ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพของฉัน บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิด บริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก กิจกรรม-บริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ Health Economy ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

สวนสาธารณะ...ไอเทมในฝันสำหรับเมืองเทวดา - ดร.พนิต ภู่จินดา

สวนสาธารณะ...ไอเทมในฝันสำหรับเมืองเทวดา - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ.net
สวนสาธารณะ...ไอเทมในฝันสำหรับเมืองเทวดา - ดร.พนิต ภู่จินดา ThumbMobile HealthServ.net

สวนสาธารณะเป็นเรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีวิถีชีวิตแบบเมือง ถ้าเป็นวิถีชนบทก็คงไม่ต้องการสวนสาธารณะเพราะมีพื้นที่สีเขียวอยู่เต็มไปหมด แต่สวนสาธารณะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเป็นเมือง

สวนสาธารณะ...ไอเทมในฝันสำหรับเมืองเทวดา - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ
คำว่า "สวนสาธารณะ" ประกอบด้วยสองส่วนคือ "สวน" หมายถึง พื้นที่สีเขียวที่เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ "สวน" ในที่นี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการเกษตร กับคำว่า "สาธารณะ" คือ ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้งานได้ "สวนสาธารณะ" จึงเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจที่ประชาชนทุกคนเข้าไปใช้งานได้ สวนสาธารณะเป็นเรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากมีวิถีชีวิตแบบเมือง ถ้าเป็นวิถีชนบทก็คงไม่ต้องการสวนสาธารณะเพราะมีพื้นที่สีเขียวอยู่เต็มไปหมด แต่สวนสาธารณะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการเป็นเมือง


เมืองในยุคแรก ๆ ไม่ต้องมีสวนสาธารณะ เพราะบ้านยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่มีบริเวณเอาไว้ปลูกต้นไม้ได้ ก็เลยเอาสวนไปไว้ในบ้าน สวนเป็นทั้งเพื่อการเกษตรและพักผ่อนหย่อนใจ จนเมืองขยายตัวกลายเป็นมหานครที่ทรัพยากรที่ดินขาดแคลนมาก คนต้องอยู่อย่างแออัด ไม่สามารถเอาพื้นที่สีเขียวไปไว้ในบ้านของตนได้อีกต่อไป จึงต้องการพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจขึ้น สำหรับกรุงเทพมหานครยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากบ้านเดี่ยวหรือบ้านโดดมาเป็นบ้านที่มีขนาดเล็กลงหรืออยู่อาศัยแบบอาคารชุด จึงมีการเปลี่ยนจากการเคยมีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจส่วนตัวในรั้วบ้านเดี่ยว มาสู่พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสาธารณะ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติว่าช่วงเปลี่ยนผ่านก็ต้องล้มลุกคลุกคลานบ้าง

 
ถ้าลองตั้งคำถามต่อคนกรุงเทพฯ ว่าอยากได้ของขวัญอะไรจากผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คำตอบที่ประชาชนตอบมากเป็นลำดับต้น ๆ คนหนีไม่พ้นอยากได้สวนสาธารณะมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้กำหนดไว้ว่า เมืองที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวสาธารณะไม่น้อยกว่า 9.0 ตารางเมตรต่อหัวประชากร แต่กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะเพียง 5.97 ตารางเมตรต่อหัวประชากรจากสวนสาธารณะ 37 แห่ง นี่คิดจากประชากรที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครประมาณ 7 ล้านคนเท่านั้น ถ้ารวมประชากรแฝงที่มีการคาดการณ์ว่ามีรวมกันประมาณ 10 ล้านคน ก็จะมีพื้นที่สวนสาธารณะเพียงประมาณ 4.2 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO ถึงสองเท่า ชาวเมืองเทวดาของเราจึงไม่มีสวนสาธารณะเพียงพอที่จะใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายอย่างทั่วถึงสมกับการเป็นมหานครระดับโลกที่จะช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพลเมือง

 
สวนสาธารณะ...ไอเทมในฝันสำหรับเมืองเทวดา - ดร.พนิต ภู่จินดา HealthServ

สวนสาธารณในกรุงเทพ


บนพื้นที่ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพมหานคร มีสวนสาธารณะอยู่ 37 แห่ง ถ้าคิดว่าสวนสาธารณะเหล่านั้นกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีการกระจุกตัวเฉพาะบางพื้นที่ แต่ละสวนสาธารณะต้องครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร หรือรัศมีการให้บริการแต่ละสวนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งเกินกว่าระยะเดินเท้าปกติของมนุษย์ที่ 400 – 800 เมตร แปลว่าชาวกรุงเทพมหานครไม่น้อยกว่า 85% ไม่สามารถเดินไปสวนสาธารณะได้ จะใช้สวนสาธารณะก็ต้องตั้งใจมาและพร้อมจะจ่ายค่าเดินทาง ไม่ว่าจะด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถสาธารณะก็ตามที จะให้จ่ายค่าเดินทางทุกวันคงไม่ไหว สวนสาธารณะจึงไม่ใช่พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจในชีวิตประจำวันที่คนจะมาใช้งานได้ทุกวัน ถ้าประชาชนทุกคนเดินทางไปถึงสวนสาธารณะได้ในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตรซึ่งพอจะเดินเท้าไหว คาดการณ์ว่าจะต้องมีสวนสาธารณะ 375 แห่งในพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพมหานคร

 
จะแก้ไขปัญหาสวนสาธารณะในเมืองเทวดา ก็ต้องเข้าในก่อนว่าสวนสาธารณะคือส่วนหนึ่งของระบบสาธารณูปการของเมือง เช่นเดียวกับสถานศึกษา สถานรักษาพยาบาล สถานีตำรวจ ฯลฯ ซึ่งหลักการวางแผนจะพิจารณา 2 ส่วน คือ ลำดับศักย์ และ ขอบเขตการให้บริการ จึงแบ่งสวนสาธารณะออกเป็นสวนละแวกบ้าน สวนระดับย่าน สวนระดับเมือง และสวนระดับมหานคร ซึ่งแต่ละประเภทจะมีองค์ประกอบภายในและขอบเขตของผู้ใช้บริการที่แตกต่างกัน ส่วนระดับเล็กอาจมีแค่สนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ไม้กระดก ที่ปีนป่ายของเด็ก ที่นั่งเล่นสำหรับคนในชุมชน ส่วนสวนสาธารณะระดับใหญ่ ๆ อาจนำเอาศูนย์กีฬาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสวน มีห้องสมุดประชาชน ลานกิจกรรม ฯลฯ เช่น สวนลุมพินีเป็นตัวอย่าง แต่วันนี้กรุงเทพมหานครมีแต่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ จาก 37 สวนสาธารณะที่มีอยู่ มีถึง 27 แห่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 ไร่ แสดงว่าเรามีสวนสาธารณะระดับมหานคร แต่ที่เราขาดคือสวนสาธารณะระดับเล็ก ที่คนในชุมชนได้ใช้ทุกวันโดยไม่ต้องเดินทางข้ามเมืองมาใช้ที่สวนสาธารณะระดับมหานคร 

 
 
ปัญหาพื้นฐานของมหานครทุกแห่งในโลก คือ ราคาที่ดินแพงทำให้ไม่มีที่ดินว่าง ๆ มาสร้างสวนสาธารณะ วิธีการแก้ไขคือหาที่ดินด้วยทัศนคติที่กว้างขึ้น ถ้าเรายังคิดว่าสวนสาธารณะต้องเป็นที่ดินของรัฐและถูกใช้เพื่อสวนสาธารณะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคิดหาวิธีที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ที่มีความบีบคั้นทางราคาที่ดิน เช่น เอาพื้นที่สีเขียวบางส่วนในหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาใช้เพื่อการสาธารณะ โดยผ่านการออกแบบอาคารและวางตำแหน่งที่ตั้งไม่ให้รบกวนการปฏิบัติราชการและความปลอดภัย การสร้างแรงจูงใจและกลไกให้สามารถใช้ที่ดินเอกชนเพื่อเป็นสวนสาธารณะโดยให้สิทธิประโยชน์ตอบแทนกับภาคเอกชนที่อุทิศที่ิดินบางส่วนเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ เช่น แลกกับการสร้างอาคารได้สูงขึ้นกว่าที่กฎหมายทั่วไป งดเว้นภาษีบางประเภทตามช่วงเวลาที่กำหนด ฯลฯ หรือที่เรียกกันว่า Privately Owned Public Space (POPS) ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่สวนสาธารณะเพิ่มขึ้นโดยที่รัฐไม่ต้องเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด และไม่ได้ใช้เพื่อสวนสาธารณะเพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ประโยชน์อย่างอื่นโดยการออกแบบและบริหารจัดการเพื่อให้ใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เชื่อไหมว่า พรบ.ผังเมือง พ.ศ.2518 มาตรา 4 ได้ระบุพื้นที่แบบนี้ไว้แล้วด้วยคำว่า “ที่อุปกรณ์” หมายความว่า ที่ดินของเอกชน ซึ่งผังเมืองเฉพาะจัดให้เป็นที่เว้นว่างหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่นด้วย แต่น่าเสียดายว่า “ที่อุปกรณ์” นี้ไม่เคยถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเลย

 
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ ความซับซ้อนของวิถีชีวิตเมืองที่มีความหลากหลายมากขึ้น สวนสาธารณะ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ไม่ใช่ทั้งหมด สังคมในปัจจุบันเห็นว่า ศูนย์การค้าคือที่พักผ่อนหย่อนใจด้วยเช่นกัน มาตรการที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ จะแบ่งบทบาทหน้าที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจอย่างไร ระหว่างศูนย์การค้ากับสวนสาธารณะ ศูนย์การค้าจะรับผิดชอบด้านการพักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใดบ้าง และสวนสาธารณะจะมีบทบาทใดบ้าง และจะกำหนดมาตรฐานอย่างไรเพื่อให้ทั้งสองตัวนี้ทำหน้าที่ให้กับประชากรเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อเราจะพูดถึงสวนสาธารณะในมหานคร เราจะต้องพิจารณาในลักษณะที่ตอบสนองและสอดคล้องกับข้อจำกัดของสังคมในปัจจุบัน ไม่สามารถพิจารณาเพียงแค่สวนสาธารณะแบบเดียว รัฐเป็นเจ้าของอย่างเดียว ต้องใช้งานเป็นสวนสาธารณะอย่างเดียวได้อีกต่อไป 

ดร.พนิต ภู่จินดา
*** บทความนี้เคยเขียนลงใน Rabbit today ***

Image by Jonny Belvedere from Pixabay 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด