ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

TAXI...คำสารภาพของคนที่สังคมบอกว่าโกง - ดร.พนิต ภู่จินดา

TAXI...คำสารภาพของคนที่สังคมบอกว่าโกง - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ.net

ใครที่โดยสารแท็กซี่ในกรุงเทพมหานครคงจะเอือมระอากับการหาแท็กซี่ว่างในชั่วโมงเร่งด่วน หาได้แล้วแท็กซี่ก็ไม่ยอมไป อ้างว่าส่งรถ แก๊สหมด ไกลเกิน ฯลฯ แต่แท็กซี่ที่ยินดีจะรับแต่ผู้โดยสารต่างชาติ

TAXI...คำสารภาพของคนที่สังคมบอกว่าโกง - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net


กรมการขนส่งทางบกได้เปิดเผยข้อมูลว่าใน ปี 2560 มีการร้องเรียนแท็กซี่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น คอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชั่น และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ประมาณ 50,000 ครั้ง เรื่องที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นการปฏิเสธผู้โดยสาร รองลงมาคือการให้บริการโดยไม่เปิดมิเตอร์

นิด้าโพล โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้สำรวจเมื่อปี 2560 ก็พบว่า ประชาชน 82.50% เคยถูกแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร เฉลี่ย 3.5 คันต่อคน มากที่สุด 20 คัน

เกิดคำถามว่า อะไรคือต้นเหตุที่แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร มีคนเอาเงินมาให้แท้ ๆ ทำไมไม่ยอมรับ

ผมมีนิสัยอยู่อย่างนึงว่าขึ้นรถแท็กซี่ทีไรต้องหาเรื่องคุยกับพี่คนขับ แล้วผมก็หาเรื่องคุยกะคนขับหลายคันเรื่องแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร จนพอจะสรุปอะไรบางอย่างออกมาให้อ่านกันได้บ้าง

 

ทัศนคติของผู้โดยสารต่างชาติที่มีต่อราคาค่าโดยสารแท็กซี่
ชาวต่างชาติที่มีระดับรายได้สูงกว่าประเทศเรา เขามาเมืองไทยแบบราชา ค่าเงินเขาใหญ่กว่าเรา จึงมีกำลังทรัพย์และยินดีจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกสบาย จะให้มายืนรอแท็กซี่ร้อนๆ ที่เรียกแล้วไม่ไปตามที่ต้องการอยู่หลายๆ คันแบบคนไทย เขาก็ไม่ยอมหรอก เขาใช้วิธีเอาเงินเข้าทุ่มเอา แท็กซี่เรียกเท่าไหร่ที่ไม่แพงเกินไปนัก เขาก็ยอมไป ระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ทั่วถึงและใช้งานง่าย อีกทั้งราคาค่าโดยสารแท็กซี่ยังไม่แพงหรอกเมื่อเทียบกับค่าแท็กซี่ของประเทศเขา ต่างจากคนไทยที่ขึ้นแท็กซี่บ่อย ๆ และมีรายได้ที่ต่ำกว่าชาวต่างชาติเหล่านั้น คนไทยยินดีเพียงจ่ายเงินตามที่ขึ้นบนมิเตอร์เท่านั้น ถ้าชาวต่างชาติเหล่านั้นทุกคนยืนยันว่าจะจ่ายตามมิเตอร์ ไม่จ่ายตามที่คนขับเรียกร้องราคามา ปรากฏการณ์แท็กซี่เลือกเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เดียว แต่ประเทศด้อยพัฒนาทุกแห่งเป็นอย่างนี้หมด แท็กซี่ชาติไหนก็จ้องจะรับคนต่างชาติเพราะสามารถเรียกร้องราคาแบบเหมาโดยไม่เปิดมิเตอร์ได้
 

ทัศนคติของคนขับแท็กซี่
คนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเดือน รายได้ไม่มั่นคง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนขับแท็กซี่จะต้องใช้เวลาทำงานวันละ 12 ชั่วโมงให้ได้เงินมากที่สุด คนต่างชาติมีโอกาสเข้าถึงเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายน้อย ไม่อยากยุ่งยาก มีเงินจ่ายแพงกว่าคนไทย รถติดมากก็ไม่ขอลงทิ้งให้แท็กซี่ติดอยู่กลางถนนฟรี ๆ มีเงินทิปค่อนข้างแน่นอน ต่างจากคนไทยที่รู้เรื่องกฎหมายมาก รู้ทางไปหมด ไม่มีทิปหรอกนอกจากเศษเงินทอนบาทสองบาท นอกจากคนไทยแล้ว คนขับแท็กซี่บอกผมว่า เขาก็ไม่อยากรับแขกและคนจีน เพราะเรื่องมากกว่าคนไทยเสียอีก แถมพูดกันไม่รู้เรื่อง ถ้าต้องเรียกตำรวจก็เสียเวลาขับรถไปทั้งวันเพื่อเงินค่าโดยสารรอบเดียวเท่านั้น สู้รับคนต่างชาติเฉพาะที่เรื่องน้อยจ่ายเงินเยอะดีกว่าแหง ๆ 


ทัศนคติของเจ้าพนักงาน
ถามว่าใครจะเป็นคนควบคุมแท็กซี่ให้รับผู้โดยสารทุกคนที่เรียก คำตอบคือตำรวจ แต่ในทัศนคติของตำรวจคิดว่าชาวต่างชาติเป็นเหยื่ออันโอชะ ที่จะเอาเงินมาให้คนยากจนอย่างแท็กซี่ได้ถูกหวยกันบ้างหละ และแท็กซี่ก็ควรจะมีทางเลือกได้ว่าจะรับใครหรือไม่รับใคร ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ถ้าแท็กซี่เป็นบริการสาธารณะ ใครเรียกก็ต้องไป แต่ตำรวจจราจรเป็นคนจนเหมือนกัน ก็ย่อมเห็นอกเห็นใจคนจนด้วยกันแหละ ตำรวจจราจรจึงไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การจับซึ่งหน้าตอนที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารจึงไม่เกิดขึ้น มีแต่จับพวกจอดรถในที่ห้ามจอดเล็ก ๆ น้อย ๆ ปล่อยให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินคดีกับแท็กซี่ที่ปฏิเสธผู้โดยสารเพียงฝ่ายเดียว 


การบริหารจัดการแท็กซี่
แท็กซี่ในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นรถเช่าเถ้าแก่มาขับ และรถคันหนึ่งมีสองกะ มีคนเช่าสองคนต่อวัน จุดนัดพบของการเปลี่ยนกะก็คืออู่แท็กซี่ซึ่งอยู่ที่ใดที่หนึ่งกระจายอยู่ทั่ว กทม. ซึ่งคนขับต้องมาส่งรถให้คนขับอีกคนหนึ่งออกไปทำมาหากินให้ทันเวลา จึงเกิดการยึดติดเชิงพื้นที่ คือ แท็กซี่จะมีการกำหนดกรอบพื้นที่การให้บริการของตนเอง ลองถามคนขับแท็กซี่ดูดิว่าปกติเขาขับอยู่แถวไหน คำตอบคือย่านแถวใกล้ ๆ กับอู่แท็กซี่นั่นแหละ ถ้าถูกเรียกออกไปไกล เวลาใกล้ส่งรถก็ต้องพยายามกลับเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ อู่ของตนเอง จะได้ส่งรถทันเวลาและก่อนส่งรถ ก็ต้องล้างรถและเติมแก๊สให้เต็มเพื่อให้คนขับอีกคนเขาขับออกไปรับผู้โดยสารได้เลยด้วย ดังนั้น การบริหารจัดการแท็กซี่แบบไทย ๆ จึงไม่สอดคล้องกับรูปแบบของแท็กซี่สากล ที่เรียกไปไหนก็ต้องไป แต่ของไทยไม่ได้มีอิสระในการเดินทางเพราะถูกล็อกด้วยการบริหารจัดการแบบกะและต้องกลับอู่นั่นเอง


ทัศนคติของเจ้าของกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
คำถามว่าทำไมแท็กซี่คิดแต่จะรับคนต่างชาติ คำตอบไม่ได้อยู่เพียงแค่การได้ค่าโดยสารที่สูงกว่าปกติเท่านั้น แต่ยังมีรายได้เพิ่มจากค่านายหน้าหรือทิปจากกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น สนามมวย ร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งคนขับแท็กซี่จะรู้กันทั่วว่าร้านไหนได้ทิปหรือค่านายหน้าในอัตราเท่าไหร่ อย่างสนามมวยแห่งหนึ่ง ผมเคยพานักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปดูมวย 2 คน ค่าเข้าคนละพัน นั่งสักพักมีซองมายัดเงินให้ผม 600 บาทหรือ 30% ของค่าตั๋วชาวต่างชาติสองคนนั้น ผมก็คืนคนญี่ปุ่นไปหมดแหละ พี่แท็กซี่คนหนึ่งบอกผมว่า ถ้าไปร้านขายเพชรพลอยที่รับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ได้ 30% เช่นกัน ส่วนสถาบันเทิงต่าง ๆ พาเข้าไปปุ๊บก็ได้แล้ว 300 รับตรงทางออกเลย เขาไม่โกงด้วย เพราะถ้าโกง แท็กซี่จะบอกกันปากต่อปาก ทีนี้ไม่มีแท็กซี่พานักท่องเที่ยวไปเข้าร้านนั้นเลยหละ ด้วยแรงจูงใจจากเงินทิปและค่านายหน้าแบบนี้ ก็กลายเป็นคนไทยด้วยกันทำร้ายคนไทยด้วยกันเองนั่นแหละ ลองคิดดูว่าพี่แท็กซี่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีเงินเดือนตายตัว รายได้เป็นรายวัน มีโอกาสเลือกลูกค้าที่จ่ายสูงกว่าก็ต้องคว้าไว้ก่อนเป็นเรื่องปกติ


 

 เหตุผลห้าประการที่กล่าวไว้ข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า ปรากฏการณ์แท็กซี่เลือกผู้โดยสาร ไม่รับคนไทย ไม่ไปย่านที่รถติด มุ่งแต่รับคนต่างชาติเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ไม่ได้มีเหตุเดียวผลเดียว การแก้ปัญหานี้ต้องใช้หลายกลไกและหลายวิธี เพื่อตีเข้าไปที่ต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริง ถ้าตีที่ต้นทางแห่งปัญหาว่าแท็กซี่ต้องผูกพันกับอู่แท็กซี่ ถ้าอู่อยู่แถวไหนก็จะวิ่งแถวนั้นเป็นหลัก ถ้าอู่อยู่แถวพระรามสอง ก็จะวิ่งตระเวนรับผู้โดยสารแถวนั้น นาน ๆ จะวิ่งออกนอกเขตปฏิบัติการมั่งตามแต่ผู้โดยสารเรียก แต่ถ้ามีผู้โดยสารเรียกออกไปไกล ๆ ก็ต้องคิดหนักหละ เพราะยังไงก็ต้องกับอู่เพื่อมาคืนรถให้ทันเวลา ถ้าออกนอกโซนไปแล้วตอนขากลับ โอกาสที่จะได้ผู้โดยสารในขากลับมายังโซนของตัวเองมีน้อยมาก ๆ คือต้องคิดไว้เลยว่าวิ่งรถเปล่ากลับแหง ๆ และอาจไม่ทันเวลาคืนรถซะด้วย แต่โครงสร้างค่าโดยสารไม่ได้คิดเผื่อไว้สำหรับการวิ่งรถเปล่า แต่คิดเป็นครั้ง ๆ โดยมีราคาฐานที่ 35 บาท ด้วยโครงสร้างราคาแบบนี้ แท็กซี่จึงไม่อยากวิ่งรถเปล่ากลับมายังโซนตัวเอง เพราะวิ่งฟรี เสียค่าน้ำมัน/แก๊สไปฟรี ๆ ถ้าผู้โดยสารมาเป็นแท็กซี่เองก็ไม่รับผู้โดยสารเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเรียกรถจากฝั่งธนฯ ไปหนองจอกแล้วต้องวิ่งรถเปล่ากลับมาฝั่งธนฯ เพื่อคืนรถให้ทันเวลาก็คงไม่มีคนขับที่ไหนยอมทำ
 
 

วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว


คือการปรับโครงสร้างราคาให้สอดคล้องกับการที่แท็กซี่วิ่งเป็น zone ด้วยการกำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารข้าม zone เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับผู้ขับแท็กซี่มากขึ้น โดยใช้ถนนสายหลักเป็นตัวแบ่ง zone และมีอัตราที่่ต่างกัน ข้าม 1 zone ก็ราคาหนึ่ง ข้าม 2 zone ก็อีกราคาหนึ่ง เป็นต้น วิธีการนี้เป็นวิธีการสากลที่หลายประเทศในโลกนำมาใช้เพื่อความยุติธรรมที่แท็กซี่ต้องเดินทางไกลมาก ๆ จากอู่แท็กซี่ และต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับทัศนคติทั้งของผู้โดยสารชาวต่างชาติ คนขับแท็กซี่ เจ้าของอู่แท็กซี่ ผู้ควบคุมและตรวจสอบแท็กซี่ รวมถึงเจ้าของกิจการบริการชาวต่างชาติ เพื่อให้แท็กซี่ไทยเป็นรถสาธารณะที่คนไทยใช้งานได้อย่างสะดวก

ดร.พนิต ภู่จินดา
*** บทความจาก rabbit today เมื่อปี 2019
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด