ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วิ่งอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี

วิ่งอย่างไรให้เพื่อให้มีสุขภาพดี

 วิ่งอย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพดี
 
1.วิ่งอย่างไรจึงเรียกว่าถูกวิธีและปลอดภัยจากการบาดเจ็บ
 
                หัวข้อนี้อาจใช้เวลาสักหน่อยเพราะมีความสำคัญ หลักการเบื้องต้นที่ถือว่าเป็นหัวใจของการออกกำลังกาย คือ การอบอุ่นร่างกายก่อนและผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง (Warm up & Cool down) ซึ่งจำเป็นต้องยืดกล้ามเนื้อที่ใช้มากๆ คือ กล้ามเนื้อน่อง ซึ่งจะป้องกันตะคริวได้เป็นอย่างดีรวมกับกล้ามเนื้อต้นขา,กล้ามเนื้อหลังและสะโพกส่วนล่าง ส่วนกล้ามเนื้อแขนและไหล่ก็สำคัญรองลงมา หลังจากนั้นก็วิ่งเหยาะๆก่อน แต่ก่อนจะลงสนามคงต้องไม่ลืมที่จะแต่งตัวให้เหมาะสมก่อน ซึ่งบางคนก็ทราบแล้ว แต่ส่วนมือใหม่ ขอแนะนำดังนี้ครับ
 
                1.เสื้อผ้า เลือกตามสภาพอากาศ โดยทั่วไปเลือกให้เบา, ระบายเหงื่อได้ดีและแห้งเร็ว
 
                2.รองเท้า แนะนำเลือกซื้อรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ และถ้าเสริมด้วยยางรองส้นเท้าด้วยก็จะเยี่ยมเลยและอย่าลืมถุงเท้า เพื่อลดการเสียดสีที่ทำให้นิ้วเท้าพองได้
 
ขั้นตอนการเริ่มออกกำลังกาย
 
                1.เลือกสนามวิ่งที่นุ่ม เช่น สนามหญ้าแล้วค่อยเปลี่ยนไปวิ่งสนามที่แข็งขึ้น
 
                2.ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังวิ่ง
 
                3.แนะนำให้เดินเร็วก่อนแล้วค่อยวิ่งเหยาะๆสักช่วงหนึ่งก่อน แล้วจึงวิ่งเร็วขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้รับการกระตุ้นและเริ่มคุ้นเคยกับการรับน้ำหนักที่มากกว่าการเดินปกติ
 
                4.ขณะวิ่งถ้ามีการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ, เจ็บบริเวณส่วนต่างๆให้หยุดพัก
 
                5.ถ้ามีเพื่อนวิ่งด้วยก็จะดี เผื่อว่าเรามีการบาดเจ็บระหว่างการวิ่งจะได้ช่วยดูแลกันได้
 
เทคนิคการวิ่ง
 
                1.การลงเท้า มีความสำคัญมาก โดยส่วนใหญ่คนที่วิ่งเพื่อสุขภาพจะแนะนำให้ลงส้นเท้าก่อน
 
                2.การเคลื่อนไหวของแขน จะช่วยในการทรงตัวโดยแขนจะแกว่งไปแนว หน้า-หลัง อย่าเกร็งหรือหนีบแขนไว้แนบลำตัว, กำมือหลวมๆ
 
                3.การหายใจ หายใจเข้าทางจมูก และหายใจออกทางจมูกและปาก ถ้าเราสามารถฝึกการหายใจเข้าอกขยายและหายใจออกแขม่วท้องได้ก็จะดีมาก บางครั้งอาจให้จังหวะกับตัวเอง เช่น 1, 2, 3; 1, 2, 3 เป็นต้น
 
2.มีโรคอะไรบ้าง ที่เกิดได้จากการวิ่ง หรือเป็นโรคที่แพทย์พบได้บ่อยอันมีสาเหตุมาจากการวิ่ง
 
ส่วนใหญ่จะพบปัญหาช่วงล่างตั้งแต่ หลัง สะโพก ต้นขา เข่าน่อง ข้อเท้า และฝ่าเท้า กลุ่มอาการกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นอักเสบ เช่นเส้นเอ็นสะโพกและต้นขาอักเสบ ตะคริวบริเวณกล้ามเนื้อน่อง รอยช้ำเนื้อเยื่อส้นเท้าอักเสบ และการบาดเจ็บ  ข้อเคล็ดที่ข้อเข่า และข้อเท้า
 
3.สัญญาณเตือนของร่างกาย จากการออกกำลังกายโดยการวิ่ง                   
 
                ข้อนี้สำคัญมากโดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุคงต้องอาศัยการสังเกตด้วยตนเองเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน ดังนี้
 
                1.อาการหน้ามืดและวิงเวียน บ่งบอกถึงการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
 
                2.อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อหรือปวดข้อต่อ บ่งบอกถึง กล้ามเนื้อและข้อต่อรับแรงกระแทกมากเกินไป
 
                3.รู้สึกอ่อนเพลียมากระหว่างวันหลังการออกกำลังกาย บ่งบอกถึง การที่ออกกำลังกายมากเกินไปที่ร่างกายจะรับได้
 
                4.ไม่สามารถสนทนาพูดคุยได้ขณะออกกำลังกาย บ่งบอกถึง การที่เราหายใจไม่ทัน หรือไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆต่อได้ บ่งบอกถึง การออกกำลังกายมากเกินที่ร่างกายจะรับไหว
 
                5.มีอาการป่วยบ่อยๆ บ่งบอกถึง การที่ออกกำลังกายหักโหมทำให้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง
 
4.ข้อห้ามสำหรับบุคคลที่ไม่ควรเลือกออกกำลังกายโดยการวิ่ง
 
                โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่มีข้อห้ามชัดเจนว่าห้ามบุคคลใดวิ่งออกกำลังกายแต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่หักโหมจนเกินไป และต้องระมัดระวัง ในกรณีต่อไปนี้
 
                1.ผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูง, โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคไตเสื่อม และโรคหอบหืด
 
                2.โรคอ้วน เริ่มจากการเลือกรองเท้า, สนามที่นุ่ม ออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไปและสังเกตตัวเองว่าปวดตามข้อต่อหรือไม่
 
5.ข้อแนะนำจากแพทย์ เกี่ยวกับเคล็ดลับการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี                      
 
                1. “เริ่มต้น” ตั้งแต่บัดนี้ (สำคัญที่สุด)
 
                2. “ทีละน้อย” ค่อยๆทำ
 
                3. “มองตัวเองว่าผิดปกติอะไร”
 
                4. “ทำสม่ำเสมอ” อย่างน้อย 3 ครั้ง/ สัปดาห์
 
                5. “อย่าลืมดื่มน้ำ” ดื่มทีละนิดเป็นช่วงๆ
 
                6. “งดอาหารก่อนออกกำลังกาย” ก่อนออกกำลังกายไม่ควรทานอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการจุกเสียด
 
                7. “พักผ่อนให้เพียงพอ” เพื่อการฟื้นฟูและพร้อมกับการออกกำลังกายต่อไป
 
                หวังว่าเนื้อหาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และเป็นจุดเริ่มต้นให้กับผู้อ่านที่คิดจะหันมาดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่นโดยการออกกำลังกาย
 
                                                                                                                                       
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด