ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

เสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ

เสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ HealthServ.net
เสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ ThumbMobile HealthServ.net

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานเกี่ยวกับกัญชาในประเทศไทยไว้อย่างรอบด้าน ด้วยข้อมูลและผลการสำรวจตรวจสอบเกี่ยวกับนโยบายเสรีกัญชาในต่างประเทศที่ได้เปิดเสรีไปแล้ว เสมือนเป็นการศึกษาและถอดบทเรียนจากประเทศเหล่านั้น เพื่อการปรับใช้นโยบายกัญชาในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างมีคุณค่าสมเจตนารมย์และเป็นต่อประชาชน


ประเทศไทยได้มีการผลักดันให้สามารถใช้กัญชาและกัญชงได้อย่างถูกกฎหมายโดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และการศึกษา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายและมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อควบคุมการใช้กัญชาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม
 
 
ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่สามารถใช้กัญชาและกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย จากการเล็งเห็นประโยชน์ทางการแพทย์ของสารสกัดจากกัญชา โดยข้อมูลของ MedicalNewsToday ซึ่งได้รวบรวมงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์หลายด้าน อาทิ ช่วยการนอนหลับ แก้ปัญหาการติดยาและติดสุรา แก้โรคลมชัก ลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังและอาการคลื่นไส้ อาเจียนภายหลังการให้เคมีบำบัด เนื่องจากกัญชามีสรรพคุณเป็นสารออกฤทธิ์ในการช่วยลดการรับรู้ของหน่วยรับความรู้สึกในสมองและเป็นยาต้านอาการอาเจียน อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้าและภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)[11] นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ ซึ่งข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
 
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปี 2565 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกัญชาและกัญชงในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท จากผลิตภัณฑ์ต้นน้ำ อาทิ ช่อดอกแห้ง ใบแห้ง เมล็ด ผลิตภัณฑ์กลางน้ำจากสารสกัด น้ำมันกัญชา กัญชง และเส้นใย และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจากยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารและเครื่องดื่มเครื่องสำอาง เป็นต้น และคาดว่าภายในปี 2568 มูลค่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี
 
 
ในอีกด้านหนึ่งการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกันโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก จากประเด็นดังกล่าว ทำให้การมีกฎหมายกำกับดูแลเพื่อป้องกันผลกระทบในเชิงลบจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยปัจจุบันมีเพียงประกาศของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกประกาศออกมาอย่างกระจัดกระจายก่อให้เกิดความสับสนต่อทั้งผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากกัญชาและเจ้าหน้าที่ ในการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการควบคุมการใช้ยังอยู่ระหว่างการทบทวนร่างกฎหมาย ผลที่ตามมาคือมีประชาชนบางกลุ่มนำกัญชามาใช้อย่างไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน 
 
ซึ่งข้อมูลของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด พบว่า เยาวชนมีการใช้กัญชาสูงขึ้น 2 เท่า หลังการเปิดเสรีกัญชาเพียง 1 เดือนเศษ เช่นเดียวกับข้อมูลของศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ที่ระบุว่า ระหว่างวันที่ 9 – 15 มิถุนายน 2565 มีผู้บาดเจ็บจากการได้รับกัญชาจำนวน 14 คน (จากการสูบ 5 ราย และการกินน้ำมันกัญชา/เครื่องดื่ม/อาหาร/ขนม 9 ราย) โดยมีอายุตั้งแต่ 13 – 79 ปี ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้กัญชาครั้งแรก 9 คน 
 
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังเปิดเผยจำนวนผู้เข้ารับการรักษาและผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชา ณ ห้องฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 16 สิงหาคม 2565 ที่มีจำนวนกว่า 60 ราย และแม้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ออกประกาศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของการใช้กัญชา กัญชง ที่ห้ามมิให้เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตรบริโภค แต่จากข้อมูลผู้ป่วยเด็กของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยยังพบว่า ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2565 มีผู้ป่วยเด็กที่มีอาการป่วยจากกัญชาทั้งสิ้น 14 ราย
 
 
 
ข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลทำให้เกิดการใช้กัญชาที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีกฎหมายในการควบคุม คุ้มครองผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบทางสังคมที่รัดกุมและรอบด้าน ซึ่งกรณีศึกษาของประเทศแคนาดา และสหรัฐอเมริกาในรัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน ถือเป็นตัวอย่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์และมีมาตรการกำกับดูแลได้ อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
 
โดยประเทศแคนาดา พบว่า ผลของการปรับกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมในปี 2561 ส่งผลให้จำนวนอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในเยาวชนชายและหญิงลดลงร้อยละ 57.7 และ 64.6 [12] ตามลำดับ ขณะที่กฎหมายและมาตรการควบคุมของรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันทำให้เยาวชนอายุ 12 – 17 ปี ที่ใช้กัญชามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
 
 

ประสบการณ์การเปิดเสรี ในต่างประเทศ


จากประสบการณ์การเปิดเสรีกัญชาในประเทศแคนาดา รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน สะท้อนผลสำเร็จที่สำคัญในการควบคุมการใช้กัญชา ใน 3 มิติ คือ
 
1) การผลิต กำหนดให้ต้องจดทะเบียนก่อนดำเนินการ และมีการจำกัดพื้นที่/จำนวนต้นที่สามารถปลูกได้ รวมถึงมีการกำหนดคุณลักษณะของพื้นที่เพาะปลูกและการเข้าถึงพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณกัญชาและป้องกันการรั่วไหลของกัญชาไปสู่ตลาดมืด
 
2) การซื้อขายและการครอบครอง ที่ต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องลงทะเบียนก่อนรวมทั้งผู้ซื้อจะถูกคัดกรองโดยอาศัยใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งจะมีการกำหนดปริมาณที่สามารถซื้อและถือครองด้วยเพื่อควบคุมการใช้ให้มีความเหมาะสมและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ และ 
 
3) การคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดอายุขั้นต่ำและคุณสมบัติของผู้ที่สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ รวมถึงมีข้อแนะนำในการงดสั่งจ่ายกัญชาให้แก่ผู้ป่วยบางกลุ่ม อีกทั้งยังได้กำหนดบทลงโทษหากใช้กัญชาในที่สาธารณะและขายกัญชาอย่างผิดกฎหมายหรือขายให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพให้แก่ผู้ป่วยและเยาวชน
 
 
หากพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับการเปิดเสรีกัญชาของประเทศไทย พบว่า มีสาระสำคัญ คือ
 
1) การขออนุญาตผลิตและจดแจ้งการใช้ประโยชน์จากกัญชาในครัวเรือน
ผู้ที่ประสงค์จะผลิต นำเข้า หรือส่งออกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์การศึกษา เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนเช่นเดียวกับการปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนจะต้องได้รับใบจดแจ้งก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ โดยสามารถปลูกได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น หรือปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากราก ลำต้น และเส้นใยได้ไม่เกิน 15 ไร่
 
2) การซื้อขาย
มีการจำกัดช่องทางและสถานที่จำหน่าย และห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมีการห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับช่อดอกหรือยางของกัญชา สารสกัดหรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา 
 
3) การคุ้มครองบุคคลซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชาและกัญชง
โดยห้ามมิให้จำหน่ายกัญชาหรือกัญชงให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ตลอดจนมีมาตรการห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะและสถานที่ที่กำหนด ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษตั้งแต่การปรับ การจำคุก และทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี 
 
 
 

ร่างพรบ.ไม่มีข้อบังคับสำหรับการระบุตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย 

 
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ยังไม่มีข้อบังคับสำหรับการระบุตัวตนของผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ยากต่อการระบุวัตถุประสงค์ของการใช้กัญชารวมถึงยังไม่มีการกำหนดเพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อขายหรือถือครองได้ และยังไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือน รวมทั้งยังอาจมีความเสี่ยงจากการปลูกกัญชาส่วนบุคคลที่อาจรั่วไหลไปในตลาดมืด ซึ่งจะทำให้ควบคุมผลกระทบได้ยาก
 
 
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการเปิดเสรีกัญชาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มงวดและรัดกุมเพียงพอสำหรับการควบคุมการใช้กัญชาที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสังคม และเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษา โดยพิจารณาจากกรณีศึกษาของประเทศแคนาดารัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้ 
 
1. การควบคุมการผลิต เพาะปลูก และมาตรฐานของโรงเรือนหรือพื้นที่เพาะปลูก
โดยจะต้องกำหนดปริมาณที่สามารถผลิตหรือเพาะปลูกในครัวเรือนให้มีความเหมาะสม รวมทั้งกำหนดรูปแบบของพื้นที่หรือสถานที่เพาะปลูกขั้นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงกัญชาซึ่งอาจนำไปสู่การรั่วไหลไปสู่ตลาดมืด
 
2. การควบคุมการซื้อขายและการครอบครอง
โดยควรกำหนดให้มีการลงทะเบียนร้านค้าหรือร้านขายยา ผู้จัดจำหน่าย และผู้ใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด และกำหนดเพดานปริมาณกัญชาที่สามารถซื้อขายหรือถือครองได้ รวมถึงมีข้อกำหนดด้านการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์กัญชา อีกทั้งยังอาจพิจารณากำหนดให้การซื้อจะต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต เพื่อจำกัดการซื้อขายกัญชาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และป้องกันการใช้ที่ไม่เหมาะสม อาทิ ใช้เสพเกินขนาด ใช้เพื่อการนันทนาการ
 
3. การกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ
ซึ่งควรกำหนดผลิตภัณฑ์ที่สามารถมีส่วนผสมของกัญชาได้ และต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์และความเข้มข้นของกัญชาประกอบด้วย รวมถึงควรกำหนดให้มีการแสดงฉลากและวิธีการใช้ที่ถูกต้องอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการบริโภคกัญชาโดยไม่เจตนาหรือบริโภคอย่างไม่ถูกวิธีซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ 
 
4. การมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ
ที่ชัดเจนโดยต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถใช้กัญชาได้ และอาจพิจารณาจัดทำคู่มือการใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือกำหนดอาการ/กลุ่มโรคที่เข้าข่าย หรือคุณสมบัติของผู้ป่วยที่สามารถใช้กัญชาในการบำบัดหรือรักษาโรคได้ รวมถึงข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ควรสั่งจ่ายกัญชาให้ เพื่อป้องกันการผลข้างเคียงจากการใช้กัญชากับผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยงหรือโรคที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเป็นการป้องกันการใช้กัญชาโดยไม่จำเป็น
 
5. การส่งเสริมและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่ถูกวิธี
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้างและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง และเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งผู้ต้องการใช้กัญชาในด้านต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งควรเร่งดำเนินการตั้งแต่ก่อนอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันการใช้กัญชาอย่างไม่ถูกต้อง
 
6. การบังคับใช้กฎหมายและการติดตามตรวจสอบต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานและความถูกต้องของกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่การเพาะปลูกการผลิต การซื้อขาย การศึกษา และวิจัย ซึ่งการมีกลไกและระบบติดตามตรวจสอบที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญอันจะก่อให้เกิดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบในด้านต่าง ๆ ที่อาจตามมาทั้งผลทางด้านสุขภาพ การซื้อขายกัญชาในตลาดมืด การก่ออาชญากรรม และความรุนแรง 
 
 

 

มาตรการกำกับดูแลการใช้กัญชาในประเทศแคนาดา รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

 
จำแนกเป็นประเด็นเพื่อพิจารณา ได้ดังนี้
  • การผลิตและการเพาะปลูกในครัวเรือน
  • การสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วย
  • การซื้อขาย
  • การถือครองและการใช้กัญชา
  • บทลงโทษ
  • มาตรการอื่น ๆ

 
 
การผลิตและการเพาะปลูกในครัวเรือน
 
แคนาดา
 
• ผู้ผลิตและผู้เพาะปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ในครัวเรือนต้องลงทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข
• มีการจำกัดผู้ที่สามารถผลิตได้
• ครัวเรือนสามารถปลูกได้ไม่เกิน 4 ต้น
• ต้องระบุพิกัดพื้นที่ปลูกอย่างชัดเจน ปลูกโดยไม่ให้เห็นได้จากที่สาธารณะ และต้องมีระบบติดตามเพื่อป้องกันการเข้าถึงของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง
 
รัฐโคโลราโด 
 
• คนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป สามารถปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6ต้น โดยสามารถอยู่ในระยะออกดอกได้ 3ต้น และต้องปลูกในสถานที่ปิด
• ผู้ป่วยที่ต้องใช้กัญชาสามารถปลูกเพิ่มได้อีก 6 ต้น หรือมากกว่า ตามคำแนะนำของแพทย์
 
 
รัฐวอชิงตัน
 
• ผู้ผลิตที่จดทะเบียนแล้วและผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้นที่จะสามารถปลูกกัญชาได้
• ผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นตามคำแนะนำของแพทย์ โดยครัวเรือนหนึ่งสามารถปลูกรวมกันได้ไม่เกิน 15 ต้น
• ไม่อนุญาตให้ปลูกเพื่อนันทนาการ
 
 
 
การสั่งจ่ายให้แก่ผู้ป่วย
 
แคนาดา
• ออกใบสั่งยาโดยผู้ประกอบโรคศิลปะที่ได้รับอนุญาต
• ระบุรายละเอียด อาทิ วันที่ออกใบสั่งยาปริมาณที่ต้องใช้ ชื่อและวันเกิดของผู้ป่วย
 
รัฐโคโลราโด และ รัฐวอชิงตัน
 
• ใช้หลักการเดียวกับการออกใบสั่งยาอื่น ๆ
• บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ออกใบอนุญาตการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด
• ใบสั่งยาจะระบุปริมาณที่แนะนำและปริมาณที่สามารถมีได้ 
 
 
 
การซื้อขาย
 
แคนาดา
• ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อหรือใช้กัญชา
• ผู้จำหน่ายและผู้ป่วยที่ต้องการใช้กัญชาต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
• ผู้ขายต้องทำตามข้อกำหนด อาทิ บรรจุภัณฑ์ ห้ามมีสีสัน ห้ามระบุยี่ห้อ
 
รัฐโคโลราโด 
 
• ห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 2 1 ปี ซื้อหรือใช้กัญชา
• ผู้ซื้อจะต้องแสดงบัตรประจำตัวเพื่อพิสูจน์อายุก่อนเสมอ
• อนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขและมีบัตรประจำตัว
• ซื้อได้ที่คลินิกหรือร้านขายยา
 
รัฐวอชิงตัน
 
• จำหน่ายแก่ผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปเท่านั้น
• ผู้จำหน่ายต้องจดทะเบียนก่อน
• ผู้ที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องได้รับการวินิจฉัยว่ามีคุณสมบัติตามที่กำหนดโดยจะต้องลงทะเบียนในฐานข้อมูลของรัฐ
• ซื้อได้ที่คลินิกหรือร้านขายยา
 
 
 
 
การถือครองและการใช้กัญชา
 
แคนาดา
 
• การพกพากัญชาในที่สาธารณะสามารถพกกัญชาสดไม่เกิน 4ต้น หรือกัญชาแห้งไม่เกิน 30 กรัม
• สำหรับผู้ป่ วยที่ต้องใช้กัญชาสามารถมีครอบครองได้ไม่เกิน 30 เท่าของปริมาณต่อวันที่ผู้ประกอบโรคศิลปะสั่งจ่าย
 
รัฐโคโลราโด 
 
• คนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปี ขึ้นไป สามารถมีกัญชาในครอบครองโดยวัดค่าจากปริมาณของสาร THC ได้ไม่เกิน 1 ออนซ์
• ห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ
 
รัฐวอชิงตัน
 
• สามารถครอบครองกัญชาน้ำหนักไม่เกิน 2 ออนซ์ หรือ 56 กรัม
• ห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ
 
 
 
 
บทลงโทษ
 
แคนาดา
 
• การพกพากัญชาในที่สาธารณะสามารถพกกัญชาสดไม่เกิน 4ต้น หรือกัญชาแห้งไม่เกิน 30 กรัม
• สำหรับผู้ป่ วยที่ต้องใช้กัญชาสามารถมีครอบครองได้ไม่เกิน 30 เท่าของปริมาณต่อวันที่ผู้ประกอบโรคศิลปะสั่งจ่าย
 
รัฐโคโลราโด 
 
• คนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปี ขึ้นไป สามารถมีกัญชาในครอบครองโดยวัดค่าจากปริมาณของสาร THC ได้ไม่เกิน 1 ออนซ์
• ห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ
 
รัฐวอชิงตัน
 
• สามารถครอบครองกัญชาน้ำหนักไม่เกิน 2 ออนซ์ หรือ 56 กรัม
• ห้ามใช้กัญชาในที่สาธารณะ
 
 
 
 
มาตรการอื่นๆ
 
แคนาดา
 
• บางรัฐมีการปรับเพิ่มอายุขั้นต่ำที่สามารถใช้กัญชาได้
• ห้ามพกกัญชาในพื้นที่สถานศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็ก
• ห้ามตั้งร้านจำหน่ายกัญชาในระยะ 250 เมตร ใกล้สถานศึกษา
• ห้ามเยาวชนเข้าไปภายในร้านจำหน่ายกัญชา
 
รัฐโคโลราโด 
 
• บางเขตมีการกำหนดให้ร้านค้าปลีกกัญชาต้องตั้งห่างจากสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษาอย่างน้อย 1,000 ฟุต และห่างจากทัณฑสถานหรือสถานดำเนินธุรกิจกัญชาอย่างน้อย 500 ฟุต
 
รัฐวอชิงตัน
 
• ผู้ผลิต ผู้แปรรูป และร้านขายปลีก ต้องตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ อาทิ โรงเรียน สนามเด็กเล่นสถานรับเลี้ยงเด็กห้องสมุด ร้านเกมอาร์เคด อย่างน้อย 1,000 ฟุต
 
 
ที่มา: รวบรวมและสรุปข้อมูล โดยกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
 
 
+++++
 
รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

+++++

11 Medicalnewstoday. (2019) บทความเรื่อง “Marijuana (cannabis): Good or bad? ” สืบค้นจาก
https://www.medicalnewstoday.com/articles/320984#What-are-the-medical-benefits-of-cannabis?
12 Callaghan, Russell C et al. (2021). “Impacts of Canada’s cannabis legalization on police-reported crime among youth:
early evidence.
เสรีกัญชา : มุมมองที่ควรเรียนรู้จากต่างประเทศ HealthServ
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด