ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ความเชื่อ vs ความจริง เรื่องกัญชาต่อปัญหาทางจิต

ความเชื่อ vs ความจริง เรื่องกัญชาต่อปัญหาทางจิต HealthServ.net
ความเชื่อ vs ความจริง เรื่องกัญชาต่อปัญหาทางจิต ThumbMobile HealthServ.net

สมาคมจิตแพทย์เสนอข้อมูลแย้ง 2 ชุดความเชื่อ เกี่ยวกับการใช้กัญชาที่มีผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ พร้อมข้อมูลอ้างอิงที่เป็นประโยชน์ในการศึกษา พร้อมกับเสนอข้อเสนอการจัดการใช้กัญชาทางการแพทย์แก่ผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบาย

 
 
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (สจท.) เผยแพร่ข้อมูลในประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวกับผลด้านสุขภาพจิตจากการใช้กัญชา ชื่อเรื่อง "ความเชื่อและความจริงเกี่ยวกับผลของกัญชาต่อปัญหาทางจิต และการใช้กัญชาทางการแพทย์"
 
โดยเนื้อหาระบุว่า ในปัจจุบันคนไทยจำนวนมากยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลของกัญชาต่อปัญหาทางจิต ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อตนเองครอบครัว และสังคม สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงเห็นควรให้มีการนำเสนอความรู้ทางการแพทย์ในเรื่องนี้
 
สมาคมฯ ได้ยกกรณีความเชื่อ 2 ชุด ที่ถูกนำมากล่าวอ้างหรือใช้อิงเสมอมา ดังนี้
 
 

ความเชื่อ 1: กัญชาใช้รักษาโรคหรืออาการทางจิตเวชได้ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

 
ความจริง 1: กัญชานอกจากไม่สามารถใช้รักษาโรคทางจิตเวชได้แล้ว ยังเป็นต้นเหตุของโรคทางจิตเวชอีกด้วย โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชชนิดรุนแรง ตัวอย่างของหลักฐานทางการแพทย์ที่สำคัญ คือ
 
1.1 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่ากัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชา สามารถช้รักษาโรคทางจิตเวชได้แม้แต่โรคเดียว และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนดอกกัญชา (สำหรับสูบ) สำหรับการรักษาโรคใดๆ (American Psychiatric Association, 2019)
 
1.2 คู่มือการวินิจฉัยโรคจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์กัญชาระบุอย่างชัดเจนว่า กัญชาทำให้เกิดโรคทางจิตเวชเหล่านี้ได้ (American Psychiatric Association, 2013)
 
        (ก) ภาวะคลุ้มคลั่งหรือเพ้อคลั่ง (delium) และโรคจิต (psychotic disorders): สับสน ไม่รู้สภาพแวดล้อม ไม่รู้ตัว หูแว่ว หวาดระแวง และอาการทางจิตเวชต่างๆ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่นได้
 
        (ข) โรควิตกกังวล (anxiety disorders) และโรคของการนอน (sleep disorders): วิตกกังวล แพนิค นอนไม่หลับหรือหลับมาก
 
 
1.3 ผลการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีโอกาสป่วยเป็นโรคทางจิตเวชมากกว่าคนที่ไม่ใช้กัญชา 2.73 เท่า, โรควิตกกังวล 2.43 เท่า, โรคซึมเศร้า 2.34 เท่า และโรคจิตเวชชนิดรุนแรง (เช่น โรคจิต โรคอารมณ์สองขั้ว) 6.41 เท่า (Keerthy et al, 2021) เมื่อตัดข้อมูลของผู้ที่ใช้เฮโรอีน โคเคน และแอมเฟตามีนออกแล้ว ค่าความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชเหล่านี้ก็ยังคงใกล้เคียงเดิม
 
 

 

ความเชื่อที่ 2: ผู้ที่เสพกัญชามักอารมณ์ดีไม่ทำร้ายใคร
 

 
ความจริง 2: ไม่เป็นความจริง กัญชาก็เช่นเดียวกับยาเสพติดอื่นที่อาจทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้มและเป็นสุขขณะเสพ แต่ผู้เสพจำนวนมากมีพฤติกรรมรุนแรงจากผลเฉียบพลัน และระยะยาวของกัญชาได้ ดังนี้
 
2.1 ผลเฉียบพลัน ดังกล่าวแล้วในข้อ 1.2 (ก) กัญชาทำให้เกิดภาวะคลุ้มคลั่งหรือเพ้อคลั่ง ประสาทหลอน และโรคจิตได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้อาจทำร้ายผู้อื่น และจะเป็นอันตรายมากหากมีอาวุธอยู่กับตัว
 
2.2 ผลระยะยาว จากการศึกษาแบบ meta-analysis ของ 30 การวิจัยในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีจำนวน 296,815 ราย เมื่อผู้วิจัยได้ตัดปัจจัยรบกวนต่างๆ แล้ว (เช่น การใช้ยาเสพติดอื่นร่วมด้วย) ผลการศึกษาก็ยังสนับสนุนว่าการใช้กัญชาเพิ่มพฤติกรรมทำร้ายร่างกายผู้อื่นประมาณ 2 - 3 เท่า (Dellazizzo et al, 2020) ผลการศึกษานี้ยังคงเดิม เมื่อมีการควบคุมตัวแปรที่สำคัญแล้ว เช่น การใช้สารเสพติดชนิดอื่น
 

 

ข้อเสนอการจัดการใช้กัญชาทางการแพทย์

จากการที่มีผู้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เนืองๆ จนทำให้เกิดผลเสียตามมา สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จึงขอเสนอให้มีการจัดการการใช้กัญชาทางการแพทย์ ดังนี้
 
1. กัญชาทางการแพทย์ควรถูกใช้หรือสั่งจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเท่านั้น
 
2. การปลูก สกัด ครอบครอง จำหน่าย และสั่งใช้กัญชา ควรถูกควบุคมอย่างเคร่งครัดโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ความเคร่งครัดของการควบคุมควรอยู่ในระดับเดียวกับวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอื่นา (เช่น ยานอนหลับ) หรือยาเสพติดให้โทษ (เช่น มอร์ฟิน)
 
3. ไม่ควรอนุญาตให้มีการปลูกและใช้กัญชาในครัวเรือน
 






สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (สจท.) ข่าวฉบับที่ 1/2566 
23 มีนาคม 2566 
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
1. American Psychiatric Association, 2013. Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th ed. American Psychiatric Association, Arlinton, VA
2 American Psychiatric Association, 2019. Position Statement in Opposition to Cannabis as Medicine [WWW Document]. URL https://www.psychiaty.org/File% 2 0 Library/About-APA/Organization-Documents-Policies/Policies/Position-Cannabis-as-Medicine.pdf
3. Dellazizzo, L., Potvin, S., Dou, B.Y., Beaudoin, M., Luigi, M., Giguere, C.-E.. Dumais, A, 2020. Association Between the Use of Cannabis and Physical Violence in Youths: A Meta-Analytical Investigation. Am J Psychiatry 177, 619-626.
4. Keerthy, D., Chandan, J.S., Abramovaite, J., Gokhale, K.M. Bandyopadhyay, S., Day, E. Marwaha, S, Broome, M.R., Nirantharakumar, K, Humpston, C, 2021. Associations between primary care recorded cannabis use and mental ill health in the UK: a population-based retrospective cohort study using UK primary care data. Psychol Med 1-10.
5. Lu, R., Wlits, D., Stohr, M.K, Makin, D., Snyder, J, Lovrich, N., Meize, M. Stanton, D., Wu, G., Hemmens, C., 2021. The Cannabis Effect on Crime: Time-Series Analysis of Crime in Colorado and Washington State. Justice Quarterly 38, 565-595.
ความเชื่อ vs ความจริง เรื่องกัญชาต่อปัญหาทางจิต HealthServ
ความเชื่อ vs ความจริง เรื่องกัญชาต่อปัญหาทางจิต HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด