จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง "รัสเซีย-ยูเครน" และความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นบริเวณแนวชายแดนยูเครน ที่มีการปะทะโจมตีเกิดขึ้น ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วโลก ณ ขณะนี้นั้น
ทางการไทยและกระทรวงต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินการติดต่อประสาน เพื่อเตรียมการช่วยเหลือดูแลชาวไทย ที่พำนักและทำงานอยู่ในยูเครน โดยมีสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินแผนการ เพื่อดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัย และแผนการอพยพคนไทยออกจากยูเครน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เริ่มภารกิจตั้งแต่ช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาแล้ว
สำรวจจำนวนคนไทยในยูเครน พบว่ามี จำนวน 253 คน กระจายอยู่ในเมืองต่างๆ ได้แก่ กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน, เมือง Kharkiv (คาคีฟ), เมือง Mykolaiv (มิกโคลาอีฟ), เมือง Lviv (ลวิฟ) เมือง Odessa ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในร้านนวด/สปาไทย
สำหรับแผนการอพยพนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ กำหนดให้เมืองลวิฟ เป็นฐานในการรวบรวมคนไทยในยูเครน โดยจัดตั้ง
“ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน (เมืองลวิฟ)” โรงแรม Цісар หรือ Tsisar ขึ้น ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้การดูแล
สถานเอกอัครราชทูตฯ กำหนดแผนการนำคนไทยออกจากเมืองต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2565 และมีกำหนดเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 2 มีนาคม 2565
สธ.ตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 3 ราย รับเข้าระบบรักษาแล้ว
2 มีนาคม 2565 ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศยูเครน ซึ่งกำลังมีสถานการณ์สู้รบ โดยให้เข้ารับการดูแลที่ศูนย์กักตัว (Quarantine Center) สถาบันบำราศนราดูร
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายและข้อสั่งการให้ช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศยูเครนกลับสู่มาตุภูมิโดยเร็วที่สุด ซึ่งทราบมาว่า มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในยูเครน 139 คน ชุดแรกเดินทางกลับมาถึงแล้ว 38 คน และช่วงบ่ายจะมาอีก 58 คน รวม 96 คน ส่วนที่เหลือจะทยอยเดินทางกลับมาครบภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งเป็นการเดินทางกลับในสถานการณ์เร่งด่วน จึงไม่สามารถลงทะเบียน Thailand Pass หรือเข้าระบบ Test &Go ได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดศูนย์กักตัวที่สถาบันบำราศนราดูรให้การดูแล โดยตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR พบเชื้อเพียง 3 คน เป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่มีอาการ ได้ให้การดูแลรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ต่อไป
สำหรับแรงงานที่ไม่ติดเชื้อจะให้กักตัวเฝ้าระวังอาการตามแนวทาง 7+3 โดยมีการตรวจ ATK ในวันที่ 5 หากผลเป็นลบ เมื่อครบวันที่ 7 สามารถเลือกที่จะอยู่สังเกตอาการต่อ หรือเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้วเฝ้าระวังสังเกตอาการที่บ้านอีก 3 วันได้ และระหว่างกักตัวหากมีอาการป่วยสามารถแจ้งได้ทันทีผ่านระบบหมอชนะ
นอกจากนี้ จากการสอบถามแรงงานไทยในยูเครนได้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้ว 2 เข็ม ดังนั้น ก่อนกลับภูมิลำเนาจะมีการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ด้วยเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อกลับถึงภูมิลำเนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงานติดตามดูแลช่วยเหลือต่อเนื่อง สำหรับเรื่องสภาพจิตใจ จากการสอบถามทุกคนมีขวัญกำลังใจดีและดีใจที่ได้กลับมาเมืองไทย
ข้อมูลและภาพจาก
สถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ
Suvarnabhumi Airport
กระทรวงสาธารณสุข