ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สรุปรายหมวด ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่จะประกาศใช้ในอนาคต

สรุปรายหมวด ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่จะประกาศใช้ในอนาคต HealthServ.net
สรุปรายหมวด ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่จะประกาศใช้ในอนาคต ThumbMobile HealthServ.net

ณ ปัจจุบันนี้ (13 มิถุนายน 2565) ประกาศปลดพืชกัญชาพ้นจากยาเสพติดมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้การเข้าถึงกัญชาไม่มีข้อจำกัดต่อไป แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการออกพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง มาเพื่อกำกับดูแล แต่สถานะปัจจุบันของ พ.ร.บ.นี้ เพียงแค่ผ่านวาระแรกไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผู้ลงมติ 403 คน เห็นด้วย 373 คน ไม่เห็นด้วย 7 คน และงดออกเสียง 23 คน


 
เพื่อเป็นการติดตามและสร้างความเข้าใจ จึงขอรวบรวมและสรุปประเด็นสาระจากพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับนี้ โดยสังเขป 
 
 

เหตุผลของการตรากฏหมายนี้ 


พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฉบับนี้ เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแล การผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย หรือมีไว้ในครอบครอง กัญชา กัญชง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี และบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น จากการบริโภคกัญชา กัญชง 
 
พ.ร.บ.ฉบับนี้มีบทบัญญัติบางประการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล 
 
การตรา พ.ร.บ. ฉบับนี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว 
 
 
 

นิยามศัพท์

 
"กัญชา" หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน 
 
"กัญชง" หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่างๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ยาง น้ำมัน และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannbinol, THC) ไม่เกินปริมาณตามที่ คณะกรรมการกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
"สารสกัด" หมายความว่า สารที่ได้จากกระบวนการสกัดทุกส่วนของกัญชา หรือกัญชง
 
"ผลิต" หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทาง
วิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วยเพื่อขาย ไม่รวมการแปรรูปอย่างง่าย
 
"ขาย" หมายความว่า จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า
หรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์อย่างอื่น และให้หมายความรวมถึงการมีไว้เพื่อขาย
 
"ส่งออก" หมายความว่า นำหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร
 
"นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
 
"บริโภค" หมายความว่า กิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือใน
รูปลักษณะใด ๆ
 
"ผู้อนุญาต" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ
คณะกรรมการอาหารและยามอบหมาย สำหรับการอนุญาตให้ผลิต และการนำเข้าหรือส่งออก ขาย หรือการโฆษณากัญชา กัญชง
 
"ผู้รับจดแจ้ง" หมายความว่า
(๑) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมอบหมาย สำหรับการจดแจ้งเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน ในกรุงเทพมหานคร
(๒) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือผู้ซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมอบหมายสำหรับการจดแจ้งเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน ในส่วนภูมิภาค
 
"การใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน" หมายความว่า การเพาะ ปลูก เพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่เกินปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง
 
"กระบวนการพิจารณาอนุญาต " หมายความว่า การพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย หรือการตรวจสอบ เพื่อออกใบอนุญาต หรือใบรับจดแจ้ง ตลอดจนการพิจารณาใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง
 
"โฆษณา" หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด 1 ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชนในทางการค้า
 
"ผู้รับอนุญาต" หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต ให้หมายความรวมถึงผู้แทนนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต
 
"ผู้จดแจ้ง" หมายความว่า ผู้ได้รับใบรับจดแจ้งเพื่อใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือนตามพระราชบัญญัตินี้
 
 
 
 +++++
 
 
หมวด 1 บทบัญญัติทั่วไป 

 
เป็นการประกาศกำหนด 1) หน้าที่ผู้รับอนุญาต รับจดแจ้ง 2) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เกี่ยวกับ การโฆษณา การอนุญาต ค่าใช้จ่าย การขึ้นบัญชี (และค่าใช้จ่าย) และหลักเกณฑ์อื่นๆเกี่ยวกับกัญชา กัญชง 
 
ระบุข้อยกเว้น กรณีใช้กัญชา กัญชงในผลิตภัณฑ์ใด ให้เป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยการนั้น  เช่น หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ยา สมุนไพร เครื่องสำอางค์ เครื่องมือแพทย์ ก็จะเป็นไปตามประกาศที่ อย.กำหนดเอาไว้แต่ละชนิด เป็นต้น 
 
 
+++++
 
หมวด 2 คณะกรรมการกัญชา กัญชง 
 
กล่าวถึงการกำหนดให้การตั้ง "คณะกรรมการกัญชา กัญชง" มีหน้าที่สำคัญ ในการ 
- กำหนดนโยบาย มาตรการส่งเสริม วิจัย พัฒนา ในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมและประโยชน์อื่นๆ
- ประกาศกำหนดสาร THC ในกัญชง 
 
+++++
 
หมวด 3 การขออนุญาตและการอนุญาต
 
กำหนดชัดเจนว่า ผู้ประสงค์จะ "ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือขาย"  ต้องได้รับใบอนุญาต จากผู้อนุญาต
 
รายละเอียด ระบุถึง การขออนุญาต ใบอนุญาต เงื่อนไข วิธีการ ฯลฯ 
 
กำหนดระยะเวลาใบอนุญาต 3 ปี กับทุกประเภทกิจกรรม (ปลูก-สกัด-ส่งออก-จำหน่าย) 
 
+++++
 
หมวด 4  การจดแจ้ง รับจดแจ้งการใช้ประโยชน์ในครัวเรือน 
 
กล่าวคือกำหนดให้ครัวเรือนที่ประสงค์จะปลูก ต้องจดแจ้ง จะมีการออกใบรับจดแจ้งให้ (อายุ 1 ปี)  พร้อมกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืน โดยการสั่งระงับ/แก้ไข/ปรับปรุงให้ถูกต้อง
 
+++++
 
หมวด 5 การพิจารณาอนุญาต
 
กำหนดให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ในการ ประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณา อนุญาต  
 
 
+++++
 
หมวด 6 การพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต/ใบรับจดแจ้ง
 
ผู้อนุญาตสั่งพักใช้/เพิกถอนใบอนุญาตได้ กำหนดครั้งละไม่เกิน 180 วัน  กรณีฟ้องร้องต่อศาล จะระงับจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ผู้ถูกสั่งพักใบอนุญาตจะขออีกไม่ได้ในระหว่างนั้น ผู้ถูกเพิกถอน จะถูกตัดสิทธิ์ 3 ปี ทั้งบุคคลและนิติบุคคล กรณีนิติบุคคล จะตัดสิทธิกรรมการ ผู้จัดการ และผู้รับผิดชอบ  กรณีถูกเพิกถอน จะถูกตัดสิทธิ์ 1 ปี
 
 
 
 +++++
 
หมวด 7 การโฆษณา
 
ห้ามโฆษณา เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต แต่จะไม่บังคับในการโฆษณาส่วนของ กัญชา กัญชง สารสกัด หรือ กากจากการสกัด ตามที่รัฐมนตรีกำหนด 
 
+++++
 
หมวด 8 พนักงานเจ้าหน้าที่
 
ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ 
- เข้าตรวจสอบ ควบคุมตามจำเป็น ใน "สถานที่ผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย เก็บ รวมถึงยานพาหนะบรรทุก กัญชา กัญชง" ได้ 
- เก็บ กัญชา กัญชง ไปตรวจรสอบ/วิเคราะห์ได้
- กระทำการ เข้าไป ตรวจ ค้น ยึด อายัด กัญชา กัญชง เครื่องมือเครื่องใช้อื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้ หากสงสัยว่าทำผิด พ.ร.บ.นี้ 
- ออกหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาของเจ้าหน้าที่
 
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปตรวจ ค้น ยึดอายัด ฯลฯ ต้องมี "หมายค้น"  แต่ยกเว้นได้ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า จะมีการ ยักย้าย ซุกซ่อน ทำให้เปลี่ยนไปจากเดิม หรือ ทำลาย หลักฐานเกี่ยวกับการทำความผิด  ให้ทำการได้ โดยไม่ต้องมี "หมายค้น"  โดยปฏิบัติตามกฏหมายว่าด้วยการค้น 
 
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติดังกล่าว ต้องแสดงบัตรประจำตัว ต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง 
 
+++++
 
หมวด 9 การอุทธรณ์
 
กรณีไม่ได้รับอนุญาต ไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบจดแจ้ง หรือไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุ  สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ ใน 30 วัน 
 
ผู้ถูกสั่งพักใบอนุญาต หรือเพิกถอน สามารถอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ ใน 30 วัน ได้เช่นกัน 
 
รัฐมนตรี ต้องพิจารณาข้ออุทธรณ์ภายใน 60 วัน หากไม่เสร็จสามารถขยายเวลาได้อีก 60 วัน แต่ต้องมีหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์ก่อนครบกำหนด 
 
 
+++++
 
หมวด 10 การคุ้มครองบุคคล ที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคกัญชา กัญชง และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
 
มาตรา 37 ระบุข้อห้าม "ขายกัญชา กัญชง เพื่อนำไปบริโภค" กับบุคคลเหล่านี้
1. บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี
2. สตรีมีครรภ์
3. สตรีให้นมบุตร 
4. บุคคลอื่นใด ตามที่รัฐมนตรี กำหนด
 
ผู้ขาย ต้องมีใบอนุญาต
ผู้ขาย ต้องติดประกาศ/แจ้ง ณ สถานที่ขาย ถึงข้อห้ามขายแก่ 4 กลุ่มบุคคลข้างต้น 
 
ยกเว้น แก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม การแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่สั่งจ่ายให้แก่คนไข้ของตน เพื่อใช้รักษาโรค
 
+++++
 
หมวด 11 บทกำหนดโทษ
 
ผู้นำเข้า ส่งออก ขาย โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ผู้นำเข้า ส่งออก ที่ไม่มีใบอนุญาตแต่ละครั้ง โทษปรับครั้งละ ไม่เกิน 5,000 บาท 
 
ผู้ฝ่าฝืน จำหน่ายให้กับบุคคลตามข้อห้ามในหมวด 10 มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
 
 
+++++
 
บทเฉพาะกาล
 
ภายใน 5 ปี หลังพ.ร.บ.ประกาศใช้ สามารถนำเข้ากัญชา กัญชง ได้ เฉพาะกรณีเพื่อศึกษา วิจัย ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือราชการ เท่านั้น 
 
 
+++++
 
อัตราค่าธรรมเนียม
 
(1) ใบอนุญาตผลิต (ปลูก) ฉบับละ 50,000 บาท
(2) ใบอนุญาตผลิต (สกัด) ฉบับละ 50,000 บาท
(3) ใบอนุญาตนำเข้า ฉบับละ 100,000 บาท
(4) ใบอนุญาตส่งออก ฉบับละ 10,000 บาท
(5) ใบอนุญาตนำเข้า ส่งออกเฉพาะคราว ฉบับละ 20,000 บาท
(6) ใบอนุญาตจำหน่าย ฉบับละ 5,000 บาท
(7) การต่ออายุใบอนุญาตเท่ากับกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตนั้น
(8) ค่าคำขออนุญาตหรือคำขออื่นๆ คำขอละ 7,000 บาท
(9) ค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ
หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รายละ 100,000 บาท
(10) ค่าตรวจสถานประกอบการ ครั้งละ 50,000 บาท
 
 
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด