ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ

ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ HealthServ.net
ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ ThumbMobile HealthServ.net

การปลูกถ่ายตับ คือการตัดเอาตับทั้งหมดของผู้ป่วยออก และทำการปลูกถ่ายตับใหม่เข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย โดยปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายตับถือเป็นหนึ่งในการรักษาที่เป็นมาตรฐานสำหรับภาวะตับที่ผิดปกติหลาย​ประเภท​ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับตับหรือตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจนต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ด้วยทีมแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ เครื่องมือทันสมัย และทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

 
                ผศ. นพ. สุปรีชา อัสวกาญจน์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี  และการปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การปลูกถ่ายตับเป็นการรักษาที่เหมาะสมกับบางโรคหรือความผิดปกติทางตับเท่านั้น


ในปัจจุบัน ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ได้แก่

ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) ระยะสุดท้าย เป็นภาวะตับแข็งที่ตับไม่ทำงานแล้วหรือไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายอย่างมาก ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของตับแข็งรุนแรง เช่น เส้นเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพองผิดปกติ ภาวะท้องมานที่ไม่สามารถควบคุมด้วยยาได้ดี และภาวะโรคทางสมองจากตับทำให้มีอาการสับสน เป็นต้น

ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Fulminant Hepatic Failure) เป็นภาวะที่ตับไม่ทำงานเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะโรคทางสมองจากตับ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะมีผลต่อไปถึงอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต และมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มาก

มะเร็งตับระยะแรก (Early Hepatocellular Carcinoma) จากการศึกษาพบว่า กรณีมะเร็งตับที่มีขนาดเล็กและจำนวนไม่มากเกินไปมีอัตราการรอดชีวิตดีและมีอัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งตับน้อยในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ภาวะการทำงานของตับผิดปกติโดยกำเนิดบางชนิด อาจมีผลทำให้ตับผิดปกติในลักษณะที่ทำให้มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย

 
ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ HealthServ
 

การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 2 แบบ
 

            การผ่าตัดปลูกถ่ายตับสามารถแบ่งเป็น 2 แบบตามที่มาของอวัยวะ ได้แก่

            1. ตับจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตาย (Cadaveric Liver Transplantation) เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับโดยนำตับจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ในปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นการผ่าตัดแบบนี้

            2. ตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่ (Living - Related Liver Transplantation) เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับโดยแบ่งตับส่วนหนึ่งมาจากผู้บริจาคที่มีชีวิต เช่น การผ่าตัดแบ่งตับจากผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยเด็ก หรือแบ่งตับผู้ใหญ่ไปปลูกถ่ายในผู้ใหญ่ด้วยกัน


            การผ่าตัดทั้งสองแบบนี้มีเทคนิคการผ่าตัดที่แตกต่างกันและมีข้อดีข้อเสียรวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน จึงมีความเหมาะสมต่อโรคหรือภาวะตับแต่ละแบบต่างกัน โดยจะมีขั้นตอนการประเมินผู้ป่วยก่อนพิจารณาผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับ ประกอบไปด้วย
  • การตรวจสภาพการทำงานทั่วไปของร่างกาย
  • การทำงานของหัวใจ
  • การทำงานของปอด
  • ตรวจประเมินสภาพการทำงานของตับ
  • ลักษณะกายวิภาคและภาวะเนื้องอกหรือมะเร็งในตับ โดยตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ตับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตับ หรือตรวจด้วยการถ่ายภาพโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • ตรวจประเมินคัดกรองหามะเร็งชนิดอื่นในร่างกาย ซึ่งอาจไม่เคยทราบหรือมีอาการมาก่อน เช่น การตรวจแมมโมแกรม เอกซเรย์ปอด ส่องกล้องตรวจลำไส้ (กรณีมีข้อบ่งชี้) เป็นต้น
  • การเจาะเลือดคัดกรองหาความผิดปกติของค่ามะเร็งต่างๆ เพราะกรณีที่มีมะเร็งชนิดอื่นในร่างกายแล้วทำการปลูกถ่ายตับ หลังผ่าตัดเมื่อผู้ป่วยรับประทานยากดภูมิคุ้มกันจะทำให้มะเร็งดังกล่าวมีอาการหรือมีความรุนแรงมากขึ้นได้
  • ตรวจประเมินหาภาวะการติดเชื้อต่าง ๆ ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสเอชไอวี รวมถึงการติดเชื้อที่อาจเป็นเรื้อรังหรือไม่แสดงอาการ เพราะหลังปลูกถ่ายตับผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีโอกาสทำให้มีอาการหรือเป็นรุนแรงมากขึ้นได้
  • ตรวจคัดกรองสภาพฟันโดยทันตแพทย์ หากมีฟันผุต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน
  • ตรวจประเมินสภาวะทางจิตใจโดยจิตแพทย์เพื่อประเมินความสามารถในการดูแลรักษาตนเองและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ 

หยุดดื่มสุรา ก่อนผ่าตัด 6 เดือน


            ผู้ป่วยต้องหยุดดื่มสุราติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนก่อนผ่าตัด ยกเว้นกรณีภาวะตับวายเฉียบพลันต้องงดดื่มสุราหลังผ่าตัด เพราะการทำงานของตับหลังปลูกถ่ายจะลดลงและเกิดภาวะตับแข็งได้ถ้ากลับมาดื่มสุรา 



 
ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคตับ HealthServ
 

ประเมินโดยแพทย์เฉพาะทางอีกครั้ง



            เมื่อผู้ป่วยได้รับการประเมินต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แพทย์เฉพาะทางจะพิจารณาว่าผู้ป่วยสามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะตับได้หรือไม่ หลังจากนั้นทางศูนย์ศัลยกรรม​ โรงพยาบาลกรุงเทพ​จะดำเนินการกับทางสภากาชาดไทยเพื่อรอการจัดสรรอวัยวะตับเมื่อมีผู้บริจาคอวัยวะและเนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่และมีเลือดเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสเสียเลือดจำนวนมากระหว่างผ่าตัด อาจมีเลือดค้างในช่องท้อง แผลติดเชื้อหลังผ่าตัด จนอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะและหลังผ่าตัดปลูกถ่ายตับได้ เช่น  
 
           - ภาวะการปฏิเสธหรือต่อต้านตับใหม่ (Graft Rejection) เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยจะมีการสร้างสารคัดหลั่งต่าง ๆ มาต่อต้านตับใหม่ที่ทำการปลูกถ่าย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตเพื่อลดอัตราการเกิดภาวะดังกล่าว  
 
           - ภาวะตับไม่ทำงานหลังปลูกถ่ายตับ (Graft Nonfunction / Dysfunction) อาจเกิดขึ้นได้โดยอัตราการเกิดแตกต่างกันไปตามคุณภาพของตับและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ของการปลูกถ่ายตับ 
 
           - ภาวะเส้นเลือดตับอุดตัน เนื่องจากต้องมีการตัดและต่อเส้นเลือดของตับ จึงมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเส้นเลือดตับอุดตันได้ทั้งในเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงของตับ โดยอัตราการเกิดภาวะดังกล่าวจะแตกต่างกันตามชนิดของการผ่าตัดเปลี่ยนตับ 
 
           - ภาวะทางเดินน้ำดีตับอุดตันหรือรั่วซึม เนื่องจากต้องมีการตัดและต่อท่อน้ำดีจึงมีโอกาสเกิดภาวะอุดตันหรือรั่วซึมได้หลังผ่าตัดคล้ายในกรณีเส้นเลือดตับอุดตัน 
 
           - ความเสี่ยงในการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบใหม่กรณีเป็นโรคไวรัสตับอักเสบก่อนผ่าตัด 
 
 
 
                การผ่าตัดปลูกถ่ายตับแม้จะมีกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษาตามกระบวนการที่เหมาะสมจะได้รับผลการรักษาที่ดี กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังผ่าตัดและมีอัตราการรอดชีวิตที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามการดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายและทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อตับอยู่เสมอก็ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาตับให้สุขภาพดีและอยู่กับเราไปได้อีกนาน


สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร. 0 2310 3002, 0 2755 1002 หรือ Contact Center โทร. 1719 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด