อ่านคำถอดเทป สัมภาษณ์ช่วง Health Talk
รายการ Happy & Healthy ขสทบ. FM 102 MHZ.
วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2555 เวลา 09.00-10.00 น.
โดย ปัทมพร บุพพะกสิกร
วิทยากร คุณนงลักษณ์ ไชยศรีสวัสดิ์ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะ
สุดท้าย ที่ได้รับการบำบัดไตด้วยการล้างช่องท้อง
เรื่อง การล้างไตทางช่องท้อง ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
สัมภาษณ์ช่วง Health Talk รายการ Happy & Healthy
ขสทบ. FM 102 MHZ.
วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2555 เวลา 09.00-10.00 น.
โดย ปัทมพร บุพพะกสิกร
วิทยากร คุณนงลักษณ์ ไชยศรีสวัสดิ์ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
ที่ได้รับการบำบัดไตด้วยการล้างช่องท้อง
เรื่อง การล้างไตทางช่องท้อง ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
DJ : ช่วง Health Talk วันนี้เราได้รับเกียรติจากคุณนงลักษณ์ ไชยศรีสวัสดิ์ ผู้ป่วยโรคไต จะเล่าถึงประสบการณ์ เรื่อง ล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเอง เพื่อให้กำลังใจ ผู้ป่วยโรคไตวาย ให้มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป รวมถึงวิธีการสร้างกำลังใจให้กับตัวเองในการต่อสู้กับโรคไตด้วยค่ะ
สวัสดีค่ะคุณนงลักษณ์
คุณนงลักษณ์ : สวัสดีค่ะ
DJ : ปัจจุบัน คุณนงลักษณ์อายุเท่าไหร่ และเป็นโรคไตมากี่ปีแล้วคะ ?
คุณนงลักษณ์ : อายุ 47 ปีค่ะ และดิฉันก็ป่วยเป็นโรคไตมา 14 ปีแล้วค่ะ
DJ : ก่อนหน้านี้คุณนงลักษณ์ มีอาชีพอะไรคะ ?
คุณนงลักษณ์: เกษตรกรรมค่ะ เป็นฟาล์มเลี้ยงไก่ และเก็บไข่ไปส่งขายที่ต่างๆ มีลูกชาย 2 คน เลยทำให้ต้องดูแลลูกๆและไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนด้วย
DJ : เรื่องการรับประทานอาหารของคุณนงลักษณ์ล่ะคะ เป็นอย่างไร?
คุณนงลักษณ์: ส่วนใหญ่จะรับประทานอาหารนอกบ้าน เพราะไม่ค่อยมีเวลา แต่บางทีมื้อเย็นก็ทำอาหารรับประทานเอง หรือซื้อเข้ามาทานบ้างค่ะ
DJ : แล้วทราบตอนไหนคะว่า ป่วยเป็นโรคไต ?
คุณนงลักษณ์ : มีช่วงหนึ่งค่ะ เพลียมากๆๆ ทั้งๆที่นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ แต่ก็ยังรู้สึกเพลีย และเป็นลมบ่อยๆ รวมถึงทานอาหารไม่ได้ด้วย เลยตัดสินใจมาพบคุณหมอ ซึ่งหลังจากตรวจร่างกายแล้วคุณหมอก็บอกว่าดิฉันเป็นไตวายระยะสุดท้ายแล้วนะ ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจว่าไตวายคืออะไร และการรักษาเป็นอย่างไร
DJ : คุณหมอแนะนำวิธีการรักษาอย่างไรบ้างคะ?
คุณนงลักษณ์ : แนะนำให้ปลูกถ่ายไต ซึ่งต้องหาไตที่เข้ากับเราได้ และต้องฟอกไต ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายมากพอสมควร ที่สำคัญคือต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิต
DJ : ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าต้องฟอกไต รู้สึกอย่างไรบ้างคะ ?
คุณนงลักษณ์ : ความรู้สึกแรกคือ เรายังไม่มีเงินพอที่จะฟอกไต เลยขอทานยาอย่างเดียวไปก่อน ซึ่งพอทานยาไปประมาณ 1 ปี ก็มีอาการของน้ำท่วมปอดหลายครั้ง และต้องใส่ท่อช่วยหายใจซึ่งทรมานมาก จุดเปลี่ยนที่ทำให้ดิฉันกลับใจมารักษาจริงจังคือ ทุกครั้งที่อาการโคม่า เมื่อเห็นสายตาของลูกๆที่มีแต่ความกังวลห่วงใยดิฉันเลยตัดสินใจฟอกไต และทำให้ต้องขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีเพื่อรักษาตัวเอง เพราะสมบัติต่างๆ เราสามารถหาทดแทนได้ภายหลัง ดิฉันไม่รู้จะหวงทรัพย์สินเงินทองไปทำไม ในเมื่อร่างกายป่วยจะแย่อยู่แล้ว
DJ : ช่วงแรกรักษาตัวอย่างไรคะ (หลังจากทานยามาเกือบปี) ?
คุณนงลักษณ์ :ก่อนตัดสินใจรักษา ดิฉันทรมานมาก ตัวบวม นอนราบก็ไม่ได้ หายใจก็ไม่สะดวก น้ำลายก็เป็นเลือด หลังตัดสินใจแล้ว ดิฉันทำการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมที่ต้องไปทำที่โรงพยาบาล
DJ : เปลี่ยนมาเป็นการรักษาแบบ ล้างช่องท้อง ได้อย่างไรคะ ?
คุณนงลักษณ์ : ด้วยความที่ฟอกไตจากเครื่องค่าใช้จ่ายแพงมาก ( 10 ปีก่อน) ฟอกครั้งละประมาณ 4,000 กว่าบาท บวกกับ ต้องเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกกว่า 100 กิโลเมตร จึงทำให้ฟอกได้แค่อาทิตย์ละครั้ง /เดือน และมีค่าใช้จ่ายมากถึง 20,000 กว่าบาท/เดือนทีเดียว ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เลยทำให้ล้างของเสียได้ไม่หมด ซึ่งตอนนั้นสภาพจิตใจแย่มาก และต้องควบคุมเรื่องอาหารการกิน ทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ส่งผลให้ของเสียมีมากขึ้น แต่ต่อมาทราบข่าวว่า รัฐบาลมีบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาโรคไต ด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้อง ต้องผ่าตัดใส่ท่อไว้ทางช่องท้อง ดิฉันก็รีบไปลงทะเบียน พอถึงคิวที่จะต้องผ่าตัด (สิทธิ์บัตรทอง) ทำให้ทราบว่า การผ่าตัดไม่ได้น่ากลัว และพักฟื้นไม่นาน แต่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและปฏิบัติตัวตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญคือ มีท่อฝังอยู่ที่ท้องด้วย ยิ่งทำให้เราต้องดูแลความสะอาดและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น แต่พวกญาติๆดิฉันก็กังวลในเรื่องของการติดเชื้อ แต่ดิฉันก็ไม่มีทางเลือก
DJ : สายที่ฝังท้องที่ผ่าตัดเข้าไป เหมือนกับอวัยวะอย่างหนึ่งของเรา และต้องใช้ล้างไตทุก ๆ 6 ชม. ในช่วงแรก รู้สึกลำบากมากไหมคะ?
คุณนงลักษณ์ : ก็กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก เพราะต้องล้างไตทุก 6 ชม. ซึ่งก็ต้องใช้การปรับตัว และต้องทำใจอยู่กับมันให้ได้ 1 วัน ต้องล้างไต 4 รอบ แต่ก็ถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้
DJ : ในการล้างไตแต่ละรอบ ต้อง ใช้เวลานานแค่ไหนคะ ?
คุณนงลักษณ์ : ประมาณรอบละ 30 นาที แต่ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์และฆ่าเชื้อด้วย ส่วนการเอาน้ำยาเข้า-ออกอีกประมาณไม่เกิน 10 นาที นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หากรู้สึกเหนื่อยมาก หรือท่อในท้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็จะใช้เวลานานกว่านั้น เป็นต้น
DJ : ช่วงที่ล้างไต มีการติดเชื้อบ้างไหมคะ?
คุณนงลักษณ์ : ช่วงแรก ๆ ก็จะมีการติดเชื้อบ้าง จากการยกของหนัก และอุ้มเด็กบ้าง ซึ่งน้ำยาก็จะออกมาเป็นเลือด แต่ดิฉันก็โทรไปปรึกษาคุณหมอ และปฏิบัติตามที่คุณหมอสั่ง รวมถึงรีบเดินทางเข้าไปที่โรงพยาบาลทันที เพื่อเอาน้ำยาถุงสุดท้ายที่ล้างไปตรวจเพาะเชื้อ ทำให้ต้องนอนอยู่โรงพยาบาลประมาณ3 วัน เพื่อดูการติดเชื้อ และคุณหมอก็จะอนุญาตให้กลับบ้านไป 2 อาทิตย์ แต่ต้องเอาน้ำยามาพบคุณหมอ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้ออยู่อีกหรือไม่ และถ้าทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้นค่ะ
DJ : ทุกวันนี้ มีการดำเนินชีวิตอย่างไรบ้างคะ ?
คุณนงลักษณ์ : ก็มีความสุขมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนน้ำยาทางช่องท้อง ทำให้เราผิวไม่คล้ำ ผมก็ไม่ร่วง ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล และที่สำคัญ ไม่ต้องดูแลเรื่องอาหารมากเหมือนกับการ ฟอกไตด้วยเครื่องรวมถึงได้ทำงานที่ชอบ ซึ่งดิฉันชอบทำงานฝีมือ พวกพวงกุญแจ อยู่กับบ้าน เพราะเป็นการช่วยหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัวด้วย ที่สำคัญไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ 3 เดือน จึงจะไปพบคุณหมอ 1 ครั้ง
DJ : ทราบว่าคุณนงลักษณ์ ได้ทำงานเป็นจิตอาสา เพื่อช่วยเหลือสังคมด้วย อยากทราบว่าทำอะไรบ้างคะ ?
คุณนงลักษณ์ : ไปเยี่ยมเพื่อนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ไปให้กำลังใจพวกเขาให้ต่อสู้ชีวิต บ้างก็ไปช่วยงานมูลนิธิเด็ก ด้วยการสอนงานฝีมือที่ทำอยู่ รวมถึงไปสอนเด็กที่สมาธิสั้น ในการร้อยลูกปัด ถึง ไม่มีเงินไปช่วยพวกเค้า แต่อย่างน้อย ก็ได้ไปช่วยดูแลพวกเด็กเหล่านี้บ้าง ดิฉันเชื่อว่า คนเราทุกคนมีหัวใจด้านซ้ายเหมือนกัน แต่ที่มีไม่น้อยกว่าคนทั้งโลก ก็คือ กำลังใจที่จะให้คนอื่น ค่ะ
DJ : อยากให้คุณนงลักษณ์ฝากแง่คิดและกำลังใจ สำหรับผู้ป่วยหน่อยค่ะ?
คุณนงลักษณ์ : อย่าท้อนะคะ เพราะเราจะเป็นกำลังใจให้เสมอ และอย่าคิดว่าตัวเองเป็นผู้ป่วย ควรหาอะไรทำ ถ้าไม่เกินกำลังของเรา ยิ่งถ้าทำแล้วสร้างรายได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก และการล้างไตทางช่องท้อง ไม่ได้น่ากลัวเลย ที่สำคัญอยากให้คุณอดทนเพื่อคนที่คุณรัก และอยากให้คุณมีพลังในการต่อสู้ต่อไป รวมถึงยังมีหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณ อย่าท้อ เพราะคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกค่ะ
DJ : กำลังใจเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆค่ะ หลังจากได้พูดคุยกับ คุณนงลักษณ์ในวันนี้ คงทำให้ผู้ป่วยโรคไต หลายๆท่านมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับโรคต่อไปนะคะ ขอให้อดทนเพื่อคนที่คุณรัก และเพื่อคนที่รักคุณค่ะ
โปรดเข้าใจว่า HealthServ.net ไม่ได้เป็นสถานพยาบาล ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพด้านแพทย์ใดๆ จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาในด้านการแพทย์ การรักษาใดๆ ได้ในทุกๆ กรณี - HealthServ.net เป็นสื่อที่เสนอเนื้อหาด้านสุขภาพ ได้แก่ บทความ ข่าวสาร รวมถึง ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแพคเกจ/บริการจาก รพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการต่างๆ ในประเทศไทย เท่านั้น รายละเอียดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับบริการ-ราคา-เงื่อนไข-วิธีการบริการ โปรดสอบถามไปยังรพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการนั้นๆ โดยตรง (ในส่วนของ รพ./สถานพยาบาล/ผู้ให้บริการ นั้น HealthServ ช่วยได้ในแง่ของข้อมูลติดต่อ สถานที่ตั้ง หรืออื่นๆ ที่เป็นข้อมูลทั่วไป)
HealthServ.net รวบรวมข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ แพคเกจโปรแกรมบริการสุขภาพ จากผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการเข้าถึงข้อมูล สำหรับใช้ในการตัดสินใจ เลือกใช้บริการสุขภาพได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด สำหรับตัวคุณและคนที่คุณห่วงใย
ข้อมูลที่เผยแพร่บนหน้านี้โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ "วันที่ เวลา รายละเอียด ราคา เงื่อนไข ตลอดจน ภาพถ่าย ภาพประกอบ ภาพวาด ภาพเคลื่อนไหว ไฟล์และสื่อรูปแบบต่างๆ ฯลฯ" เป็นข้อมูลที่บันทึกไว้ ณ เวลาหนึ่ง ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ณ เวลาที่ท่านได้เข้าชมข้อมูลนี้
ดังนั้น โปรดตรวจสอบความถูกต้องกับบริษัท/หน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูลการบริการหรือให้บริการนี้ อีกครั้ง ก่อนตัดสินใจ - เว็บไซต์ HealthServ.net ไม่รับประกันความถูกต้องของข้อมูลที่เปลี่ยนไป และไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลไปใช้หรืออ้างอิงในทุกกรณี