ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

7 คำถามที่หน้าสนใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

7 คำถามที่หน้าสนใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า HealthServ.net
7 คำถามที่หน้าสนใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า ThumbMobile HealthServ.net

7 คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า? ที่พบมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว ม้า ลิงและปศุสัตว์(วัว,ควาย) สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก กระแต มีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ แต่พบน้อย


1)  สัตว์อะไรบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้า? 
 
         ที่พบมากที่สุดคือสุนัข  รองลงมาคือแมว ม้า ลิงและปศุสัตว์(วัว,ควาย)  สัตว์แทะจำพวกหนู กระรอก  กระแต มีรายงานว่าพบเชื้อไวรัสในน้ำลายได้ แต่พบน้อย 
 

2)  ถ้าถูกสัตว์กัดจะมีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าเพียงใด?
 
-ถ้าสัตว์ที่กัดไม่ได้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า จะไม่มีโอกาสเป็นโรค 
 
-ถ้าไม่ทราบว่าสัตว์เป็นโรคหรือไม่  ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน 
 
-ผู้ที่ถูกสุนัขหรือสัตว์ที่เป็นโรคกัด  ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเป็นโรคโดยเฉลี่ยประมาณ  35% ขึ้นกับบริเวณที่ถูกกัด
 
ถ้าถูกกัดที่ขา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21 % 
 
ถ้าถูกกัดที่ใบหน้า  โอกาสเป็นโรคประมาณ  88 % 
 
ถ้าแผลตื้น แผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า   แผลลึกหลายๆแผล 
 

3) เชื้อติดต่อมาสู่คนได้อย่างไร? 
 
      เชื้อไวรัสจะอยู่ในน้ำลาย  ทางติดต่อสู่คนที่พบบ่อยคือถูกกัด  โดยทั่วไปเชื้อจะเข้าทางผิวหนังปกติไม่ได้ แต่อาจเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลอยู่เดิม หรือรอยข่วน   นอกจากนี้ยังเข้าได้ทางเยื่อเมือก(mucosa) ได้แก่  เยื่อบุตา 
 
เยื่อบุจมูก  ภายในปาก  ทวารหนัก และ อวัยวะสืบพันธุ์   แม้ว่าเยื่อเมือกจะไม่มีบาดแผล สำหรับทางติดต่อที่มีใน   รายงานแต่พบน้อย ได้แก่ ทางการหายใจ, ทางการปลูกถ่ายกระจกตา 
 
 
 4) ถูกสุนัขบ้ากัด นานเท่าใดจึงมีอาการ? 
 
      ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกว่าระยะฟักตัว จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วันจนถึง 4 ปี   ผู้ป่วยประมาณ 70% จะเป็นโรคภายใน  3 เดือน 
 
หลังถูกกัด, ประมาณ  96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่  4  
 
5) สุนัขที่เป็นโรคอาการเป็นอย่างไร? 
 
     สุนัขที่ป่วยจะเริ่มปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตั้งแต่ 3 วันก่อนมีอาการ ไปจนถึง 2 วันหลังมีอาการ 
 
หลังจากนั้นจะปล่อยเชื้อออกมาทางน้ำลายตลอดเวลาจนกระทั่งตาย
 
-ระยะฟักตัว  พบบ่อยในระยะ 3-8 สัปดาห์ แต่พบได้ตั้งแต่ 10 วันจนถึง 6 เดือน 
 
-อาการของโรคแบ่งได้ 2 แบบ คือ
 
แบบดุร้าย เป็นแบบที่พบบ่อย 
 
แบบซึม จะแสดงอาการไม่ชัดเจน
 
-อาการของโรคแบ่งได้ 3 ระยะ 
 
1. ระยะอาการนำ  สุนัขจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น จากเคยเชื่อง ชอบเล่นกลายเป็นซึม กินข้าวกินน้ำ น้อยลง 
 
ระยะนี้กินเวลา 2-3 วันก่อนเข้าระยะที่สอง 
 
2. ระยะตื่นเต้น  เป็นอาการทางระบบประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล 
 
ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น ระยะพบได้ 1-7 วันก่อนเข้าระยะท้าย 
 
3. ระยะอัมพาต จะเกิดอาการอัมพาตทั่วตัว  ถ้ามีอาการอัมพาตสุนัขจะตายใน 24 ชม. รวมระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ 
 
จนถึงตายจะไม่เกิน 10 วัน ส่วนใหญ่ตายใน 4-6 วัน 
 
ในแบบซึมอาจมีระยะอัมพาตนานได้ถึง 2-4 วัน  และ  ในสุนัขที่เป็นโรคที่พิษบ้าจะไม่แสดง อาการกลัวน้ำให้เห็น 
 
 
  6) อาการพิษสุนัขบ้าในคนเป็นอย่างไร? 
 
        แบ่งได้ 2 แบบคล้ายสัตว์ คือ แบบกระสับกระส่าย,ดุร้าย(เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนอยู่ในสมองมาก)แบบนี้พบได้บ่อย 
 
และ แบบอัมพาต (เกิดจากเชื้อไวรัสเพิ่มจำนวนมากในไขสันหลัง)
 
อาการในคนแบ่งได้ 3 ระยะ 
 
1. ระยะอาการนำ  จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกไป 
 
คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง   กังวล   กระสับกระส่าย      นอนไม่หลับ 
 
อาการนำที่ชัดเจนที่พบบ่อยในคนไทย คือ อาการคันรอบๆบริเวณที่ถูกกัด หรือคันแขนขาข้างที่ถูกกัด  อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบๆบริเวณที่ถูกกัด 
 
2. ระยะอาการทางระบบประสาท แบ่งย่อยได้เป็น 
 
-อาการกลัวน้ำ     จะมีอาการตึง แน่นในลำคอ      กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลัก 
 
และเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อใน    ลำคอกระตุกเกร็ง 
 
  
 
ภาพที่อธิบายไว้ถึงอาการกลัวน้ำ  คือ ผู้ป่วยหิวน้ำ พยายามเอื้อมมือหยิบถ้วยน้ำมาจิบช้าๆ แต่พอถ้วยยาแตะริมฝีปาก   ผู้ป่วยเริ่มมือสั่น   หายใจสะอึก เห็นกล้ามเนื้อลำคอกระตุกเกร็ง แหงนหน้าขึ้น  พ่นน้ำพ่นน้ำลายกระจายทั่ว   ถ้วยหล่นจากมือพร้อมทั้งเปล่งเสียงร้อง แสดงความเจ็บปวดไม่เป็นภาษาคน    บางคนที่กล้ามเนื้อควบคุมสายเสียงเป็นอัมพาต จะได้ยินคล้ายเสียงหมาเห่าหอน    ผู้ป่วยจะตายใน 2-3 วันหลังจากมีอาการกลัวน้ำ 
 
   - อาการกลัวลม  ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกลมพัด 
 
   -  อาการประสาทไว  ผู้ป่วยจะกลัว สะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆ    ไม่ชอบแสงสว่าง 
 
ไม่อยากให้ใครมาถูกต้องตัว 
 
   - อาการคลุ้มคลั่งประสาทหลอน  ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว 
 
  -  อาการอื่นๆ เช่นมาด้วยอัมพาต 
 
3. ระยะสุดท้าย  ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว  เข้าสู่ระยะโคม่า 
 
     ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา จะมีชีวิตไม่เกิน 7 วัน หลังจากเริ่มอาการนำและอยู่ไม่เกิน 3 วัน หลังมีอาการทางระบบประสาท 
 
 
 
7) ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูกสุนัขข่วน,กัด ?
 
1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆครั้ง  พยายามล้างให้เข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงซักฟอกแทนก็ได้ 
 
2. ทำความสะอาดซ้ำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่น 70% alcohol 
 
3. ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก  ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก 
 
4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์  (กรณีที่มีเจ้าของ หรือทราบตัวเจ้าของ)    ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน 
 
5. กรณีที่สัตว์ตาย ควรนำส่งเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย 
 
6. ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และ วัคซีนป้องกันบาดทะยักทันที ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่  โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วหนี ควรมา รพ.ทันที  ไม่ควรและไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้สุนัขมีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน  (เป็นช่วงที่กว้าง) 
 
คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้   
 
7. ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าของสัตว์,สัตว์มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้าน ไม่เคยไปกัดกับใคร อาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคของสัตว์ดังกล่าวลง    แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติ ตามข้อ1-6 เหมือนเดิม 
 
8. กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน  โดย ยังไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเย็บแผล 
 
 
 
โดย  นพ.ธเนศ  พัวพรพงษ์   ศัลยแพทย์รพ.วิภาวดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด