ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

โรคลำไส้แปรปรวน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

โรคลำไส้แปรปรวน คือความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ในเรื่องการบีบตัว โดยตรวจไม่พบพยาธิที่ลำไส้ใหญ่จากการส่องกล้องตรวจลำไส้หรือการตรวจเลือด โรคนี้มักจะมีประวัติเป็นมานานอาจเป็นปีและมีอาการเป็นๆ หายๆ เป็นโรคที่สร้างความรำคาญรบวนกิจวัตรประจำวันให้แก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยมักจะวิตกกังวลว่าทำไมโรคไม่หาย แม้ได้ยารักษา หรืออาจเข้าใจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โรคลำไส้แปรปรวนมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชายประมาณ 2:1

ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมักจะมีอาการ ดังนี้
  1. อาการปวดท้อง  อาจจะปวดตรงกลางหรือปวดบริเวณท้องน้อย  โดยทั่วไปจะปวดท้องน้อยด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา  ลักษณะอาการปวดมักจะปวดแบบปวดเกร็ง
  2. อาการแน่นท้อง  ท้องอืด  มักจะไม่สัมพันธ์กับอาหาร
  3. หน้าท้องโตขึ้นเหมือนมีลมในท้อง  อาจมีอาการเรอ หรือผายลมมากขึ้น
  4. การถ่ายอุจจาระไม่ปกติ  บางรายมีอาการท้องผูก  บางรายท้องเสีย  หรือในบางรายอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเสียก็ได้  ผู้ป่วยบางรายมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด  บางรายปวดเบ่งแต่เมื่อถ่ายอุจจาระแล้วอาการดีขึ้น  มักจะอุจจาระเป็นมูก (Mucous)  อาการต่างๆ เหล่านี้มักเป็นๆ หายๆ มีอาการมากน้อยสลับกันไป  โดยมีอาการนานเกิน 3 เดือนในระยะเวลา 1 ปี

สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน  แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มี 3 อย่างที่สำคัญได้แก่
  1. การบีบตัวของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ  เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้  ทำให้เกิดอาการปวดแน่นท้อง  ท้องผูก  หรือท้องเสียได้
  2. ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า  หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ  ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่  อาหารเผ็ด, กาแฟ, แอลกอฮอล์ทุกชนิด, ช็อกโกแลต  เป็นต้น  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์  ได้แก่  ความเครียด  ความวิตกกังกล  เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นก็ทำให้ผนังลำไส้บีบตัวผิดปกติ  ทำให้เกิดอาการปวดท้อง  ท้องผูก  หรือท้องเสียได้
  3. เป็นผลหลังมีการติดเชื้อในลำไส้  ปัจจัยนี้พบในผู้ป่วย IBS  ในเขตร้อน  เช่น ประเทศไทย  ซึ่งหลังจากทุเลาจากภาวะลำไส้อักเสบแล้ว  หนึ่งในสามของผู้ป่วยจะมีอาการของลำไส้แปรปรวนกำเริบ

การรักษา

ยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้  เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการหลายระบบรวมกัน  ยาที่ใช้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อาการดีขึ้นเท่านั้น  แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยาที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยและแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อให้อาการของโรคนี้ดีขึ้นได้
 
การปฏิบัติตัว  ที่ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนควรปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
  • ควรรับประทานอาหารช้าๆ และไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป (รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ)
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน  โดยเฉพาะมื้อเย็นและมื้อค่ำ  เนื่องจากไขมันจะเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
  • ถ้าผู้ป่วยมีอาการท้องผูกร่วมด้วย  ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร(Fiber) ให้มากขึ้น  ดื่มน้ำให้เพียงพอ  และฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มนมโยเกิร์ตในผู้ป่วยโรค IBS ชนิดท้องเสีย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่จะกระตุ้นอาการของโรคให้เป็นมากขึ้น  ได้แก่  กาแฟ  อาหารรสจัด  แยม ช็อกโกแลต  ผลไม้รสเปรี้ยวบางชนิด  อาหารรสเผ็ด  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด  และน้ำอัดลม  เป็นต้น
  • หากผู้ป่วยมีภาวะเครียดร่วมด้วย  ควรหาทางผ่อนคลายหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ  ควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ  อาจจำเป็นต้องพบจิตแพทย์ในบางรายที่มีปัญหาทางจิตใจค่อนข้างมาก

โรคลำไส้แปรปรวนจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่

โรคนี้ไม่พบว่า เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งแม้จะเป็นอาการเป็น ๆ หาย ๆ มานาน  แต่พึงระมัดระวังในผู้ป่วยสูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย  มีอาการท้องผูกมากขึ้น  หรือมีอาการท้องเสียเกิดขึ้น  จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยละเอียด  เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด