ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สรุปผล 5 ยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ 2565

สรุปผล 5 ยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ 2565 HealthServ.net
สรุปผล 5 ยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติ 2565 ThumbMobile HealthServ.net

ครม.มีมติรับทราบ การรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน 13 ตัวชี้วัด 28 ค่าเป้าหมาย ซึ่งมีผลการดำเนินงานผ่านค่าเป้าหมายทั้งสิ้น 8 ค่าเป้าหมาย

 
                   คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสนอ ผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 (6) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจติดตาม ประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ1 ให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งคณะกรรมการฯ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
 

สรุปผลการดำเนินงานฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ 13 ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายจำนวน 28 ค่าเป้าหมาย ซึ่งมีผลการดำเนินงานผ่านค่าเป้าหมายทั้งสิ้น 8 ค่าเป้าหมาย คิดเป็นร้อยละ 29 ของค่าเป้าหมายทั้งหมด 



5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
  1. ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
  2. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒณา และการผลิตวัคซีนรองรับความต้องการในการป้องกันโรคของประเทศ
  3. ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและส่งออกได้
  4. ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรด้านวัคซีนของประเทศให้เข้มแข็งและบริหารจัดการทรัพยากรวัคซีนของประเทศให้มีคุณภาพและเพียงพอ 
  5. ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ 
 
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน

เป็นการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและทันการณ์ มีการพัฒนาระบบบริหารการจัดหาวัคซีนเพื่อให้มีวัคซีนสำรองที่เพียงพอและลดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนที่จำเป็น
 
 
1. อัตราครอบคลุมของการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย
 
สามารถให้บริการวัคซีนพื้นฐานกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย  (เด็กแรกเกิด-12 ปี) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จำนวน 3 ชนิด (จาก 19 ชนิด)2 ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เนื่องจากปัญหาความครบถ้วนของการรายงานผลการให้บริการที่สถานบริการแต่ละแห่งตามระบบการส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง รวมทั้งการรับบริการวัคซีนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานไทย แรงงานต่างชาติ และพื้นที่ชายแดน
 
2. จำนวนชนิดวัคซีนมีเพียงพอใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
 
- สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ จำนวน 800,000 โดส และคาดว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้บริการวัคซีนดังกล่าวแก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
- ดำเนินการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเสริมในพื้นที่เสี่ยงให้แก่เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) และพื้นที่อำเภอชายแดนไทย-เมียนมา (จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี) รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคหัดเยอมัน3ให้แก่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี กลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่และเจ้าหน้าที่เรือนจำทั่วประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐและกลุ่มทหารเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน
 
3. บรรจุวัคซีนชนิดใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
 
ไม่สามารถดำเนินการบรรจุวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดอีก 1 โดส ไว้ในแผนงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนประกอบกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่สามารถใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแล้วตามด้วยวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานได้ตามเดิม
 
4. ความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีนในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน
 
- มีการผลักดันให้มีการจัดซื้อวัคซีนแบบหลายปี (2 ปี) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2564 จากการประเมินประสิทธิภาพการบริหารปริมาณวัคซีนคงคลัง 18 เดือน (ปริมาณวัคซีนที่ใช้ใน 12 เดือน รวมกับปริมาณวัคซีนสำรอง 6 เดือน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการใช้วัคซีนในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนสำรองจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- การสำรองวัคซีนกรณีเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในคลังผู้ผลิตยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก ทำให้ไทยต้องจัดหาวัคซีนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรค โดยขยายกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 120 ล้านโดส (จากเดิม 103.5 ล้านโดส) เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ
 
5. ข้อมูลชนิดและปริมาณความต้องการรายวัคซีนที่จำเป็นในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและวัคซีนที่ใช้ตอบโต้การระบาด
 
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา การผลิต และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สวช. ได้วางแผนพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยในการแก้ปัญหาให้ข้อมูลมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสอบสวนอาการภายหลังได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้บูรณาการระบบดังกล่าวเข้ากับระบบงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงทำให้ไม่มีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒณา และการผลิตวัคซีนรองรับความต้องการในการป้องกันโรคของประเทศ

เป็นการสร้างศักยภาพการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป้าหมายและวัคซีนเพื่อตอบโต้การระบาด เพื่อให้สามารถต่อยอดสู่การผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตวัคซีน
 
 
1. วัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา
 
ดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกา4 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบความเป็นพิษของวัคซีนในหนู พบว่า หนูที่ได้รับซิกาวัคซีนที่มีความเข้มข้นต่างกันจำนวน 3 ครั้ง มีความปลอดภัยดีและหนูทุกตัวมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิกา
 
2. วัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศและได้รับการขึ้นทะเบียน
 
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำได้รับการขึ้นทะเบียน แต่การนำไปใช้ในกลุ่มอายุ 18-64 ปี ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากผลการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิผลและการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายหลังจากได้รับวัคซีน 360 วัน ยังไม่ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวัคซีนสำหรับโควิด-19 ก่อนเป็นอันดับแรก และวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้รับการขึ้นทะเบียนและการเฝ้าระวังความปลอดภัยการใช้วัคซีนหลังจากออกสู่ตลาดยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากข้อมูลด้านความต้องการวัคซีนระดับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อแนวทางการวางแผนดำเนินการ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแนวทางความร่วมมือและความเป็นไปได้ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและส่งออกได้

เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ โดยการแสวงหาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน
 
 
1. มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนในประเทศ
 
  - ยังไม่สามารถกำหนดหรือออกมาตรการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและด้านภาษีแก่ผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม สวช. ได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกและวิธีการจัดซื้อยาที่เป็นวัคซีนที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน พ.ศ. 2563 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 โดยประกาศผลการคัดเลือกรายชื่อที่เป็นวัคซีนซึ่งผลิตภายในประเทศและผู้ผลิตที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่ง สวช. ได้มีการติดตามผลการจัดซื้อตามประกาศฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และติดตามต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายวัคซีนได้ตามที่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุน
- มาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คน โดยวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายในเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับคนยังอยู่ในห้องปฏิบัติการจึงยังไม่มีกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คนให้ได้รับรองมาตรฐานที่ชัดเจน
 
 
2. มูลค่ารวมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกวัคซีนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
 
เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการร่วมลงทุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดย สวช. ได้สนับสนุนโครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A ภายใต้วงเงิน 211 ล้านบาท
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรด้านวัคซีนของประเทศให้เข้มแข็งและบริหารจัดการทรัพยากรวัคซีนของประเทศให้มีคุณภาพและเพียงพอ

เช่น การให้ความสำคัญกับการผลิต การพัฒนา และการรักษาบุคลากรในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนให้เพียงพอ รวมทั้งการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานสากล
 
1. จำนวนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมีเพียงพอ
 
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมาเป็นการอบรมออนไลน์ ประกอบกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีนต้องวางแผนรับมือตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรได้
 
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล
 
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถรักษาระบบมาตรฐานสัตว์ทดลองสากล6 (Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International: AAALAC) และ ISO9001 ในการผลิตสัตว์ทดลอง (หนูเมาส์ จำนวน 80,737 ตัว/ปี หนูตะเภา จำนวน 6,107 ตัว/ปี และกระต่าย 1,134 ตัว/ปี) ที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อบริการให้แก่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองสู่มาตรฐาน OECD Good Laboratory Practice (OECD GLP)7 และ AAALAC เพื่อทดสอบและตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองและการเตรียมความพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 หรือการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน
 
3. เครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์เพื่อการวิจัยด้านวัคซีน
 
ดำเนินการสร้างความร่วมมือให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ มาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้จัดทำแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาและใช้บริการชีววัสดุของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย8 เพื่อเป็นมาตรฐานการจับเก็บและการให้บริการ อีกทั้งในปี 2563 ได้มีการขยายเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ สู่สถาบันการศึกษาและองค์กรต่าง ๆ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การบริหารจัดการเครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน
 
 
 
 

ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ

โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้สามารถดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความจำเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ
 
 
ความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
 
ในปี 2565 เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการร่วมลงทุนในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ โครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A และมีการบูรณาการงบประมาณระหว่าง สวช. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เช่น โครงการศึกษาความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS CoV29 จากวัคซีน mRNA ในเด็กวัยรุ่นไทย และโครงการการศึกษาภูมิคุ้มกันหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในเด็กไทยอายุ 5-11 ปี ที่เคยติดเชื้อโควิด-19
 
 
 
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด