ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ผลศึกษา-ติดตามสถานการณ์ การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์

ผลศึกษา-ติดตามสถานการณ์ การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ HealthServ.net

จัดทำโดยคณะผู้วิจัย ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการศึกษา ติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่สอง มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ของคนไทย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงที่เริ่มบังคับใช้ พรบ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562

ผลศึกษา-ติดตามสถานการณ์ การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ThumbMobile HealthServ.net
บทสรุปผู้บริหาร
ที่มาและความสำคัญ
นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีการเลือกตั้งของประเทศ ได้นำมาสู่การได้รัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายผลักดันการใช้ประโยชน์จากพืชเสพติดให้มากขึ้น จนนำมาซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่ก่อให้เกิดพลวัตรใหม่ของสังคมในเรื่องพืชเสพติดโดยเฉพาะกัญชา การผ่อนคลายมาตรการลงโทษตามกฎหมายต่อการใช้กัญชา และการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายทำให้มีผู้ใช้กัญชาอย่างกว้างขวาง ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อสันทนาการ และการแพทย์ก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการรับรู้ด้านกัญชาเพื่อการแพทย์ของประชาชน นำมาซึ่งภารกิจสำคัญของนักวิชาการด้านสารเสพติดที่ต้องสำรวจสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาการแพทย์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนนำมาซึ่งโครงการวิจัย ศึกษาสถานการณ์ใช้กัญชาการแพทย์ในประเทศไทย (ระยะที่ 1) ช่วงปี พ.ศ. 2562 - 2563 การสำรวจในครั้งดังกล่าว คณะวิจัยได้พบข้อมูลสำคัญหลายประการ เช่น
 
  •  ผู้ใช้กัญชาการแพทย์จำนวนมาก ที่ได้รับกัญชาการแพทย์จากตลาดมืด (ร้อยละ 54.5 สำหรับทั่วประเทศ และภาคกลางกับภาคใต้สัดส่วนสูงถึง 77.8 และ 80.4 ตามลำดับ) ซึ่งหมายความว่ากัญชาในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขนั้นเข้าถึงยากกว่ากัญชาจากภายนอก
  • วัตถุประสงค์ของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ ใช้เพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ที่อยู่นอกประกาศโรคที่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาการแพทย์ในการรักษามากที่สุดที่ร้อยละ 36.3 ในขณะที่ผู้ใช้เพื่อรักษาโรคที่ได้รับประโยชน์จากการใช้กัญชาการแพทย์ (โรคกลุ่ม ก.) มีเพียงร้อยละ 20.1 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้กัญชาการแพทย์ ณ ขณะนั้นใช้กัญชารักษาโรคตามความเชื่อของตนมากกว่าหลักฐานทางการแพทย์
  •  ประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาการแพทย์ของประเทศไทย พบว่ามีประมาณ 442,756 หรือประมาณ 864 คน ต่อแสนประชากร โดยที่ภาคกลางเป็นภาคที่มีความชุกของผู้ใช้กัญชาการแพทย์สูงที่สุดที่ 1,440 ต่อแสนประชากร ตามด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ 622 494 และ 492 คนต่อแสนประชากรตามลำดับ
  •  ในขณะที่การสำรวจสถานการณ์ระยะที่ 1 นั้น หน่วยบริการกัญชาการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวน 255 แห่ง โรงพยาบาลในโครงการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำมันกัญชาและคลินิกกัญชาการแพทย์แผนไทยอีก 4 แห่ง เท่านั้นและในจำนวนนั้น 134 แห่ง มีคลินิกัญชาการแพทย์ให้บริการแต่ไม่มีผู้เข้ารับบริการ ซึ่งหมายความว่า แม้รัฐจะผลักดันให้มีการบริการกัญชาการแพทย์ แต่สถานบริการพยาบาลของรัฐ ณ ขณะนั้นยังไม่พร้อมบริการ รวมไปถึงผู้ใช้กัญชาการแพทย์ไม่สะดวกเข้ารับบริการจากหน่วยงานของรัฐ หรือมีทางเลือกที่สะดวกกว่าจากการรับกัญชาการแพทย์จากภายนอก
 
 
ข้อค้นพบที่สำคัญข้างต้นสามารถช่วยให้คณะผู้บริหารนโยบายกัญชาการแพทย์ และนโยบายด้านยาเสพติดนำไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการและพัฒนานโยบายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการใช้นโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้พืชเสพติดเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และนโยบายเพื่อควบคุมผลกระทบทางลบจากการใช้พืชเสพติดก็ตาม


สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน (เมษายน พ.ศ. 2564) มีความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาภายหลังสิ้นสุดโครงการการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาการแพทย์ประเทศไทย ระยะที่ 1 เช่น การเพิ่มขึ้นของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวนเป็น 398 แห่ง ที่ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งในรูปแบบแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ทั้งในระดับโรงพยาบาลตติยภูมิ ไปจนถึงสถานบริการพยาบาลปฐมภูมิ การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของประชาชนต่อการใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์ และสันทนาการ การเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องสิทธิการใช้กัญชา ความเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายต่อสถานการณ์การใช้กัญชาการแพทย์ ณ ปัจจุบัน


คณะผู้วิจัยจึงได้จัดทำการศึกษาเพื่อติดตามสถานการณ์การใช้และการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่สอง ซึ่งได้ผลลัพทธ์ออกมาเป็นรายงานโครงการศึกษาฉบับนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ของคนไทย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร เมื่อเทียบกับช่วงที่เริ่มบังคับใช้ พรบ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบริบทสังคม รวมไปถึงการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่รวมถึงระบบสุขภาพของประเทศก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการหลายประการ การเปลี่ยนแปลงโดยรวมทั้งหมดนั้นส่งผลให้ผู้ใช้กัญชาการแพทย์มีรูปแบบการใช้ ความสามารถในการเข้าถึงกัญชาการแพทย์ และการดำเนินของโรคที่ผู้ใช้กัญชาการแพทย์เพื่อการรักษาโรคนั้นเปลี่ยนแปลงหรือไม่และเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 

วิธีการศึกษา


โครงการนี้ประกอบด้วยงานสองขั้นตอนหลัก ได้แก่
 
การศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informant in-depth interviews) และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ จำนวน30 คนทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรงพยาบาลของรัฐที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ หมอพื้นบ้าน แพทย์ทางเลือก ผู้ให้บริการน้ำมันกัญชาใต้ดิน ผู้บริหาร นักการเมือง แกนนำกลุ่มผู้ใช้กัญชาทั้งเพื่อการแพทย์และสันทนาการ แอดมินเพจผู้ใช้กัญชาในประเทศ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาจากรัญผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย

 
การศึกษาเชิงปริมาณ โดยใช้การสำรวจภาคตัดขวาง (cross sectional survey) โดยการสุ่มตัวอย่างแบบ
respondent-driven sampling (RDS) เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน หรือแพทย์ทางเลือก และผู้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคที่ยังไม่เปิดเผยตน (ผู้ใช้ซ่อนเร้น หรือ "ใต้ดิน") รวม 400 คน (ภาคเหนือ 200 คน และภาคใต้ 200 คน) เก็บข้อมูลในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
 
 
 

ผลการศึกษา


ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์มีสัดส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อยที่ร้อยละ 56.5 ต่อร้อยละ 43.5 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 45-65 ปี (ร้อยละ 51.4)

อายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างคือ 51.9 ปี (น้อยสุด 12 ปี มากที่สุด 90 ปี)

นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 89.4 (95% CI 87.6-91.3)

จบการศึกษาปริญญาตรีหรือสูงกว่ามากถึงร้อยละ 31.4 (95% CI 25.6-37.3)

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของกิจการมากถึงร้อยละ 19.8 (95% CI 15.6-24.1) ร้อยละ 56.3 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท

ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มประชากรในการศึกษาระยะที่ 2 ไม่แตกต่างมากนักกับระยะที่ 1


อายุเฉลี่ยที่เริ่มใช้กัญชาคือ 41.6 ปี ร้อยละ 72.1 (95% CI 62.6-81.5)

เริ่มใช้กัญชาครั้งแรกด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ในหนึ่งปีที่ผ่านมาใช้กัญชาเฉลี่ย 199.7 วัน โดยเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99.8, 95% CI 97.8-98.3) ใช้กัญชาในรอบปีที่ผ่านมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

เหตุผลที่เลือกใช้กัญชาในการรักษาโรคเนื่องจาก
  • ใช้เพื่อให้กัญชาไปเสริมกับการรักษาวิธีอื่นมากถึงร้อยละ 44.5
  • ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 42.0) ยังคงใช้ยาแผนปัจจุบันควบคู่กับกัญชาการแพทย์
  • และร้อยละ 31.7 เลิกใช้ยาแผนปัจจุบันหลังจากใช้กัญชาการแพทย์


โรคที่มีผู้ใช้กัญชารักษามากที่สุดสองอันดับแรกคือ โรคกลุ่มปวดกล้ามเนื้อและกระดูก และโรคกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในกลุ่มโรคที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่าได้รับประโยชน์จากการใช้กัญชาการแพทย์ ร้อยละ 30.7 และ 30.2 ตามลำดับ ซึ่งไม่แตกต่างจากการศึกษาในระยะที่หนึ่งมากนัก



รูปแบบของการใช้กัญชา

ผู้ใช้ร้อยละ 54.1 (95% CI 46.0-60.2) ใช้ในรูปของน้ำมันกัญชา ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการศึกษาระยะที่หนึ่งที่พบว่าใช้น้ำมันกัญชาร้อยละ 84.7


นอกจากนั้นยังพบว่ารูปแบบการใช้กัญชาการแพทย์ของกลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลายมากขึ้น
  • โดยใช้แบบ ดอกใบ ต้น รากสด รากแห้ง และต้นกล้ามากถึงร้อยละ 31.5 (95% CI 24.5-38.5)
  • และใช้แบบตำรับแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.7 (95% CI 11.9-31.7)


สำหรับความถี่ของการใช้กัญชา
  • ประมาณครึ่งหนึ่งใช้หลายครั้งต่อวัน (ร้อยละ 47.4, 95% CI 38.8-55.9)
  • ส่วนที่ใช้น้อยกว่าสัปดาห์ละครั้งเป็นต้นไปมีเพียงร้อยละ 6.5 (95% CI 3.6-9.4) เท่านั้น 
 

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนสำหรับการใช้กัญชาการแพทย์
อยู่ที่เดือนละ 1,015.75 บาท (95% CI 50-20,000 บาท)

 

ผู้ใช้กัญชาที่ปลูกกัญชาไว้เอง มีร้อยละ 14.1 (95% CI 8.2-20) โดยที่ร้อยละ 4.5 (95% CI 3.0-6.0) ปลูกไว้เพื่อขายเพียงอย่างเดียว ที่เหลือนั้นปลูกไว้บริโภคเองและเก็บเกี่ยวบางส่วนไว้ขาย


ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิดต่อการใช้กัญชาการแพทย์พบว่า
  • ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ
  • มีเพียงผู้ใช้กัญชาไม่เกินร้อยละ 10 เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบในด้านการใช้กัญชาการแพทย์ การแสวงหา และการซื้อขายกัญชาการแพทย์ในช่วงที่มีการระบาดของโรค
 
 


ผลจากการศึกษาเชิงคุณภาพ

พบว่า ผู้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน เช่น หมอพื้นบ้านทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัยโรค จัดหายา อธิบายสรรพคุณและวิธีใช้แก่ผู้ป่วย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทำหน้าที่ตั้งแต่การปลูก ปรุงยา และแจกจ่าย และผู้ผลิตหรือผู้ปลูกมีบทบาทหน้าที่ เป็นผู้ปลูกและผลิต แปรรูปกัญชาเป็นยารักษาโรคส่วนแอดมินเพจทำหน้าที่ ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโรค สรุปข้อมูลจากงานวิจัยและเผยแพร่ให้ความรู้ทาง page ทำข้อมูลสื่อสารให้กับกลุ่มสมาชิกแฟนเพจ และพระสงฆ์ทำหน้าที่ช่วยดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ระยะป้องกันจนถึงระยะสุดท้ายของโรคช่วยดูแลคนป่วยที่โรงพยาบาลไม่รับรักษาแล้ว โดยใช้สารสกัดจากกัญชา ผู้ให้บริการทุกกลุ่มใช้กัญชาในการรักษาโรคต่างๆ ได้แก่ โรคความดัน เบาหวาน เก๊าท์ เครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล เบื่ออาหาร บำรุงร่างกาย โรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคลมชัก โรคมือสั่น โรคผิวหนัง แก้คัน น้ำกัดเท้า โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ โรคทางจิต ริดสีดวง โรคระบบกล้ามเนื้อ โดยเหตุผลที่ใจใช้กัญชารักษาเพราะกัญชามีสรรพคุณในการรักษาโรค และมีประโยชน์หลายด้าน ลดอาการปวดและคลายเครียด ช่วยให้หลับลึก ร่างกายได้พักและซ่อมแซม ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เคยเข้าร่วมอบรมและศึกษาสรรพคุณของกัญชา เคยใช้รักษาตัวเองและคนใกล้ตัวซึ่งพิสูจน์ได้ว่ากัญชารักษาโรคได้จริงจึงได้นำมาใช้รักษากับคนป่วยที่ต้องการพึ่งพาการรักษาทางเลือก
 
 

สรุป


การศึกษานี้ซึ่งเก็บข้อมูลในช่วงประมาณปลายปีที่สองหลังจากการออกกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ในประเทศไทย และมีการออกฎหมายย่อยที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ผลิตและใช้กัญชาอีกหลายฉบับ การเปิดให้บริการคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนจากลุ่มที่สนับสนุนการเปิดเสรีกัญชาหลายกลุ่ม พบว่า แบบแผนการใช้ แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ การรับรู้ประโยชน์cละโทษของกัญชาและความคิดเห็นต่อนโยบายกัญชาของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยสำรวจเมื่อปลายปีแรกหลังการออกกฎหมายฯเท่าไรนัก ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ยังเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาจากแหล่งนอกระบบของกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าจากคลินิกในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข หรือจากหมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทยที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ใช้ฯ ยังมองเห็นประโยชน์ของกัญชาในการรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยหลากหลายชนิด แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รับรู้ว่ากัญชามีโทษหรือทำให้เกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ด้วย ผู้ใช้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ใช้ ผลิต และจำหน่ายกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่เห็นด้วยกับการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ



ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.)
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารศูนย์ความก้าวหน้าทางวิชาการ (รัตนวิทยพัฒน์) ชั้น 15
1873 วังใหม่ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
เบอร์โทรศัพท์ 097-174-5584, 063-896-0011
Facebook ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด