ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประเทศไทย อยู่จุดใดในอันดับโลก ปี 2021 (US News World Report)

ประเทศไทย อยู่จุดใดในอันดับโลก ปี 2021 (US News World Report) HealthServ.net

เป็นจากการจัดอันดับประจำปี 2021 โดย US News World Report โดยภาพรวมและจำแนกตามปัจจัยย่อยต่างๆ อาทิ อิทธิพลด้านวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต การเป็นผู้ประกอบการ การพร้อมปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ

ประเทศไทย อยู่จุดใดในอันดับโลก ปี 2021 (US News World Report) ThumbMobile HealthServ.net
ประเทศไทย อยู่จุดใดในอันดับโลก ปี 2021 (US News World Report) HealthServ
ประเทศไทย อยู่จุดใดในสายตาชาวโลก
คำถามง่ายๆ ควรค่ากับการหาคำตอบและเพื่อศึกษาว่า นานาชาติมีมุมมองต่อเราประเทศไทยของเราอย่างไร ในฐานะที่ประเทศไทย ที่จัดอยู่กลุ่ม Emerging Market  มีความก้าวหน้าเติบโต ในระดับหนึ่งในปัจจุบัน รวมถึงเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิดและภาวะโลกร้อน ที่สะท้อนออกมาในหลายๆ มิติของความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์กายภาพและภัยพิบัติ และยังเป็นการมองย้อนกลับมายังสังคมประเทศไทยให้ลึกลงไปถึงภายใน เพื่อสะท้อนและมองหาความจริง ปัญหา ทางออก ทิศทางและปัจจัย เพื่อการก้าวไปสู่ยุคใหม่ให้ได้นับจากนี้ 
 
 
Overall Best Countries Ranking US News.com 
มีหมวดหมู่ที่ Best Countries ที่จัดอันดับประเทศต่างๆ ในหลายๆมิติไว้อย่างน่าติดตาม ทั้งเชิงภาพรวม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา โดยอันดับที่น่าสนใจมีดังนี้ 

• ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 ในอันดับรวม (จาก 88 ประเทศ) บรรยายถึงประเทศไว้ว่า เน้นหนักด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก มีอัตราความยากจนและว่างงานต่ำ ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลก เปิดสังคมที่กว้างต่อการศึกษาแบบตะวันตกและเทคโนโลยีใหม่เข้ากับวัฒนธรรมศาสนาพุทธอันเป็นพื้นฐานอย่างราบรื่น และไทย ดินแดนที่ขึ้นชื่อด้านอาหารและการนวด คือหนึ่งในประเทศที่มีผู้มาเยือนมากที่สุด การท่องเที่ยวสร้างรายได้ 7% ของ GDP

• ข้อมูลพื้นฐาน จำนวนประชากร 69.6 ล้านคน GDP 5.44 แสนล้าน USD รายได้ต่อหัว 19,234 USD ประมาณ 577,000 บาท/คน (คิดที่ 30 บาท/USD)   

• 10 อันดับแรก ของประเทศดีสุด 2021 Best Countries rankings อันดับ 1 แคนาดา 2 ญี่ปุ่น 3 เยอรมัน 4 สวิสเซอร์แลนด์ 5 ออสเตรเลีย 6 สหรัฐอเมริกา 7 นิวซีแลนด์ 8 สหราชอาณาจักร 9 สวีเดน 10 เนเธอร์แลนด์  อันดับอื่นๆ เฉพาะในเอเซีย  สิงคโปร์ อันดับ 14  เกาหลีใต้ 15 จีน 17 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 22 อินเดีย 25 ประเทศไทย อันดับ 28  อิสราเอล 30 กาต้าร์ 32 ซาอุดิอาราเบีย 35 มาเลเซีย 36 อินโดนีเซีย 37 เวียดนาม 40

• การจัดอันดับ 2021 Best Countries rankings ทำโดย VMLY&R ร่วมกับ วาร์ตันสคูล ม.เพนซิลเวเนีย จากจำนวนศึกษา 17,000 คน ใน 4 ภูมิภาค 78 ประเทศทั่วโลก บน 76 ประเด็นศึกษา 
 
 
 

ปัจจัยการจัดอันดับ

ในการจัดอันดับโดยรวม มีการกำหนดปัจจัยย่อยในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การทำธุรกิจ สังคมวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต ฯลฯ ซึ่งแต่ละปัจจัย จะมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไป ในการนำไปใช้คำนวนหาอันดับ 2021 Best Countries rankings แต่ละปัจจัยมีรายละเอียดดังนี้


Adventure
ความน่าตื่นเต้นต้องมีในชีวิตทุกผู้คน เพื่อหลีกหนีความจำเจ กระตุ้นชีวิตชีวา ลดเครียด ยกระดับคุณภาพชีวิต (มีน้ำหนัก 3.79%) บราซิล คือประเทศที่ครองอันดับ 1 ด้านนี้มาแล้ว 6 ปีติดต่อกัน และที่น่าทึ่งคือประเทศไทยเบียดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 5 ได้สวยๆ เป็นรองแค่ อิตาลี (2) สเปน (3) และกรีซ (4) เท่านั้น นำหน้า เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และโปรตุเกส ในอันดับ 6-9 ไปแบบฉิวเฉียด 
 
ใช่แล้ว ประเทศไทยยังมีความน่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย
 

Agility
 
เป็นดัชนีใหม่ที่เพิ่มเข้าในการพิจารณารอบ 2021 นี้เอง เหตุจากความเปลี่ยนแปลงชนิดรุนแรงของโลกอย่างโควิด ที่ส่งผลสะเทือนต่อการสาธารณสุของนานาประเทศและส่งแรงกระเพื่อมลงไปในระดับสังคม เศรษฐกิจ ชีวิตผู้คน รวมถึงการเมืองของแต่ละประเทศ ปัจจัยและความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ คือดัชนี Agility นั่นเอง ดัชนี้ที่สะท้อนถึง "ความสามารถในการปรับเปลี่ยน ปรับตัว ให้รับมือกับปัจจัยปัญหาอันซับซ้อน" ได้ดีมากน้อยเพียงใด ดัชนี้วัดจาก 5 ปัจจัย : การปรับตัว ความเป็นพลวัตร ความสมัยใหม่ ความก้าวหน้า และการสนองตอบ  ดัชนีนี้มีน้ำหนักที่ค่อนข้างสูงที่ระดับ 14.18% ของ Overall Ranking เลยทีเดียว 
 
10 อันดับ ของดัชนีนี้ ตามลำดับ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดน   ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 36 
 

Cultural Influence

อิทธิพลด้านวัฒนธรรม นานาประเทศมีเอกลักษณ์ในตัวตนที่แสดงออกในทุกสิ่ง ตั้งแต่อาหาร เครื่องแต่งกาย และไลฟ์สไตล์ และดัชนีตัวนี้มีน้ำหนักมากถึง 10.45% ต่อ Overall Ranking อันดับ 1 คือ อิตาลี และ 2 คือ ฝรั่งเศส นับว่าสมศักดิ์ศรี ส่วนอันดับ 3 คือสหรัฐอเมริกาที่ขยับจากอันดับ 4 เมื่อปี 2020 ยืนเหนือ สหราชอาณาจักร (4) ญี่ปุ่น (5) สเปน (6) เกาหลีใต้ (7) สวิส (8) เยอรมัน (9) และสวีเดน (10)  ส่วนประเทศไทย อยู่ห่างๆ ที่อันดับ 22  ตามหลังสิงคโปร์ที่อันดับ 15 
 
 
Entrepreneurship
การเป็นผู้ประกอบการ ไม่ได้จำกัดแค่การเป็นธุรกิจหรือการทำธุรกิจเท่านั้น แต่นิยามของมันควรมีความหมายอย่างกว้างขวางไปถึง ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมุ่งมั่นค้นคว้าพัฒนา การหาหนทางประยุกต์ต่อยอด การมุ่งเสริมสร้างและส่งเสริมความหลายหลาย ให้เกิดความงอกงามและการกระจายความมั่นคงมั่งคั่งไปสู่ทุกการมีส่วนร่วมในสังคมชุมชน มันคือความคาดหวังอย่างสูงที่เหนือจากระดับปัจเจกขยับขึ้นไปเป็นระดับนโยบายและยุทธศาสตร์  และแน่นอนว่าปัจจัยนี้น้ำหนักสูงถึง 14.6% ตามความสำคัญในการส่งผลต่อประเทศนั้นๆ  จึงไม่น่าแปลกใจหาก ญี่ปุ่นจะอยู่ในอันดับที่ 1 ของดัชนีนี้ที่ขยับขึ้นจากอันดับที่ 2 ในปีก่อน แม้ว่าจะเป็นประเทศที่มีประเด็นด้านการกีดกันทางวัฒนธรรมและการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ไม่ดีนักก็ตาม ก็ยังคงขึ้นเป็นอันดับแรก แซงหน้า เยอรมัน (2) สหรัฐ (3) สหราชอาณาจักร (4) และเกาหลีใต้ (5) ได้  ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 36 ก็นับว่าไม่เลวสำหรับการถูกจัดอันดับเป็นครั้งแรก ห่างไกลจากสิงค์โปร์ที่อยู่อันดับ 8  แต่ไม่หนีมาเลเซียที่อันดับ 33 เท่าใดนัก โอกาสในการพัฒนาเป็นสิ่งที่รัฐต้องพิจาณาอย่างจริงจังต่อจากนี้
 
ประเทศไทย อยู่จุดใดในอันดับโลก ปี 2021 (US News World Report) HealthServ
Heritage
มรดกวัฒนธรรมคือเอกลัษณ์ของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง เอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงตัวตน คุณค่านิยมและการยอมรับนับถือจากนานาประเทศ มรดกแห่งอดีตสร้างตัวตนในปัจจุบันและกรุยทางสู่อนาคตกาลได้อย่างไร คือสิ่งดัชนีนี้สะท้อนออกมา มีน้ำหนักเบาต่อดัชนีรวมเพียง 1.93%  โดยอันดับ 1-6 เป็นประเทศที่รุ่มรวยวัฒนธรรมชัดเจนปฏิเสธไม่ลง ได้แก่ สเปน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส เม็กซิโก และอินเดีย และอันดับ 7 เป็นของประเทศไทย ขยับขึ้นมาจากอันดับ 9 เมื่อปี 2020 แซงหน้าอียิปต์แดนมัมมี่ (8) ตุรกี (9) และญี่ปุ่น (10) อย่างภาคภูมิ 
 
 
Movers
โลกเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องมานับเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งการมาของโดวิด-19 เปลี่ยแปลงทุกอย่าง ฉุดโลกให้ลงสู่การถดถอย แต่เมื่อมีนาคม OECD ออกรายงานเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจของโลกในช่วงต่อไป ระบุว่าแทบทุกส่วนจะพุ่งทะยานในอีก 2 ปีข้าง อัตราการเติบโตจะเป็นไปอย่างที่ไม่เคยเกิดในรอบหลายปีในหลายๆประเทศ บางประเทศอาจพุ่งถึงตัวเลข 2 หลัก แต่กระนั้นการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดเดา เป็นโจทย์ที่ท้าทายแต่ละประเทศในการเตรียมการรับมือ และนี่เองคือปัจจัยในการพิจารณาในด้านความพร้อมในการ "ก้าวไปข้างหน้า" ซึ่งให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้ไว้ถึง 13.87% ซึ่งประเทศที่อยู่ลำดับต้นๆ ของปัจจัยนี้ มีความน่าสนใจในแง่ศักยภาพการเติบโต การแข่งขันและโอกาสแห่งอนาคต 
 
ที่น่าทึ่งคือใน 10 อันดับแรก เป็นประเทศในเอเซียเกือบทั้งหมด เว้นบราซิลที่แทรกเข้ามาในอันดับ 9 เท่านั้น โดยอันดับหนึ่งคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามมาด้วยอินเดีย อียิปต์ สิงคโปร์ จีนและญี่ปุ่น ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 7 นำหน้าหน้าเกาหลีในอันดับ 8 และซาอุดิอาระเบียในอันดับ 10  
 
ที่น่าสนใจคือสำรวจประเทศในกลุ่มอาเซียน ด้วยกัน ล้วนติดโผนี้ ดังนี้ เวียดนามอยู่ในลำดับ 23 มาเลเซีย 26 อินโดนีเซีย 27 เมียนมา อันดับที่ 30 กัมพูชา 35 ฟิลิปปินส์ 37 
*เฉพาะใน 50 อันดับแรกเท่านั้น
 
 
Open for Business
ความเป็นมิตรต่อการทำธุรกิจ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นอีกปัจจัยของการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งไม่เพียงแค่ศักยภาพด้านสาธารณูปโภค แต่ยังรวมถึงปัจจัยต่างๆ อาทิ ด้านกฏเกณฑ์ กฏหมาย ระบบภาษี ความมั่นคงทางเงิน แรงงาน ค่าครองชีพ สภาพแวดล้อมและการเมือง โดยน้ำหนักของเกณฑ์นี้อยู่ที่  9.42% 
 
10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป มีปานามาพุ่งขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 อย่างน่าทึ่ง ตามมาด้วยแคนาดาในอันดับ 3  มาเลเซียติดอันดับ 11 ก็นับว่าเซอร์ไพรซ์เช่นกัน โดยมีสิงคโปร์ตามมาในอันดับ 14 และประเทศไทย ตามมาห่างๆ ในอันดับที่ 17 
 
 
Power
เป็นตัวบอกว่าประเทศนั้นมีอิทธิพลต่อประชาคมโลกในระดับใด ซึ่งเป็นไปตามที่รับรู้กันว่า อันดับ 1 คือสหรัฐอเมริกา โดยมีอันดับ 2 คือจีน อันดับ 3 รัสเซีย และตามด้วย เยอรมัน (4) สหราชอาณาจัก (5) ญี่ปุ่น (6) ฝรั่งเศส (7) และเกาหลี (8)  ส่วนประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 27 นับว่าไม่เลวในแง่เครดิตของประเทศที่ยังได้รับการยอมรับ
 
 
Quality of Life 
คุณภาพชีวิตที่ดี คือที่สุดของการมีชีวิต เป็นเป้าหมายของการแสวงหาของทุกคนใน ทุกสังคม ทุกประเทศ คุณภาพนี้ไม่เพียงแค่ อาหารการกิน การมีบ้านอยู่อาศัย เท่านั้น แต่ต้องมองกว้างออกไปถึง การศึกษา การสาธารณสุข โอกาสการทำงาน ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ความมีเสถียรภาพทางการเมือง อิสรภาพของปัจเจก และคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเช่นกัน  ปัจจัยด้านคุณภาพชีวิตนี้มีน้ำหนักถึง 13.88% ต่อการจัดอันดับทั้งหมด
 
ใน 20 อันดับแรก ก็ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศเหล่านั้นเหมาะสมกับคำว่าคุณภาพชีวิตอย่างแน่นอน ไล่เรียง 10 ลำดับแรก ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ค สวีเดน นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เยอรมัน และนิวซีแลนด์  โดย 4 อันดับแรกไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว  ส่วนประเทศในเอเซีย มีญี่ปุ่นในอันดับ 13 สิงคโปร์ (16) เกาหลีใต้ (18) จีน (23)  สำหรับประเทศไทย ติดอันดับ 29 รองจากมาเลเซีย ในอันดับ 28 
 
 
Social Purpose 
ปัจจัยทางสังคมคืออีกตัวแปรที่สำคัญ เป็นการให้คุณค่าต่อมนุษย์ร่วมกันในระดับชุมชน โดยแสดงออกในประเด็นสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม อิสรภาพการนับถือศาสนา ความเท่าเทียมทางเชี้อชาติ ความยุติธรรมในสังคม ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่เพิ่มปัจจัยเข้ามคำนวนในดัชนี โดยให้น้ำหนักไว้ถึง 12.23%
 
แคนาดาติดอันดับ 1 ในหมวดนี้ ด้วยการเป็นสังคมที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนสูง มุ่งดำรงความยุติธรรมในสังคม ตามมาด้วยเดนมาร์คในอันดับ 2 นิวซีแลนด์ (3) สวีเดน (4) เนเธอร์แลนด์ (5) นอร์เวย์ (6) ฟินแลนด์ (7) ออสเตรเลีย (8) สวิสเซอร์แลนด์ (9) และออสเตรีย (10)  
 
ประเทศในเอเซียที่ติดอันดับสูงสุดในหมวดนี้ คือญี่ปุ่นที่อันดับ 20 สิงคโปร์ 25 เกาหลีใต้ 29 ส่วนประเทศไทย อันดับที่ 53

 
อันดับอื่นๆ
หัวข้อน่าสนใจอื่นๆ ที่ไทยถูกจัดอันดับอยู่ด้วย อาทิ
Headquarter a Corporation  - อันดับ 37 ตกจาก 32 
Best Countries for Education  - อันดับ 46 จาก 48
Best Countries for Green Living  - อันดับ 41 จาก 42
Best Countries for Women   - อันดับ 41 จาก 49
Best Countries for a Comfortable Retirement   - อันดับ 20 จาก 16
Best Countries to Invest In  - อันดับ 50
Best Countries to Start a Business  - อันดับ 10
 

จากทั้งหมดนี้ เป็นทั้งข้อมูลและภาพสะท้อนอย่างดี ต่อคำถามว่า ประเทศไทย อยู่ในจุดใดในสายตาและการยอมรับของประชาคมโลกในปัจจุบัน และเพื่อเป็นโอกาสของก้าวสู่อนาคตต่อไป
 
 
ที่มา และภาพจาก Best Countries - US News 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด