ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรมอนามัย กรมควบคุมโรค แนะเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ห่วงเด็กเล็ก-วัยเรียนได้รับผลกระทบ

กรมอนามัย กรมควบคุมโรค แนะเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ห่วงเด็กเล็ก-วัยเรียนได้รับผลกระทบ HealthServ.net

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู เฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่มีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และให้เช็คค่าฝุ่นทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน

กรมอนามัย กรมควบคุมโรค แนะเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ห่วงเด็กเล็ก-วัยเรียนได้รับผลกระทบ ThumbMobile HealthServ.net
กรมอนามัย กรมควบคุมโรค แนะเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ห่วงเด็กเล็ก-วัยเรียนได้รับผลกระทบ HealthServ

 

          
 
           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง รณรงค์ป้องกันฝุ่น PM2.5  ว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบค่าเกินมาตรฐาน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยสุขภาพประชาชน  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนที่อาจสัมผัสกับมลพิษทางอากาศในระดับสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในระยะยาว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็ก เนื่องจากปอดของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ทำให้มีอัตราหายใจที่ถี่กว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จึงควรดูแลและสังเกตอาการของเด็กทั้งกลุ่มปกติและเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด โดยให้เลี่ยงทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง จัดห้องในบ้านหรือในโรงเรียนให้เป็นห้องปลอดฝุ่น และลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น เช่น การจุดธูป ปิ้งย่าง เผาขยะ เผาเศษใบไม้ เป็นต้น หากพบเด็กหรือบุคคลในครอบครัว มีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพาไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาประจำตัวและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมอย่างน้อย 5 วัน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
 
           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำห้องปลอดฝุ่นในบ้านหรือในโรงเรียนนั้น สามารถดำเนินการได้ดังนี้ 
  1. ให้เลือกห้องที่ห่างจากถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน และเป็นห้องที่มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด
  2. ทำความสะอาดห้อง โดยใช้ผ้าชุบน้ำแทนการใช้ไม้กวาด 
  3. ปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกจะเข้ามา 
  4. เปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้อง และไม่ควรทำกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มขึ้นในห้อง เปิดเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในห้อง (ถ้ามี) ส่วนห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง
 

           “ทั้งนี้ ก่อนพาเด็กออกนอกบ้าน ให้ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว   

 
 
กรมอนามัย
15 ธันวาคม 2563

 กรมควบคุมโรค แนะประชาชนติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรดูแลเป็นพิเศษ

 
         กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงของตนเอง เพื่อป้องกันการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
 
          วันนี้ (15 ธันวาคม 2563) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ นั้น กรมควบคุมโรค จึงมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ดำเนินการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
 
           เนื่องจากค่า PM2.5 ในแต่ละจุดแต่ละเวลามีความแตกต่างกัน ทำให้ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนจึงขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ คือ
  1. ตำแหน่งที่อยู่อาศัยหรือตำแหน่งที่ทำกิจกรรม
  2. ช่วงเวลาและระยะเวลาที่สัมผัส
  3. ชนิดของกิจกรรมที่ทำในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5 สูง เช่น การออกกำลังกายกลางแจ้ง ทำงานกลางแจ้ง จะมีความเสี่ยงที่จะได้รับ PM2.5 มากกว่ากลุ่มคนที่ออกกำลังกายในที่ร่ม หรือทำงานในอาคาร
  4. ปัจจัยเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์   ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหืด ภูมิแพ้ หากได้รับมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือมีผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงมากกว่าประชาชนทั่วไป
 
          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติม สำหรับประชาชนที่มีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วย 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่
  1. กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก
  2. กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล แสบจมูกและลำคอ
  3. กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น อาการคันตามร่างกาย มีผื่นแดงตามร่างกาย
  4. กลุ่มโรคตาอักเสบ เช่น อาการแสบหรือคันตา น้ำตาไหล และตาแดง หากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
 
          ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการและเฝ้าระวังสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่เพื่อประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสฝุ่นละอองอย่างเหมาะสม โดยสามารถติดตามสถานการณ์ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้ที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ และขอให้ประชาชนลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ลดการใช้รถยนต์และรถที่มีควันดำ ลดการเผาขยะ หรือเผาในที่โล่งแจ้ง รวมถึงดูแลทำความสะอาดบ้านให้ปลอดฝุ่น โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ด และปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้านหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณหรือเส้นทางที่มีฝุ่นหนาแน่น หากจำเป็นควรป้องกันการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด โดยการสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก และที่สำคัญควรสวมใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ผู้ที่เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ ควรป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากาก แว่นตา เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันฝุ่น เพราะฝุ่นจะทำให้เกิดการระคายเคืองตาและผิวหนังได้ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
 

กรมควบคุมโรค
วันที่ 15 ธันวาคม 2563
กรมอนามัย กรมควบคุมโรค แนะเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ห่วงเด็กเล็ก-วัยเรียนได้รับผลกระทบ HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด