ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ LAAB รักษาโควิดได้แล้ว ครั้งแรกของโลก

ญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ LAAB รักษาโควิดได้แล้ว ครั้งแรกของโลก HealthServ.net
ญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ LAAB รักษาโควิดได้แล้ว ครั้งแรกของโลก ThumbMobile HealthServ.net

LAAB หรือ แอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการอนุมัติให้นำมาใช้สำหรับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเป็นครั้งแรกของโลกที่ LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการอนุมัติเพื่อการรักษาโควิด-19


ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม AZD7442 (ส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ tixagevimab และ cilgavimab) หรือ LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้สำหรับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และการรักษาโควิด-19 แบบมีอาการ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติยานี้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการรักษา
 
 
 
กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น (MHLW) ได้อนุมัติใช้ยา LAAB ในกรณีฉุกเฉินสําหรับผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยจะใช้กับผู้ป่วยที่ไม่แนะนําให้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 และผู้ที่อาจมีการตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19ไม่เพียงพอ เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยผู้รับยา LAAB เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อจะต้องไม่เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อในขณะรับยา หรือเพิ่งสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
 
 
 
ในด้านการรักษา ยา LAAB ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 รุนแรงซึ่งไม่ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน
 
 
 
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ คาซึฮิโระ ทาเทดะ แห่งภาควิชาจุลชีววิทยาและโรคติดเชื้อ มหาวิทยาลัยโทโฮ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า “โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในวงกว้าง ประชากรในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก รวมทั้ง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัว และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยังคงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ยา LAAB จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่จําเป็นยิ่งในการป้องกันในระยะยาวแก่ผู้ที่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ไม่เพียงพอหลังการฉีดวัคซีน และจะช่วยป้องกันอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ติดเชื้อได้”
 
 
 
 
 
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ อิตารุ มัตสึมูระ ประธานภาควิชาโลหิตวิทยาและโรคไขข้อ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยคินได เมืองโอซึกะ กล่าวว่า “แม้ประเทศญี่ปุ่นจะมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและมาตรการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เป็นจํานวนมาก คาดว่าการอนุมัติใช้ยา LAAB จะเป็นทางเลือกในการป้องกันโรคสําหรับผู้ที่ไม่สามารถตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เพียงพอ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด”
 
 
 
เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals) ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า “การอนุมัติใช้ยา LAAB ในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความสำเร็จก้าวสําคัญของเราที่พยายามเสาะหาทุกวิถีทางในการต่อสู้กับโควิด-19 ปัจจุบัน LAAB  เป็นยาที่มีส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวสองชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้สำหรับทั้งการป้องกันและการรักษาโควิด-19 ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการปกป้องผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากโรคร้ายแรงนี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น”
 
 
 
รัฐบาลญี่ปุ่น ทำสัญญาสั่งซื้อ LAAB จำนวน 300,000 ยูนิต (ปริมาณตัวยา tixagevimab และ cilgavimab อย่างละ 150 มก. ต่อ 1 ยูนิต) โดยแอสตร้าเซนเนก้าจะทำงานร่วมกับรัฐบาลและพันธมิตรเพื่อดำเนินการส่งมอบยารอบแรกโดยเร็วที่สุด
 
 
 
การอนุมัติครั้งนี้พิจารณาจากข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากโครงการศึกษาทางคลินิกของ LAAB รวมถึงการทดลองการป้องกันโรคก่อนการสัมผัสเชื้อพรูฟเวนท์ (PROVENT) ในระยะที่ 3 และการทดลองการรักษาผู้ป่วยนอกแท็คเคิล (TACKLE) ในระยะที่ 3 และการศึกษาระยะที่ 1 ในประเทศญี่ปุ่น จากการศึกษาพรูฟเวนท์ ยา LAAB  สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อขนาด 300 มก. (IM) ในการวิเคราะห์ผลเบื้องต้นพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการได้ถึง 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) อย่างมีนัยสำคัญ (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 46-90; p <0.001) การวิเคราะห์ผลด้วยการติดตามที่ยาวนานขึ้นแสดงให้เห็นว่ายา LAAB สามารถลดความเสี่ยงสัมพัทธ์ (RRR) ในการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการได้ถึง 83% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 66, 91) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยมีค่ามัธยฐานในช่วงระยะเวลาติดตามหลังการได้รับยาไปแล้วถึง 6 เดือน1
 
 
 
ผลลัพธ์หลัก (primary endpoint) ของการทดลองแท็คเคิล พบว่า ยา LAAB สำหรับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 ยูนิต ขนาด 600 มก. สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแบบรุนแรง หรือการเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ได้ถึง 50% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 15, 71; p=0.010) หลังจากได้รับยาไปแล้ว 29 วัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) ในผู้ป่วยนอกที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีอาการในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน2
 
 
 
จากการวิเคราะห์แบบ pre-specified ผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และได้รับยาภายในช่วง 3 วันแรก พบว่า LAAB สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรครุนแรง หรือเสียชีวิต (จากทุกสาเหตุ) ได้ถึง 88% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 9, 98) และยังลดความเสี่ยงถึง 67% (95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 31, 84) ในกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ2
 
 
 
LAAB มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดี1,2
 
 
 
ปริมาณการใช้ยาที่แนะนําสําหรับการป้องกันโรคโควิด-19 แบบมีอาการ ในประเทศญี่ปุ่น คือ tixagevimab และ cilgavimab อย่างละ 150 มก. โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสองจุดต่อเนื่องกัน ในบางกรณีอาจมีการใช้ที่ปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างละ 300 มก. ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ระบาด ส่วนปริมาณการใช้ยาที่แนะนำเพื่อการรักษาโควิด-19 คือ tixagevimab และ cilgavimab อย่างละ 300 มก. โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อสองจุดต่อเนื่องกัน
 
 
 
ผลการศึกษาในห้องทดลองพบว่ายา LAAB สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกในปัจจุบัน รวมถึงสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.2.3,4
 
 
 
LAAB ยังได้รับอนุมัติให้ใช้เพื่อการป้องกันโรคก่อนการสัมผัสเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา (อนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน) สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ โดยในปัจจุบัน มีการยื่นเรื่องขออนุมัติใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและการรักษามากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก 
 
 
 
AZD7442 หรือ LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้า
 
AZD7442 (LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้า)  เป็นยาแอนติบอดีแบบผสม ซึ่งมีส่วนผสมระหว่างแอนติบอดีสองชนิด ได้แก่ tixagevimab (AZD8895) และ cilgavimab (AZD1061) มาจากบีเซลล์ที่ได้รับการบริจาคจากผู้ที่เคยป่วยจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งถูกค้นพบโดยศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิวท์ และได้อนุญาตให้แอสตร้าเซนเนก้านำมาพัฒนาต่อเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2563 โมโนโคลนอลแอนติบอดีของมนุษย์ 2 ตัวนี้จะมีความจำเพาะที่ต่างกัน เพื่อจับกับโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 ในคนละจุด5 และถูกพัฒนาต่อโดยแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อขยายระยะเวลาครึ่งชีวิต(half-life) เพื่อเพิ่มความยืนยาวของแอนติบอดี และปรับให้มีการจับกันของ Fc Receptor และ Complement ชนิด C1q ที่ลดลง6 โดยการขยาย half-life นั้น สามารถเพิ่มความยืนยาวของแอนติบอดี้ได้มากกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับแอนติบอดี้ทั่วไป7-9 จากข้อมูลของการทดลองในระยะที่ 3 แสดงให้เห็นว่าระดับของแอนติบอดีที่สามารถยับยั้งการเพิ่มจํานวนของไวรัสคงอยู่ได้เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน1 และการปรับให้มีการจับของ Fc Receptor ที่ลดลงนั้นสามารถลดความเสี่ยงต่อภาวะ antibody-dependent enhancement (ADE) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่แอนติบอดี้ของเชื้อไวรัสเข้าไปกระตุ้นแทนที่จะยับยั้งการติดเชื้อ10
 
 
 
จากการศึกษา พรูฟเวนท์ (PROVENT) ระยะที่ 3 ในการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine มีข้อมูลเบื้องต้น สนับสนุนว่า AZD7442 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน แสดงถึงการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคโควิด-19 แบบมีอาการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (77% ของการวิเคราะห์เบื้องต้น 83% การวิเคราะห์มัธยฐานที่ระยะเวลา 6 เดือน) เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo)  การทดลองนี้แสดงให้เห็นถึงการป้องกันไวรัสที่ยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน1 มากกว่า 75% ของจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาพรูฟเวนท์ (PROVENT) มีโรคประจำตัว ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและอาจมีภูมิคุ้มกันตอบสนองไม่เพียงพอต่อการรับวัคซีน
 
 
 
ผลการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยนอก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet Respiratory Medicine แสดงให้เห็นว่า AZD7442 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถป้องกันการการเกิดโรคแบบรุนแรง หรือการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกและทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (Placebo) โดยการรักษาด้วย AZD7442 ในระยะเริ่มต้นของโรคนั้น สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น2  การทดลองแท็คเคิลดำเนินการศึกษาผู้ร่วมโครงการที่เป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งมีอาการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 เล็กน้อยถึงปานกลางในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน นอกจากนั้น 90% ของผู้เข้าร่วมโครงการมีโรคประจำตัวและภาวะต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงจากโรคโควิด-19 เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคอ้วน โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ
 
 
 
ยา AZD7442 ที่กำลังพัฒนาอยู่นี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงเงินทุนจากหน่วยงานด้านสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ  ภายใต้การกำกับดูแลของ Office of the Assistant Secretary for Preparedness and Response และ Biomedical Advanced Research and Development Authority ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม และ Joint Program Executive Office for Chemical, Biological, Radiological and Nuclear Defense ภายใต้สัญญาหมายเลข W911QY-21-9-0001
 
 
 
ภายใต้ข้อตกลงกับแวนเดอร์บิวท์ แอสตร้าเซนเนก้าจะจ่ายส่วนแบ่งค่าสิทธิจากยอดขายในอนาคต
 อ้างอิง
 
Levin MJ, et al. Intramuscular AZD7442 (Tixagevimab–Cilgavimab) for Prevention of Covid-19.    N Engl J Med. 2022;386(23):2188-2200
Montgomery H, et al. Efficacy and Safety of Intramuscular Administration of AZD7442 (Tixagevimab/Cilgavimab) for Early Outpatient Treatment of COVID-19: The TACKLE Phase 3 Randomised Controlled Trial. Lancet Respir Med. Published online June 7, 2022. doi.org/10.1016/S2213-2600(22)00180-1
US Food and Drug Administration FACT SHEET FOR HEALTHCARE PROVIDERS: EMERGENCY USE AUTHORIZATION FOR EVUSHELDTM (Tixagevimab Co-Packaged with Cilgavimab). Available at: https://www.fda.gov/media/154701/download [Last accessed: August 2022]
Vector Engineering Lab et al. COVID CG. Available at: https://covidcg.org/ [Last accessed: August 2022]
Dong J, et al. Genetic and Structural Basis for SARS-CoV-2 Variant Neutralization by a Two-Antibody Cocktail. Nat Microbiol. 2021;6(10):1233-1244
Loo YM, et al. AZD7442 Demonstrates Prophylactic and Therapeutic Efficacy in Non-Human Primates and Extended Half-Life in Humans. Sci Transl Med. 2022;14(635):eabl8124
Robbie GJ, et al. A Novel Investigational Fc-Modified Humanized Monoclonal Antibody, Motavizumab-YTE, Has an Extended Half-Life in Healthy Adults. Antimicrobial Agents and Chemotherapy. 2013;57(12):6147-6153
Griffin MP, et al. Safety, Tolerability, and Pharmacokinetics of MEDI8897, the Respiratory Syncytial Virus Prefusion F-Targeting Monoclonal Antibody with an Extended Half-Life, in Healthy Adults. Antimicrob Agents Chemother. 2017;61(3)
Domachowske JB, et al. Safety, Tolerability and Pharmacokinetics of MEDI8897, an Extended Half-Life Single-Dose Respiratory Syncytial Virus Prefusion F-Targeting Monoclonal Antibody Administered as a Single Dose to Healthy Preterm Infants. Pediatr Infect Dis J. 2018;37(9):886-892
van Erp, EA et al. Fc-Mediated Antibody Effector Functions During Respiratory Syncytial Virus Infection and Disease. Front Immunol. 2019;10(MAR)
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด