ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ HealthServ.net
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ThumbMobile HealthServ.net

มทส.เดินหน้าผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้ฤกษ์ลงต้นกล้า รุ่นแรก จากกัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร 13 พฤษภาคม นี้ ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะเก็บเกี่ยวรอบแรกได้ในกรกฎาคม 2563 ส่งต่อโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ เครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ HealthServ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พร้อมเริ่มผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จากกัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร หลังได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เพื่อการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ประเภท 5 เริ่มแผนการผลิตและใช้ประโยชน์ ได้ฤกษ์ลงต้นกล้า รุ่นแรก วันที่ 13 พฤษภาคมนี้ ภายในโรงเรือนระบบปิดตามมาตรฐานสากล คาดว่าจะเก็บเกี่ยวรอบแรกได้ในกรกฎาคม 2563 ส่งต่อโรงพยาบาลคูเมือง จ.บุรีรัมย์ เครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพรไทย 9 ตำรับเชิงพาณิชย์

 
     ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทย ในการขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทยตามนโยบายของรัฐบาล วัตถุประสงค์เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา การตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพ และถูกต้องตามมาตรฐานสากล  ด้วยศักยภาพของมหาวิทยาลัยด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มโครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก ได้มีการวางแผนการผลิต แผนการจําหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์  เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ กระทั่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ออกใบอนุญาตการปลูกและครอบครองเมล็ดพันธุ์กัญชา ให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เมื่อปลายเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา
 
   นับจากนี้ โครงการวิจัย “การผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” มทส. จะเดินหน้าตามแผนงานอย่างเต็มกำลัง หลังจากเตรียมการปรับพื้นที่พื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี ขนาด 15 ไร่ จัดสร้างโรงเพาะชำต้นกล้า จำนวน 1 โรง โรงเรือนเพื่อการปลูก ขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง รวมพื้นที่ในการปลูก 3,090 ตารางเมตร เป็นโรงเรือนระบบปิดวางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ ถูกหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล เพื่อการเพาะกล้า การเตรียมดิน การปลูก การเก็บผลผลิตกัญชา และการจัดทำรายงานผล ซึ่งต้องดำเนินการอย่างรัดกุมภายใต้ข้อกำหนดที่ระบุปลูกได้จำนวน 3,360 ต้นต่อหนึ่งรอบการผลิต ภายในพื้นที่เพาะปลูกที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน พร้อมวางระบบรักษาความปลอดภัยทุกขั้นตอน
 
 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ HealthServ
   สำหรับแผนการผลิต  มหาวิทยาลัย ได้รับความอนุเคราะห์ “เมล็ดพันธุ์กัญชาฝอยทองภูผายล” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยสามารถนำมาเพาะเป็นต้นกล้ากัญชา จำนวน 5,760 ต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้ทำการคัดแยกต้นกล้ากัญชา รุ่นแรก ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่จะถึงนี้ และเมื่อต้นกล้ามีอายุ 20-25 วัน หรือมีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร จัดทำการคัดเลือกไปปลูกภายในโรงเรือน ทั้ง 2 โรง แบ่งเป็นปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิต ส่วนต้นกล้าที่เหลือจะเก็บไว้เพื่อซ่อมต้นที่ไม่สมบูรณ์จนกว่าจะครบจำนวนที่ต้องการ สำหรับผลผลิตกัญชาสด จำนวน 2,000 กิโลกรัม  ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความทักษะและประสบการณ์อย่างสูง โดยเฉพาะการคัดแยกเพศ เนื่องจากต้นกัญชาเป็นพืชที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย เมื่อถึงระยะออกดอกจะต้องคัดเพศผู้ทิ้งทําลาย ด้วยการเผาโดยโรงเผาขยะชีวมวล มทส.  อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้าย และทำลายกัญชาที่เหลือจากกระบวนการผลิตต่างๆ  จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบฯ อย่างใกล้ชิด
 
 
      การเก็บเกี่ยว แบ่งเป็น 2 รอบ รอบที่ 1 จะเก็บใบ เดือนกรกฎาคม 2563 เก็บดอก เดือนสิงหาคม 2563  รอบที่ 2 เก็บใบ เดือนตุลาคม 2563 และ เก็บดอก เดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งก่อนเก็บเกี่ยวในช่วงต้นกัญชาติดเมล็ด จะต้องประสานให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 9 นครราชสีมา เป็นผู้วิเคราะห์สารตกค้างก่อนทําการเก็บเกี่ยว ทั้ง 5 ส่วน คือ ราก ลําต้น ใบ ดอก และเมล็ด เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพถูกต้องตามมาตราฐาน ก่อนส่งมอบเป็นกัญชาแห้ง ปริมาณ 150 กิโลกรัม ให้แก่โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรแผนไทย จํานวน 9 ตํารับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์  ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี  และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง  เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  พัฒนาต่อยอดยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”
 
ส่วนประชาสัมพันธ์
สำนักงานอธิการบดี มทส.
7 พฤษภาคม 2563 


ข่าวสารความเคลื่อนไหว โครงการผลิตกัญชา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กับภารกิจผลิตกัญชาเชิงคุณภาพ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด