ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

คู่มือการฝากครรภ์

หญิงมีครรภ์ทุกท่านควรรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ คือ ไม่ควรเกิน 3 เดือน นับจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าท่านตั้งครรภ์ปกติ

คู่มือการฝากครรภ์

หญิงมีครรภ์ทุกท่านควรรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ คือ ไม่ควรเกิน 3 เดือน นับจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าท่านตั้งครรภ์ปกติ และบุตรในครรภ์แข็งแรงและสมบูรณ์ แพทย์จะตรวจสุขภาพท่านว่ามีโรคแทรกซ้อนใด ๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง และกามโรค เป็นต้น
 
บริการที่ท่านจะได้รับเมื่อฝากครรภ์

1.  ท่านจะได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ
 
2.แพทย์หรือพยาบาลจะซักประวัติเกี่ยวกับการขาดระดู อาการแพ้ท้อง เด็กดิ้น ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติการตั้งครรภ์ และการคลอดครั้งก่อน ๆ ตลอดจนประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว และการแพ้ยาต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลแก่สูติแพทย์ และมีประโยชน์ในการดูแลท่านระหว่างตั้งครรภ์และคลอด
 
3.ท่านจะได้รับการตรวจครรภ์ และการตรวจร่างกายอย่างละเอียดจากสูติ-นรีแพทย์ รวมทั้งการคาดคะเนกำหนดคลอดให้ท่านด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะคลอดในระยะ 1-2 สัปดาห์ ก่อนหรือหลังการคาดคะเนได้
 
4. สูติแพทย์จะให้คำแนะนำหรือตอบปัญหาเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตนในระหว่างตั้งครรภ์ ให้ยาบำรุงหรือยาอื่น ๆ ที่จำเป็นให้และนัดวันตรวจครั้งต่อไปเป็นระยะ ๆ
 
5. การไปรับการตรวจครั้งต่อไปจะกำหนดให้คร่าว ๆ ดังนี้
   -ตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกถึงครรภ์ 7 เดือน ควรไปตรวจเดือนละครั้ง
   -ระหว่างครรภ์ 7 เดือน ถึง 8 เดือน ควรไปตรวจทุก 2 สัปดาห์
   - ครรภ์เดือนสุดท้าย ควรไปตรวจสัปดาห์ละครั้ง ถ้าการตรวจครรภ์ผิดปกติ เช่น มีโรคแทรกซ้อน แพทย์อาจจัดให้ท่านไปตรวจบ่อยกว่าที่กำหนด
 
เรื่องที่ควรปฏิบัติในระหว่างตั้งครรภ์

1. การรับประทานอาหาร ท่านควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะจำพวกโปรตีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ไข่ ตับ และถั่วต่าง ๆ รวมถึงอาหารจำพวก ผัก ผลไม้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มวิตามินและเกลือแร่แล้ว ยังช่วยไม่ให้ท้องผูกอีกด้วย สำหรับอาหารจำพวกแป้งและไขมัน ท่านไม่จำเป็นต้องรับประทานมากเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินความจำเป็น อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและคลอดยาก
 
2. การพักผ่อนและการออกกำลังกาย ท่านควรนอนพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านี้ การเดินหรือนั่งทำงานบ้านเบา ๆ เป็นการออกกำลังกายที่ดีมาก การทำงานนอกบ้านหรือเดินทางไกล ไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ ถ้าไม่ทำให้ท่านอ่อนเพลียจนเกินไป ควรมีการนอนพักระหว่างวันในช่วงบ่าย ประมาณ 15-30 นาที เพื่อไม่ให้อ่อนเพลียเกินไป
 
3.สุขภาพฟัน ท่านควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาฟันของท่านเพราะในระหว่างตั้งครรภ์ฟันของท่านจะผุง่าย การอุดฟันหรือถอนฟัน ถ้าทันตแพทย์เห็นสมควร จะไม่มีอันตรายแก่บุตรในครรภ์
 
4.การรักษาความสะอาดของร่างกายและเต้านม ท่านควรอาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และสวมเสื้อผ้าที่สะอาด ไม่รัดแน่นจนเกินไป ถ้ามีน้ำใส ๆ ออกมาจากหัวนม ควรล้างออกด้วยน้ำหรือสบู่อย่างอ่อนทุกครั้งที่อาบน้ำ สำหรับท่านที่หัวนมสั้นหรือบอด ควรดึงหัวนมทุกครั้ง เพื่อช่วยให้หัวนมยาวขึ้น และสะดวกในการให้นมบุตรต่อไป
 
สิ่งที่ท่านควรละเว้น

1.ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัด หรือดื่มน้ำชา กาแฟ แอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ควรสูบบุหรี่
2.ไม่ควรออกกำลังกาย อย่าหักโหมหรือทำงานหนักที่จะทำให้ท่านรู้สึกอ่อนเพลียมากเกินไป3. ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
4.ไม่ควรล้าง สวนช่องคลอดด้วยน้ำหรือน้ำยาใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากแพทย์จะสั่งเท่านั้น
5.  สามารถร่วมเพศได้ ยกเว้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์หรือในกรณีที่ผิดปกติ เช่น มีเลือดออกหรือเมื่อแพทย์สั่งห้าม
6. ไม่ควรฉายเอกซเรย์ นอกจากในกรณีที่แพทย์จะเห็นสมควร
หมายเหตุ  
ถ้าท่านจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้อื่นด้วยสาเหตุใดก็ตาม ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าท่านตั้งครรภ์
อาการธรรมดาต่าง ๆ ที่ท่านอาจจะพบในระหว่างตั้งครรภ์
1.อาการแพ้ท้องพบได้เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ท่านไม่ต้องวิตก วิธีแก้ไขง่าย ๆ คือ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างแพทย์อาจให้ยาแก้แพ้ ซึ่งไม่มีอันตรายในกรณีที่ท่านมีอาการมาก
2.อาการแน่นท้องและท้องอืด เกิดจากการย่อยอาหารไม่ดี กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลงท่านควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ของดอง ถั่ว น้ำอัดลม ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเล่น ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ให้มาก
3.อาการปวดศีรษะและวิงเวียน แก้ไขโดยการพักผ่อนให้เพียงพอและไม่ควรอยู่ในที่ ๆ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ที่มีคนหนาแน่น
4. อาการปวดหลังและเป็นตะคริว แก้ไขโดยการพักผ่อน ไม่ควรยืนนาน ๆ ยกของหนักหรือใส่รองเท้าส้นสูง ถ้าเป็นตะคริวควรใช้ขี้ผึ้งร้อน ๆ ทาถูนวดจะบรรเทาอาการปวดได้
5.ตกขาว ถ้ามีลักษณะใส ๆ หรือเป็นมูก เป็นอาการปกติ แต่ถ้ามีตกขาวปนเลือดหรือมีกลิ่น หรือมีอาการคัน ควรให้แพทย์ตรวจ
6.  ริดสีดวงทวาร พบได้เสมอในระหว่างตั้งครรภ์ ควรระวังอย่าให้ท้องผูก โดยทั่วไปริดสีดวงทวารจะหายไปเองหลังคลอดประมาณ 4-5 สัปดาห์
7. เส้นเลือดขอด เกิดจากการไหลเวียนของเลือดช้า ไม่ควรยืนหรือนั่งห้อยเท้านาน ๆ เวลานอนยกเท้าให้สูง ถ้าปวดมากควรปรึกษาแพทย์
8.  ท้องลายหรือหน้าอกลาย เป็นอาการปกติ ป้องกันและรักษาไม่ได้ แต่ถ้าใช้ครีมทาตัวหรือน้ำมันมะกอกบ่อย ๆ จะป้องกันไม่ให้คัน
9.อาการบวม ถ้าปวดเล็กน้อยบริเวณข้อเท้าเป็นอาการปกติ พบได้เสมอในระยะใกล้คลอด การนอนพักและยกเท้าให้สูงจะทำให้สูงจะทำให้อาการบวมลดลง
10.นอนไม่หลับโดยเฉพาะเวลาใกล้คลอด เนื่องจากความอึดอัด เกิดจากมดลูกโตมาก หายใจไม่สะดวก แก้ได้โดยการหนุนศีรษะในสูง
11.การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ท่านอาจจะหงุดหงิดมาก นอนไม่หลับ ร้องไห้ง่าย พยายามทำใจให้สบาย อย่าปล่อยให้มีเวลาว่างมาก เพื่อผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น สามีจะได้มีความรู้สึกสบายใจด้วย และข้อสำคัญคือ บุตร เมื่อคลอดออกมาจะได้มีความรู้สึกอบอุ่น
อาการผิดปกติ ที่ท่านควรจะไปพบแพทย์ก่อนกำหนดนัดหมาย
-          แพ้ท้องอย่างมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้
-          แน่นท้องหรือท้องอืดมาก
-          ปวดศีรษะหรือวิงเวียนบ่อย ๆ
-          น้ำหนักเพิ่มเร็ว จนมีอาการบวมที่หน้าและมือ
-          เป็นไข้หรือหนาวสั่น
-          เด็กไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยลง
-          ปัสสาวะแสบและบ่อยเกินไป
-          มีเลือดออกหรือมีตกขาว มีกลิ่นและคัน
 
เมื่อท่านปวดท้องคลอด
     อาการเจ็บท้องคลอด คือ การเจ็บท้องเป็นระยะและสม่ำเสมอ โดยครั้งแรกจะนาน ๆ ครั้ง ต่อมาการเจ็บจะถี่ขึ้น โดยทั่วไปในท้องแรกท่านควรจะต้องไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บทุก 5-10 นาที เป็นอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ท่านไม่ควรจะตกใจเมื่อเริ่มเจ็บท้อง สำหรับท้องหลังอาจมีการดำเนินการคลอดเร็วกว่าท้องแรก ดังนั้นเมื่อแน่ใจว่าเป็นเจ็บท้องคลอดให้รีบไปโรงพยาบาลได้เลย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับระยะทางด้วย เช่น บ้านไกล การจราจรติดขัดก็ควรจะไปให้เร็วกว่านี้
ด้วยความปรารถนาดี จากโรงพยาบาลวิภาวดี
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด