มาตรฐานของพื้นที่หน่วยเล็กที่สุดในเมืองคือหน่วยของที่พักอาศัยหนาแน่นต่ำ 1 บล็อกที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีถนนล้อมรอบจะมีขนาดไม่เกิน 2 เท่าของระยะเดินเท้า หมายความว่า คนที่อยู่อาศัยในบ้านที่อยู่ตรงกลางของบล็อกออกมาที่ประตูบ้านแล้ว จะเดินไปทางซ้ายหรือขวาไป 1 ระยะเดินเท้าจะต้องเจอถนนสายรองที่มีรถประจำทางหรือระบบขนส่งมวลชนวิ่งให้บริการอยู่รวมสองข้างก็เป็น 2 ระยะเดินเท้า (ย่านที่พักอาศัยไม่ควรมีรถประจำทางวิ่งผ่านหน้าบ้าน เพราะจะเสียความเป็นชุมชนและความเป็นส่วนตัวไป)
หนึ่งระยะเดินเท้ามีระยะตั้งแต่ 400 ถึง 800 เมตร แล้วแต่สภาพพื้นที่ ประชากร ภูมิอากาศ หมายความว่าที่พักอาศัยหนาแน่นต่ำ (ซึ่งเป็นบล็อกที่ใหญ่ที่สุดในเมือง) 1 บล็อกจะมีขนาดตั้งแต่ 800 x 800 หรือ 1,600 x1,600 เมตร ถ้าเมืองประกอบขึ้นด้วยบล็อกขนาดมาตรฐานที่ผมเล่าให้ฟังเป็นฐาน เมืองจะมีสัดส่วนพื้นที่ถนนเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมดไม่น้อยกว่า 30% ตามมาตรฐานอย่างแน่นอน
แต่กรุงเทพฯ ของเราพัฒนาจากคูนา คันดิน ขนัดสวน ผนวกกับการเดินทางในคูคลองเป็นหลัก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นถนนจึงสร้างถนนมาตรฐานเพียงแค่ถนนสายหลักเท่านั้น บล็อกมาตรฐานของกทม.จึงกลายเป็นบล็อกขนาดใหญ่ (Super Block) ที่มีขนาดประมาณ 2000x 2000 เมตรขึ้นไป ผลก็คือ
• เมื่อบล็อกใหญ่ พื้นที่ถนนก็ต้องเล็กตามไปด้วย และทำให้บ้านที่อยู่ด้านใน Super Block เหล่านี้ไม่สามารถเดินเท้าไปต่อกับระบบขนส่งมวลชนที่ปากซอยได้ต้องใช้รถสี่ล้อเล็ก รถเมล์เล็ก หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
• ส่งผลให้ค่าเดินทางและเวลาในการเดินทางของคนเมืองสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นเพราะต้องเสียค่าเดินทางในส่วนจากระบบขนส่งมวลชนหลักถึงบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้นอีก
• ส่งผลให้ประชาชนเลือกที่จะอยู่ไกลเมืองมากขึ้น แต่ขอให้อยู่บนถนนสายหลักเพราะจะเสียค่าเดินทางเพียงต่อเดียวคือบนระบบขนส่งมวลชนสายหลัก ซึ่งจะมีค่าเดินทางถูกกว่าการอยู่ใกล้เมืองแต่อยู่ด้านในของ Super Block ที่ต้องเสียค่าเดินทางสองต่อ
• อีกทั้งค่าเดินทางจากปากซอยเข้าบ้านกลาง Super Block ยังแพงมากอีกด้วย (ประมาณว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดค่าโดยสาร 10 บาท/กิโลเมตร)
• รวมถึงราคาที่พักอาศัยนอกเมืองยังถูกกว่าที่พักอาศัยกลางเมือง ถ้าจ่ายเงินเท่ากันอยู่ในเมืองได้คอนโดห้อง Studio เล็ก ๆ แต่อยู่นอกเมืองได้บ้านเดี่ยว คนจึงเลือกอยู่นอกเมืองเพราะต้นทุนค่าที่พักและค่าเดินทางถูกกว่าอยู่ในพื้นที่ชั้นในของเมืองนั่นเอง
ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ มีต้นเหตุมาจากโครงสร้างทางกายภาพของกรุงเทพฯ เอง แต่แนวทางในการแก้ปัญหาที่กรุงเทพมหานครและรัฐบาลไทยทำมาตลอดหลายสิบปี คือการสร้างและพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสายหลักและขยายให้ไกลจากศูนย์กลางเมืองมากที่สุดเท่านั้น เนื่องจากเป็นวิธีการซ้อนทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนบนรางลงบนพื้นที่สาธารณะเดิม ซึ่งก็ทำได้แค่บนนถนนสายหลักอย่างเดียว ไม่ได้คิดจะแก้ปัญหา Super Block เพราะต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อเพิ่มและปรับเปลี่ยนถนนสายรองและสายท้องถิ่นเพื่อทลาย Super Block ลง
เนื่องจากการกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุแต่ก็ใช้เวลานานและมีผลทางการเมืองสูง เช่น การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนสายรอง แต่ประชาชนไม่ยอมรับวิธีการดังกล่าวประชาชนชาวกรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาจราจรกันต่อไปเพราะไม่มีใครยอมเฉือนเนื้อตัวเองเพื่อแก้ปัญหาที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นนั่นเอง
*** บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ในเว็ปไซด์ Rabbit Today เมื่อปี 2018 ***