ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก ติดเชื้อง่าย ดูแลไม่ดีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

บาดแผลไฟไหม้ ติดเชื้อง่าย ผู้ป่วยก็มีความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานมาก

ไฟไหม้ / น้ำร้อนลวก

ลักษณะทั่วไป
บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะมี อาการปวดแสบปวดร้อนพอทนได้ และค่อย ๆ หายไปได้เอง แต่ถ้าเป็นมาก (กินบริเวณกว้าง และ แผลลึก) มักมีจะภาวะแทรกซ้อน ทำให้ทุพพลภาพหรือตายได้
 
สาเหตุ
มักเกิดจากความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ สิ่งที่ทำให้เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่พบได้แก่
  1. ความร้อน เช่น น้ำร้อน (หม้อน้ำ กระติกน้ำ กาน้ำ ไอน้ำ) น้ำมันร้อน ๆ (ในกระทะ) ไฟ (เตาไฟ ตะเกียง บุหรี่ ประทัด พลุ)วัตถุที่ร้อน (เช่น เตารีด จานชามที่ใส่ของร้อน)
  2. ไฟฟ้าช็อต
  3. สารเคมี เช่น กรด ด่าง
  4. รังสี เช่น แสงอัลตราไวโอแลต (แสงแดด) รังสีเรเดียม รังสีโคบอลต์ ระเบิดปรมาณู เป็นต้น
อาการ
อาการขึ้นกับ ขนาด ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล

1. ขนาด
หมายถึงบริเวณพื้นที่ของบาดแผล แผลขนาดใหญ่ (กินบริเวณกว้าง) จะมีอันตรายกว่าแผล ขนาดเล็ก อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ โปรตีน และเกลือแร่ ถึงกับเกิดภาวะช็อกได้ และอาจมีโอกาส ติดเชื้อถึงขั้นเป็นโลหิตเป็นพิษ ถึงตายได้ การประเมินขนาดกว้างของบาดแผล นิยมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าคิดหยาบๆ ให้เทียบเอาว่า แผลขนาดหนึ่งฝ่ามือ (ของผู้ป่วย) เท่ากับ 1% ของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น   ถ้าแผลมีขนาดเท่ากับ 10 ฝ่ามือ ก็คิดเป็นประมาณ 10% เป็นต้น ทางการแพทย์ได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นมาตรฐานทั้งในเด็กและ ผู้ใหญ่ ซึ่งสะดวกในการคิดคำนวณ

2.ความลึก
ผิวหนังมีความลึก 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis)

เราแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ออกเป็น 3 ขนาด ด้วยกัน ดังนี้ 

ก. บาดแผลดีกรีที่ 1
หมายถึง เซลล์หนังกำพร้าชั้นผิวนอกเท่านั้น หนังกำพร้าชั้นในยังไม่ถูกทำลาย สามารถเจริญขึ้นมาแทนที่ส่วนผิวนอกได้ จึงมีโอกาสหายได้สนิทและไม่มีแผลเป็น (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ)มักเกิดจากการถูกแดดเผา (อาบแดด) การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือด หรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน ผิวหนังส่วนที่เป็นบาดแผลจะมีลักษณะแดงบวมเล็กน้อย และปวดแสบปวดร้อน ไม่มีตุ่มพอง หรือหนังหลุดลอก  มีลักษณะแบบเดียวกับรอยแดดเผา ซึ่งถือเป็นบาดแผลไหม้ดีกรีที่ 1 แบบหนึ่ง บาดแผลดีกรีที่ 1 ไม่ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ และโปรตีน  จึงไม่ต้องคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผิวหนัง ที่เกิดบาดแผล มักจะหายได้เองและไม่มีอันตรายร้ายแรง

ข. บาดแผลดีกรีที่ 2
หมายถึงบาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น (ทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด) และหนังแท้ ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและ ไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ) มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟบาดแผลจะมีลักษณะแดงและพุเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็ก และใหญ่ ผิวหนังอาจ หลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการเจ็บปวด อาจทำให้สูญเสียน้ำ โปรตีนและเกลือแร่ และติดเชื้อได้ง่าย

ค. บาดแผลดีกรีที่ 3
หมายถึง บาดแผลที่มีการทำลายของหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้ง ต่อมเหงื่อ ขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล  ผิวหนังทั้งชั้นจะหลุดลอกเห็นเป็นเนื้อแดง ๆ หรือแดงสลับขาว หรือเป็นเนื้อที่ไหม้เกรียม มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำ หรือติดเชื้อรุนแรงได้ แผลมักจะหายยาก และเป็นแผลเป็นในการเกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกแต่ละครั้ง อาจมีบาดแผลที่มีความลึกขนาดต่าง ๆ กัน ในคนเดียวกันได้ และบางครั้งในระยะแรก อาจแยกบาดแผลดีกรีที่ 2 และ 3 ออกจากกันไม่ชัดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทั้งสองชนิดนี้ ล้วนถือเป็นบาดแผลที่มีอันตรายรุนแรง และควรคิดเปอร์เซ็นต์ของผิวหนังที่เกิดบาดแผล


3.ตำแหน่ง บาดแผลบนใบหน้า อาจทำให้เป็นแผลเป็นและเสียโฉมได้มาก ถ้าถูกบริเวณตา อาจทำให้ตาบอดได้ แผลที่มือและตามข้อพับต่าง ๆ อาจทำให้ข้อนิ้วมือและข้อต่าง ๆ มีแผลเป็นดึงรั้ง ทำให้เหยียดออกไม่ได้  ถ้าสูดควันไฟเข้าไปในปอดระหว่างเกิดเหตุ อาจทำให้เยื่อบุของทางเดินหายใจเกิด การอักเสบ กลายเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ อาจรุนแรงจนหายใจไม่ได้ ถึงตายได้

การรักษา

การปฐมพยาบาล
 
เมื่อพบคนที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรรีบให้การช่วยเหลือ ก่อนส่งโรงพยาบาล ดังนี้
 
ก. บาดแผลดีกรีที่ 1
 
  1.  รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณที่มีบาดแผล เพื่อลดอาการปวดแสบปวดร้อน และป้องกัน มิให้เนื้อเยื่อถูกทำลายมากขึ้น อาจใช้น้ำเย็นราด หรือแช่ในน้ำใส่น้ำแข็ง หรือ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นประคบ หรือใช้ถุงพลาสติก ใส่น้ำแข็งผสมน้ำเล็กน้อยวางตรงบริเวณที่มีบาดแผล อย่างน้อย 20 นาที    หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนลดลง   (ผลิตภัณฑ์ช่วย เจลว่านหางจรเข้)
  2. ปิดแผลด้วยผ้ากอซ หรือผ้าสะอาด
  3. ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือมีตุ่มใส ควรไปหาหมอ
 
ข. บาดแผลดีกรีที่ 2
 
  1.  รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ใช้ผ้าสะอาด เช็ดให้แห้ง แล้วใช้ผ้ากอซ หรือผ้าสะอาดปิดไว้
  2. ถ้าบาดแผลกว้าง เช่น ประมาณ 10-15 ฝ่ามือ (10-15%) ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้รวดเร็ว หรือเกิดที่บริเวณหน้า (รวมทั้งปาก และจมูก) ซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก หรือเกิดที่ตา หู มือ เท้า  หรืออวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้ง่าย    ควรส่งโรงพยาบาลทันที ขณะที่รอส่งโรงพยาบาล  อาจให้การช่วยเหลือ เบื้องต้นโดย
    2.1 เปลื้องเสื้อผ้าออกจากบริเวณที่ถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ถ้าถอดออกลำบากควรตัดออก เป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเสื้อผ้าติดกับบาดแผลแน่น ก็ไม่ต้องดึงออก เพราะจะเจ็บมาก ควรใช้ผ้าสะอาดคลุม
    2.2 ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลไว้ให้สูงกว่าระดับหัวใจ
    2.3 ถ้ามีกำไล หรือแหวน ควรถอดออก    หากปล่อยไว้ นิ้วหรือข้อมืออาจบวมทำให้ถอดออกยาก
    2.4 ถ้าผู้ป่วยกระหายน้ำ หรือใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ในการเดินทางไปถึงสถานพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรืออาจให้กินน้ำส้มคั้นใส่เกลือก็ได้ ควรให้ดื่มครั้งละ  1/4-1/2 แล้ว ทุก ๆ 15 นาที
    2.5 ควรใช้ผ้าสะอาดบาง ๆ คลุมร่างกายของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยนอนยกเท้าสูงเล็กน้อย
    2.6 ให้พาราเซตามอล 1-2 เม็ด เพื่อระงับปวด และอาจให้ไดอะซีแพม ขนาด 5 มิลลิกรัม 1/2-1  เม็ด
   
ค. บาดแผลดีกรีที่ 3
 
เนื่องจากเป็นบาดแผลลึกซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้ จึงควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบาดแผลมีขนาดมากกว่า 10% (ในเด็ก ) หรือ 15% (ในผู้ใหญ่) ก่อนส่งโรงพยาบาล อาจให้การปฐมพยาบาลเช่นเดียวกับบาดแผลดีกรีที่ 1 และ 2 ดังกล่าว
 
 
การรักษา
 
สำหรับการรักษา ในสถานพยาบาล โดยแพทย์หรือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาจกระทำ ดังนี้
 
ก. ถ้าเป็นเพียงบาดแผลดีกรีที่ 1
 
ให้ล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมสเตอรอยด์   หรือเจลว่านหางจรเข้ขององค์การเภสัชกรรมบางๆหรือทาด้วยวาสลิน หรือน้ำมันมะกอก และให้ยาแก้ปวดถ้ารู้สึกปวด
 
ข. ถ้าเป็นบาดแผลดีกรีที่ 2 หรือ 3
 
1. ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ในกรณีต่อไปนี้
  • บาดแผลดีกรีที่ 3 มีขนาดมากกว่า 2 ฝ่ามือ (2%)
  • บาดแผลดีกรีที่ 2 มีขนาดมากว่า 10 ฝ่ามือ (10%) ในเด็ก หรือ 15 ฝ่ามือ (15%) ในผู้ใหญ่
  • บาดแผลที่ตา หู ใบหน้า มือ เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ตามข้อพับต่าง ๆ
  • บาดแผลในทารก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ
  • สูดควันไฟเข้าไประหว่างเกิดเหตุ
  • มีภาวะช็อก ควรให้น้ำเกลือมาระหว่างทาง 
 
2. ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวในข้อ 1. อาจให้การรักษาโดย
 
  • ชะล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่
  • ถ้ามีตุ่มพองเล็ก ๆ เพียง 2-3 อัน เกิดที่ฝ่ามือ ไม่ควรใช้เข็มเจาะ ให้ทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสด (Merthiolate) แล้วปิดด้วยผ้ากอซ ตุ่มจะค่อย ๆ แห้งและหลุดล่อนไปเองใน 3-7 วัน
  • ถ้ามีตุ่มพองที่แขนขา หลังมือ หลังเท้า หลังจากทำความสะอาดด้วยน้ำกับสบู่แล้ว ให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อ (เช่น แช่ในแอลกอฮอล์แล้ว) เจาะเป็นรู    แล้วใช้ผ้ากอซที่ปราศจากเชื้อกดซับน้ำเหลืองให้แห้ง ใช้โพวิโดนไอโอดีนหรือทิงเจอร์ใส่แผลสดทา แล้วพันด้วยผ้ายืดให้ผิวที่พองกดแนบสนิท ภายใน 2-3 วัน หนังที่พองจะหลุดล่อน
  • ถ้ามีตุ่มพองเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้กรรไกรที่ทำให้ปราศจากเชื้อขริบเอาหนังที่พองออก แล้วล้างด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วทาด้วย ครีมซัลฟาไมลอน (Sulfamylon), ขี้ผึ้งแบกตาซิน (Bactacin), น้ำยาโพวิโดนไอโอดีน, ครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีน (Silver sulfadiazine) หรือ พ่นด้วยสเปรย์พรีเดกซ์ (Predex spray) ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขา ให้ใช้ผ้าพัน ถ้าเป็นที่หน้าหรือลำตัว ให้เปิดแผลไว้ ควรล้างแผลและใส่ยา วันละ 1-2 ครั้ง เมื่อดีขึ้นค่อยทำห่างขึ้น
  • ควรให้ยาแก้ปวด   และฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
  • ถ้าบาดแผลไม่ดีขึ้น ใน 1-2 สัปดาห์ หรือมีอาการติดเชื้อ หรืออาการทั่วไปไม่ดี (เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร) ควรส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าบาดแผลลึก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง (skin graft)
 
ข้อแนะนำ
  1. การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ที่แนะนำในปัจจุบันคือ รีบใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบทันทีหลังเกิดเหตุ อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำปลา หรือยาหม่องทา
  2. บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กเล็ก และ ผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว    ดังนั้นจึงควรแนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย
  3. บาดแผลที่ข้อพับ อาจทำให้เกิดแผลเป็น ดึงรั้งข้อต่อให้คดงอ (เหยียดไม่ได้) สามารถป้องกัน  ได้โดยใช้เฝือกดามข้อในบริเวณนั้นตั้งแต่แรก
  4. ภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ ในระยะ 2-3 วันแรก คือ ภาวะขาดน้ำและช็อก    ถ้ามีบาดแผลกว้าง แพทย์จะให้น้ำเกลือชนิดริงเกอร์แล็กเทต (Ringer's lactate)  ในวันแรกอาจให้ขนาด 4 มล. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อเนื้อที่บาดแผล 1 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ครึ่งหนึ่งใน 8 ชั่วโมงแรก อีกครึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้หมดใน 16 ชัวโมงต่อมา วันต่อมาอาจต้องให้น้ำเกลือ และพลาสมา  ส่วนการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากมีบาดแผล 2-3 วันไปแล้ว (หรือหลัง 1 สัปดาห์) ถ้าบาดแผลมีขนาดกว้างก็มีโอกาสติดเชื้อรุนแรง โดยทั่วไป ถือว่าบาดแผลดีกรีที่ 2 ที่มีขนาดมากกว่า 30% และบาดแผลดีกรีที่ 3 ที่มีขนาดมากกว่า 10% ถือเป็นบาดแผลรุนแรง รักษายากและมักจะมีอัตราตายสูง
  5. ผู้ที่มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรกินอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่) ให้มาก ๆ เพราะร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกไปทางบาดแผล
  6. ถ้ามีบาดแผลถูกกรดหรือด่าง ควรให้การปฐมพยาบาล โดยรีบชะล้างแผลด้วยน้ำก๊อก นานอย่างน้อย 5 นาที แล้วส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจให้การรักษาแบบเดียวกับบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
 
การป้องกัน
ควรหาทางป้องกันบาดแผลไฟไหม้น้ำรอนลวก โดย
  • อย่าให้เด็กเล็กเล่นในห้องครัว
  • อย่าวางกาน้ำร้อน หม้อน้ำแกง กระติกน้ำร้อน ตะเกียง ไม้ขีดหรือวัตถุอื่น ๆ ที่มีความร้อนไว้ใกล้มือ   เด็ก
  • อย่าวางบุหรี่ ตะเกียง ใกล้ผ้าห่ม มุ้ง หรือสิ่งที่อาจติดไฟได้ง่าย
  • อย่าประมาท จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น อ้อ ข้อสำคัญ ระบบการป้องกัน และเคลื่อนย้ายหนีไฟ สำคัญเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประกอบการทุกรายค่ะ
ข้อมูลสาระสุขภาพ จากรพ.วิภาวดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด