ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประชาชนควรรู้ วิธีดูใบอนุญาตวิชาชีพหมอ ออกโดยแพทยสภา

ประชาชนควรรู้ วิธีดูใบอนุญาตวิชาชีพหมอ ออกโดยแพทยสภา HealthServ.net
ประชาชนควรรู้ วิธีดูใบอนุญาตวิชาชีพหมอ ออกโดยแพทยสภา ThumbMobile HealthServ.net

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกมาแถลงข่าวตักเตือนการกระทำลักษณะหมอแขวนป้ายนั้น มีความผิดหลายสถาน ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ไม่ควรทำ และพร้อมกันไปกับกรณีนี้ประชาชนก็มีโอกาสได้ทราบได้รู้จักมากขึ้นว่ามี "หมอแขวนป้าย" อยู่จริงในสังคม ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของเรากันเองด้วยที่จะต้องรู้ว่าการเป็นแพทย์ที่ถูกต้องนั้นต้องมีใบอนุญาต วันนี้เลยนำตัวอย่างข้อมูลการดูข้อมูล การตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมมาให้ศึกษากัน

ประชาชนควรรู้ วิธีดูใบอนุญาตวิชาชีพหมอ ออกโดยแพทยสภา HealthServ

บทความนำเสนอรายละเอียดเชิงลึกในการดูข้อมูลใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ออกให้โดยแพทยสภา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและสามารถตรวจสอบได้  โดย พล.อ.ต. นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา  จากเพจบล็อกหมอหมู   (รวมภาพประกอบ)

 

แขวนป้าย แขวน ใบ ว. ... ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน

 
นำมาฝากเป็นข้อมูล สำหรับแพทย์ท่านใดที่สนใจ อยากจะไป แขวนป้าย แขวนใบ ว. 
ถ้ารู้ข้อมูลแล้ว จะตัดสินใจอย่างไร ก็ไม่ว่ากัน

 
 
แพทยสภา ขอเตือนน้องๆ (ผู้เขียนหมายถึงผู้ที่มีอาชีพแพทย์) อย่าหลงเชื่อ... ผู้ประกาศให้ไปแขวนใบ ว. ทั้งที่ไม่ได้อยู่คลินิก
 
น้องต้องรับผิดทั้ง คดีแพ่ง และ คดีอาญา ตลอดเวลาที่คลินิกนั้นดำเนินการ แม้ว่าจะเป็น จนท.ในคลินิก หรือ พยาบาลเป็นผู้ทำ ซึ่งน่าสงสารน้องๆหลายคน ถูกลงโทษในปีที่ผ่านมา จำนวนมาก คราวเคราะห์ ถึงติดคุกได้ ..ถูกพักใบประกอบวิชาชีพ หรือเพิกถอนได้ อาจมีผลถึงการเรียนต่อ และกิจกรรมต่างๆในอนาคต 
 
ใครแขวนไว้ ..ได้เงิน... อาจเสียอนาคตครับ..
 
 เตือนแล้วนะครับ
 
 พลเมืองดีผู้ใด พบมี แพทย์ผู้ประมาท แขวนใบว.โดยไม่ได้ตรวจจริง แจ้งได้ที่ email -  ethics@tmc.or.th 
 
 จนท.จาก สำนักสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลป์ ร่วมกับแพทยสภาจะไปจับดำเนินคดีให้ ขอบคุณครับ 
 
 
  • อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ .. แขวนป้าย แขวน ใบ ว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน [ วิชาการ ]
 

 

ข้อกฎหมาย ความรับผิดชอบ

ข้อกฎหมาย ความรับผิดชอบ สำหรับแพทย์ กรณี ถ้าจะ แขวนใน ว.  อ่านแล้ว รู้แล้ว จะตัดสินใจอย่างไร ก็แล้วแต่พิจารณา
 
ก่อนอื่น ทำความเข้าใจหลักเกณท์เบื้องต้นเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล ว่าเป็นดังนี้
 

1.ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
 
เป็นหลักฐานแสดงตนในการทำงานในฐานะแพทย์ครับ (กำลังจะเปลี่ยนเป็น smart card ในเดือน 2 เดือนนี้ครับ) ออกโดยแพทยสภา และตาม พรบ.วิชาชีพเวชกรรม มีสิทธิ ถูกพักใช้ และเพิกถอนได้โดยแพทยสภา
 

2.การเปิดคลินิก

 ใช้ พรบ.สถานพยาบาล โดย กองโรคศิลป์ เป็นผู้อนุญาต บังคับให้ต้องมีการจดทะเบียน 2 ส่วนคือ
 
      2.1 ขออนุญาตตั้ง สถานพยาบาล อันนี้ เป็นบุคคลทั่วไป บริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือ หมอก็ได้
 
      2.2 ขออนุญาตดำเนินการ สถานพยาบาล ต้องเป็นตามขนาดสถานพยาบาล ว่า มีกี่เตียง หรือ ไม่มีเตียง ต้องมีผู้ดำเนินการกี่คน เป็นหมอกี่คน พยาบาล กี่คน เภสัช ทันตแพทย์ กี่คน ตามการขออนุญาตครับ

     กรณีคลินิก ทั่วไปของแพทย์ ประเภทเวชกรรม จะใช้ หมอ 1 ท่าน จดทะเบียน ตามที่บางคนเรียกว่าแขวนป้ายนะครับ ทีนี้มาดูปัญหากันเนื่องจากแต่ละกรณีใช้กฎหมายต่างฉบับดูแล
 
 
 
3.ผลกระทบ

กรณีมีป้ายเป็นผู้ดำเนินการ นั้นตามกฎหมายเป็นดังนี้
 
      3.1 กฎหมาย พรบ.สถานพยาบาล - เป็นผู้รับผิดชอบสถานพยาบาล ในการประพฤติผิดทั้งหมด ปกติ ถ้าสถานพยาบาลดีๆ ไม่เป็นไร ไม่ค่อยมีปัญหาโดยเฉพาะหากแพทย์ที่มีคุณธรรมเป็นเจ้าของ แต่ ในกรณีเจ้าของที่ไม่มีคุณธรรม โดยเฉพาะที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่เข้าใจระบบการรักษาพยาบาล เปิดมา ค้าขาย เอากำไร และเอาน้องๆ มาล่อเป้า เช่น
 
            3.1.1.คดีโฆษณาเกินจริงที่หลายแห่งจ้างหมอไปแขวนและถูกลงโทษทีละเป็น หลายสาขา พร้อมๆกันจาก พรบ.นี้ ซ้ำร้าย เมื่อผิดอันนี้จะส่งเรื่องไปที่แพทยสภา ลงโทษแพทย์อีกต่างหาก เพราะผิดข้อบังคับจริยธรรม
 
            3.1.2 เอายาเวชภัณฑ์ คุณภาพต่ำ มาใช้ จำกัดการรักษา จนเกิดปัญหากับผู้ป่วย
 
            3.1.3 เอาบุคคลากรที่ไม่ใช่วิชาชีพจริง ไม่มี skill มารักษา ผ่าตัด เย็บแผล จ่ายยา ผู้ดำเนินการต้องรับผิดชอบไปด้วย ทั้งคดี แพ่ง และอาญา โดยมักอยู่ในกลุ่มที่เหมาจ่ายราคาต่ำมา เช่น กลุ่มประกันสังคมบางเครือข่าย ที่เหมาจ่ายไม่เกิน 170 150 130 บาทต่อหัว พบมากที่สุด และกลุ่ม 30 บาททุกโรค ที่เหมาจ่ายมาแล้ว ไม่อยากจ่ายจ้างวิชาชีพ กลัวกำไรน้อย บางทีเอาคนในครอบครัวมาช่วย จัดยา จ่ายยาเอง (พบที่ไหนแจ้งผมด้วยนะครับ จะไปจัดการ เพื่อคุ้มครองประชาชน และคุ้มครองแพทย์ดีๆด้วยครับ) โดยเฉพาะย่านโรงงานชุกชุม
 
 
      ทั้งหมดนี้ “สำนักสถานพยาบาล และการประกอบโรคศิลปะ" (สพรศ.) จะร่วมกับทาง แพทยสภา อย. และ ตำรวจ จับอยู่แล้วครับ จับไป หมอเก่าโดนลงโทษ พวกนี้ก็มาหลอกหมอใหม่ๆ สมัครอีก ให้เงินเดือนสูงๆ พวกเห็นเงินแล้วตาโต เสร็จเขาตามระเบียบครับ ข้อคิดคือ กลุ่มนี้ แพทย์ลาออกบ่อย


 
 
      3.2 พรบ.วิชาชีพเวชกรรม - ผู้ดูแล เป็นแพทยสภา อันนี้ ฟ้องร้องตัวหมอ เท่านั้นครับ หากหมอไปแขวน แล้วเกิดเรื่อง จะถูกฟ้องมาที่เรา พบบ่อยที่สุด ก็คือ โฆษณาเกินจริง  รองลงมาเป็นเรื่อง มาตรฐานวิชาชีพ ส่วนใหญ่คลินิก จะโดนไม่มาก ยกเว้นมีการตายในร้าน เช่นกรณี เด็กโฟร์โมส ที่แถว ดอนเมือง กรณี ขริบจู๋ กรณี ผ่าไฝใต้ตาแล้วตาย ในปีที่ผ่านมา ผู้ดำเนินการมีส่วนรับผิดชอบครับ
 
กรณี วันเสาร์อาทิตย์ หรือนอกเวลาไม่อยู่นั้น กฎหมายแพ่ง และ อาญา อาจต้องรับผิดชอบอยู่ แต่ทางแพทย์ หากแพทย์ที่มาอยู่เวรเป็นผู้มี ใบว.นั้น ผู้นั้นรับผิดชอบครับ ปัญหาที่ผ่านมาได้แก่
 
      3.2.1 คลินิกบางแห่ง (น้อยมาก) ไม่ซื่อ ไม่ยอมจ้างแพทย์ในวันหยุด หรือมีๆ ขาดๆ แล้วให้พนักงานจ่ายยาเอง เป็นคดี แพทย์อาจต้องรับผิดชอบด้วย
 
      3.2.2 แพทย์เถื่อน กรณีคลินิกลงรับแพทย์ เช่นใน เวบไซด์ เจอขาประจำที่ปลอมเป็นแพทย์ไปอยู่ ไม่ตรวจบัตรให้ดี ออกใบรับรองแพทย์เท็จ รักษาผิดๆ ถูกๆ มา follow up ท่านวันที่ท่านมาทำงาน ก็เป็นเรื่องไปแล้ว อันนี้เราไล่จับหมอเถื่อนกลุ่มนี้อยู่ครับ บางคนเป็น เด็ก วุฒิม.6 ผู้ช่วยแพทย์ และแอบ copy ใบ ว. ไป เช่น อดีต พนักงานเซเว่น (เจ้าที่ลงหนังสือพิมพ์) ก็มี บุรุษพยาบาล เสนารักษ์ ก็เคยมีที่ปลอมตัวมาครับ ขึ้นกับความสามารถของผู้บริหารคลินิกในการจัดหาแพทย์ อันนี้แจ้งผมได้ครับ จะดำเนินการให้
 


      3.3 พรบ.อื่นๆ เช่น พรบ.วิธิพิจารณาคดีผู้บริโภค พรบ. สินค้าไม่ปลอดภัย กม.แพ่ง กม.อาญา ที่น้องต้องศึกษารายละเอียดด้วย เพราะจะเป็นจำเลยกรณีมีความเสียหายได้โดยง่ายครับ โดยมีปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือ เงื่อนของเวลา
 
      ขณะนี้มีน้องๆที่รักษาไป 1-2 ปีก่อน ตอนใช้ทุน แล้วตอนนี้ เรียน resident อยู่ต้องวิ่งกลับไปขึ้นศาล ที่ต่างจังหวัดหลายท่านครับ เพราะอายุความ ตั้งแต่ 3-10 ปี บางทีคลินิกปิดไปแล้ว หาหลักฐานก็ไม่ได้ น้องก็มีโอกาสแพ้คดีใหม่ๆ เช่น ผู้บริโภค ที่กำหนดให้แพทย์ต้องเป็นคนพิสูจน์ว่าตนเองไม่ผิด เจ้าของปิดคลินิกไปแล้ว น้องจะแทบไม่มีหลักฐานไปพิสูจน์ ได้ ดังนั้นหากคลินิกไม่มั่นคง อย่านำอนาคตไปแขวนไว้ครับ
 
      การตรวจรักษาที่เหมามาราคาถูกคุณภาพต่ำ เสี่ยงต่อการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ยิ่งตรวจจำนวนมาก ไม่มีแพทย์ audit ให้ พยาบาล คุณภาพน้อย ท่านต้องรับความเสี่ยงนั้นครับ
 


คำแนะนำคือ

 
1. การทำงาน แขวน ใบ ว. (เดี๋ยวนี้ไม่เรียกใบ ว.แล้วนะครับ เรียกใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม) เป็นเรื่องปกติ เพื่อยืนยันตัวตน
 
2. สถานพยาบาลที่จะไปแขวนใบนี้ ต้องมาตรฐานพอคุ้มครองน้องได้และมั่นคงพอ (10ปี) น้องต้องถาม policy ดู วิธีการ วิธีคิดระบบต่างๆ ก่อน เพราะเหมือนลงทุนร่วมกัน และดูชื่อเสียงในอดีต ความยั่งยืน และหมอที่อยู่มาก่อน รวมถึงตรวจสอบ สถานะภาพ เสาร์อาทิตย์ด้วยว่าหมอเป็นใคร.. เราไม่ใช่ลูกจ้างนะครับ ถ้าแขวน เท่ากับเจ้าของคนหนึ่งทีเดียว
 
3. อย่ามองเรื่องรายได้อย่างเดียว ยิ่งสูงมาก มักยิ่งมีความเสี่ยงมากครับ
 
4. อ่านกฎหมายด้วยนะครับ อย่าให้เป็นภาระตอนไปเรียนต้องกลับมาขึ้นศาล
 


---
 
 
อุทธาหรณ์ เล็กๆ
 
คดีหนึ่ง คลินิกจ่ายยาหยอดตา เก็บคนไข้ 150 บาท หมอได้ 100 บาทค่าตรวจ เกิด steven ขณะนี้ฟ้องหมอ 10 ล้าน แม้รู้ว่า จะป้องกันไม่ได้ สุดวิสัย หมอจ้างทนาย ไปว่าความสู้ เห็นว่า เป็นแสนแล้วครับ แม้ชนะ ก็เสียเงิน เสียเวลา ทั้งทำงานถูกต้อง ตามมาตรฐาน โอกาสน้อย แต่เกิดได้
 
อีกคดี คนไข้แพ้ penicillin ให้ chloram แพ้ ..anaphylactic death ไม่มีใครทราบก่อนแน่ สุดวิสัย ถูกตามมาตรฐานราชวิทยาลัย รายนี้ ขึ้นศาลอุตลุด ไม่ว่าผลจบอย่างไร หมอก็เสียชื่อ เสียเวลา เสียกำลังใจ ..โอกาสเสี่ยงต้องอย่ามองข้ามครับ
 
อย่าทำคลินิกเพราะรายได้
ทำด้วยใจอยากช่วยผู้ป่วยจะดีกว่าครับ
ถ้าไม่มาตรฐานอย่าไปร่วมงานด้วยเสี่ยงเปล่าๆ
 
หากสงสัยถามมาได้อีกครับขอให้โชคดีครับ
 
 
...........
 
 
 

วิธีตรวจสอบง่ายๆ สำหรับประชาชน



สำหรับประชาชน ผู้ป่วย ที่ไปตรวจรักษาในคลินิก หรือ โรงพยาบาลเอกชน

วิธีตรวจสอบง่ายๆ  ก็คือ เข้าไปในคลินิก ต้องแสดงเอกสารเหล่านี้  (ใช้คำว่า" ต้อง " เพราะเป็น กฎหมาย ) ..
 
  1. ใบอนุญาตให้ดำเนินการคลินิก  จะมีรูป "แพทย์" ที่ได้รับอนุญาต  ( ส่วนใบอนุญาตให้ดำเนินการ จะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นแพทย์ ก็ได้) 
    แพทย์ที่ขออนุญาต ดำเนินการ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เวลาเกิดปัญหาในคลินิกนั้น โดยส่วนใหญ่ ก็คือ แพทย์ที่ตรวจในคลินิก ( แต่ ในกรณีที่มีแพทย์ตรวจหลายคน อาจไม่ใช่ แพทย์ที่กำลังตรวจอยู่ก็ได้
  2. แบบแสดงรูปถ่าย แสดงรายละเอียด ผู้ประกอบวิชาชีพ 
    ในกรณีมีแพทย์หลายคนตรวจรักษาในคลินิกเดียวกัน ก็ต้องมีแบบแสดงฯ ของ แพทย์ทุกคน
    ถ้าไม่มีการแสดง เอกสาร ดังกล่าว หรือ ผู้ที่ตรวจหน้าตาไม่เหมือนภาพในเอกสารที่ติดไว้ .. แนะนำให้ไปรักษาที่ คลินิก หรือ โรงพยาบาล อื่น เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
  3. ใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ( ใบ ว. ) ของแพทย์ผู้ตรวจรักษาออกให้โดย แพทยสภา เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่า จบเป็นแพทย์จริง  จะมีเลขที่ ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ชื่อสกุล รูปภาพ
 
ถ้าเข้าไปในคลินิกแล้ว หาทั้ง 3 ข้อ ไม่พบ ... ผมคิดว่า น่าจะกลับบ้านก่อน ดีกว่า หรือเปลี่ยนไป คลินิกอื่น ..
 
อย่าเสี่ยงเลย เราไม่รู้ว่า เขาเป็น แพทย์จริงหรือไม่ ???

ขนาดกฏหมายกำหนดไว้ เขายังไม่ทำ แล้วเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เขาสามารถรักษาเราได้จริง ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ไม่คุ้ม
 
แต่ถ้า อยากจะเสี่ยง ก็ไม่ว่ากัน นะครับ
 
...........................
 
 
 
ประชาชนควรรู้ วิธีดูใบอนุญาตวิชาชีพหมอ ออกโดยแพทยสภา HealthServ


 

สำหรับ เจ้าของคลินิก หรือ โรงพยาบาล (ผู้รับใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล)

 
การรับแพทย์ปลอมเข้าปฏิบัติงานในสถานพยาบาล “ เจ้าของและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล” จะต้องร่วมรับผิดด้วย เช่น
 
  1. ฐานให้บุคคลผู้มิใช่แพทย์ทำงานเป็นแพทย์ ตามมาตรา 27-28 ของ พรบ. ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พศ.2525 ซึ่งเจ้าของคลินิกสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบ
  2. ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องถูกดำเนินคดีทางจริยธรรม ตามมาตรา 43-44 มีโทษ จำคุกไม่เกิน3ปี ปรับไม่เกิน3หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  3. ผิด พรบ. สถานพยาบาล ซึ่งต้องถูกดำเนินการโดยกองประกอบโรคศิลปะ อาจถูกปิดสถานพยาบาล ได้
  4. ถูกดำเนินคดีจากผู้ป่วย ในคดีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยหมอปลอมทั้งคดีแพ่งและอาญา
  5. หากผู้นั้นใช้ชื่อและนามสกุลพร้อม เลข ว. ของแพทย์ ที่มีอยู่จริง จะต้องโดนคดีอาญา ฐานปลอมแปลงชื่อผู้อื่นจากแพทย์ผู้เสียหายอีกด้วย
 



 

คำแนะนำการตรวจสอบแพทย์ที่จ้างอยู่เวรพิเศษ


เนื่องจากในปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลายแห่งที่มีความจำเป็นต้องรับแพทย์เวรนอก เหนือจากแพทย์ประจำที่ทำงานตามปกติ โดยการลงรับสมัครงานในที่ต่างๆ ซึ่งในขบวนการดังกล่าวนั้นอาจเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่นั้น ไม่สะดวก   เป็นเหตุให้เกิดช่องว่างให้ผู้ซึ่งมิใช่แพทย์แฝงตัวเข้ามารับงานเป็นแพทย์ได้อยู่เป็นระยะๆ ทั้งนี้จึงใคร่ขอให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
 
  1. กรณีรับสมัครแพทย์ ขอให้ตรวจสอบชื่อ นามสกุล และเลขใบประกอบโรคศิลป์ จากเว็บไซต์ของแพทยสภา https://tmc.or.th/check_md/  ว่าถูกต้องและมีชื่อตรงหรือไม่
  2. ให้ขอเอกสารแสดงตนทุกรายที่มาสมัคร ได้แก่ บัตรประชาชน และ ใบประกอบวิชาชีพศิลปะ (ถ้ามี) ซึ่งในอนาคตจะใช้บัตร MD CARD แทนได้
  3. การชำระเงินให้กับแพทย์นั้น ในกรณีที่เป็นแพทย์ปลอมจะต้องการให้ชำระเป็นเงินสด ถ้าเป็นไปได้ ควรให้จ่ายเป็นเช็คระบุชื่อและนามสกุลของแพทย์ (จ่ายเช็คขีดคร่อม Ac Payee Only) แพทย์ปลอมใช้ชื่อคนอื่น เบิกเงินไม่ได้ คลินิกก็ไม่ต้องเสียเงิน ในกรณีที่มีปัญหาทางกฎหมายจะช่วยยืนยันให้กับสถานพยาบาลได้มากกว่า
  4. กรณีพบแพทย์ที่สงสัย แจ้งได้ที่  ethics@tmc.or.th
 
 
 

ข้อพึงสังเกต พฤติกรรมแพทย์ปลอม


มักจะ
 
  1. ไม่ให้เอกสารใดๆ ที่แสดงตน บ่ายเบี่ยง ลืมเอามา
  2. อยู่เวรจำนวนน้อย มาลงขอเวรบ่อยๆ
  3. ไม่อยู่เวรประจำ เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ
  4. ขอเป็นเงินสดมากกว่าที่จะรับเงินแบบออกหลักฐาน เนื่องจากไม่สามารถเข้าบัญชีเบิกเงินได้
 
 
ทั้งนี้แพทยสภา กวดขันขึ้น เพื่อคุ้มครองประชาชน และปกป้องแพทย์จริง ที่มักเสียชื่อจากแพทย์ปลอมที่ไปรักษาไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนผู้เคราะห์ร้ายต้องรับกรรม ..
 

ด้วยความปรารถนาดีจาก
พล.อ.ต. นพ. อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา
 
 
 
 

ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

 
  1. มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก
  2. แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
  3. แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล
  4. แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน
  5. แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ
  6. แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้
  7. แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย
 
 
 
อ้างอิง:
 
คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข
โทร 02-1937000 ต่อ 18416 - 7
hss.moph.go.th/index2.php
FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline
 
 
 
 

 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด