ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

พฤกษศาสตร์กัญชา และ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา

พฤกษศาสตร์กัญชา และ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา HealthServ.net
พฤกษศาสตร์กัญชา และ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา ThumbMobile HealthServ.net

กัญชาเป็นชื่อพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabaceae เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ในทางการแพทย์แผนไทย พืชกัญชามีส่วนที่ใช้เป็นตัวยาในตำรับยาเกือบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นราก ก้านใบ ใบ และเรือนยอดช่อดอกเพศเมีย (ซึ่งมีฤทธิ์แรงที่สุด) ตำราสรรพคุณยาไทยระบุว่า กัญชา มีรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณแตกต่างกันตามส่วนที่ใช้

 
 
กัญชาเป็นชื่อพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabaceae เป็นพืชที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะใช้ลำต้นเป็นเส้นใย ใช้ใบและเรือนช่อดอกเพศเมีย กินเป็นอาหารและยาหรือใช้สูบเป็นเครื่องหย่อนใจ พืชกัญชามีชื่อสามัญหลายชื่อ เช่น cannabis, hemp, Indian hemp, ganja, marihuana, marijuana เป็นพืชล้มลุกปีเดียว ดอกแยกเพศต่างต้น (dioecious) แต่อาจพบพืชกัญชาที่เป็นแบบดอกแยกเพศร่วมต้น (monoecious) ได้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย แล้วแพร่ไปทั่วโลก สารองค์ประกอบเคมีในกัญชาที่สำคัญมีสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ที่สำคัญ เช่น Δ9- เททระไฮโดรแคนนาบินอล [Δ9-tetrahydrocannabinol (Δ9-THC)], แคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD), แคนนาบินอล (cannabinol, CBN), แคนนาบิเจอรอล (cannabigerol, CBG) สารกลุ่มเทอร์พีนอยด์ เป็นต้น


สาร Δ9-THC เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง พบมากในช่อดอกเพศเมีย ในปัจจุบันพืชกัญชาเป็นพืชปลูกในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วทุกทวีปของโลก โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นเส้นใย หรือใช้เป็นยาบำบัดโรค 
 
 
ในทางการแพทย์แผนไทย พืชกัญชามีส่วนที่ใช้เป็นตัวยาในตำรับยาเกือบทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นราก ก้านใบ ใบ และเรือนยอดช่อดอกเพศเมีย (ซึ่งมีฤทธิ์แรงที่สุด) ตำราสรรพคุณยาไทยระบุว่า กัญชา มีรสเมาเบื่อ มีสรรพคุณแตกต่างกันตามส่วนที่ใช้ เช่น ใบมีสรรพคุณแก้หอบหืด เจริญอาหาร ชูกำลัง เป็นต้น แต่ทำให้จิตใจ ขลาดกลัว ตาลาย ประสาทหลอน ดอกมีสรรพคุณแก้โรคประสาท ทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร กัดเสมหะในคอ เป็นต้น


จากการสืบค้นตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ที่ได้ประกาศคุ้มครองตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ จำนวน 579 รายการ ศิลาจารึก จำนวน 536 แผ่น และตำรับยาแผนไทยของชาติในตำราและศิลาจารึกดังกล่าว จำนวน 45,134 ตำรับ (ข้อมูล ณ สิงหาคม 2564) มีตำรับยาตัวยากัญชา จำนวน 162 ตำรับ มีการบันทึกไว้ในตำราการแพทย์แผนไทยของชาติฉบับที่เก่าแก่ที่สุด คือ คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ซึ่งต้นฉบับ ใช้คำว่า คัมภีร์ธาตุพระนารายน์ หรือตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เป็นหลักฐานทางการแพทย์แผนไทยชิ้นสำคัญสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายว่า "ที่เรียกว่าตำราพระโอสถพระนารายณ์ เพราะมีตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช"
 
 
นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกเกี่ยวกับกัญชาไว้ในตำราการแพทย์แผนไทยที่เป็นเอกสารชั้นต้นสำคัญสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ ศิลาจารึกวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร ศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ 2 ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 (สมุดไทย) เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีการใช้กัญชาทางการแพทย์มามากกว่า 360 ปี


แต่เมื่อ 40 ปี ที่ผ่านมา มีการออกพระราชบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ทำให้คนไทยต้องหยุดใช้ประโยชน์จากกัญชาเพราะผิดกฎหมาย และไม่มีการใช้และพัฒนาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากกัญชามายาวนานหลายสิบปี จนทำให้ภูมิปัญญาเรื่องกัญชาสูญหายไป ซึ่งในประเทศไทยมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 โดยกัญชายังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ได้แก่ ผลิตหรือครอบครองเพื่อการศึกษาวิจัยทางด้านการแพทย์ ผลิตซึ่งกระทำโดยการปรุงเฉพาะกัญชาสำหรับคนไข้เฉพาะรายของตน และจำหน่ายเฉพาะกัญชาเพื่อการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น
 
 
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. 2564 โดยได้กำหนดตำรับยาแผนไทยที่เชื่อว่าน่าจะมีประสิทธิผล ปลอดภัย วิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวยาหาไม่ยาก และมีสรรพคุณตำรับที่ใช้แก้ปัญหาสาธารณสุขในปัจจุบันได้ รวมทั้งสิ้น 11 ตำรับ
 
 
 
พฤกษศาสตร์กัญชา และ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา HealthServ
 

พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา*

 
พืชกัญชามีกำเนิดในแถบเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลักฐานว่ามีการใช้ประโยชน์จากกัญชาตั้งแต่ยุคหินใหม่ (Neolithic Age) พบหลักฐานว่า มนุษย์รู้จักปลูกพืชกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ จากเส้นใยที่เกาะไต้หวันเป็นครั้งแรก ส่วนการใช้เป็นพืชออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้น อาจจะเกิดจากความบังเอิญจนพัฒนาไปสู่การใช้ในพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งการใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดโรค จนพืชกัญชาถูกใช้เป็นพืชปลูกเพื่อใช้เส้นใย เป็นยา และใช้ในพิธีกรรมความเชื่อเรื่อยมา พิธีกรรม ของลัทธิฮินดูและพุทธศาสนานิกายตันตระของอินเดียและทิเบต มีการใช้เรือนช่อดอกและยางของกัญชา ในการช่วยให้เกิดสมาธิและสามารถสื่อสารกับวิญญาณได้
 

ว่ากันว่าในราว 5,000 ปีก่อนในแผ่นดินจีนมี "เสินหนง (Shennong)" ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น "เทพเจ้าแห่งชาวนา" ผู้ซึ่งจดบันทึกประโยชน์ของสมุนไพรต่าง ๆ และได้บันทึกว่า กัญชาใช้บำบัด "ความเหนื่อยล้า (fatigue), โรคไขข้ออักเสบ (rheumatism) และไข้มาลาเรีย" มีการใช้น้ำมันและโปรตีนจากเมล็ดกัญชาในการบำบัดโรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน และลดการอักเสบในอียิปต์โบราณหญิงสาวใช้กัญชาในการลดอาการปวดและปรับอารมณ์ เช่นเดียวกับชาวโรมันที่ใช้รากกัญชาในการลดอาการปวด


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการใช้กัญชาในอีกหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น กรีก ฝรั่งเศส อาหรับ ในยุคล่าอาณานิคมเป็นยุคที่กัญชาเป็นที่รู้จักไปทั่วทวีปยุโรป โดยแพทย์ชาวโปรตุเกสได้บันทึกฤทธิ์ของกัญชาในอินเดียไว้ว่าทำให้เคลิ้มสุข ทำให้สงบ กระตุ้นการย่อยอาหาร ทำให้ประสาทหลอน และกระตุ้นกำหนัดในการแพทย์อายุรเวทของอินเดียใช้ใบกัญชาแห้งเป็นเครื่องยา มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น Vijaya, Bhanga, Kanja, Charas โดยมีสูตรตำรับที่มีส่วนผสมของกัญชา คือ Jatiphaladi Curna และ Madadananda Modaka ใช้สำหรับบำบัดโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (Agnimandya), นอนไม่หลับ (Anidra), ท้องร่วงเฉียบพลัน (Atisara) เป็นต้น
 
ในอินเดียมีการนำกัญชามาเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบ โดยมีชื่อเรียกต่างกัน ที่สำคัญ เช่น มาริฮัวนา (marihuana, marijuana) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเรือนช่อดอกตัวเมีย (กะหลี่กัญชา) มาผึ่งให้แห้ง แล้วบดเป็นผงหยาบ
 

กัญชา (ganja) เป็นผงหยาบของดอก ผล หรือใบแห้ง นำมาอัดเป็นแท่ง หรือแผ่นบาง
 
แบง (bhang หรือ bang) เป็นผงหยาบของใบกัญชา อาจมีช่อดอกเพศผู้หรือช่อดอกเพศเมียปนมาเล็กน้อยจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำ 
 
แฮชิส (hashish) หรือ ชาราส (charas) เป็นยางกัญชาที่เตรียมได้จากการนำกะหลี่กัญชามาใส่ไว้ในถุงผ้า ใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมา แล้วจึงขูดยางออกจากถุงผ้า ชนิดนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแรงสูง 
 
 
 
 

พฤกษศาสตร์ของกัญชา*

 
กัญชาเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว ลำต้นตั้งตรง สูง 1-5 เมตร มีขนสีเขียวอมเทาและไม่ค่อยแตกกิ่ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปฝ่ามือ ขอบใบเว้าลึกจนถึงจุดโคนใบเป็น 5-๗ แฉก แต่ละแฉกรูปยาวรี กว้าง 0.3-1.5 เซนติเมตร ยาว 6-10 เซนติเมตร โคนและปลายสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ดอกขนาดเล็กแยกเพศต่างต้น (แต่อาจพบต้นที่มีดอกแยกเพศร่วมต้นได้บ้าง) ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่งมีกลีบชั้นเดียว 5 กลีบ กลีบไม่ติดกัน เกสรเพศผู้มี 5 อัน ดอกเพศเมียเมียออกเดี่ยวตามซอกใบและปลายยอดแต่ละดอกมีใบประดับสีเขียวเข้ม คล้ายกาบและมีขนเป็นต่อมหุ้มอยู่ ไม่มีกลีบดอก มีรังไข่ 1 อัน ภายในช่องเดียวผลเป็นแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ขนาดเล็ก เกลี้ยง สีน้ำตาล ช่อดอกเพศเมียของกัญชาเรียก "กะหลี่กัญชา" (แต่บางท้องที่อาจเรียก "กะเต็น")
 
 
ส่วนใหญ่กัญชาเป็นพืชที่ปรับตัวได้ดีในทุกสภาพอากาศ ดิน แมลงศัตรูพืช เป็นต้น จึงทำให้กัญชาพันธุ์เดียวกัน หากนำไปปลูกในอีกสถานที่หนึ่งที่สภาพอากาศ ดิน ตลอดจนการดูแลที่ต่างกัน จะทำให้กัญชาพันธุ์นั้น สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ส่งผลต่อลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืช อาจทำให้ความสูงแตกต่างกัน การเรียงตัวของใบต่างกัน ตลอดจนการสร้างสารองค์ประกอบเคมีอาจจะแตกต่างกัน


นอกจากนี้ พืชกัญชายังสามารถผสมข้ามสายพันธุ์ เนื่องจากโดยทั่วไปพืชกัญชาส่วนใหญ่มีดอกที่แยกเพศต่างต้น หากเกสรเพศผู้ของกัญชาสายพันธุ์หนึ่งผสมพันธุ์กับเกสรเพศเมียของกัญชาอีกสายพันธุ์หนึ่ง ก็จะเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ขึ้น อาจทำให้สายพันธุ์ใหม่ที่มีความแตกต่างกันออกไป พบว่าเกสรเพศผู้ของกัญชาสามารถปลิวไปได้ไกลถึงราว 100 กิโลเมตร จึงทำให้กัญชามีลักษณะที่อาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย โดยอาจให้เส้นใยที่เหนียวและทนทาน ใช้เป็นยาใช้สูบ เพื่อสันทนาการ เป็นต้น
 
 
 
เนื่องจากมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากกัญชามาแต่โบราณ พืชกัญชาจึงพัฒนาเป็นพืชปลูกทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วไป ใน พ.ศ. 2296 ลินเนียส (Linnaeus) นักพฤกษศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของกัญชาเป็นคนแรกว่า Cannabis sativa L. และจัดให้อยู่ในวงศ์ Cannabaceae ตีพิมพ์ ในหนังสือชื่อ Species Plantarum ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ลามาร์ค (Lamarck) นักธรรมชาติวิทยา ชาวฝรั่งเศสได้เสนอ ชนิดของกัญชาเป็น 2 ชนิด คือ

     C. sativa เป็นกัญชาชนิดที่ปลูกในประเทศทางซีกโลกตะวันตก และ

     C. indica Lam. เป็นพืชกัญชาป่าที่พบในธรรมชาติที่อินเดียและประเทศเพื่อนบ้าน

ต่อมาภายหลังมีการเสนอชนิด C. ruderalis Janisch. อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนักพฤกษศาสตร์ยอมรับว่าพืชกัญชา มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียว คือ Cannabis sativa L. และชื่ออื่นเป็นชื่อพ้อง อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอให้แบ่งพืชกัญชา เป็น 2 กลุ่มย่อยตามลักษณะทางพฤกษศาสตร์และสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่พบ คือ กลุ่ม sativa-type และกลุ่ม indica-type ซึ่งมีรายละเอียดตาม ตารางที่ 3 
 
พฤกษศาสตร์กัญชา และ พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกัญชา HealthServ
 
 
ต่อมานักพฤกษศาสตร์พยายามจำแนกพืชกัญชาตามลักษณะทางพันธุกรรม การใช้ประโยชน์และปริมาณสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ ทั้ง THC และ CBD ซึ่งในทศวรรษที่ผ่านมานั้น อาจมีการแบ่งประเภทของกัญชาได้เป็น 6 กลุ่ม คือ
 
  1. กัญชาที่ให้เส้นใย (hemp) ที่ปลูกในเอเชียตะวันตกและยุโรป พบ THC ปริมาณน้อย แต่พบสาร CBD ปริมาณสูง
  2. กัญชาที่ให้เส้นใยที่ปลูกในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะจีน มี THC ปริมาณน้อย ถึงปานกลาง แต่มี CBD ปริมาณสูง
  3. กัญชา ที่ปลูกทั่วไปแถบเอเชียใต้และเอเชียกลาง มี THC ปริมาณสูงมาก (ชื่อการค้าของกัญชาชนิดนี้ คือ "sativa-type")
  4. กัญชา (marijuana) ที่ปลูกแถบเอเชียใต้ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถานและประเทศใกล้เคียง มี THC และ CBD ในปริมาณสูงพอกัน (ชื่อการค้าของกัญชาชนิดนี้คือ "indica-type")
  5. กัญชาที่ให้เส้นใย ซึ่งเกิดจาการผสมข้ามสายพันธุ์ของกลุ่ม 1 และ 2
  6. กัญชาชนิดใช้เป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งเกิดจาการผสมข้ามสายพันธุ์ของกลุ่มที่ 3 และ 4


+++++

 
จาก ตำรับยาแผนไทยของชาติที่เข้าตัวยากัญชา ชุดตำราภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฉบับอนุรักษ์ 
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2564
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด