ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กทม.จับมือ สปสช.ชู โมเดล5 รักษาปฐมภูมิได้ทุกที่ใกล้บ้าน

กทม.จับมือ สปสช.ชู โมเดล5 รักษาปฐมภูมิได้ทุกที่ใกล้บ้าน HealthServ.net
กทม.จับมือ สปสช.ชู โมเดล5 รักษาปฐมภูมิได้ทุกที่ใกล้บ้าน ThumbMobile HealthServ.net

เฮ! ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.9 แสนราย สามารถรับบริการใกล้บ้าน ได้แล้ว หลัง กทม. จับมือ สปสช. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาล

28 มี.ค. 66 เวลา 10.00 น.  รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว “การลงทะเบียนประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำแบบอัตโนมัติ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข.เขต 13 กทม.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

 

คน กทม.1.9 แสนคน ยังเคว้ง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญต่อนโยบายดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ และได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดระบบบริการสุขภาพให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ จากกรณีปี 2565 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ยกเลิกสัญญากับสถานพยาบาลเอกชน จากปัญหาการเบิกจ่ายที่คลาดเคลื่อน ทำให้มีประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบรวมกว่า 6 แสนราย ที่ผ่านมากรุงเทพนหานครได้ร่วมกับ สปสช. ในการจัดหาหน่วยบริการรองรับ แต่ด้วยจำนวนหน่วยบริการที่จำกัด ทำให้ยังคงมีผู้ที่เป็นสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีหน่วยบริการรองรับประมาณ 1.9 แสนคน

 
 
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการนี้ กรุงเทพมหานครและ สปสช. ได้ร่วมหารือเพื่อวางแนวทางดำเนินการแก้ปัญหา ไม่ให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ โดยสนับสนุนแนวคิดการจัดสรรประชากรสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำ "โมเดล 5" ที่เปิดให้ผู้ใช้สิทธิสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่ายได้ทุกแห่ง ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี ใกล้บ้าน โดยมี "คลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านใกล้ใจ" ร่วมให้บริการครบวงจร ทั้งด้านการรักษาพยาบาล บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์

ระบบบริการปฐมภูมิโมเดล 5

ระบบบริการปฐมภูมิโมเดล 5 เป็นรูปแบบบริการใหม่ภายใต้ระบบบัตรทอง  ในการให้สิทธิ์ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม.  สามารถไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย สปสช. ที่ไหนก็ได้ 
 
โดยมีการจัดลำดับให้ ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็น "แม่ข่ายการบริการ"  และ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกเวชกรรมเป็น "ลูกข่าย" 
 
แน่นอนว่า "การเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้" ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง 
 
เป็นการทลายข้อจำกัดเดิมๆ ในอดีต ที่กำหนดไว้ว่าให้เข้ารับบริการได้ เฉพาะหน่วยประจำที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น
 
ส่วนการเบิกจ่าย เป็นไปตามรายการบริการ หรือ fee schedule ที่สปสช.กำหนดไว้ กว่า 4,000 รายการ เรียกว่ารองรับในแทบทุกโรคและการรักษาพื้นฐานทั้งสิ้น 


 

ประชาชนได้ประโยชน์ชัดเจน

รูปแบบของการจัดเครือข่ายบริการโมเดล 5 นี้ ถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทางระยะไกล รวมทั้งลดความแออัดในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ โดยกรุงเทพมหานครได้จัดเครือข่ายหน่วยบริการรับส่งต่อในระดับทุติยภูมิ ตามพื้นที่เขตโชนของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) เพื่อสร้างความครอบคลุมการดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ อย่างครบวงจร

 

ยกศูนย์บริการสาธารณสุข เสมือนเป็นโรงพยาบาลประจำเขต

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. มีจำนวนมากขึ้น สามารถรองรับประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำได้แล้ว โดยการลงทะเบียนในครั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการในรูปแบบหรือโมเดล 5 ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข 56 แห่ง เป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 113 แห่ง และเครือข่ายโรงพยาบาลรับส่งต่อทั่วทั้ง กทม. 


 

จับคู่ผู้มีสิทธิว่าง ลงสถานพยาบาล ให้อัตโนมัติ

ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำที่เหลืออยู่จำนวน 195,158 ราย ได้มีสถานพยาบาลประจำตัว สปสช.จึงดำเนินการลงทะเบียนและจัดสรรหน่วยบริการแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยระบบจะพิจารณาจากข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือที่พักอาศัย

ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีหน่วยบริการหลายแห่ง ระบบจะจัดสรรให้หน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด จำนวน 8,000 - 10,000 คน/หน่วยบริการ ซึ่งผู้มีสิทธิที่พักอาศัยในบ้านหรือครัวเรือนเดียวกันก็จะให้ลงทะเบียนไปที่หน่วยบริการเดียวกัน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิและหน่วยบริการได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1330
 



               ด้าน นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า การจัดสรรหน่วยบริการประจำแก่ผู้มีสถานะสิทธิว่าง ไม่ใช่แค่การใส่ชื่อผู้มีสิทธิเข้าไปอยู่กับหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น แต่ระบบจะพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านเพื่อให้หน่วยบริการที่เลือกให้นั้นเหมาะกับผู้มีสิทธิมากที่สุด และให้สอดคล้องกับระบบบริการแบบใหม่ที่ในแต่ละพื้นที่จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิหลายแห่งทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย (โมเดล 5) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ อปสข. ปี 2566-2567 ซึ่งเน้น 3 เรื่องหลัก คือ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในระบบบริการตามโมเดล 5 นี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. จะเป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขตในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน เช่นการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง รวมทั้งการลงทะเบียนประชาชนต่างจังหวัดที่อาศัยใน กทม. ให้มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด