ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ประโยชน์-โทษของกัญชา

ประโยชน์-โทษของกัญชา HealthServ.net

นาทีนี้ในประเทศไทยคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินหรือไม่รู้จักกัญชากันอีกแล้ว เพราะกัญชาได้รับสถานะใหม่ กลับกลายมาเป็นพืชปกติทั่วไป ที่ไม่ได้จัดเป็นพืชที่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป ผลจากการประกาศปลดพืชกัญชาพ้นยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา

ประโยชน์-โทษของกัญชา ThumbMobile HealthServ.net
 

ความรู้ทั่วไปเรื่องกัญชา
 

 
กัญชาเป็นพืชในพื้นที่ภูมิภาคอบอุ่น เช่น เอเซีย อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง 
 
ประวัติศาสตร์โลกจารึกการใช้กัญชามายาวนานกว่า 4,000 ปี ใช้เป็นอาหาร  ใช้เพื่อทำยา ใช้ในการแพทย์บางแขนง ทำอุปกรณ์ ของใช้ต่างๆ พบหลักฐานการใช้ ทั้งในจีน ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา
 
กัญชามีองค์ประกอบของสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือ delta-9-tetrahydrocannabinol หรือ THC  หรือเรียกกันว่าสารเมา ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม กระวนกระวาย อาจทำให้การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป  และสารสำคัญอีกชนิดคือ Cannabidiol หรือ CBD  มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่า 
 
สหรัฐอเมริการ ออกกฏหมายควบคุมกัญชาในปี 1937 และในปี 1961 สหประชาชาติได้รวมกัญชาไว้ใน  Single Convention on Narcotic Drugs เป็นการห้ามจำหน่ายหรือผลิตยาหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ยกเว้นเพื่อการวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย์
 
 
ปี 1970 มีนักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจต่อการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคมากขึ้น มุ่งที่จะนำเอาสาร THC และ CBD มาใช้ ในโรคบางชนิด รวมถึงบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากการรักษาจากยาแผนปัจจุบัน
 
ในประเทศไทย กัญชาถูกจัดให้เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีโทษทั้งจำและปรับ หากมีไว้ครอบครอง จำหน่าย ผลิต นำเข้า หรือส่งออก
 
ปี 2559 เริ่มมีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายในการเสนอให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ด้วยเหตุผลเพื่อการใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับกัญชาในแง่มุมต่างๆ จึงเริ่มมีมากขึ้น
 
 8 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 พ.ศ.2563 ให้เฉพาะตัวสารสกัดจากกัญชาและกัญชง (พืชสกุล Cannabis) ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม ป.ยาเสพติดเท่านั้น ประกาศนี้จะมีผลเมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565
 
9 มิถุนายน 2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลบังคับใช้ ทำให้กัญชาและกัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดอีกต่อไป


 
 
กัญชา เป็นพืชที่มีความน่าสนใจสูงในระดับนานาชาติ ด้วยความที่กัญชามีสารออกฤทธิที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ THC และ CBD ซึ่งมีทั้งแง่ที่มีทั้งประโยชน์อย่างสูงในเชิงการแพทย์และการรักษาโรค ขณะเดียวกันก็มีโทษอย่างชัดเจนจากการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม 
 


 

ฤทธิ์ของสารที่เป็นองค์ประกอบในกัญชาต่อร่างกาย

 
ร่างกายของมนุษย์มี cannabinoid receptors ได้แก่
CB1 receptors และ CB2 receptors 
 
ซึ่งสามารถจับกับสารสื่อประสาทกลุ่ม endocannabinoids โดย
 
พบ CB1 receptors ในหลายๆ ส่วนของสมอง ทั้งในสมองส่วน
cortex (การคิดคำนวณและการสั่งการเคลื่อนไหว) 
hippocampus (ความจำ)
basal ganglia (การวางแผน)
ventral striatum (ความรู้สึกเหมือนได้รางวัลและความพึงพอใจ)
amygdala (ความกังวลและความกลัว)
hypothalamus (ฮอร์โมน ความหิวและความต้องการทางเพศ)
cerebellum (การทรงตัวและการเคลื่อนไหว)
 
 
พบ CB2 receptors มากในระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) ซึ่งควบคุมการหลั่งสาร cytokines และระบบการสร้างเม็ดเลือด (haemopoietic system) แต่ก็มีหลักฐานว่าพบ CB2 receptors(26) ในสมองเช่นกัน CB2 receptors จึงได้รับความสนใจมากในทางการแพทย์ ด้วยความมุ่งหวังว่า ยาที่สกัดจากสารประกอบของกัญชาจะทำงานผ่าน CB2 receptors มากกว่า CB1 receptors เพื่อหลีกเลี่ยงฤทธิ์ทางจิตประสาทที่เกิดจากสาร THC จับกับ CB1 receptors(27) ฤทธิ์ของ endocannabinoids ต่ออวัยวะอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสมอง
 
 
 
 

วิธีการใช้กัญชา
 

- การใช้หรือเสพกัญชามีหลายวิธี เช่น การสูบ การกิน การสวนทางทวารหนัก และการดูดซึมผ่านเยื่อบุหรือผิวหนัง
 
- การสูบ (ทั้งโดยตรงหรือผ่านไอน้ำ) ทำให้ THC เข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็วที่สุด โดยทำให้ระดับ THC ในเลือดขึ้น สูงสุดใน 15 ถึง 30 นาที และลดลงใน 2 ถึง 3 ชั่วโมง
 
- ตัวแปรต่อการรับ THC ขึ้นกับ ปริมาณการสูบ การกลั้นลมหายใจขณะสูบ และความเข้มข้นของใบกัญชาในมวนยาสูบ
 
- การสูบกัญชาโดยตรงทำให้ ได้รับสารโมเลกุลหนักอื่นๆ เช่น ammonia hydrogen cyanide และ carbon monoxide เหมือนกับการสูบบุหรี่
 
- การสูบกัญชาผ่านไอน้ำ เชื่อว่าทำให้ได้รับสารโมเลกุลหนักเหล่านี้น้อยกว่า
 
- hashish คือน้ำมันเรซินเข้มข้น ใช้โดยการกินหรือสูบผ่านน้ำ 
 
- hashish มีปริมาณ THC สูงกว่าใบหรือดอกกัญชาทั่วไป การกิน hashish ทำให้ THC เข้าสู่เลือดน้อยลง (เหลือประมาณร้อยละ 10-20 แต่ฤทธิ์ทางจิตประสาทยังคงอยู่ เพราะ THC เมื่อผ่านตับจะถูก metabolite
 
- การกินทำให้เกิดผลทางจิตประสาทภายใน 30 ถึง 90 นาที ผลสูงสุดที่ 2 ถึง 3 ชั่วโมง และคงอยู่นาน 4 ถึง 12 ชั่วโมง 
 
- การสูบกัญชาเป็นเวลานาน ทำให้ THC คงอยู่ในเลือดนานขึ้นเพราะการสะสม THC ในไขมัน
 
 


 

Update เกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์
 

ปัจจุบันความสนใจในการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์มีมากขึ้น ไม่เพียงแต่การใช้สารสกัดจากกัญชา ยังรวมถึงการนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาใช้โดยตรงในลักษณะของพืชสมุนไพรที่มิได้สกัด

ความยากลำบากในการศึกษาวิจัยกัญชา ได้แก่ 
 
(1) สาร endocannabinoids ในกัญชามีหลากหลายชนิด ไม่ใช่เฉพาะ THC และ CBD เท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะประเมินขนาดของการใช้กัญชาที่เหมาะสม หรือประเมินผลข้างเคียงของสารต่างๆ ในกัญชาได้ 
 
(2) การมี entourage effect ของกัญชา entourage effect เป็นแนวคิดที่ว่า การใช้กัญชาตามธรมชาติให้ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดีกว่าการกินยาที่สกัดมาเป็น cannabinoidsบริสุทธิ์ 
 
(3) เนื่องจากกัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท จึงเป็นการยากที่จะทำการศึกษาประสิทธิศักย์ (efficacy) ของกัญชาในรูปแบบ RCT ทำให้การศึกษาที่ผ่านมามักมีอคติในเชิงระเบียบวิธีวิจัยค่อนข้างสูง ในประเด็นเรื่องความปลอดภัย แม้ปัจจุบันจะมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยของการใช้สารสกัดจากกัญชา (isolated cannabinoids) ที่เป็น RCT อยู่บ้าง แต่งานวิจัยในลักษณะ RCT ที่ประเมินความปลอดภัยของการใช้กัญชาโดยตรงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ยังมีไม่มากนัก 

 
 
************
 
 

ประโยชน์ของกัญชา
 

การศึกษาทางคลินิกส่วนใหญ่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชากับยาหลอก 
โรคบางโรคที่เป็นที่สนใจในการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ดังรายละเอียดข้างล่างนี้ ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นการสรุปจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี ค.ศ. 2016
 
- โรคทางระบบประสาท 
 
ในสหราชอาณาจักรมีการนำกัญชามาสกัดเพื่อผลิตตำรับส่วนผสมของ dronabinol – cannabidiol (sativex®) เพื่อใช้ในการรักษาโรคปลอกประสาทแข็ง (multiple sclerosis) ซึ่งตำรับนี้เป็นที่ยอมรับให้ใช้ทางการแพทย์ใน 24 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, สเปน ฯลฯ
 
มีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ในการบำบัดรักษาอาการจิตเวชและระบบประสาท (Neuropsychiatric symptoms) การรักษาอาการไม่อยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง
 
Cannabinoid THC ใช้รักษา สภาวะหดเกร็ง (spasticity) ศักยภาพในการใช้รักษา โรคสมาธิสั้น(Attentiondeficit hyperactivity disorder) การใช้รักษา ความเจ็บปวด (Pain)  อาการเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder) นอนไม่หลับ (Insomnia)
 
Cannabinoid THCV ใช้รักษา ความกังวล (Anxiety)  นอนไม่หลับ (Insomnia)
 
 
การใช้กัญชาเพื่อบรรเทาหอบหืด โดยการนำใบสดมาหั่นให้เป็นฝอย ตากแห้ง แล้วนำมามวนใช้สูบ ใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ช่วยขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลมได้ 
 
การใช้กัญชาในการรักษาต้อหินได้ โรคต้อหินเกิดจากความดันลูกนัยน์ตาสูง กัญชาทำให้ความดันภายในลูกนัยน์ตาลดลงได้ดี ช่วยยับยั้งการบอดไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยใช้การมวนเป็นยาสูบ 
 
อนุพันธ์กัญชามีประโยชน์หลายอย่างในการบำบัดมะเร็ง กระตุ้นความอยากอาหาร ช่วยชะลอ น้ำหนักลด ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยใช้ต้นกัญชาแห้งผสมกับตำรับยารับประทาน 
 
 
 
 

โทษของกัญชา


มองผลกระทบใน 3 ด้าน
1) ผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง
2) ผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
3) ผลกระทบต่อสังคม

 
 
ผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง

- การใช้กัญชาในระยะสั้นมีผลเสียต่อการทำงานของสมองในหลายๆ ด้านเช่น ความจำ การตัดสินใจ การควบคุมตนเอง และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า 
 
- ผู้ที่ไม่เคยใช้กัญชามาก่อนจะได้รับผลเหล่านี้มากกว่าผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำ เพราะผู้ที่ใช้กัญชาเป็นประจำจะมีความสามารถในการทนทาน (tolerance) มากกว่า
 
- การเสพในระยะสั้นนั้น ผู้เสพจะมีอาการเคลิ้มและผ่อนคลายเนื่องจากกัญชากระตุ้นการหลั่งสาร dopamine ในสมอง
 
- การเสพในระยะสั้นจะมีผู้เสพส่วนน้อยที่เกิดอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน หรือมี panic attack ทั้งนี้ ขึ้นกับปริมาณ THC ที่ได้รับ และความโน้มเอียงทางพันธุกรรมของผู้เสพว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดอาการทางจิตหรือไม่
 
- การใช้กัญชาในขนาดที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (fatal cannabis overdose) พบได้น้อยเมื่อเทียบกับสารเสพติดกลุ่ม opioid อื่นๆ
 
- มีรายงานว่า ปริมาณที่เป็นอันตรายถึงชีวิต (lethal dose) ของ THC ที่พบในสุนัข คือ 3 กรัมของ THC ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ผู้เสพกัญชาเป็นประจำจะได้รับใน แต่ละวันเป็นอย่างมาก (ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน ถึงปริมาณที่นับว่าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตในมนุษย์)
 
- การเสพติดกัญชาหากเทียบกับสารเสพติดอื่นๆ แล้ว นับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับแอลกอฮอล์
 
- การใช้กัญชามักสัมพันธ์กับการใช้ยาเสพติดอื่นๆ กัญชาเป็นเสมือน gateway drug ของสิ่งเสพติดอื่นๆ อีกหลายประเภท โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น
 
- การใช้กัญชาในระยะยาวมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวชและส่งผลเสียต่อสมองในด้านความคิดและความจำ
 
- นิวซีแลนด์ได้วัดระดับสติปัญญา (IQ) น พบว่า ผู้ที่ใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องหรือมีประวัติใช้กัญชาตั้งแต่อายุน้อย มี IQ น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้กัญชาประมาณ 8 จุด 
 
- ทารกที่มีมารดาใช้กัญชาระหว่าง ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางสมองในแง่ต่างๆ ทั้งในแง่ความจำ การเรียนรู้ และเกิดปัญหาพฤติกรรม รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเสพกัญชาเมื่อโตขึ้น
 
- อย่างไรก็ตามการศึกษาของประเทศอังกฤษได้ให้ข้อมูลแย้งว่า การใช้กัญชาไม่ได้มีผลลด IQ ของผู้เสพ แต่ผล IQ ที่ลดลง น่าจะมาจากตัวแปรอื่นๆ เช่น โรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง หรือการได้รับสารเสพติดอื่นๆ 
 
- มีการศึกษาพบว่าการใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภท 2.9 เท่า
 
- บางรายงานพบว่าผู้ใช้กัญชามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ประมาณร้อยละ 17 และความเสี่ยงนี้ เพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 62 ในผู้ที่ใช้ในปริมาณมากๆ
 
- รายงานสำรวจป่วยจิตเภทในสหราชอาณาจักร พบว่าผู้ที่มีประวัติเสพกัญชามีแนวโน้มที่จะเริ่มปรากฏอาการโรคจิตเภทที่อายุน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เสพกัญชาประมาณ 6 ปี อย่างมีนัยสำคัญ
 
- การใช้กัญชาในระยะยาวมีผลเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางจิตเวชและส่งผลเสียต่อสมองในด้านความคิดและความจำ
 
 
ผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
 
- การสูบกัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) และสัมพันธ์กับการอักเสบของถุงลมปอด อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกี่ยวกับการสูบกัญชากับโรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอดยังไม่เป็นที่แน่ชัด
 
- การเสพกัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) สมอง
ขาดเลือด (stroke) หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (sudden cardiac death) และกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (cardiomyopathy)(43) อย่างไรก็ตาม หลักฐานในประเด็นนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นระดับกรณีศึกษา (case reports)
 
- ในด้านความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง ไม่พบหลักฐานที่เป็นที่แน่ชัดว่า กัญชามีผลทำให้เกิดมะเร็งปอด แต่มีหลักฐานว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะประมาณร้อยละ 56 อย่างมีนัยสำคัญฯ


 
 
ผลกระทบต่อสังคม
 
- ปริมาณผู้เสพกัญชาทั่วโลก (global prevalence) มีประมาณ 13.1 ล้านคน พบมากในสหรัฐอเมริกา และทวีปแอฟริกา
 
- ในสวิตเซอร์แลนด์ มีรายงานผู้ป่วยที่มารับบริการที่แผนกฉุกเฉินประมาณร้อยละ 31  มาด้วยปัญหาจากการใช้กัญชา
 
- สหรัฐอเมริการะบุว่า กว่าหนึ่งในสามของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงบนท้องถนนมีประวัติเสพกัญชาก่อนหรือระหว่างขับขี
 
- การศึกษาในแคนาดาพบว่า การเสพกัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากกว่าสี่เท่า
 
- ในแง่ของการทำงาน เป็นที่ทราบกันดีว่า การเสพกัญชามีผลลดความฉับไวของการตัดสินใจ และส่งผลเสียต่อสมองด้านความคิดและความจำ
 
- การศึกษาของ Wadsworth และคณะ (2006) ระบุว่าแม้การเสพกัญชาจะทำให้การตัดสินใจและการทำงานของสมองส่วนความคิดของผู้เสพบกพร่องไป แต่ไม่ได้ทำให้เกิดการทำงานผิดพลาดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เสพอย่างมีนัยสำคัญฯ
 
- ผู้ที่เสพกัญชามีโอกาสถูกปลดออกจากงานมากกว่าปกติ
 
- ในแง่ของการศึกษา นักเรียนที่ใช้กัญชา มีแนวโน้มที่จะใช้เวลาเพื่อจะเรียนจบมหาวิทยาลัยนานกว่าผู้ที่ไม่ได้เสพกัญชา และมักมีผลการเรียนที่ด้อยกว่า
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด