ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: ผู้สูงอายุกับการทำงาน TDRI

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: ผู้สูงอายุกับการทำงาน TDRI HealthServ.net
ดุลยภาพ ดุลยพินิจ: ผู้สูงอายุกับการทำงาน TDRI ThumbMobile HealthServ.net

คำตอบที่สำคัญที่จะช่วยลดปัญหาด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุประการหนึ่งคือ การทำงานของผู้สูงอายุ

สวัสดีปีใหม่ครับมัวแต่ประสาทกับข่าวการระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่ จนเกือบลืมไปว่า ปีนี้ พ.ศ.2564 เป็นปีที่นักประชากรศาสตร์นับว่าเป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) แล้ว โดยจะมีจำนวนประชากรสูงอายุถึง 14 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 หรือหนึ่งในห้าของประชากรไทยทั้งหมด
 
ผู้สูงอายุนับว่าเป็นที่เคารพนับถือในฐานะบรรพบุรุษที่เป็นต้นกำเนิดของคนรุ่นลูกหลาน เป็นผู้ที่ได้ทำคุณงามความดี คุณานุประโยชน์ให้กับบุตรหลาน สังคมและประเทศชาติ เป็นผู้มีประสบการณ์สูง แต่ในขณะเดียวภาวะความสูงอายุเริ่มนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเข้าสังคม และปัญหาด้านเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ
 
คำตอบที่สำคัญที่จะช่วยลดปัญหาด้านต่างๆ ของผู้สูงอายุประการหนึ่งคือ การทำงานของผู้สูงอายุ
 
Tun Dr. Mahathir bin Mohamad หรือ ดร.มหาธีร์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในวาระนานที่สุดของประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันอายุย่าง 96 ปีและยังทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างกระฉับกระเฉงจนกระทั่งลาออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และยังเป็นรัฐบุรุษในปัจจุบัน กล่าวถึงเคล็ดลับของการดำรงชีวิตที่กระฉับกระเฉงเมื่อครั้งมาร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 ที่กรุงเทพฯว่ามีอยู่ 3 ประเด็น คือ อาหารการกิน การออกกำลังกาย และการบริหารสมอง
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุท่านบอกว่า ให้พยายามทำตัวให้กระฉับกระเฉง แนะนำให้ผู้สูงอายุหาอะไรทำ เพื่อให้ร่างกายได้ขยับ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพราะไม่งั้นการอยู่เฉยๆ ที่บ้านจะทำให้ร่างกาย และจิตใจค่อยๆ เหี่ยวเฉาไป
 

“ผมอยากแนะนำประชาชนว่า อย่าหยุดทำงานเมื่อคุณเข้าสู่วัยสูงอายุ เพราะหากคุณหยุด ในไม่ช้าร่างกายคุณจะอ่อนแอและจะไร้ความสามารถ และกลายเป็นคนชรา จงทำตัวให้กระฉับกระเฉงเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้อของคุณ ถ้าคุณไม่ใช้มัน เอาแต่นั่งๆ นอนๆ กล้ามเนื้อของคุณจะไร้ความสามารถ แม้แต่จะพยุงร่างกาย คุณจะยืนไม่ได้ คุณจะเดินไม่ได้
สมองก็เช่นกัน ถ้าคุณหยุดการใช้สมอง คุณไม่คิด คุณไม่อ่าน คุณไม่เขียน สมองจะเสื่อม จะเป็นคนแก่ชรา ดังนั้นหมั่นทำตัวให้กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ”

 สิ่งที่ทำให้ ดร.มหาธีร์ ยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนอยู่ เสมอก็คือ เขาไม่เคยหยุดนิ่ง เขามักจะพูดอยู่เสมอว่า เขา ไม่มีวันปลดเกษียณ (I’ve never actually retired) หลังจากที่ก้าวลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2546 เขายังคงเดินทางไปทำงานทุกวันจนกระทั่งก้าวมาถึงวันที่เขาได้รับชัยชนะอย่างที่ตั้งใจไว้ โดยได้รับเลือกตั้งและกลับมาเป็นนายกฯมาเลเซียในวัย 94 ปี เมื่อ 8 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจนถึงเมื่อเขาลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เขานับว่าเป็นผู้นำประเทศที่อายุมากที่สุดในโลก
 
ผู้สูงอายุไทยที่ยังทำงานอยู่อย่างน่าสรรเสริญก็มี เช่น นพ.บรรลุ ศิริพานิช ท่านเกิดปีเดียวกับ ดร.มหาธีร์ แต่แก่เดือนกว่า 2 เดือน ท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่งและล่าสุดคือประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จนถึงปี 2562 บทบาทสำคัญประการหนึ่งคือเป็นผู้ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 และได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2562” ท่านกล่าวว่า “ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องทำงาน ขอเพียงแต่งานนั้นไม่เบียดบังตนเองเกินไป ไม่เบียดบังผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสังคม สิ่งแวดล้อม และงานนั้นเป็นธรรม”
 
และยังมีผู้สูงอายุอีกหลายท่านในประเทศไทยที่ยังทำงานและมีความคิดกระฉับกระเฉง เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน (อายุ 88 ปี) ดร.เสนาะ อุนากูล (อายุ 89 ปี) เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ (อายุ 91 ปี) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล (อายุ 82 ปี) เป็นต้น ส่วนท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว มี เช่น ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร (อายุ 100 ปี เสียชีวิตเมื่อ 21 มีนาคม 2562) และนายชัย ชิดชอบ (อายุ 92 ปี เสียชีวิตเมื่อ 24 มกราคม 2563) เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่นับ ส.ส. ส.ว. หรือรัฐมนตรี สูงอายุอีกนับร้อยคนซึ่งทำงานอยู่จนกว่าจะเลือกตั้งใหม่หรือเปลี่ยนรัฐบาล
 
ในทางวิชาการ มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทำงานต่อไป เช่นการศึกษาของ Ushiro Minami และคณะ (2558) เรื่องผลกระทบของการทำงานต่อสุขภาพของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น พบว่าการเกษียณอายุทำให้สุขภาพจิตและสมรรถนะในการทำงานระดับสูงเสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานี้สนับสนุนทฤษฎีกิจกรรม (Activity theory) ที่ว่าผู้สูงอายุที่เกษียณจากงานประจำจะมีภาวะการเสื่อมของสุขภาพจิต และระดับความสามารถในการทำงานระดับสูงในอัตราต่างๆ แต่หากสามารถหางานนอกเวลาทำภาวะการเสื่อมดังกล่าวจะลดลง และถ้าหากไม่ทำงานนอกเวลาเลยสุขภาพจิตก็จะค่อยๆ เสื่อมมากขึ้น การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการทำงานเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการมีส่วนร่วมทางสังคมสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ขึ้นไปในญี่ปุ่น
 

 ในอีกมุมหนึ่งมีผู้เชี่ยวชาญชี้ให้ว่าการทำงานจะช่วยให้ผู้สูงอายุลดปัญหาซึมเศร้า และลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ได้ก่อเหตุฆ่าตัวตายถึง 129 รายซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลด้านนี้ในสิงคโปร์
 
 
ดร.เฮเลน โค ผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัย Singapore University of Social Sciences (SUSS) ให้ความเห็นว่าผู้สูงอายุมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดเป็นธรรมดาอยู่แล้ว เนื่องจากเป็น กลุ่มที่มักมีปัญหาเรื่องเจ็บป่วยทางกายภาพและปัญหาทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าที่เป็นปัจจัยหลัก ส่วนปัจจัยความเครียดต่างๆ ในการใช้ชีวิต เช่น การตกงานและการสูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไป ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนด้วย (เทียบกับในประเทศไทยในปี 2561 พบว่ามีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ฆ่าตัวตาย 915 รายจากจำนวนผู้ฆ่าตัวตายทั้งหมด 4,137 คน คิดเป็นร้อยละ 22 สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น-อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต) ดร.โคเชื่อว่าการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการแก้สถานการณ์การฆ่าตัวตายของสิงคโปร์ให้ดีขึ้น เธอกล่าวว่าในแง่ของสังคม ผู้สูงอายุ (ที่ทำงาน) จะมีความรู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์ต่อที่ทำงานและสังคม แม้เรื่องการฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องซับซ้อนการมีงานทำก็เป็นวิธีหนึ่ง (ที่สามารถช่วยลดปัญหา) และผลพลอยได้จากรายได้จากการทำงานช่วยให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าตนไม่ใช่ภาระของสังคม
 
ในปี 2562 (ไตรมาสสาม) ผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร (ร้อยละ 60) และนอกภาคเกษตรกรรม ร้อยละ 40 โดยนอกภาคเกษตรกรรมเป็นงานในสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 14.2 สาขาการผลิต ร้อยละ 7.5 สาขากิจกรรมที่พักแรม และการบริการด้านอาหาร ร้อยละ 5.8 สาขาการก่อสร้าง ร้อยละ 2.8 เป็นต้น ในด้านสถานภาพการทำงานผู้สูงอายุ ร้อยละ 62 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง ร้อยละ 20.4 ช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ร้อยละ 11 เป็นลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 2.5 เป็นลูกจ้างรัฐบาล และเป็นนายจ้างเพียงร้อยละ 3.7
 
ครับ งานอะไรก็ขอให้ทำเถอะ การทำงานเป็นเคล็ดลับของชีวิตที่สำคัญคือช่วยให้ร่างกายและสมองได้ทำงาน ไม่เฉา ไม่ซึมเศร้า ทำงานอะไรก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นงานที่มีรายได้ยิ่งดีใหญ่ จะได้มีเงินใช้ไม่ต้องไปง้อรัฐหรือใครๆ
 
ผู้เขียนขอย้ำคำพูดของผู้อาวุโสทั้งสองท่านข้างต้นอีกครั้งว่า “อย่าหยุดทำงานเมื่อคุณเข้าสู่วัยสูงอายุ เพราะหากคุณหยุด ในไม่ช้าร่างกายคุณจะอ่อนแอและจะไร้ความสามารถ และกลายเป็นคนชรา” และทำงานอะไรก็ได้ที่ “ไม่เบียดบังตนเองเกินไป ไม่เบียดบังผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม” คือไม่ทำให้ใครเดือดร้อนรวมทั้งตัวเอง และผู้เขียนขอเติมว่า ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ขอให้ติดตามเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยเพราะนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแล้วยังเป็นการบริหารสมองอย่างดีและไม่ต้องมึนกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลผ่านแอพพ์ต่างๆ
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่โควิด-19 ยังอาละวาดอยู่ กรุณารักษาระยะห่างทางสังคม อย่าสัมผัสผู้อื่นโดยไม่จำเป็น อย่าประมาท ใส่หน้ากากเวลาออกจากบ้าน หมั่นล้างมือหน่อยก็แล้วกัน
 

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชน เมื่อ 8 มกราคม 2564

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
565 ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา) เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 10310
โทรศัพท์ 02-718-5460 โทรสาร 02-718-5461-2
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด