ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การขี่จักรยานมีผลต่อสุขภาพเพศชายหรือไม่

การขี่จักรยานมีผลต่อสุขภาพเพศชายหรือไม่ HealthServ.net

การขี่จักรยานมีผลต่อสุขภาพเพศชายหรือไม่

การขี่จักรยานมีผลต่อสุขภาพเพศชายหรือไม่ ThumbMobile HealthServ.net
 การขี่จักรยานกับสุขภาพเพศชาย
 
 
          การขี่จักรยานเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้พบปะกับเพื่อนฝูง ได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆโดยแทบจะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเส้นทาง
 
 
           แต่ก็เช่นเดียวกับกีฬาหรือกิจกรรมชนิดอื่น การที่เราใช้งานอวัยวะหรือกล้ามเนื้อมัดเดิมซำ้ๆมากจนเกินไปย่อมนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือความเสื่อมถอยในการทำงาน เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งของร่างกายขณะที่ขี่จักรยานแล้ว แน่นอนว่าส่วนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือระบบทางเดินปัสสาวะและสืบพันธุ์เพศชายนั่นเอง
 
 
 
ปัสสาวะเป็นเลือด
 
          พบได้จากทั้งการขี่จักรยานระยะทางใกล้และไกล เกิดจากการอักเสบจากการถูกกดทับเป็นเวลานานของต่อมลูกหมากและท่อปัสสาวะกับอานจักรยาน หรืออาจเกิดจากการที่ฝีเย็บถูกกระแทกกับอานจักรยานซำ้แล้วซำ้เล่าระหว่างขี่จักรยานทางวิบาก
 
 
 
          เลือดที่ออกมาปนในปัสสาวะต้องเกิดหลังการขี่จักรยานชัดเจนและควรจะหายไปเองหลังจากหยุดพักกิจกรรม 3-5 วัน ถ้ายังไม่หายไปต้องตรวจค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นของการปัสสาวะเป็นเลือด การรักษาคือการงดขี่จักรยานชั่วคราว นอนพัก และดื่มนำ้มากๆ นอกจากนั้นควรตรวจสอบดูว่าเลือกใช้ชนิดของอานจักรยานและปรับความสูงของอานได้เหมาะสมกับสรีระของผู้ขี่หรือไม่ แนะนำว่าอาจปรับอานจักรยานให้เชิดขึ้นด้านหน้าเล็กน้อยเพื่อลดแรงกดต่อต่อมลูกหมากและท่อปัสสาวะ
 
 
 
 
 เส้นประสาทถูกกดทับ
 
          พบอาการชาบริเวณฝีเย็บและองคชาตในนักขี่จักรยานได้บ่อยมาก สัมพันธ์กับอายุ นำ้หนักตัว และระยะเวลาที่ขี่จักรยาน มีการศึกษาพบการไหลเวียนของเลือดลดลงชัดเจนในหลอดเลือดแดงพูเดนดาล (pudendal artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหลักที่มาเลี้ยงองคชาตและเส้นประสาทพูเดลดาล (pudendal nerve) ที่รับความรู้สึกบริเวณองคชาต
 
          เมื่อเกิดอาการแล้วแนะนำให้หยุดขี่จักรยานชั่วคราวตั้งแต่ 3-10 วันจนกว่าอาการจะหายสนิท และระหว่างขี่จักรยานทุก 10 นาทีควรลุกขึ้นยืนเหนืออานเป็นเวลา 20-30 วินาทีเพื่อลดแรงกดทับและให้เลือดได้ไหลเวียนในบริเวณฝีเย็บ
 
 
หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
          หมายถึงการที่อวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัวได้มากพอและนานพอที่จะมีเพศสัมพันธ์จนสำเร็จได้ เริ่มมีการกล่าวถึงตั้งแต่ปี 1997 โดยศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะชื่อ Irwin Goldstein ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจเกิดจากการขี่จักรยาน หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ตามมาอีกมากมาย
 
 
  • มีการศึกษาในผู้ชายที่ขี่จักรยานจำนวน 688 คน อายุตั้งแต่ 18 ถึง 77 ปี พบว่าปัจจัยเดียวที่เกี่ยวข้องกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศคือการที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • พบการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในนักขี่จักรยานเสือภูเขามากกว่านักขี่จักรยานทางเรียบ
  • นักขี่จักรยานที่ปรับคันบังคับให้สูงกว่าอานจักรยานจะเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศมากกว่า
  • ระยะทางที่ขี่จักรยาน และจุดประสงค์ของการขี่ (เช่น เป็นงานอดิเรก เพื่อการแข่งขัน เป็นมืออาชีพ) ไม่มีความสัมพันธ์กับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ       
  • โดยสรุปแล้วก็ยังไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันชัดเจนระหว่างการขี่จักรยานกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
          มีผู้พยายามอธิบายสาเหตุของการหย่อนสมรรถภาพไว้หลายกลไก ส่วนมากเกี่ยวข้องกับการที่เส้นเลือดและเส้นประสาทถูกกดทับกับอานจักรยานเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมักมีอาการชาที่บริเวณองคชาตนำมาระยะหนึ่งก่อนที่จะมีปัญหาเรื่องการแข็งตัว การหย่อนสมรรถภาพทางเพศจะต้องดีขึ้นหลังจากหยุดขี่จักรยานชั่วคราว ถ้าหยุดพักแล้วยังไม่ดีขึ้นจะต้องตรวจค้นเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่เดิม
 
 
          การรักษาคือการหยุดขี่จักรยานชั่วคราวจนกว่าอาการจะดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้ประดิษฐ์อานจักรยานแบบพิเศษที่มีช่องเว้นไว้ตรงกลางเพื่อลดการกดทับบริเวณฝีเย็บ (saddle cutout) แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าได้ประโยชน์จริง
 
 
ต่อมลูกหมากอักเสบและการมีค่าพีเอสเอ (PSA) สูงผิดปกติ
 
          พีเอสเอ (PSA) เป็นสารที่สร้างจากต่อมลูกหมากและเป็นส่วนประกอบหนึ่งในนำ้อสุจิ มีบางส่วนที่ถูกขับมาอยู่ในเลือดซึ่งมีประโยชน์ในการใช้คัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการขี่จักรยานจะทำให้บริเวณฝีเย็บถูกกดทับกับอานจักรยานเป็นเวลานานและอาจทำให้เกิดต่อมลูกหมากอักเสบหรือมีค่าพีเอสเอสูงขึ้นได้ แต่สุดท้ายแล้วมีหลายการศึกษาเปรียบเทียบค่าพีเอสเอก่อนและหลังขี่จักรยานกลับพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน
 
 
สร้างอสุจิแย่ลงและเป็นหมัน
 
          กลไกการสร้างอสุจิในเพศชายต้องอาศัยหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสร้างฮอร์โมนเพศชายมากระตุ้น การมีเซลล์ต้นกำเนิดที่สมบูรณ์ และการควบคุมอุณหภูมิของอัณฑะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเพียงการศึกษาเดียวที่วิเคราะห์นำ้อสุจิจากนักกีฬาระดับสูงหลายๆประเภทเปรียบเทียบกันแล้วพบว่าอสุจิจากนักขี่จักรยานจะมีการเคลื่อนที่ที่แย่ที่สุด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการขี่จักรยานจะทำให้การสร้างอสุจิแย่ลงจริง
 
         มีผู้เสนอทฤษฎีว่าลักษณะของกางเกงขี่จักรยานที่รัดมากอาจมีผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของอัณฑะ รวมถึงเมื่อทำอัลตราซาวน์ดูอัณฑะของนักขี่จักรยานเสือภูเขาจะพบมีพยาธิสภาพได้มากกว่าปกติเช่นถุงนำ้ของท่อนำอสุจิ นิ่วในอัณฑะ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการสร้างอสุจิจริง โดยรวมแล้วแนะนำให้เลือกใช้อานจักรยานที่ไม่แข็งจนเกินไป เลือกจักรยานเสือภูเขาชนิดที่รับแรงกระแทกได้ดี และไม่ควรสวมกางเกงจักรยานแบบรัดรูปนานเกินไป
 
 
มะเร็งอัณฑะ
 
          ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือกรณีของ แลนซ์ อาร์มสตรอง เขาเป็นนักขี่จักรยานชั้นนำของโลกซึ่งป่วยเป็นมะเร็งอัณฑะในปี 1996 หลังจากเริ่มขี่จักรยานได้สิบปี เขามีชื่อเสียงอย่างมากในการเอาชนะมะเร็งและกลับมาแข่งจักรยานได้อีกครั้งจนได้รางวัลชนะเลิศในรายการตูร์เดอฟรองซ์หลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิแลนซ์ อาร์มสตรองเพื่อการสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็ง แต่ภายหลังถูกพบว่าใช้สารกระตุ้นผิดกฎหมายในระหว่างการแข่งขันจึงถูกริบรางวัลคืนทั้งหมด
 
 
          มีหลายสมมติฐานพยายามอธิบายว่าการขี่จักรยานอาจเกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งอัณฑะ ตั้งแต่การที่อัณฑะถูกกระแทกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการที่อัณฑะสัมผัสกับสารเคมีบางอย่างในอานจักรยาน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานว่าการขี่จักรยานทำให้เป็นมะเร็งอัณฑะมากขึ้น 
 
 
          กล่าวโดยสรุปแล้ว ปัญหาสุขภาพเพศชายที่ดูจะเกี่ยวข้องกับการขี่จักรยานชัดเจนคือการที่เส้นประสาทถูกกดทับจนเกิดอาการชาเท่านั้น ซึ่งจะดีขึ้นได้เองหลังหยุดขี่จักรยานชั่วคราว ส่วนปัญหาอื่นๆที่รุนแรงมากกว่าเช่น หย่อนสมรรถภาพ มะเร็งอัณฑะ หรือเป็นหมัน ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดจากการขี่จักรยาน เมื่อเปรียบเทียบกับผลดีเรื่องสุขภาพกายและใจที่ได้รับแล้ว  “การขี่จักรยานยังเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเสมอ”
 
 
 
นพ.มนินธ์ อัศวจินตจิตร์
 
7 กันยายน 2556
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด