ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ทำฟันประกันสังคม ไม่ต้องสำรองจ่าย

ทำฟันประกันสังคม ไม่ต้องสำรองจ่าย HealthServ.net
ทำฟันประกันสังคม ไม่ต้องสำรองจ่าย ThumbMobile HealthServ.net

ผู้ประกันตนใช้สิทธิ ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ในอัตรา 900 บาทต่อปี

ทำฟันประกันสังคม ไม่ต้องสำรองจ่าย HealthServ
อัพเดต รายชื่อสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 2565 + คลินิกเครือข่าย แยกตามจังหวัด
แพคเกจบริการทันตกรรมของรพ.ต่างๆ ทั่วไทย (+บัตรทอง +ประกันสังคม)

ประกันสังคม ทำฟันอะไรได้บ้าง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ประกันตนควรรู้ !

     ประกันสังคม ทำฟัน สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ ทำอะไรได้บ้าง เบิกได้เท่าไหร่ต่อปี ยังจำเป็นต้องสำรองจ่ายก่อนไหม มาหาคำตอบกัน
 
          ใครที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นประจำทุก ๆ เดือนอยู่ละก็ เคยรู้ไหมว่า ประกันสังคมมีสิทธิประโยชน์ในด้านทันตกรรมไว้สำหรับดูแลผู้ประกันตนอย่างเรา ๆ ด้วยนะ ซึ่งบางคนอาจจะมองข้ามไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เลยไม่ได้ใส่ใจกับสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองมี แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องไม่ลืมว่าเงินที่โดนหักไปทุกเดือนนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นสวัสดิการด้านทันตกรรม ให้เราเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและมีคุณภาพมากขึ้น
 
          เพราะอย่าลืมว่าแม้ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้ว ก็เป็นปัญหาที่กวนใจได้ไม่น้อยเลย แต่ถ้าเราไปใช้สิทธิ์ทำฟันทุกปี เกิดเจอปัญหาสุขภาพฟันขึ้นมาก็จะได้รีบรักษาแต่เนิ่น ๆ ไม่ต้องรอจนเป็นหนักแล้ว ทีนี้ล่ะ เจ็บตัวยังไม่พอ ยังต้องเสียตังค์ค่ารักษาจำนวนมากอีกต่างหาก ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าว่า สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมของประกันสังคมนั้น มีอะไรบ้าง แล้วเราจะเบิกได้เท่าไหร่ รู้แล้วจะได้รีบไปใช้สิทธิ์ รักษาผลประโยชน์ของตัวเองกัน

ประกันสังคม ทำฟันได้ ใครมีสิทธิ์

          ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมจะได้รับสิทธิ์ทันตกรรมเลย แต่คนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทำฟันประกันสังคมนั้น จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 เท่านั้น ไม่รวมผู้ประกันตนมาตรา 40 และที่สำคัญคือ จะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่เข้ารับบริการทำฟัน โดยจะเป็นช่วงเดือนไหนก็ได้
 
          ส่วนกรณีที่เราส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมครบ 3 เดือนแล้ว แต่ได้ลาออกจากที่ทำงาน ก็ยังสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้ เพราะสิทธิประกันสังคมในการทำฟันจะยังคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออก
 

ประกันสังคม ทำฟัน ทำอะไรได้บ้าง

          บอกเลยว่าตอนนี้ประกันสังคมให้สิทธิผู้ประกันตน สามารถเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมได้ทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาท/ปี แต่หากค่ารักษาสูงกว่า 900 บาท ผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินตรงนั้นเอง
 

ประกันสังคม ทำฟันปลอมได้ไหม

          นอกจากประกันสังคมจะให้สิทธิในการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุดแล้ว หากผู้ประกันตนมีการใส่ฟันปลอม จะมีสิทธิ์ได้รับค่าฟันปลอมและค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย ภายในเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันปลอมนั้น แยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
  1. ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้บางส่วน
    - จำนวน 1-5 ซี่ ได้เท่าที่จ่ายในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
    - มากกว่า 5 ซี่ ได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท 
  2. ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปาก
    - ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
    - ฟันปลอมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม
 

ใช้สิทธิประกันสังคมทำฟันที่คลินิกได้ไหม

          เราสามารถใช้สิทธิทำฟัน ประกันสังคม ได้ทั้งกับโรงพยาบาลรัฐ เอกชน รวมถึงคลินิกทันตกรรมก็ได้ด้วยเช่นกัน แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ประกันสังคมระบุไว้
 

ประกันสังคม ทำฟันได้ ไม่ต้องสำรองจ่ายแล้วนะ

 
          หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ตอนนี้ถ้าเราจะไปใช้สิทธิทำฟัน ประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็น อุด ถอน ผ่า หรือขูดหินปูน ไม่จำเป็นต้องสำรองจ่ายเงินเหมือนแต่ก่อนแล้ว หากเป็นการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐ ส่วนสถานพยาบาลและคลินิกเอกชนนั้น ตอนนี้ได้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าสถานพยาบาลแห่งไหนที่ไม่ต้องสำรองจ่าย จากป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า "สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย"
 
          แต่ถ้าเป็นกรณีฟันปลอม ไม่ว่าจะเป็นถอดได้บางส่วน หรือถอดได้ทั้งปาก ยังต้องสำรองจ่ายไปก่อนเหมือนเดิมนะ แล้วถึงไปยื่นเบิกเงินกับประกันสังคมทีหลัง
 

เบิกค่าทำฟันประกันสังคมได้ยังไงบ้าง

 
          ถ้าเราเข้ารับบริการทำฟันกับสถานพยาบาลที่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อน หรือเป็นการทำฟันปลอม สามารถยื่นขอเบิกค่าทำฟันย้อนหลังได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ รวมถึงสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทุกแห่งทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวัน-เวลาราชการ
 
          หรือใครไม่สะดวกไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมในวัน-เวลาราชการ จะยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ก็ได้ โดยต้องส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ของสำนักงานประกันสังคมที่อยู่ใกล้บ้าน และจ่าหน้าซองว่า "ฝ่ายสิทธิประโยชน์"
 

ประกันสังคม ทำฟัน เบิกได้กี่ครั้งใน 1 ปี

         
          ทางประกันสังคมไม่ได้จำกัดว่าให้เบิกได้กี่ครั้งต่อปี เพราะฉะนั้นหากค่าใช้จ่ายการทำฟันในปีนั้น ๆ ยังไม่ถึง 900 บาท เราก็ยังมีสิทธิ์ยื่นเบิกได้เรื่อย ๆ จนกว่าวงเงินจะครบ 900 บาท โดยวงเงินที่ให้จะเป็นแบบปีต่อปี หากหมดปีนั้นแล้วมีวงเงินเหลือจะโดนหักทิ้งทันที นำไปทบยอดในปีถัด ๆ ไปไม่ได้นะ
 

ต้องเบิกค่าทำฟันภายในกี่วัน

          ทำฟันไปแล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปเบิกเงินไม่ทันกำหนดเวลา เพราะประกันสังคมให้เวลาเราไปยื่นขอเบิกค่าทำฟันได้ถึง 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการทำฟัน โดยยึดวันที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์เป็นหลัก เช่น หากเราไปถอนฟันในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ก็มีเวลาไปยื่นเรื่องเบิกค่าทำฟันได้ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 เลยทีเดียว แต่อย่าปล่อยไว้นานขนาดนั้นเลยดีกว่า เพราะถ้าลืมขึ้นมา ไปยื่นเรื่องช้ากว่าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2562 ทีนี้ก็จะหมดสิทธิ์ได้รับเงินทันที
 

เบิกค่าทำฟันประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง

เอกสารเพื่อยื่นขอเบิกเงินทำฟัน ประกันสังคม มีดังนี้
  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16)
  2. ใบรับรองแพทย์
  3. ใบเสร็จรับเงิน
  4. เวชระเบียนของแพทย์ผู้รักษา (กรณีเบิกฟันปลอมฐานอะคริลิก)
  5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี
นำเอกสารทั้งหมดยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศได้ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์
 

รับเงินค่าทำฟันประกันสังคมได้ทางไหน

          เพื่อความสะดวก ประกันสังคมจะจ่ายเงินให้โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ซึ่งจะโอนเข้าบัญชีธนาคารได้ทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
 

เบิกเงินค่าทำฟันใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะได้รับเงิน

          ประกันสังคมไม่ได้กำหนดออกมาชัดเจนว่าจะจ่ายเงินค่าทำฟันให้ผู้ประกันตนภายในกี่วัน เพราะระยะเวลาการจ่ายเงินขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารที่ยื่น หรือจำนวนผู้มายื่นขอเบิกเงินในช่วงนั้น ๆ แต่โดยปกติแล้วเมื่อเรายื่นเอกสารขอเบิกเงินไปที่ประกันสังคมครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะได้รับเงินแล้ว
 
          แต่หากเลย 2 สัปดาห์ไปแล้ว ยังไม่ได้รับเงินจากทางกองทุนประกันสังคม ก็ให้รีบดำเนินการติดต่อไปยังสำนักงานประกันสังคมที่เราได้ยื่นเรื่องไปโดยตรง เพื่อตรวจสอบว่าเอกสารที่เรายื่นไปนั้นดำเนินไปถึงขั้นตอนไหนแล้วนั่นเอง
 
เบิกค่าทำฟันประกันสังคม ให้คนอื่นไปยื่นแทนได้ไหม
 
          การยื่นเอกสารขอรับเงินค่าบริการทำฟัน ประกันสังคมนั้น เราจะไปยื่นเอกสารด้วยตัวเอง หรือให้คนอื่นไปยื่นแทนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน หรือฝ่ายบุคคลในสถานประกอบการของผู้ประกันตน ขอเพียงเอกสารที่ยื่นมีความครบถ้วน ถูกต้องตามที่ประกันสังคมกำหนดไว้ก็พอ และอย่าลืมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องให้ชัดเจนด้วย
 
          เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ใครที่ยังไม่ได้ไปใช้สิทธิทำฟันประกันสังคมในปีนี้ ก็อย่าลืมไปรักษาสิทธิกันล่ะ เพราะเงินส่วนนี้ก็คือเงินของเราที่ต้องสบทบให้กองทุนประกันสังคมในทุก ๆ เดือนอยู่แล้ว และใครที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ ทำฟัน ประกันสังคม ก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด