ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทำไมต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ทำไมต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ HealthServ.net
ทำไมต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ThumbMobile HealthServ.net

การมีมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ได้เป็นอย่างดี และเป็นมาตรการที่ WHO รับรองว่ามีประสิทธิผลสูงในการลดการบริโภคเพราะทำให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น

ทำไมต้องห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ HealthServ
กรมควบคุมโรค ชี้แจงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เตรียมบังคับใช้ 7 ธ.ค. 63

  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 สร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบเจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือ ในการปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย

 
          วันนี้ (3 ธันวาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบและเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมีนายคมสัน โพธิ์คง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ผศ.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการร่างกฎหมายฯ เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศฯ อีกทั้งยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคมให้ความคิดเห็นต่อประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้ร่วมด้วย
 
 
          นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประกาศฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านจะได้รับทราบและเข้าใจถึงเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศ
 
          นายคมสัน กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการและร้านค้าปรับใช้วิธีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ประกอบกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้โดยง่าย  ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เน้นควบคุมการเข้าถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ควบคุมบุคคลที่ซื้อ วัน เวลา สถานที่จำหน่าย ซึ่งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องออกประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้เพื่อควบคุมการเข้าถึงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 
          ผศ.บุญอยู่ กล่าวว่า การออกประกาศดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดผลกระทบจากโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ปัญหาการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม สุขภาพ ครอบครัว ความพิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 นี้
 
 
          ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ประกาศฯดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างน้อยสามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของประชาชนรวมถึงเด็กและเยาวชนได้ในระดับหนึ่ง และมาตรการดังกล่าวไม่ถือเป็นการกีดกัน E-Commerce และไม่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมมากกว่าสินค้าธรรมดา อีกทั้งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและสังคม รวมถึงการก่ออาชญากรรมหรือแม้แต่กรณีเมาแล้วขับตามที่เห็นข่าวบนหน้าสื่อแทบทุกวันลดลงได้
 
 
          ส่วนนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีวิวัฒนาการและการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสื่อสารทางโลกอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่ายรวมถึงช่วยลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมออนไลน์มีผลต่อการเข้าถึงและรับรู้ของประชาชนได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าการใช้สื่อแบบเดิมๆ ประกอบกับการขายทางออนไลน์สามารถซื้อได้ทุกคน ทุกวัน ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งไม่มีมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนที่ชัดเจน จึงทำให้สถิติในการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การมีมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ได้เป็นอย่างดี และเป็นมาตรการที่ WHO รับรองว่ามีประสิทธิผลสูงในการลดการบริโภคเพราะทำให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น
 
 
          ทางกรมควบคุมโรคหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านจะได้รับทราบและเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของประกาศสานักนายกฯ และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 0 2590 3015
 
              
 
วันที่ 3 ธันวาคม 2563

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563
 
เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วน ใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน
 
ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่
7 สิงหาคม พ.ศ. 2563
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด