ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง

สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง HealthServ.net
สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง ThumbMobile HealthServ.net

กระทรวงสาธารณสุข ปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโควิด 19 ระดับกระทรวง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับกรมดำเนินการ เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น รวมระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน ออกข้อสั่งการ 480 ฉบับ รวม 3,259 ข้อ ช่วยให้ควบคุมโควิดได้ดีเพราะมีข้อสั่งการชัดเจน มีมาตรการหลากหลาย ย้ำหลังวันที่ 1 ตุลาคม ปรับเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ รักษาทุกที่เฉพาะผู้ป่วย “โควิด” อาการวิกฤตสีแดง

 
 
          
 
         28 กันยายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ร.อ. นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงข่าวสิทธิ UCEP Plus หลังโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และการปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกระทรวง
 
 
          ร.อ. นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 รัฐบาลต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม จึงกำหนดสิทธิ UCEP COVID ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการและที่มีอาการทั้งระดับสีเขียว เหลือง แดง สามารถใช้สิทธินี้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกที่ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น วันที่ 16 มีนาคม 2565 จึงได้ปรับเป็น UCEP Plus กำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวต้องไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ ล่าสุด มีการประกาศปรับลดโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ กำหนดเฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตสีแดง เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ทางเดินหายใจอุดกั้น หายใจหอบเหนื่อย มีภาวะที่ทำให้อาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง ไม่สามารถหายใจได้ มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่นๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่


 
          “เดิมกลุ่มอาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะใช้ UCEP Plus ได้ แต่หลังปรับเกณฑ์ใหม่จะไม่ครอบคลุมผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเหลือง โดยให้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพ ซึ่ง สพฉ.จะออกประกาศเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ ที่มีรายละเอียดชัดเจน ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อให้ประชาชนและสถานพยาบาลรับทราบ โดยมีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โทร. 0-2872-1669 เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ให้ข้อวินิจฉัยหรือคำแนะนำเมื่อมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ทั้งนี้ สิทธิ UCEP Plus จะสามารถรับการรักษาได้จนกว่าจะหายป่วย แตกต่างกับ UCEP ปกติ ที่กำหนดให้การรักษาภาวะฉุกเฉินใน 72 ชั่วโมงแรก” ร.อ. นพ.อัจฉริยะกล่าว
 
           สำหรับการใช้สิทธิ UCEP Plus ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 - ปัจจุบัน มีประชาชนเข้าสู่ระบบบริการ 383,258 ราย เข้าเกณฑ์ UCEP Plus 81,304 ราย โดยมาจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 แสนราย ประกันสังคม 1.4 แสนราย ข้าราชการ 4 หมื่นราย และอื่นๆ 3 พันราย อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า แม้การระบาดจะไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน แต่ทุกคนยังมีโอกาสติดเชื้อได้ การป้องกันจึงยังเป็นมาตรการสำคัญ โดยขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก
 
           ด้าน นพ.วิทูรย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ดีขึ้น วันนี้จึงประกาศยุติบทบาทของศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง และให้เป็นภารกิจของศูนย์ EOC กรมควบคุมโรคตามปกติ ซึ่งจะยังมีการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิดต่อไป และหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงก็พร้อมยกระดับมาเป็นศูนย์ EOC กระทรวง ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ EOC กระทรวง รวมระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน มีการประชุม 482 ครั้ง ออกข้อสั่งการ 480 ฉบับ รวม 3,259 ข้อสั่งการ มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับทุกหน่วยบริการทั่วประเทศ เพื่อสื่อสาร/สั่งการ และติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ 67 ครั้ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องขอขอบคุณอาจารย์แพทย์จากทุกภาคส่วนที่ร่วมเป็นคณะทำงานของศูนย์ EOC กระทรวง
 
          นพ.วิทูรย์กล่าวต่อว่า มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 จำนวนมาก เป็นการกำหนดภายใต้การทำงานของศูนย์ EOC กระทรวง เช่น Bubble and Seal, ยุทธศาสตร์ขนมครก, Good Factory Practice, ยุทธศาสตร์ “นนก หรือ นำหนึ่งก้าว” กระตุ้นประชาชนให้รับข้อมูลเชิงรุก ทำงานเชิงรุก, การจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัมเพื่อแบ่งเบาวิกฤตผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. โดยระดมบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือ, นโยบายแซนด์บ็อกซ์ Test & Go และ SHA+ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเปิดประเทศ, การกำหนดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า, มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการ, แนวทางการดูแลรักษาทั้ง Home Isolation Community Isolation และ “เจอ แจก จบ”, มาตรการ 2U 3พ รองรับการเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่, การจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 รวม 156.2 ล้านโดส, การรณรงค์ SAVE 608 โดยวัคซีนเข็มกระตุ้น, การวางแผนการบริหารยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ และเรื่องของการตรวจ ATK เป็นต้น ซึ่งการที่ศูนย์ EOC มีมาตรการและข้อสั่งการที่ชัดเจนถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดี
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด