ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง

ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง HealthServ.net

รพ.ราชวิถี ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ประเด็น ความเชื่อเรื่องอาหารของผู้ป่วยเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมากโดยมาจากการบอกเล่าหรือข้อมูลที่ส่งต่อกันทางอินเตอร์เน็ต คำแนะนำเหล่านี้บ่อยครั้งทำให้เกิดความสับสน อาหารอะไรควรกิน อะไรไม่ควรกิน จึงได้มีข้อแนะนำเรื่องกินเพื่อดูแลและป้องกันมะเร็งเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษานำไปปฏิบัติและผู้ที่สนใจป้องกันมะเร็ง โดยเป็นข้อมูลที่รวบรวมมาจากงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ดังนี้

ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง ThumbMobile HealthServ.net
ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง HealthServ
 

หลักฐานเชิงประจักษ์ อาหาร โภชนาการและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคมะเร็ง

 
เนื้อสัตว์กับโรคมะเร็ง
 
     ข้อข้องใจ : คนเป็นจำนวนมากมีความเชื่อว่า โปรตีนจากสัตว์หรือเนื้อสัตว์กินแล้วจะเร่งการเติบโตของมะเร็ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดอย่างสิ้นเชิง
 
     คำตอบ : จากข้อมูลที่รายงานโดย  EPIC 2009 และ  Ferguson 2010 พบว่าความเกี่ยวข้องของเนื้อสัตว์กับโรคมะเร็งนั้น ถ้าพิจารณาให้ถ้วนถี่ลงไปจะพบว่าไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกอย่างที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง แต่เป็นเนื้อแดง คือเนื้อสัตว์ใหญ่และเป็นเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการ เช่น การทำเป็นไส้กรอก การหมัก การดองที่มีการเติมเกลือหรือสารกันบูดประเภทไนเตรท ไนไตรท์ลงไป
 
 
 
    กลุ่มนักวิจัยในยุโรปที่ทำการศึกษาที่เรียกว่า EPIC study (2009) สรุปว่า ปัญหาของเนื้อแดงที่มีความเข้าใจกันว่าเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ประเด็นอยู่ที่ความร้อนที่ใช้ปรุงประกอบเนื้อสัตว์นั้นสูงเกินไป เช่นความร้อนจากการปิ้งย่างจนเกรียม ซึ่งทำให้เกิดสาร heterocyclic amines, polycyclic aromatic hydrocarbon และ  N-nitroso compounds ที่มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง (Ferguson 2010)
 
     เนื้อสัตว์ มีองค์ประกอบหลักๆคือโปรตีน (โปรตีนในเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีกว่าโปรตีนจากพืช เพราะมีกรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการครบถ้วน) และยังมีวิตามินที่สำคัญหลายชนิด เช่น วิตามินบี 1 บี 6 ไนอาซีน  และธาตุเหล็ก ถ้ากินเนื้อสัตว์กับไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลต่างกันสำหรับขนาดก้อนและการโตของเซลล์มะเร็งในคน การเติบโตของก้อนเนื้อร้ายนั้นไม่ได้ขึ้นกับอาหารที่เรากิน เนื้อร้ายสามารถเติบโตได้แม้ผู้ป่วยไม่กินอาหารเลย เพราะเนื้อร้ายนั้นมีความสามารถในการเจาะเข้าสู่ระบบกระแสเลือดของผู้ป่วยได้ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยผอมแห้งลงไปเรื่อยจนเหลือหนังหุ้มกระดูก ถ้าผู้ป่วยไม่รับประทานโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์  จะทำให้ไม่แข็งแรง ติดเชื้อง่าย ภูมิต้านทานไม่ดี  เม็ดเลือดน้อย ซีด เหนื่อยง่าย จะทำให้รับเคมีบำบัด และการฉายแสงไม่ได้ตามกำหนด
 
     การรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ที่เป็นเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู และเนื้อวัวในปริมาณมากๆ และรับประทานเป็นประจำ เช่น ชาวตะวันตกกินสะเต็กชิ้นใหญ่ เป็นอาหารหลัก และไม่ชอบรับประทานผัก ผลไม้ ในเวลาระยะยาว จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาหารที่ให้โปรตีนที่แนะนำคือ เนื้อปลา กินได้ทุกวันหรืออาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง เนื้อสัตว์ปรุงโดยการต้ม นึ่ง อบ ลวก ยำ หรือจะทอดก็ได้ถ้าไม่ชอบกินวิธีอื่น
 
     อาหารที่ให้โปรตีนที่ดี คือ ไข่ แนะนำให้กินไข่ขาวได้วันละหลายฟอง ถ้าไม่มีข้อจำกัดอย่างอื่น ถ้าเป็นไข่แดงแนะนำวันละ 1-2 ฟอง ไข่แดงมีธาตุเหล็กและมีวิตามินหลายชนิด
 
 
น้ำตาลกับโรคมะเร็ง
 
     ข้อข้องใจ : ข้อมูลที่ส่งต่อกันเป็นจำนวนมากทางอินเตอร์เน็ตบอกว่า การบริโภคน้ำตาลทรายเป็นภัยทำให้เกิดมะเร็ง ด้วยเหตุผลว่าเซลล์มะเร็งเติบโตด้วยการหล่อเลี้ยงของน้ำตาล
 
      คำตอบ : Ruxton et al (2010) และ WCRF (2007) ได้ให้คำตอบว่า น้ำตาลทรายโดยตัวของมันเองนั้นไม่ได้ทำร้ายสุขภาพ แต่ปริมาณที่บริโภคน้ำตาลมีความสำคัญ ในบางงานวิจัยที่พบว่าการบริโภคน้ำตาลมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น มีปัจจัยที่รบกวนการศึกษา เช่น การได้รับพลังงานมากเกินไปที่พบคู่ไปกับการกินน้ำตาลมาก
 
 
 
     Zhang et al (2010) ได้ศึกษาพบว่า กาแฟและเครื่องดื่มน้ำอัดลมไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า จะให้บริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้กันอย่างไม่จำกัด เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าสามารถบริโภคได้ตามสมควร แต่มิได้ห้ามการบริโภคสำหรับผู้ที่กลัวเป็นโรคมะเร็ง
 
 
ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองกับโรคมะเร็ง
 
     ข้อข้องใจ : มีผู้ที่บอกว่า กินนมถั่วเหลือง เต้าหู้แล้วไม่ดี เร่งการเติบโตของมะเร็งเต้านม ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทานเต้าหู้ นมถั่วเหลือง
 
     คำตอบ : จากการศึกษาของ Yan et al 2010 (กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา) พบว่า การบริโภคอาหารจากถั่วเหลืองลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้หญิง 21% โดยไม่มีผลในผู้ชาย และไม่มีปัญหากับมะเร็งเต้านมในผู้หญิง
 
 
 
สารไอโซฟลาโวนอยด์ในถั่วเหลือง ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเอสโตเจนอย่างอ่อน และไปจับกับตัวรับฮอร์โมน คือไปแทนที่ฮอร์โมนเอสโตเจนตัวจริง จึงเป็นผลดีต่อหญิงยังไม่หมดประจำเดือน และไม่เป็นปัญหากับหญิงหมดประจำเดือนแล้ว คือทำให้ได้โปรตีนซึ่งเป็นอาหารที่มีประโยชน์
 

นมวัวกับโรคมะเร็ง
 
     ข้อข้องใจ : มีผู้ที่บอกว่า กินนมวัวแล้วไม่ดี เร่งการเติบโตของมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งจำนวนมากจึงเลิกรับประทานนมวัว โยเกิร์ต เนยแข็ง และอาหารที่ทำจากนมวัวทุกอย่าง
 
     คำตอบ : WCRF (2007) รายงานว่า การบริโภคอาหารนมวัวไม่ได้เกี่ยวข้องต่อความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง  และไม่มีผลไปเร่งให้ก้อนเนื้อร้ายโตขึ้น  สามารถดื่มได้ แต่ถ้าดื่มนมวัวแล้วท้องเสีย สามารถเปลี่ยนมาดื่มโยเกิร์ต หรือนมถั่วเหลืองแทนได้ มีผู้ป่วยหลายคนเกิดปัญหาเรื่องกระดูกพรุนขึ้นมาพร้อมๆกับเรื่องมะเร็งอยากจะบำรุงกระดูกไปด้วย แนะนำว่า ถ้ากินนมวัวได้อยู่แล้ว ให้กินต่อไปวันละ 1-2 แก้ว
 
 
ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง HealthServ
 
 
 
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคมะเร็ง
 
     ข้อข้องใจ : มีผู้บอกว่า กินอาหารเสริมป้องกันมะเร็งได้
 
     คำตอบ : คำแนะนำจากการประมวลข้อมูลล่าสุดในขณะนี้ คือ
 
     ไม่แนะนำให้เสริม  วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินอี โฟเลตในรูปแบบเม็ด หรือแคปซูล เพื่อป้องกันมะเร็ง เพราะมีหลักฐานว่าจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้จากการเสริมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ยกเว้น วิตามินอี และ  โฟเลต ให้เสริมในรายที่แพทย์สั่ง  เนื่องจากผู้ป่วยมีภาวะขาดหรือเสี่ยงที่จะขาดวิตามิน
 
 
 
     วิตามินซี ที่นิยมรับประทานกันมาก เช่น วันละ 1,000-16,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากเกินไป นอกจากไม่ช่วยให้โรคมะเร็งดีขึ้น ยังอาจทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานด้อยลง และเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต ถ้าเสริมมากเป็นประจำ
 
     น้ำมันปลา  มีกรดไขมันประเภทโอเมก้า3 มักบริโภคเพื่อหวังผลลดการเกิดการอักเสบ ประโยชน์ที่ได้รับก็ยังไม่ชัดเจนมาก แต่ถ้าจะรับประทานก็ไม่มีข้อห้าม นอกจากผู้ที่เสี่ยงจะมีเลือดออก น้ำมันปลาจะเพิ่มความเสี่ยงนี้มากขึ้น
 
     ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่มีชนิดใดที่พบว่าได้ผลในการป้องกันมะเร็ง 



กลุ่มงานโภชนศาสตร์
รพ.ราชวิถี
ข้อข้องใจและคำตอบ ต่อความเชื่อเรื่องอาหาร ของผู้ป่วยมะเร็ง HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด