ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง Allergy Skin Testing

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
Allergy Skin Testing

การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วย ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด การทดสอบทางจมูก (ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้) หรือการทดสอบทางผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนัง เพราะทำได้ง่ายรวดเร็ว ให้ผลทันทีและสิ้นเปลืองน้อยกว่า

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
Allergy Skin Testing


การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว ยังควรทำการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อให้ทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารชนิดใดด้วย ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือด การทดสอบทางจมูก (ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้) หรือการทดสอบทางผิวหนัง โดยทั่วไปแล้วนิยมวิธีการทดสอบทางผิวหนัง เพราะทำได้ง่ายรวดเร็ว ให้ผลทันทีและสิ้นเปลืองน้อยกว่า

ประโยชน์ของการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง


หลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้นั้น สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการใช้ยา คือ การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ แต่เนื่องจากรอบตัวคนเรานั้น มีสารก่อภูมิแพ้อยู่มากมาย การที่จะหลีกเลี่ยงให้หมดทุกอย่าง คงทำได้ยาก แต่ถ้าเราทราบว่าเราแพ้สารใดแล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆโดยตรง ก็จะทำให้ผลการรักษาโรคดีขึ้น นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ต้องทำการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิ แพ้ทุกราย จำเป็นต้องได้รับการทดสอบภูมิแพ้ก่อนว่าแพ้สารใดเพื่อจะได้รักษาด้วยน้ำยาที่ตรงกับสารที่ผู้ป่วยแพ้ด้วย

ทดสอบได้ตั้งแต่อายุเท่าไร


โดยทั่วไปสามารถทดสอบได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือนและในผู้สูงอายุ อาจให้ผลลบลวง ได้เพราะความไวของผิวหนังน้อย

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

1.งดยาแก้แพ้ก่อนมารับการทดสอบ 7 วัน
2.ยาบางชนิดอาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ เช่น ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัน ต้องงดก่อนมาทดสอบประมาณ 7 วัน
3.ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ให้แพทย์ที่จะทำการทดสอบทราบด้วย เพราะยาบางชนิดต้องงดก่อนทำการทดสอบ
4.ยาสเตียรอยด์ชนิดทาผิวหนัง ก็มีผลกดปฏิกิริยาการทดสอบ ควรงดก่อนเช่นกัน
5.ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาทดสอบ

น้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ

เป็นสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้มาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น สารสกัดจากไรฝุ่น ขนและรังแคของสัตว์ เช่น สุนัข แมว ม้า กระต่าย เป็ด ไก่ ห่าน นก เศษซากของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ แมลงวัน เชื้อราชนิดต่างๆ เกสรพืช เช่น วัชพืช เฟิร์น ไม้ยืนต้น หญ้าต่างๆ อาหาร เช่น นมวัว ไข่ ถั่ว เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด โดยต้องเป็นน้ำยาที่มีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐาน แยกแต่ละสารออกจากกันเป็นขวดๆ จึงจะให้ผลในการทดสอบที่เชื่อถือได้ ซึ่งในการทดสอบนั้นไม่จำเป็นต้องทดสอบการแพ้ต่อทุกๆสาร แพทย์อาจใช้ชนิดของน้ำยามากน้อยต่างกัน แล้วแต่อายุและประวัติอาการของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

วิธีทดสอบมี 2 วิธี คือ

1.วิธีสะกิด (Skin prick test . SPT)

ทดสอบโดยการหยดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ลงบน ผิวหนังของผู้ป่วยใช้เข็มสะกิดเบาๆ ผ่านหยดสารและให้อยู่ในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น โดยไม่ให้มีเลือดออก หลังจากนั้นจึงเช็ดน้ำยาออก รออ่านผล 15 นาที ถ้าผู้ป่วยแพ้สารใดก็จะเกิดปฎิกิริยาเป็นตุ่มนูนแดงที่ผิวหนังตรงตำแหน่งที่ทดสอบต่อสารนั้นๆ ในปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่นำมาใช้แทนการใช้เข็มสะกิดเป็นแท่งพลาสติกปลายแหลม (Duotip) ปลายเป็นง่ามคล้ายส้อม ใช้จุ่มน้ำยาที่จะทดสอบแล้วนำมาสะกิดที่ผิวหนังของผู้ป่วย โดยไม่ต้องหยดน้ำยาลงบนผิวหนังก่อน ทำให้สะดวกในการทดสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยเด็กเพราะเด็กจะให้ความร่วมมือมากกว่า การใช้เข็มจริงวิธีสะกิด (SPT) นี้ เป็นวิธีการทดสอบทางผิวหนังที่เป็นที่ยอมรับและแนะนำให้ใช้เป็นวิธีแรกที่ในการตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้โดยทั่วไป เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีโอกาสเกิดปฏิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงน้อย ทำได้ง่าย ใช้เวลาน้อย น้ำยาที่ใช้ไม่ต้องนำมาเจือจางก่อน จึงทำให้น้ำยามีความคงทนดีกว่า และมีความสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกมากกว่าการตรวจด้วยวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal skin test)

2.วิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal skin test) ทดสอบโดยการฉีดน้ำยาที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ชั้นผิวหนัง รออ่านผล 15 นาที ข้อเสียของวิธีนี้ คือ ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็ก ให้ความร่วมมือในการทดสอบน้อย เพราะเจ็บกว่าวิธีสะกิด นอกจากนั้นอาจเกิดปฎิกิริยาการแพ้ที่รุนแรงได้บ่อยกว่า โดยเฉพระถ้าฉีดสารหลายๆอย่างเข้าไปพร้อมๆกัน
ผลข้างเคียงของการทดสอบ อาจเกิดอาการแพ้รุนแรงได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาบางชนิดอยู่ แต่โดยทั่วไปพบน้อยมาก( < 1%) อย่างไรก็ตามไม่ควรทำการทดสอบในผู้ป่วยที่กำลังมีอาการอยู่มากๆ เช่น มีอาการหอบหืดรุนแรง ส่วนอาการคันตรงบริเวณที่ทดสอบเกิดขึ้นได้บ่อยซึ่งอาจหายเอง หรือใช้ยาแก้แพ้ก็ได้

ด้วยความปรารถนาดีจาก
แผนกอายุรกรรม
(โรคภูมิแพ้)

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด