ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประกาศแล้ว โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" ห้ามขาย ห้ามโฆษณา

ประกาศแล้ว โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" ห้ามขาย ห้ามโฆษณา HealthServ.net

ผู้ว่าชัชชาติ ลงนามแล้วมีผลทันที ห้ามขายห้ามโฆษณา อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียน ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ ครู เป็นแบบอย่าง ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์เรื่องโทษและผลต่อสุขภาพแก่นักเรียน เฝ้าระวังปัญหาฯและแจ้งผู้ปกครอง

ประกาศแล้ว โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" ห้ามขาย ห้ามโฆษณา ThumbMobile HealthServ.net

ประกาศ กทม. เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. 


    โดยที่เป็นการสมควรกำหนดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 จึงประกาศมาตรการและการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ดังนี้
 

1. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง"

2. งดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.

3. ห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชงภายในโรงเรียนสังกัด กทม.

4. ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียน และกวดขัน ดูแลนักเรียนมิให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง

5. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงและอันตรายจากกัญชาหรือกัญชงแก่นักเรียนด้วยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมต่าง ๆ ในการเรียนการสอนทุกระดับ

6. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมนักเรียนตามความถนัดหรือความสนใจ โดยสอดแทรกและเน้นย้ำเรื่องพิษภัยของกัญชาหรือกัญชง

7. ให้โรงเรียนสังกัด กทม. ประชาสัมพันธ์เรื่องโทษของการใช้กัญชาหรือกัญชงที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน

8. ประสานความร่วมมือ แจ้งนโยบายการเฝ้าระวังปัญหาฯ แก่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้ารอบโรงเรียน เฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่าย อาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง

9. ให้ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัด กทม. ประสานความร่วมมือกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต เพื่อบูรณาการการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในโรงเรียนสังกัด กทม. อย่างใกล้ชิด
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565
ลงนามโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 
ประกาศแล้ว โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" ห้ามขาย ห้ามโฆษณา HealthServ
 

แนวทางปฏิบัติ


          ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ประกาศที่บังคับใช้นี้ เป็นไปตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เร่งรัด  เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 หรือ 20 ปี  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางการแพทย์ยังไม่แนะนำให้ใช้กัญชา และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเข้าถึงกัญชา กัญชงได้ง่าย ดังนั้น ประกาศฉบับนี้ จึงเป็นแนวทางการเฝ้าระวังและจะมีแนวทางดำเนินการ อาทิเช่น

1. การให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตรวจตรา หรือขอทราบประเภทอาหาร-ขนม หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้กัญชาแอบแฝงหรือเจือปนเข้าสู่สถานศึกษาหรือโรงเรียนได้

2. สั่งให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต ประสานการทำงานในรูปแบบการส่งต่อข้อมูลกันอย่างรวดเร็วที่สุด กำหนดแนวทางการปฏิบัติ และข้อควรระวัง สำหรับผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ศูนย์บริการสาธารณสุข เครือข่ายเฝ้าระวังต่างๆ โรงพยาบาล และสำนักงานเขต จะต้องมีข้อมูลในมือเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน ตรงกันทั้งหมด 
 
 
           "สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน จะมีครูพยาบาล มีบุคคลากรทำหน้าที่ในการดูแลอาหาร ขนม สวัสดิการต่างๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียน ดังนั้น มุมหนึ่ง เราต้องจัดการกำกับให้ไม่มีกัญชาในอาหาร หรือไม่ให้มีการเอากัญชา หรือผลิตภัณฑ์กัญชาใด ๆ เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่า จะปล่อยให้เกิดการบริโภคกัญชาในเด็กไม่ได้ เราต้องกำกับควบคุมเรื่องนี้ค่อนข้างสูง นี่คือเรื่องของความเสี่ยงที่จะมีสารเข้ามาอยู่ในบริเวณโรงเรียน" รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว 
 

 
 

เฝ้าสังเกตภาวะรับกัญชาจากครอบครัว

 
           รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อีกมิติหนึ่ง ต้องดูไปถึงความรู้ ความเข้าใจและสภาพแวดล้อมของเด็กนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องกัญชาด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงเรียน กทม. มีนโยบายแล้วว่าต้องมีการให้ความรู้ สื่อสารให้เด็กเข้าใจง่าย รวมถึงการดึงอาสาสมัครโรงเรียน (อสร.) มามีบทบาทเพิ่มเติมในเรื่องกัญชา โดยก่อนหน้านี้ อสร. อาจจะเน้นเรื่องเฝ้าระวังให้ความรู้เรื่องบุหรี่ สารมึนเมา สารเสพติด แต่ตอนนี้จะให้เน้นให้ความรู้เรื่องกัญชาด้วย  


 
            นอกจากนี้ จะต้องช่วยกันดูแลสังเกตสุขภาพเด็กนักเรียนเมื่ออยู่ที่โรงเรียนว่า มีภาวะอาการที่ทำให้สงสัยว่าไปรับกัญชามาจากครอบครัวหรือชุมชนภายนอกโรงเรียนด้วยหรือไม่ โดยให้พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าไปยังโรงเรียนถี่ขึ้น ซึ่งแต่เดิมจะเข้าโรงเรียนเพื่อตรวจสุขภาพนักเรียนเชิงรุก ต่อจากนี้จะให้เข้าไปเพื่อให้ความรู้และช่วยกำกับดูแลสภาพแวดล้อมโรงเรียนและสังเกตว่ามีสัญญาณบ่งชี้อะไรที่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กนักเรียนหรือไม่ เพราะเด็กนักเรียนของ กทม. ไม่ควรมีภาวะเสี่ยงหรือภาวะที่ไม่ปลอดภัย โดย กทม.ให้ความสำคัญประเด็นนี้มากเช่นกัน 
 
 
 
           ในส่วนของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เขตต่าง ๆ กทม. จะต้องมีการเฝ้าระวังและการรายงานข้อมูลที่กระชับฉับไวขึ้น หาวิธีสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์หรือผลกระทบระดับต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา เพื่อให้ใช้อย่างระมัดระวัง  สำหรับประชาชน ต้องขอความร่วมมือช่วยกันดูแลความปลอดภัยของลูกหลานเราและตัวเราเอง หากจะบริโภคอาหารควรสังเกต หรืออาจใช้วิธีการสอบถามผู้ขายว่ามีส่วนประกอบหรือไม่ เพราะบางรายอาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ขอให้เราระมัดระวังไว้ หาข้อมูลให้มากขึ้น หากต้องใช้ ขอให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตนเองจะดีกว่า
 
 
 
             ส่วนกรณีถ้าเจอเคสฉุกเฉินในเด็กนักเรียนนั้น กทม.มีระบบเฝ้าระวังแบบปฐมภูมิมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพื่อเฝ้าระวังระบบสุขภาพ ซึ่งในแง่ของโรงพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ กทม.มีพร้อมรองรับอยู่แล้ว แต่สำหรับเรื่องกัญชานั้น การดูแลช่วยเหลือเคสนักเรียนให้ไวที่สุดจะต้องเน้นระบบปฐมภูมิให้รวดเร็วมากขึ้น เริ่มที่ครูพยาบาลที่ประจำโรงเรียนและบุคลากรของโรงเรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ได้รับการแนะนำจากศูนย์บริการสาธารณสุข มีระบบการส่งต่อจากโรงเรียนมายังศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือโรงพยาบาลในสังกัด ทั้งหมดนี้จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด 
 
 
 
          ด้านการประเมินสถานการณ์แนวโน้มความเสี่ยงของกัญชาที่จะเข้าสถานศึกษานั้น อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นไปได้ รวมถึงการเกิดขึ้นในชุมชนที่เด็ก ๆ ต้องใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะกัญชาขณะนี้สามารถใช้ได้เสรีแล้ว จะต้องเฝ้าระวังและออกมาตรการเพื่อให้เท่าทันด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการเฝ้าระวัง จะต้องมีการส่งตัวช่วยเหลือให้ไว การเข้มงวดในโรงเรียน รวมถึงการให้องค์ความรู้แก่ครู เด็กนักเรียน และผู้ปกครองควบคู่กันไป 
 
 
 
             "ขอให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้ ใช้อย่างรู้เท่าทันในปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงทั้งในด้านการแพทย์ สาธารณสุข สุขภาพ และเศรษฐกิจ" รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในตอนท้าย 
ประกาศแล้ว โรงเรียนสังกัด กทม.เป็นพื้นที่ "ปลอดกัญชาหรือกัญชง" ห้ามขาย ห้ามโฆษณา HealthServ
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด