ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis)

กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis) HealthServ.net

นิยาม กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis) คือ การอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหารจากกรดภายในกระเพาะ ซึ่งคนทั่วไปมักจะเรียกกันว่า"โรคกระเพาะ" พบประมาณ 10%ของประชากร เพศชายพบมากกว่าเพศหญิง

กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastiritis) ThumbMobile HealthServ.net

 

สาเหตุ
กลไกของการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเกิดจากการหลั่งกรดที่มากขึ้น(Hyperacidity)และคั่งค้างอยู่นานในกระเพาะ(Delay gastric emptying time) ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีสาเหตุจาก
1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. ยาแก้ปวดข้อ เช่น Aspirin, Ibuprofen หรือยาซองแก้ปวด
3. ความเครียดรุนแรง
4. การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารคือ H. pylori


อาการ
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดแสบปวดร้อนหรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ มักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น หิวปวด อาการเกิดได้ทั้งเฉียบพลันหรือเรื้อรัง มักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ส่วนน้อยของผู้ป่วยจะมาด้วยภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือด อาการกระเพาะทะลุและช่องท้องอักเสบ


การวินิจฉัย
ใช้อาการทางคลินิกเป็นสำคัญ ร่วมกับประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ กินยาซอง ยาแก้ปวดข้อ ปวดรอบเดือน ปวดไมเกรน  อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากแผลในกระเพาะอาหาร(Peptic ulcer) ซึ่งมักจะมีอาการปวดบิดๆเป็นพักๆร่วมกับเวลากลางคืน หรือ นิ่วในถุงน้ำดี(Gall stone) ซึ่งมักจะปวดตื้อๆบริเวณชายโครงด้านขวาเป็นเวลานาน หรือตับอ่อนอักเสบ(Pancreatitis)ซึ่งมักจะปวดทะลุหลังร่วมกับมีไข้ หรือกระเพาะเครียด(Functional dyspepsia)ซึ่งแยกกับกระเพาะอาหารอักเสบได้ยาก

ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือเกิดขึ้นซ้ำหลังจากที่รักษาหายไปแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาแก้ปวด หรือสงสัยว่าอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori การตรวจเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI endoscopy) ส่วนการกลืนแป้งฉายภาพรังสี(Upper GI study หรือ GISM)นั้น ให้ประโยชน์ไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนนั้น จะต้องงดอาหารก่อนตรวจ 6ชม. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรงดยาเบาหวานในเช้าวันนั้น สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถรับประทานยาลดความดันโดยดื่มน้ำเปล่าเล็กน้อย หากมีฟันปลอมชนิดถอดได้ควรถอดเพื่อป้องกันฟันปลอมหลุดเข้าไปในช่องลำคอหรือหลอดลม


การรักษา
จุดประสงค์ของการรักษากระเพาะอาหารอักเสบ คือ
1. บรรเทาอาการปวดท้อง
2. รักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร
3. ป้องกันการเกิดซ้ำ
4. ป้องกันภาวะแทรกซ้อน


1. การบรรเทาอาการปวดท้อง ใช้หลักการของด่างมาสะเทิ้นกรดภายในกระเพาะ ยาที่นิยมใช้คือยาธาตุน้ำขาว(Alum milk) หรือใช้เป็นยาเม็ดอลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ก็ได้ผลเช่นกัน  ซึ่งในกรณีของยาเม็ดควรเคี้ยวก่อนกลืนเพราะยาเม็ดบางชนิดแตกตัวในกระเพาะอาหารช้า ยากลุ่มนี้จะรับประทานก่อนอาหาร 3เวลา หรืออาจรับประทานเพิ่มเติมเมื่อมีการปวดระหว่างมื้อ  นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำอัดลม กาแฟซึ่งอาจกระตุ้นอาการปวดท้อง 

2. การรักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร  ใช้ยารักษานาน 14วัน นิยมใช้ยาลดการหลั่งกรด(Acid suppression) ได้แก่ ยากลุ่ม H2 receptor antagonists หรือยากลุ่ม Proton pump inhibitors เพราะหาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยา ส่วนยากลุ่ม Cytoprotective เช่น Sucralfate หรือ Bismuth ก็สามารถใช้ได้

3. การป้องกันการเกิดซ้ำ คือการป้องกันสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด หรือยาแก้ปวดข้อ การออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค

4. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากยาแก้ปวดข้อ เนื่องจากยานี้จะลดอาการปวดได้ขณะที่ยากัดกระเพาะ ทำให้อาการปวดท้องซึ่งเป็นอาการเตือนถูกบดบัง ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะมาก่อน ผู้ป่วยที่รับประทานยาชุด-ยาลูกกลอน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา การรักษามักจะต้องใช้การส่องกล้องรักษาหรืออาจต้องผ่าตัดถ้ามีกระเพาะอาหารทะลุ



นพ.มงคล  หงษ์ศิรินิรชร

แผนกอายุรกรรม (โรคระบบทางเดินอาหาร) รพ.วิภาวดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด