานที่กำหนดเพื่อความเป็นระเบียบ​
 
4. ไม่เสียงดังรบกวน
เข้าใจดีว่าหลาย ๆ คนไปแค้มป์ปิ้งเพื่อต้องการพักผ่อน มีการปาร์ตี้กันสนุกสนาน แต่เหนือสิ่งอื่นใดต้องเข้าใจคนอื่น ๆ รอบข้างด้วยว่าพวกเขาย่อมต้องการความเป็นส่วนตัว ดังนั้นหากปาร์ตี้ก็ควรใช้เสียงแต่พองาม และถ้าหากเข้าสู่ช่วงเวลายามวิกาลก็ควรงดใช้เสียงด้วย
 
5. ไม่รบกวนผู้อื่นในทุกกรณี
ท้ายที่สุดมารยาทดี ๆ ของการไปแค้มป์คือ ต้องไม่รบกวนผู้อื่นในทุก ๆ กรณี เช่น การส่องไฟฉายไปยังเต็นท์อื่น, การเปลี่ยนเสื้อผ้ากลางแจ้ง, การขับถ่ายกลางแจ้ง หรือแม้กระทั่งการสูบบุหรี่ในบริเวณคนกลุ่มเยอะ ๆ นี่เป็นมารยาทพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม
 
 
 
ข้อมูลจาก กรมอุทยาน , bangkokbanksme.com, ลานกางเต็นท์กาญจนบุรี.com hi-van.com
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด