ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ไวรัสตับอักเสบ A B C D และ E

ไวรัสตับอักเสบ A B C D และ E

ไวรัสตับอักเสบ
 
ตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบเกิดจากการทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้การทำหน้าที่ต่างๆ ของตับผิดปกติ นำไปสู่การเจ็บป่วยไม่สบาย 
 
โรคตับอักเสบ เป็นโรคที่รู้จักกันมานาน ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ทุกวัย ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ขณะที่ส่วนน้อยเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา คือ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ 

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคตับอักเสบ คือ การติดเชื้อไวรัสรองลงมาเกิดจากสุรา ยาบางชนิด ฯลฯ
 ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ เชื้อไวรัสตับอักเสบแบ่งเป็น
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด บี
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี
  • ไวรัสตับอักเสบชนิด อี

ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ 

     การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม
 
     ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยเฉลี่ย 4 สัปดาห์หลังรับเชื้อ เด็กมักจะมีอาการน้อย ผู้ใหญ่จะมีอาการชัดเจนของตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อนี้จะออกมากับอุจจาระของผู้ป่วยต้องแต่ในระยะ 2 สัปดาห์ก่อนมีอาการ จนถึงระยะที่มีอาการของโรค เชื้อไวรัสนี้จะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ทำให้พบมีการระบาดในชุมชน กลุ่มคนที่รวมกันตาม โรงเรียน หอพัก ค่ายทหาร เป็นต้น
 
     ตับอักเสบจากไวรัส เอ เมื่อเป็นแล้วจะหายเป็นปกติ ไม่เป็นพาหะของ ไม่เป็นเรื้อรัง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นได้หลังจากฟื้นตัว อัตราการตายต่ำมาก 
 

ไวรัสตับอักเสบชนิด บี

     พบคนที่เป็นพาหะ(Carrier) ของเชื้อไวรัสนี้ ในประชาการโลกกว่า 200 ล้านคน ประเทศไทยมีความชุกของพาหะร้อยละ 8-10 คือ ประมาณ 5 ล้านคนที่มีเชื้อไวรัสนี้ในร่างกาย พบเชื้อได้ในเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้หลายทาง ทางเข้าของเชื้อได้แก่
  1. ทางเพศสัมพันธ์ กับผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้
  2. ทารกคลอดจากมารดาที่เป็นหาหะ อาจติดเชื้อระหว่างคลอด การเลี้ยงดู
  3. ทางเลือดและน้ำเหลือง การได้รับเลือดของผู้ที่เป็นพาหะอาจเกิดจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดเข้าเส้นร่วมกัน การฝังเข็มการสักการเจาะหูที่ไม่สะอาด การใช้ใบมีดโกน แปรงสีฟันร่วมกัน เป็นต้น
  4. ทางผิวหนังที่เกิดบาดแผล ผิวหนังถลอก
  5. ทางสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) ระหว่างพาหะกับผู้อื่น เช่นสมาชิกในครอบครัว เด็กวัยเรียน เป็นต้น 
     ระยะการฟักตัวของเชื้อนี้กินเวลา 30-180 วัน เฉลี่ย 60-90 วัน ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสนี้จะหายเป็นปกติที่เหลือเป็นพาหะของเชื้อต่อไป
 
     พาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนี้ มักไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อต่อไป ส่วนหนึ่งอาจป่วยเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง มะเร็งตับได้ผู้เป็นพาหะของเชื้อนี้มีโอกาสเสี่ยงของมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่าอย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยใช้วัคซีน 
 

ไวรัสตับอักเสบชนิด ซี

     เป็นสาเหตุที่สำคัญของตับอักเสบที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับเลือดหรือ เดิมเรียกว่า ไวรัสตับอักเสบชนิด ไม่ใช่เอ ไม่ใช่บี
 
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี พบในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 1 ติดต่อได้โดยทางเลือดและน้ำเหลือง การใช้เข็มฉีดยาร่วมในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด นอกจากนี้ อาจติดเชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์ 
 
ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ ประมาณ 15-160 วัน เฉลี่ย 50 วัน ทำให้เกิดโรคตับอักเสบเฉียบพลัน เชื้อไวรัสนี้ยังทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี และยังคงเป็นปัญหาต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้
 

ไวรัสตับอักเสบชนิด ดี 

     เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ ต้องอยู่ร่วมกับไวรัสตับอักเสบ บี พบเชื้อนี้ในกลุ่มผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นที่มีเชื้อไวรัส บี และการติดต่อ เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ บี
 

ไวรัสตับอักเสบชนิด อี

     มีรายงานการระบาดของไวรัสนี้ในบางประเทศ เช่น อินเดีย กัมพูชา เชื้อไวรัสนี้แพร่โดยการกิน เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบ เอ
 
 

อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน

มีอาการแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้
 
  1. ระยะอาการนำ มีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามลำตัว ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เบื่ออาหารมาก คลื่นไส้ อาเจียน อาจปวดท้องบริเวณชายโครงขวามีท้องเสียได้ ปัสสาวะสีเหลือง เข็มผิดปกติ ฯลฯ อาการนำเป็นอยู่ 4-5 วัน จนถึง 1-2 สัปดาห์
  2. ระยะอาการเหลือ “ดีซ่าน” ผู้ป่วยมีตาเหลือง ตัวเหลือง อาการทั่วไปดีขึ้น แต่ยังอ่อนเพลียอยู่อาการข้างต้นหายไป หายเหลือง โดยทั่วไประยะเวลาของการป่วย นาน 2-4 สัปดาห์ จนถึง 8-12 สัปดาห์
  3. ระยะฟื้นตัว อาจใช้เวลา 2-24 สัปดาห์ (เฉลี่ย 8 สัปดาห์) 
 
 

การวินิจฉัยโรคตับอักเสบจากไวรัส 

จากอาการดังกล่าว ทราบจาก การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดดังนี้
 
  1. ตรวจเลือดสมรรถภาพของตับ (Liver function test) เอ็นไซม์ SGOT & SGPT สูงกว่าปกติด้วย ถ้าผู้ป่วยมีดีซ่าน
  2. ตรวจเลือดว่าเป็นไวรัสชนิดใด เช่น
    - IgM Anti HAV
    - HBsAg;IgM Anti HBc
    - Anti HCV

การรักษาโรคตับอักเสบจากไวรัส

     ยังไม่มียารักษาโรคโดยตรง เป็นการรักษาตามอาการได้แก่ การพักผ่อนเต็มที่ ในระยะต้นจะทำให้อ่อนเพลียลดลง งดการออกกำลังกายการทำงาน งดการดื่มสุรา รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย น้ำหวาน น้ำผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงในระยะที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก ในรายที่อาการมากอาจให้สารน้ำเข้าเส้นเลือดดำ ให้ยาแก้คลี่นไส้ ยาวิตามิน ฯลฯ
 

การป้องกันการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ

  1. การมีอนามัยส่วนบุคคล ส่วนรวมที่ดี เช่น การล้างมือให้สะอาด ก่อนทำสิ่งใดหลังการขับถ่าย การประกอบอาหารถูกหลักอนามัยเลือกรับประทานอาหารที่สุก น้ำดื่มที่สะอาด เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงการรับ การสัมผัสเลือด น้ำเหลือง สิ่งขัดหลั่งของผู้อื่น ไม่ใช่เข็มหรือของมีคม ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  3. ไม่สำส่อนทางเพศ ใช้ถุงยางอนามัย
  4. การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบบี
    4.1 ทารกแรกคลอดทุกราย โดยเฉพาะถ้ามารดาเป็นพาหะของเชื้อ
    4.2 เด็กทั่วไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
    4.3 เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อาจเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีแล้ว ให้ตรวจเลือดก่อนพิจารณาฉีดวัคซีนคือ ตรวจหาภูมิคุ้มเคยต่อไวรัส บี (HBc Ab) ถ้าผลตรวจเป็นลบ ควรฉีดวัคซีนป้องกันให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบบี ถ้ามีผลตรวจเป็น บวกตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ต้องรับการฉีดวัคซีนนี้ รายละเอียดการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โปรดปรึกษาแพทย์
  5. การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบ เอ ใช้เมื่อมีการระบาดในบริการทารก โรงเรียน ฯลฯ
 
ด้วยความปรารถนาดีจาก
อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลวิภาวดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด