ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน HealthServ.net
แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน ThumbMobile HealthServ.net

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เผยแพร่แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน เรื่อง กำหนดการเลือกตั้งไม่ให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด และมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม จากกิจกรรม "รวมพลกำหนดอนาคตกัญชาของประชาชน" วันที่ 7 พฤษภาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้อง อดุล วิเชียรเจริญ คณะศิลปศาสตร์

4 ประเด็นหลักจากแถลงการณ์ นี้


เนื้อหาแถลงการณ์ ฉบับเต็ม  [คลิปการแถลงการณ์]


เรื่อง กำหนดการเลือกตั้งไม่ให้กัญชากลับเป็นยาเสพติด และมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสม

 
ตามที่เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนกลุ่มต่างๆ อันได้แก่  แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน นักวิชาการ ผู้ป่วย  ประธานสภาเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการ  ศิลปิน และนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมด้านสุขภาพ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มารวมตัวกันในวันนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีผู้ได้รับประโยชน์จากกัญชาในด้านทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจอยู่ในสังคมไทย และรวมตัวกันเพื่อแถลงการณ์ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองได้โกหกและบิดเบือน ในประเด็นดังต่อไปนี้



 
ประเด็นแรก

นักการเมืองที่อ้างว่าคัดค้านกัญชาเสรี และต้องการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทั้งๆที่พรรคการเมืองเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมในฝ่ายนิติบัญญติที่นำมาสู่การปลดล็อกกัญชามาแล้วทั้งสิ้น 
 
พรรคการเมืองที่กลับลำอ้างว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกในวันนี้ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ฯลฯ ได้เคยส่งตัวแทนของพรรคตัวเองเข้าไปทำการศึกษาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภาผู้แทนราษฎร แล้วสรุปมาเป็นผลการศึกษาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ว่าเห็นควรให้ปลดล็อกกัญชา กัญชง และกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดทุกประเภท และให้ควบคุมโดยใช้เพียงกฎหมายลำดับรอง เช่น ประกาศหรือระเบียบกระทรวงสาธารณสุข
 
นอกจากนั้นพรรคการเมืองที่หาเสียงว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดในวันนี้ ซึ่งรวมถึงพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ และพรรคก้าวไกล ยังได้เคยลงมติเห็นชอบเป็นมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ในการพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ไม่กำหนดกัญชา และกระท่อม ให้เป็นตัวอย่างของยาเสพติดประเภทใดๆอีกต่อไปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน
 
ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่แทน ซึ่งในคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้มีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขเพียง 4 คนจาก 34 คน ได้ลงมติเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เห็นชอบให้ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด คงเหลือแต่สารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติด โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
 
ซึ่งมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นสอดคล้องและเป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรฉบับเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 และเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ซึ่งได้มอบให้ไว้ตามกฎหมายของประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมาแล้วทั้งสิ้น
การปลดล็อกกัญชาหลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้ผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค 3.85 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายเพราะแพทย์ไม่จ่ายกัญชาให้  และเข้าไม่ถึงกัญชา ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ต้องถูกจับกุม ไม่ต้องถูกรีดไถ และไม่ต้องเสี่ยงต่อสารพิษในการซื้อกัญชาใต้ดินอีกต่อไป 
 
การปลดล็อกัญชาครั้งนั้นยังเป็นผลทำให้มีนักโทษในความผิดเกี่ยวกับกัญชาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสรภาพจากเรือนจำคืนกลับสู่ครอบครัวทันที 3,071 คน และได้รับการลดโทษอีก 1,004 คน  และศาลได้จำหน่ายคดีกัญชาที่อยู่ในศาล 7,488 คดีออกจากสารบบ
 
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ  ได้ลงมติเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทยอย่างท่วมท้นถึงร้อยละ 92 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุถึงเหตุผลเอาไว้ว่าเพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป พรรคการเมืองที่ได้ลงมติเห็นชอบในวาระรับหลักการนี้ ย่อมทราบแล้วว่าที่จำเป็นต้องมีกฎหมาย พ.ร.บ. กัญชา กัญชง เพราะกัญชานั้นไม่ได้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดตามมติของรัฐสภาแล้ว
 
ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพื่อพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกัญชา กัญชง จำนวน 25 คนจาก 8 พรรคการเมือง ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ เพื่อทำให้กฎหมายมีการควบคุมอย่างรัดกุมขึ้นเทียบเคียงกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล การควบคุมยาสูบ และการควบคุมพืชกระท่อม เป็นผลทำให้เพิ่มบทบัญญัติจาก 45 มาตรา มาเป็น 95 มาตรา จนเป็นที่ยุติและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2
 
แต่แทนที่พรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจะได้ช่วยกันเร่งพิจารณา พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ของคณะกรรมาธิการฯให้แล้วเสร็จ กลับใช้วิธีไม่เข้าประชุมเพื่อทำให้องค์ประชุมไม่ครบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพียงเพราะมีวาระซ่อนเร้นเพื่อทำให้ไม่มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในการควบคุมกัญชา กัญชง ทั้งระบบใช่หรือไม่
 
โดยปรากฏเป็นหลักฐานในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3 ครั้งสุดท้าย พบว่าค่าเฉลี่ยของการไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เช่น ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่เข้าประชุมร้อยละ 81.20, ส.ส.พรรคประชาชาติไม่เข้าประชุมร้อยละ 95.23, ส.ส.พรรคเสรีรวมไทยไม่เข้าประชุมร้อยละ 60, ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ไม่เข้าประชุมร้อยละ 52.87, ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เข้าประชุมร้อยละ 50 จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระและไม่สามารถพิจารณากฎหมายให้เสร็จทันได้
 
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอ้างว่าไม่ต้องการกัญชาเสรี แต่ในความเป็นจริงนักการเมืองเหล่านี้ในขณะที่เป็น ส.ส. กลับไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ให้ความร่วมมือที่จะเร่งให้มีกฎหมายเพื่อควบคุมกัญชาทั้งระบบเสียเองใช่หรือไม่ พฤติการณ์ที่ย้อนแย้งเช่นนี้ย่อมถูกตั้งคำถามเป็นข้อสงสัยว่านักการเมืองเหล่านี้หวังผลให้กัญชาเสรีเพื่อใช้ในการโจมตีทางการเมืองในระหว่างการเลือกตั้งโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนใช่หรือไม่ 
 
ยิ่งไปกว่านั้นบางพรรคการเมืองที่หาเสียงอ้างว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดนั้น ล้วนเป็นการหาเสียงที่ไร้ความรับผิดชอบ ขัดแย้งกับการกระทำของพรรคตัวเองที่ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น 
 
ประเด็นที่สอง

การหาเสียงบิดเบือนว่าแม้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ หรือแม้แต่บางพรรคอ้างว่าจะเปิดพื้นที่นันทนาการได้นั้น ขอยืนยันว่าข้อเสนอเหล่านี้ขัดแย้งกับสภาพข้อเท็จจริงในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา แต่คนไทยได้ใช้ประโยชน์กัญชาได้อย่างมหาศาลต่อสุขภาพของตนเองที่ไม่ควรกลับไปเป็นยาเสพติดอีกต่อไป
 
เพราะนอกจากงานวิจัยได้พบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่แล้ว  ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพซึ่งตรงกันข้ามกับเหล้าและบุหรี่ อีกทั้งกัญชายังมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงได้หลายโรคต่างจากเหล้าและบุหรี่ นอกจากนั้นกัญชายังมีบทบาทในการช่วยลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรงอีกด้วย
โดยปรากฏหลักฐานผ่านผลสำรวจนิด้าโพลระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565 ระบุว่าประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เคยใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ร้อยละ 6.94  หรือ ประมาณ 3.85 ล้านคน 
 
แต่เมื่อพิจารณาจาก ผลการศึกษาติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ระยะที่สองในประเทศไทย ที่รายงานโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) พบว่าในขณะที่กัญชาเป็นยาเสพติดในปี 2564 นั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้กัญชานอกระบบกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 94.4 หรือประมาณ 3.6 ล้านคน มีการใช้กัญชารักษาในโรคที่อยู่นอกประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 83 หรือประมาณ 3.2 ล้านคน ซึ่งหมายถึงว่าประชาชนส่วนใหญ่ใช้กัญชารักษาโรคด้วยตัวเองอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้จ่ายโดยแพทย์
 
แต่ถึงกระนั้นประชาชนจำนวนมากที่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายที่ผ่านมา ก็ยังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ใช้กัญชาในประเทศไทยมีอาการป่วยดีขึ้นถึงดีขึ้นมากร้อยละ 93 หรือประมาณ 3.58 ล้านคน และมีผู้ที่ลดหรือเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 58 หรือประมาณ 2.23 ล้านคน 
 
ซึ่งหมายความว่ากัญชาสามารถรักษาได้หลายโรค ลดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางยาในครัวเรือน และสามารถดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น กัญชาจึงไม่ควรกลับไปเป็นยาเสพติดอีก  ประชาชนจึงไม่ได้ต้องการกัญชาทางการแพทย์ที่ผูกขาดโดยกลุ่มทุนแพทย์เท่านั้น เพราะประชาชนต้องการ “กัญชาเสรีทางการแพทย์” เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการพึ่งพาตนเองได้ด้วย
 
โดยปัจจุบันมีประชาชนได้ปลูกกัญชาจำนวนมาก มีผู้ประกอบการสร้างโรงงานการผลิตอุตสาหกรรมกัญชา กัญชง ที่ได้มาตรฐาน และได้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง จำนวนมาก ซึ่งรวมถึง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา ที่มีความปลอดภัยและมีประโยชน์ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแล้วมากถึง 3,000 รายการ  มีผู้ประกอบการคลินิกกัญชาและร้านขายกัญชาได้รับความสนใจทั้งจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศอย่างชัดเจน  อีกทั้งยังได้รับความสนใจในการลงทุนใหม่ทั้งจากในและต่างประเทศ ตลอดจนทำให้เกิดโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชงไปต่างประเทศอีกด้วย 
 
สถานการณ์กัญชา กัญชง ของประเทศไทยในขณะนี้จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเป็นยาเสพติดเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น แต่กัญชา กัญชงของประเทศไทยได้ขยายโอกาสในด้านการส่งเสริมสุขภาพและเศรษฐกิจของประชาชนอย่างรอบด้านแล้ว

 
ดังนั้นการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และจะทำให้ประชาชนหลายล้านคนที่ได้ประโยชน์จากกัญชาทั้งในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ตลอดจนการพึ่งพาตัวเองได้ ต้องกลับมาเสี่ยงถูกรีดไถ หรือเป็นอาชญากรที่ต้องนำไปติดคุกอย่างไร้มนุษยธรรม เป็นการทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ที่ต้องการดูแลรักษาตัวเองอีกด้วย
 
การทำให้กัญชาที่มีประโยชน์ต่อประชาชนกลับไปเป็นยาเสพติดอีก จะทำให้กัญชากลับไปถูกผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนแพทย์และบริษัทยาเพียงไม่กี่คน ซึ่งได้เคยพิสูจน์แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่จ่ายกัญชาให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน  บางส่วนเป็นเพราะการเป็นยาเสพติดทำให้เกิดขั้นตอนที่ยุ่งยากเกินไปเป็นภาระต่อแพทย์ในการจ่ายกัญชาให้ประชาชน  บางส่วนเกิดจากอคติของแพทย์ที่ต่อต้านกัญชา บางส่วนเป็นเพราะแพทย์และบริษัทยาจำนวนหนึ่งเสียผลประโยชน์จากกัญชา  เนื่องจากกัญชาจะสามารถมาทดแทนการใช้ยาที่มีราคาแพงจากต่างประเทศจำนวนมาก 

 
ดังนั้นการหาเสียงว่าจะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดโดยอ้างว่าจะสามารถใช้ในทางการแพทย์​ได้นั้น จึงเป็นการเล่นการเมืองโดยไม่สนใจสภาพข้อเท็จจริง เป็นการหาเสียงที่ปราศจากความรับผิดชอบ ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายประชาชนและทำลายเศรษฐกิจของชาติในที่สุด

 
 
ประเด็นที่สาม 

ปัจจุบันกัญชาไม่ได้เสรี แต่ขาดกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติมาควบคุม

 
แม้นักการเมืองที่ขัดขวางไม่ให้มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติในการควบคุมกัญชาเพื่อหวังให้เกิดกัญชาเสรี โดยหวังสร้างเงื่อนไขเอาไว้เพื่อประโยชน์ในการโจมตีทางการเมืองในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งก็ตาม 
แต่ในความเป็นจริงกระทรวงสาธารณสุข ได้ระดมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติหลายฉบับ เช่นพระราชบัญญัติอาหาร พระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกัญชา รวมประกาศกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆไม่ต่ำกว่า 12 ฉบับ 
 
ผลที่ตามมาคือ ปัจจุบันประเทศไทยกัญชาไม่ได้เสรี  ดังตัวอย่างเช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ห้ามใส่ช่อดอกกัญชาในอาหาร ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาจากต่างประเทศ,  กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำหน่ายอาหารที่มีผสมกัญชาในร้านอาหาร,  กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม, การขายช่อดอกกัญชาต้องได้รับอนุญาตทุกกรณี, ห้ามจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นิสิต นักเรียน นักศึกษา, ห้ามขายในวัดและศาสนสถาน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก, ห้ามสูบทำให้เกิดกลิ่นและควันในที่สาธารณะทำให้เกิดความรำคาญ ห้ามขายออนไลน์ ห้ามเร่ขาย ห้ามขายผ่านเครื่องขาย ฯลฯ
 
ผู้ใดกระทำความผิด เช่น การจำหน่ายหรือให้กับเด็กเยาวชน หรือการลักลอบใส่สารสกัดหรือช่อดอกในอาหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดมีการบังคับใช้ได้จริง และมีการตรวจ จับ ปรับ และดำเนินคดีความกับผู้กระทำความผิด โดยมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 43 ราย เป็นกรณีพักใช้ใบอนุญาตไปแล้ว 12 ราย มีผู้ถูกดำเนินคดีจนศาลตัดสินจำคุกแล้ว 23 ราย (แต่ศาลให้รอลงอาญา) ตลอดจนมีการปรับและริบของกลาง 20 ราย 
 
ดังนั้นการหาเสียงโจมตีทางการเมืองอ้างว่าประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุม หรือโจมตีว่ากฎหมายคลุมเครือบังคับใช้ไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีนโยบายกัญชาเสรีเพราะต้องการมอมเมเยาวชนและต้องนำกลับไปเป็นยาเสพติดนั้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น
 
อย่างไรก็ตามบทลงโทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่มีกฎหมายอยู่ ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับ กฎหมายที่ได้เตรียมเอาไว้ใน พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่มีการควบคุมทั้งระบบในกฎหมายฉบับเดียวกัน 
 
ดังนั้นการเล่นการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆโดยการไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรจนทำให้องค์ประชุมไม่ครบครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ไม่ให้มี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ ควบคุม และมีบทลงโทษที่สามารถนำใช้บังคับได้ในวันนี้ ย่อมต้องเป็นความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่เล่นการเมือง เพราะไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากฎหมายให้แล้วเสร็จทั้งสิ้น



 
ประเด็นที่สี่

มีกฎหมายอย่างเดียวไม่พอ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกันทำให้นิเวศน์ของกัญชาเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างเหมาะสม
 
แม้กฎหมายของประเทศไทยจะมีมากน้อยเพียงใดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมายก็จะทำให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องของการมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย และเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เพราะประเทศไทยไม่มีกฎหมายควบคุม  
 
ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายช่อดอกกัญชาจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย อันเป็นการทำลายเศรษฐกิจผู้ปลูกกัญชาในประเทศ 
 
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคมทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันมีส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดการปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย และตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
 
ถึงเวลาที่จะต้องมีการบูรณาการทุกเครือข่ายกัญชา กัญชงของประชาชนเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานและการตรวจสอบ เพื่อรวมตัวกันเรียกร้องการปรับปรุงแก้ไขกฎกติกาให้เหมาะสม ตอบโต้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ตลอดจนร่วมมือกับภาครัฐเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิดในเรื่องกัญชา กัญชงต่อไป
จากการชี้แจงประเด็นการโกหกบิดเบือนของนักการเมืองดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้มีการบิดเบือนโกหกเรื่องกัญชาจำนวนมากต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการโจมตีทางการเมืองเพื่อที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกนั้น  
 
เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน เห็นว่าปัญหาดังกล่าวนี้จะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาของกัญชา กัญชงในอนาคต สร้างความเสียหายทั้งต่อผู้ป่วย ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอย่างใหญ่หลวง
 
ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความจำเป็นที่ภาคประชาชนจะต้องกำหนดทิศทางการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างมียุทธศาสตร์ เพื่อทำให้นโยบายที่ภาคประชาชนต้องการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นเอกภาพ จึงมีมติขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่รักความเป็นธรรมในเรื่องกัญชาให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และให้เลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างพร้อมเพรียงดังต่อไปนี้
 
  • ประการแรก ขอให้ช่วยกันรณรงค์ไม่เลือกพรรคการเมืองใดก็ตามที่จะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก
  • ประการที่สอง ขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้เลือกพรรคการเมืองใดก็ตามที่มีจุดยืนว่าจะสนับสนุนให้มีกฎหมายสำหรับกัญชา กัญชงในรัฐบาลชุดหน้าให้แล้วเสร็จ เพื่อทำให้ประเทศไทยได้มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในการใช้ประโยชน์และการควบคุมกัญชา กัญชงอย่างเป็นระบบ  ตลอดจนมีบทลงโทษที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อห่วงใยของสังคม
  • ประการที่สาม ขอให้ช่วยกันรณรงค์ให้เลือกพรรคการเมืองใดก็ตามที่มีนโยบายว่าจะให้รักษาสิทธิของประชาชนในการปลูกกัญชา กัญชง เพื่อการพึ่งพาตนเอง เพื่อความมั่นคงทางยาในครัวเรือนได้ต่อไป

 
ด้วยจิตคารวะ
เครือข่ายประชาสังคมกัญชา กัญชง เพื่อประชาชน
7 พฤษภาคม 2566
แถลงไว้ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด