ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

รู้จักวัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) วัคซีนที่ WHO และ EU อนุมัติล่าสุด

รู้จักวัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) วัคซีนที่ WHO และ EU อนุมัติล่าสุด HealthServ.net
รู้จักวัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) วัคซีนที่ WHO และ EU อนุมัติล่าสุด ThumbMobile HealthServ.net

และแล้ววัคซีน Novavax วัคซีนเชื้อตายชนิดโปรตีนเบสจากสหรัฐ ก็ได้รับอนุมัติจากทั้ง WHO และสหภาพยุโรปให้สามารถใช้ในสภาวะฉุกเฉิน (Emergency Use Listing - EUL) เป็นวัคซีนตัวที่ 5 ของยุโรปต่อจาก​ Biontech/Pfizer, Moderna, Astrazeneca และ Johnson & Johnson - วันนี้ Germany Insights จะพาคุณไปรู้จักกับวัคซีนโนวาแวกซ์ตัวใหม่ตัวนี้อย่างละเอียดยิบ


ทำความรู้จักวัคซีนตัวที่ 5 ที่ได้รับการอนุมัติในสหภาพยุโรป วัคซีนเชื้อตายจากบริษัท Novavax

​​องค์กรยาแห่งสหภาพยุโรป EMA ได้ปูทางสำหรับวัคซีนโปรตีนชนิดแรกเพื่อต่อต้าน coronavirus แล้ววันนี้ โดยหลังจากตรวจสอบการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบและความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์จากบริษัท Novavax แล้วนั้น คณะกรรมการผู้เชี่ยวเชาญที่รับผิดชอบได้ออกมาแนะนำการอนุมัติวัคซีนแบบมีเงื่อนไขสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ยังเหลือเพียงแค่ขั้นตอนทางการที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแค่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ แต่ขั้นตอนนี้ก็ถือเป็นพิธีการเท่านั้น ​ บริษัท Novavax ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติวัคซีนทางการตลาดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา​
 
รู้จักวัคซีนโนวาแวกซ์ (Novavax) วัคซีนที่ WHO และ EU อนุมัติล่าสุด HealthServ
และเมื่อต้นเดือนสิงหาคม คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ลงนามในข้อตกลงซื้อวัคซีน Novavax ในนามของประเทศสมาชิกเป็นจำนวนถึง 100 ล้านโดส ซึ่งจะต้องจัดส่งและพร้อมใช้งานภายในสิ้นปีหน้า สัญญาดังกล่าวยังรวมถึงทางเลือกในการส่งซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2023 เป็นอย่างช้า (หากต้องการ) และกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนีก็ได้ทำการวางแผนรวมวัคซีนนี้สำหรับปีหน้าเข้าไปไว้แล้ว ​ และการอนุมัตินี้ก็ส่งผลให้ ต่อไปจะมีวัคซีน 5 ตัวที่ได้รับการอนุมัติในสหภาพยุโรป ​ Biontech/Pfizer, Moderna, Astrazeneca, Johnson & Johnson และ Novavax ด้วยเหตุนี้วันนี้จึงอยากจะเขียนสิ่งที่เราควรรู้ถึงวัคซีนกันตัวนี้เสียหน่อย ​ โดยผมได้ทำการแยกเป็น 6 ข้อดังนี้
  1. วัคซีน Novavax ทำงานอย่างไร ใช้เทคโนโลยีใด?​
  2. วัคซีนใหม่ของ Novavax มีประสิทธิภาพสูงเพียงใด? 
  3. วัคซีน Novavax ปลอดภัยแค่ไหน? 
  4. เฉพาะวัคซีนแบบ Novavax ที่นับเป็นวัคซีนเชื้อตายจริงหรือไม่?​
  5. สำหรับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ควรจะรอฉีดวัคซีน Novavax หรือไม่?
  6. ในเมื่อวัคซีน ณ ปัจจุบันที่มีก็มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว ​ ทำไมจึงยังจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนจาก Novavax?​
  

1. วัคซีน Novavax ทำงานอย่างไร ใช้เทคโนโลยีใด?​

มักจะมีการอ้างอิงกันถึงวัคซีนของ Novavax ที่ชื่อ Nuvaxovid กันบ่อยครั้งว่า เป็นวัคซีนเนื้อตายแบบที่รู้จักกัน ซึ่งจริงๆแล้ว จริงที่ Novavax อยู่ในกลุ่มวัคซีนเชื้อตาย แต่ในทางกลับกัน Novavax กลับไม่ได้ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมแบบที่เชื่อกัน ซึ่งแม้แต่บริษัท Novavax เองก็ยังพูดถึงวัคซีนของตนว่า "เป็นเทคโนโลยีอนุภาคนาโนรีคอมบิแนนท์ที่เป็นกรรมสิทธิ์นวัตกรรมของบริษัทเท่านั้น" โดยวัคซีนนี้จะถูกผลิตขึ้นในการเพาะเลี้ยงเซลล์แมลง และผลท้ายที่สุด ก็คือ สไปค์โปรตีนถึง 14 ชนิดจาก Sars-CoV-2 ที่เชื่อมต่อกันผ่านฐานเชื่อมต่อ
 
จากรูปภาพของบริษัท Novavax เองแสดงให้เห็นว่าเป็นอนุภาคนาโนทรงกลม ซึ่งสำหรับระบบภูมิคุ้มกันนั้น โครงสร้างนี้ก็จะมีหน้าตาคล้ายกับไวรัส จึงเรียกอนุภาพนี้ว่า "อนุภาคคล้ายไวรัส / virus-like particle" นอกจากนี้ผู้ผลิตยังจำเป็นต้องใส่สารเสริมประสิทธิภาพที่เรียกว่า adjuvants เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น และเมื่อฉีดเข้าไปแล้ว ร่างกายเราก็จะตรวจเจอโปรตีนนี้และ “คิดว่า” เป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งก็จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้น แอนติบอดีจำเพาะและทีเซลล์จะถูกสร้างขึ้น ซึ่งหมายความว่า ร่างกายก็จะรู้จัก และพร้อมรับมือการติดเชื้อจริงได้ดีขึ้น ซึ่งก็จะต่างจากวัคซีน mRNA ที่ใช้พิมพ์เขียวสารพันธุกรรมเพื่อไปกระตุ้นร่างกายให้ผลิตสไปค์โปรตีนด้วยตัวเองเพื่อกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน​

2. วัคซีนใหม่ของ Novavax มีประสิทธิภาพสูงเพียงใด? ​

ในงานทดลองที่ใช้เป็นหลักฐานยื่นขออนุมัติวัคซีนนั้น วัคซีนของ Novavax มีประสิทธิผลในแง่ของการป้องกันโรคอยู่ที่ 90% ​ ซึ่งหมายความว่า ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีผู้ที่ป่วยเป็นโรค Covid-19 "น้อยกว่า" ในกลุ่มควบคุมที่ได้วัคซีนปลอม 90%​
และเป็นการฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 2 โดสที่ได้รับห่างกัน 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอย่างนึงที่เราไม่ควรจะมองข้าว ก็คือ ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ของงานทดลองนี้เป็นผลจากการทดลองกับไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งก็คือพันธุ์เดลต้าที่กำลังระบาดในเยอรมนี ณ ขณะนี้นั่นแหละที่ไปผลักดันอัลฟ่าออกไปจนแทบจะทั้งหมด อย่างไรก็ตาม และงานศึกษาทดลองทั้งสองชิ้นก็ดันเสร็จสิ้นก่อนที่ตัวเดลต้าจะเข้ามาเป็นไวรัสแพร่ระบาดหลัก และแน่นอนว่า ก็ก่อนที่จะมีการค้นพบ Omicron อย่างแน่ชัด ​ ดังนั้นก็จึงยังไม่ชัดเจนว่า วัคซีนของ Novavax มีประสิทธิภาพเพียงใดในตอนนี้ ​ โดยบริษัท Novavax เองก็ได้ประกาศไปแล้วว่า ยังไงเสียก็จะต้องใช้วัคซีนกระตุ้นโดส 3 เป็นตัวกระตุ้นเพื่อป้องกันเดลต้าเท่านั้น จึงจะสามารถคาดหวังระดับแอนติบอดีที่ใกล้เคียงกับไวรัสดั้งเดิมได้ ​ เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า วัคซีนของ Novavax จะมีประสิทธิภาพดีเพียงใดกับ Omicron ก็ยังไม่แน่ชัด ​ บริษัทประกาศเมื่อต้นเดือนธันวาคมว่า ต้องการทดสอบวัคซีนของตนกับตัวกลายพันธุ์ดังกล่าว​
บริษัทแถลงข่าวว่า "ข้อมูลจากห้องแลปคาดว่า จะออกมาในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้" นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังกล่าวว่า ได้เริ่มพัฒนาสไปค์โปรตีนจำเพาะของโอไมครอนสำหรับวัคซีนใหม่แล้ว ตามแผนการปัจจุบัน การผลิตครั้งแรกในโรงงานเชิงพาณิชย์คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ในเดือนมกราคม 2022"​
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนทั้งหลายกลับชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีของ Novavax สามารถกระตุ้นการป้องกันวัคซีนในระบบภูมิคุ้มกันได้เพียงไม่กี่ส่วนเท่านั้น ในขณะที่วัคซีน mRNA สามารถกระตุ้นไปถึงการก่อตัวของ T-Cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่กำจัดเชื้อแปลกปลอมที่สำคัญ รวมไปถึงสามารถกระตุ้นเซลล์หน่วยความจำที่เกี่ยวข้องอีกด้วย โดย Christian Münz ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันไวรัสจากมหาวิทยาลัยซูริก บอกกับหนังสือพิมพ์ RND ว่า "วัคซีนที่ใช้โปรตีนเป็นส่วนประกอบ แทบจะไม่สามารถกระตุ้น T-Cell ได้ แต่ไปกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดีเป็นหลัก นั่นทำให้ไวรัสสามารถต้านทานวัคซีนเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ครอบคลุมมากนัก"​
เช่นเดียวกับที่เป็นที่แน่ชัดว่า ตัวกลายพันธุ์ Omicron จะเข้ามาเป็นไวรัสสายพันธุ์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อกระบวนการติดเชื้อในไม่ช้า “วัคซีนนี้ก็จะต้องถูกดัดแปลงให้เข้ากับ Omicron เหมือนกัน” Carsten Watzl เลขาธิการสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งเยอรมนีเขียนเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับวัคซีน Novavax บน Twitter​

3. วัคซีน Novavax ปลอดภัยแค่ไหน? ​

เช่นเดียวกับวัคซีนของโควิดส่วนใหญ่ที่เป็นวัคซีน 2 โดสที่จะต้องโดนฉีดที่ต้นแขน จากข้อมูลการศึกษา ร่างกายสามารถรับวัคซีนของ Novavax ได้ดีและปลอดภัย และคาดว่าจะมีผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เช่น เจ็บบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ หรือเมื่อยล้า ผู้เข้าร่วมการทดลองมักจะมีปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีนหลังจากได้รับโดสที่ 2 มากกว่าหลังจากโดสแรก

4. เฉพาะวัคซีนแบบ Novavax ที่นับเป็นวัคซีนเชื้อตายจริงหรือไม่?​

ตามชื่อนั่นแหละที่ว่า วัคซีนเชื้อตายก็คือมีส่วนประกอบของไวรัสตายแล้ว และไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้อีกต่อไป แต่รวมไปถึงยังสามารถเป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสบางส่วนด้วย ศูนย์สุขศึกษาของเยอรมันได้เขียนอธิบายไว้ว่า ​ "สิ่งเหล่านี้ถูกตรวจพบโดยร่างกายว่า เป็นสิ่งแปลกปลอม และไปกระตุ้นระบบป้องกันของร่างกายของตัวเองให้ผลิตแอนติบอดีโดยไม่ก่อให้เกิดโรค" ​
และนั่นหมายความว่า ในความเป็นจริงนั้น ไม่เพียงแค่วัคซีนของ Novavax เท่านั้นที่ถูกนับเป็นวัคซีนเชื้อตาย จริงๆแล้วนิยามของวัคซีนกลุ่มนี้ก็ยังสามารถใช้กับวัคซีน mRNA และวัคซีนเวกเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน โดยสถาบัน Robert Koch (RKI) ของเยอรมันได้เขียนบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการถึงวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมดในสหภาพยุโรปจนถึงปัจจุบันว่า “วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติใน EU ทั้งหมด ไม่มีส่วนประกอบของไวรัสใด ๆ ที่สามารถเพิ่มจำนวนได้ และด้วยเหตุผลนี้วัคซีนทุกตัวก็เทียบเท่ากับวัคซีนเชื้อตายนั่นเอง” ​
คำนิยม "วัคซีนเชื้อตาย" ไม่ได้ถูกระบุไว้ชัดเจนนัก หากคำจำกัดความ คือ ต้องมีส่วนประกอบของไวรัสจริงหรืออย่างน้อยก็บางส่วนของไวรัสในวัคซีน วัคซีนของ Novavax จริงๆแล้วก็ไม่ใช่วัคซีนเชื้อตายในความหมายนี้ ​ เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันไม่ได้มาจากไวรัสจริง แต่เป็นโปรตีนจากไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการดัดแปลงพันธุกรรม Carsten Watzl เลขาธิการสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งเยอรมนี (German Society for Immunology) ระบุว่า “คนมักจะเข้าใจกัน (ผิด) ว่า วัคซีนเนื้อตาย ก็คือ วัคซีนที่ถูกพัฒนาและผลิตโดยวิธีดั้งเดิมที่รู้จักกันจากวัคซีนตัวอื่นๆแค่นั้น”​

5. สำหรับผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ควรจะรอฉีดวัคซีน “เชื้อตาย” เช่น Novavax หรือ Valneva หรือไม่?​

แน่นอนว่า หลังจากการอนุมัติในสหภาพยุโรป การนัดหมายการฉีดวัคซีนกับ Novavax ก็อาจจะดูเหมือนอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลาย ๆ คน.. คำถาม ก็คือ แล้วมันคุ้มค่าแก่การรอคอยไหม? Carsten Watzl เลขาธิการสมาคมภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งเยอรมนีกล่าวว่า หากมีใครสักคนต้องการเฉพาะฉีดวัคซีนชนิดนี้เท่านั้นก็ดีกว่าไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย แต่เขาคิดว่า มันไม่ฉลาดที่จะรอ มองกันตามความเป็นจริงนั้น วัคซีน Novavax จะยังไม่มีให้ใช้จนถึงปี 2022 เช่นเดียวกับวัคซีนของ Valneva ซึ่งผู้คลางแคลงเกี่ยวกับวัคซีน mRNA จำนวนมากก็ยังมองว่า เป็นวัคซีนทางเลือก ที่จะยังไม่มาจนกว่าจะถึงไตรมาสที่สองของปี 2022 อย่างเร็วที่สุด "ผู้ที่รอวัคซีนเหล่านี้ก็คือผู้ที่ไม่มีภูมิป้องกันอีกเป็นเวลานาน” Watzl กล่าว "ดังนั้น ฉีดวัคซีนตอนนี้เสียดีกว่ารอแน่นอน!"​
แม้แต่ Thomas Lingelbach ซีอีโอของบริษัท Valneva เองก็ไม่แนะนำให้รอวัคซีนจากบริษัทของเขาเอง “ผมไม่แนะนำให้ใครรอวัคซีนของเรา” เขากล่าวกับหนังสือพิมพ์เยอรมัน Spiegel “นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ตามหลักจริยธรรม” แม้แต่ตัวเขาเองนั้น ปัจจุบันเขาก็แนะนำทั้งญาติและเพื่อนฝูงให้ไปฉีดวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่น เช่นเดียวกับที่ตัวเขาเองเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA จาก Biontech / Pfizer​
ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อ ศ. Clemens Wendtner มองว่า “เป็นข้อเท็จจริงที่ วัคซีนเชื้อตาย / วัคซีนโปรตีนเหล่านี้ก็จะเป็นวัคซีนทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้ประชาชน แม้ว่าการที่ EMA อนุมัติวัคซีนตัวนี้แล้วก่อนกำหนดจะเป็นข่าวดี แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธวัคซีนที่มีอยู่แล้ว ณ วันนี้ในสหภาพยุโรปซึ่งก็มีประสิทธิผลที่ดีพอๆ กัน และไม่มีเหตุผลที่จะต้องรอ ​ ตรงกันข้ามเลยต่างหาก ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการปกป้องตัวเองและคนรอบตัวของคุณ"​

6. ในเมื่อวัคซีน ณ ปัจจุบันที่มีก็มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว ​ ทำไมจึงยังจำเป็นจะต้องใช้วัคซีนจาก Novavax?​

 
ก็เป็นข้อเท็จจริงอีกเช่นกันที่ก็มีบางคนที่แพ้ส่วนประกอบบางอย่างของวัคซีน mRNA นั่นก็หมายความว่า วัคซีนชนิดอื่นอาจเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ผลิตภัณฑ์จาก Novavax ยังมีข้อได้เปรียบด้านลอจิสติกส์ที่สำคัญ ซึ่งต่างจากวัคซีนของ Biontech และ Moderna ตรงที่ วัคซีนไม่ต้องการการขนส่งภายใต้อุณหภูมิต่ำ ​ ดังนั้นจึงง่ายต่อการขนส่งและใช้งาน วัคซีนที่ใช้โปรตีนนั้นยังถูกกว่าในแง่ของการผลิตอีก​
ตามสถิติการฉีดวัคซีน “Our World in Data” ที่ถูกจัดเก็บโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จนถึงขณะนี้มีเพียงประมาณ 7% ของประชากรในประเทศยากจนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโดสแรก เพราะฉะนั้นวัคซีนอื่นๆ รวมทั้งของ Novavax ก็ยังจะเข้ามามีบทบาทในการต่อต้านการแจกจ่ายวัคซีนที่ไม่เป็นธรรมในโลก
20/12/2021 15:30 (CET) อินทรีล่าสาร เยอรมันอินไซต์

อ้างอิง:
https://cutt.ly/SUwf28R
https://cutt.ly/OUwf0Jh
https://cutt.ly/OUwfMFr
https://cutt.ly/PUwfNnc
https://cutt.ly/mUwfVBF
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด